นึกถึงโคลงพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าที่ว่า “กระวีสง่าแม้น มณีสาร คำเพราะคือสังวาล กอบแก้ว” ขึ้นมา จึงคิดว่าในช่วงที่ประชาชนชาวโลก (ไม่แต่ชาวไทยเท่านั้น) ที่ตระหนกจากพิบัติภัยธรรมชาติอย่างมากมายในปีนี้ ทั้งน้ำท่วม (อุทกภัย) แผ่นดินไหว พายุ (วาตภัย) นอกจากนั้นยังมีภัยกัมมันตรังสีจากโรงปฏิกรณ์ปรมาณู รวมทั้งวิกฤตทางเศรษฐกิจกระจายไปทั่วโลกและที่น่าหวั่นวิตกสำหรับชาวโลกมาก ก็คือ วิกฤตการณ์ทางการเมือง ที่เกิดจากการต่อต้านรัฐบาลของมวลชนในประเทศที่ผู้ปกครอง ครองอำนาจมานาน และเด็ดขาดต่อประชาชนเสมือนการปกครองของผู้นำเผด็จการในกาลก่อน ในฐานะคนที่รักการอ่านและติดตามข่าวสารโดยนิสัยมาแต่เด็ก แล้วต่อมาได้ทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ ซึ่งต้องติดตามข่าวสารบ้านเมืองจนติดเป็นนิสัย แม้เกษียณอายุงานแล้วยังต้องตามข่าวอยู่เสมอด้วยความเคยชิน ยามที่พลโลกเครียดกันอย่างนี้ เราน่าจะคลายเครียดจากภาวะแวดล้อมได้บ้างกระมัง ผู้เขียนนึกถึง “คำเพราะ” ในพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ ผู้ทรงเป็นห่วงชาติบ้านเมือง กระทั่งในพระราชนิพนธ์บทความการเมืองชุดหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ในพระนามแฝง “อัศวพาหุ” ว่า “เมืองไทยจงตื่นเถิด” และที่รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชวินิจฉัยไว้ว่า ถ้าจะบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาใช้ ขอให้นึกถึงคำไทยก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อหาคำไทยไม่ได้จริงๆ แล้วค่อยไปนำคำจากภาษาอื่นมาใช้ ท่านผู้อ่านอาจจะแย้งว่าศัพท์บัญญัติมี หรือที่ใช้คำไทยๆ ขอตอบว่า ปราชญ์ทางภาษาของไทยทำไว้มากน่าเคารพในภูมิปัญญาท่านมาก เช่น โรงเรียน ไฟฟ้า น้ำแข็ง ฯลฯ ขอยกตัวอย่างคำศัพท์ไทยๆ ที่มาจาก พระมหากรุณาธิคุณ พระปรีชาสามารถ พระอัจฉริยภาพของ รัชการที่ 9 คำแรกที่ขอเชิญมากล่าวถึงด้วยเป็นคำที่ทรงคุณค่ามหาศาลแก่ชีวิตมนุษย์ทั่วไป แม้ชาวต่างชาติก็ซาบซึ้งคำนี้ คือ “พอเพียง” หรือ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งคำอธิบายใดๆ ก็คงไม่ซาบซึ้งเท่า พระราชดำรัส ที่ได้พระราชทานในโอกาสที่คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้า ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พศ. 2541 ที่ว่า “คำว่าพอเพียงมีความหมายว่า พอมีกิน เศรษฐกิจแบบพอเพียงหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง แปลจากภาษาฝรั่งได้ว่า ให้ยืนบนขาของตัวเอง หมายความว่า สองขาของเรายืนบนพื้นอยู่ได้ ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมของคนอื่นเพื่อที่จะยืนอยู่ คำว่าพอ คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมาก อาจมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น” คำที่เข้ากับเหตุการณ์สภาวะแวดล้อมในปัจจุบันมากที่สุด และเราคิดถึงด้วยซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณมากอีกคำหนึ่ง คือ “แก้มลิง” ซึ่งพระองค์ท่านทรงนำกิริยาอาการของลิงที่อมอาหารไว้ในกระพุ้งแก้มก่อนที่จะค่อยๆคายออกมาย่อยอย่างละเลียดในภายหลัง