ถ้าหากจะถามว่าบแรนด์คาแรคเตอร์ของรถ ฟอร์ด เป็นเช่นไร เราคงบอกว่ามันเป็นรถที่ไม่ได้หวือหวา หากแต่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ คนที่ใช้รถ ฟอร์ด ก็น่าจะเป็นคนที่ใช้เหตุใช้ผลมากกว่าใช้อารมณ์รถ ฟอร์ด ดูภายนอกไม่เตะตา ดูภายในก็ไม่โดดเด่น ไม่นานมานี้ ฟอร์ด ได้หัวหน้าแผนกอินทีเรียร์ดีไซจ์นคนใหม่ ชื่อ แอมโก ลีนาร์ทส์ เขาเป็นคนดัทช์ เขารั้งตำแหน่ง HEAD OF GLOBAL INTERIOR DESIGN นักออกแบบรถยนต์ส่วนมากมักจะเลือกทำงานกับบแรนด์ที่ชื่นชอบ ซึ่งนั่นไม่ใช่กรณีของ ลีนาร์ทส์ เขาย้ายจากค่าย เปอโฌต์ มารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายออกแบบภายในที่ ฟอร์ด ก็เพราะเขาไม่ได้ชื่นชอบภายในรถ ฟอร์ด สักเท่าไหร่ เขาจึงมาอยู่ที่นี่เพื่อจะเปลี่ยนแปลงมัน ฟังดูก็เป็นเหตุผลที่เข้าที ลีนาร์ทส์ ไม่ใช่คนที่คลั่งไคล้รถโบราณ หรือรถแข่ง เขาจึงไม่ได้ออกแบบภายนอก หากแต่สนใจออกแบบภายในรถ ลีนาร์ทส์ เป็นคนที่เชื่อว่าหากทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกระบวนการที่ถูกต้อง ผลลัพท์ก็จะถูกต้อง เขาจึงเริ่มงานด้วยการเข้าไปปรับระเบียบสตูดิโอ และวางปรัชญาในการออกแบบให้เข้าที่เข้าทาง ไม่ใช่ว่ารอว่าเมื่อไหร่จะมีงานออกแบบดีๆ หลุดออกมาแบบฟลุคๆ เขาบอกว่าที่ ฟอร์ด ก็ไม่ต่างจากที่ เปอโฌต์ ที่งานออกแบบภายในถูกมองว่าเป็นลูกเมียน้อย นอกจากนี้เขายังเชื่อว่านอกเหนือจากคำว่า STYLING การออกแบบภายในยังหมายถึงการให้ประสบการณ์กับผู้ขับขี่ ความสามารถในการตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ของลูกค้า การมีนวัตกรรม การเชื่อมโยง และความปรารถนา ทุกสิ่งก็จะประกอบเป็นรูปทรงในที่สุด ลีนาร์ทส์ จึงไม่ใช่นักออกแบบภายในที่เล่นกับเส้นสายแล้วก็ปล่อยให้ฝ่ายผลิตไปเดาเอาเองว่าควรจะเป็นอะไร เขาคิดว่าดีไซจ์เนอร์ต้องสามารถอธิบายวิสัยทัศน์ได้ สามารถทำให้ทุกแผนกมาทำงานร่วมกันได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เขาท้าทายความคิดเก่าๆ ด้วยการบอกว่า ใครบอกกันว่ารถหรูดูกันที่เบาะหนัง และต้องเย็บเดินเส้นคู่ เส้นสายบางเส้นสายก็บอกความหรูได้ เขาคิดว่ามันมีรูปทรงบางอย่าง เส้นสายบางเส้นที่สื่อถึงความหรูได้ ลีนาร์ทส์ บอกว่าดีไซจ์นของรถยนต์เปลี่ยนค่อนข้างช้า กว่าที่ข้อมูลการตลาดจะมาถึง เขาบอกว่าอันที่จริง ซิลิคอน วัลเลย์ คือ แรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ กูเกิล แอพเพิล ต่างก็มาโชว์งานสร้างสรรค์ในงานพาร์ที แต่สำหรับ ฟอร์ด มันไม่ง่ายที่จะทำอย่างนั้น รถแต่ละคันใช้เวลาพัฒนาและประกอบนานกว่า แต่ทว่าถ้าหากมีชิ้นส่วนต่างๆ อยู่ใกล้ๆ กัน จะปรับชิ้นส่วนให้เล็กลงหรือใหญ่ขึ้นก็น่าจะทำได้ง่ายขึ้น และการปรับเปลี่ยนก็จะง่ายขึ้น ลีนาร์ทส์ ชอบใช้คำว่า วิวัฒนาการ (EVOLUTION) เขาบอกว่าอย่างไอโพนนั้น มันวิวัฒนาการตัวมันเองไปพร้อมกับเรา แค่อัพโหลดแอพพลิเคชัน เราก็จะได้อะไรใหม่ๆ แล้วความคิดที่แปลกของ ลีนาร์ทส์ อีกอย่าง คือ เขาไม่คิดว่าในแผนกออกแบบควรมีแต่นักออกแบบ แต่ควรจะมีนักจิตวิทยาด้วย เพื่ออะไรหรือ เพื่อหยั่งลึกว่าผู้บริโภคต้องการอะไรจากรถยนต์ เขาอาจต้องการให้มันเป็นบาร์เคลื่อนที่ก็ได้ เป็นต้น น่าคิดนะคะ และถ้าถามผู้เขียนว่าอยากให้รถยนต์เป็นอะไร ก็ตอบได้ไม่ยากเลยค่ะ ว่าอยากให้มันเป็นที่นอน เพราะว่าเวลานั่งทางไกลแล้วมักจะง่วงเหงาไงละคะ วิสัยทัศน์ของเขาน่าสนใจนะคะ