หากคนเราทำแอ่ง หรือแหล่งสะสมน้ำ ไว้ในยามน้ำมาก หรือน้ำหลาก อย่าง “ห้วย หนอง คลอง บึง คู คลองส่งน้ำ” ในธรรมชาติที่ช่วยบรรเทาเบาบางน้ำหลาก น้ำก็จะไม่ท่วมทำความเสียหาย ยกตัวอย่างเช่น แหล่งน้ำที่เป็นที่ลุ่มกว้างใหญ่ที่เรารู้จักในนาม “หนองงูเห่า” ในอดีตกาลนั้น สามารถกักเก็บน้ำไม่ให้หลากท่วมพื้นที่โดยรอบแล้ว ยังบรรจุน้ำไว้ให้มนุษย์ได้ใช้ทำสารพัดประโยชน์ในหน้าแล้งได้เป็นอย่างดีวิเศษด้วย ครั้นเมื่อเกิดนำเอาดินจำนวนมหาศาลมาถมทำเป็นสนามบินใหญ่โตมโหฬารแล้ว ก็ไม่มีที่กักเก็บน้ำที่จะขัง หรือที่จะระบายออกไปสู่ทะเลได้ต่อไป ขาดแก้มลิงขนาดใหญ่นี้ จึงอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่เกิดน้ำท่วมในกาลต่อมา แหล่งน้ำที่ รัชกาลที่ 9 ทรงแนะนำไว้ นอกจาก “แก้มลิง” ก็ยังมี “ฝาย” เช่น “ฝายแม้ว” ซึ่งเนื่องมาจากภูมิปัญญาชาวไทยภูเขาเผ่าแม้ว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาบรรพชนของเรา ถ้าจำเป็นต้องสร้างเพื่อโอกาสและสถานที่ที่เหมาะสม ก็ควรสร้าง “เขื่อน” ทั้ง “เขื่อนดิน” และ “เขื่อนใหญ่” เช่น เขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ เป็นต้น พระปรีชาญาณที่เกี่ยวกับน้ำและดิน (ความจริงทุกอย่าง ทั้ง ลม-ฟ้า-อากาศ-ฯลฯ) พระองค์ทรงนำความรอบรู้ทางวิทยาศาสตร์หลายสาขามาทดลอง จนกระทั่งเป็นจริงได้ ทำให้เกิดฝนตกโดยไม่ใช่ฝนธรรมชาติ จึงกลายเป็น “ฝนเทียม” หรือ “ฝนหลวง” หรือ “ฝนหลวงพระราชทาน” จนชาวต่างประเทศบางประเทศขอพระราชทานนำความรู้นี้ไปใช้ในประเทศของตนตามแนวของพระองค์ คำว่า “แกล้งดิน” ก็เกิดจากการนำภูมิปัญญาแบบไทยมาใช้ สำหรับพื้นดินที่ไม่สามารถใช้ในการเกษตร ปลูกพืชพันธุ์ไม่ได้ มีบทประพันธ์ซึ่งผู้เขียนเคยคัดมาไว้ แต่ลืมนามผู้ประพันธ์ (เข้าใจว่าเป็นบทประพันธ์ของ ผศ. มะเนาะ ยูเด็น ในหนังสือ “นบพระภูมิบาล บุญดิเรก” ถ้าอ้างผิดก็ขออภัยเป็นอย่างยิ่ง) อ้างถึงเหตุแห่งการแกล้งดินเป็นร่ายสุภาพดังนี้ “ภูบดินทร์ปิ่นธเรศ/ทรงเห็นเหตุปัจจัย/ภัยแห่งแหล่งเกษตร/อาเพศเพราะทำลาย/ป่าทั้งหลายนับทศวรรษ/น้ำเซาะซัดดินพัง/บ้างยังเป็นที่ดอน/น้ำไป่ซอนชลขัง/ดินลุ่มปรังโคลนเลน/ต่ำกว่าเกณฑ์อินทรีย์/มีผลผลิตนิดนาน/ถิ่นอีสานดินเค็ม/ดินเปรี้ยวเต็มภาคกลาง/ทางใต้เค็มปนเปรี้ยว/บางส่วนเสี้ยวดินพรุ/น้ำจุขังทั้งปีเน่า/บ้างเหมืองเปล่าประโยชน์ร้าง/นายทุนอ้างครองดิน/ฮุบสินทรัพยากร/ราษฎรทุกข์ทั่วหน้า/ทุกข์ยากทุกหย่อมหญ้า/เร่าร้อนเนานาน” แล้วผู้เขียนได้เพิ่มเติมเป็นกลอนสุภาพ กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณไว้ว่า “พระทรงเห็นเหตุปวงลุล่วงสิ้น/ให้ปรับดินดอนแล้งดั่งแปลงสาร/เรียก “แกล้งดิน” โดยราดกรดรดดินดาน/ปนปูน-ด่างดินผสานเปรี้ยวเจือจาง/ที่ “ดินพรุ” มีน้ำขังสั่งแก้ไข/คลองระบายสายน้ำไหลสลับสล้าง/ให้น้ำท่วมและน้ำแล้งแบ่งเบาบาง/สร้างฝายบ้างสร้างแอ่งน้ำเก็บสำรอง/ที่น้ำเซาะก็ปลูกแฝกแทรกเข้าไป/ยึดดินไว้ไม่ให้ร่วงลงเป็นร่อง/แฝกช่วยลดแรงกระแทกแทรกลำคลอง /ดินน้ำพ้องความพอดีพระปรีชญาณ” พระมหากรุณาธิคุณยังมีอีกหลากหลายคำที่สมควรนำมากล่าวเพื่อตามรอยพระยุคลบาท ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
บทความแนะนำ