ช่วงเดือนกันยายน ที่ผ่านมา เรามีโอกาสไปร่วมงานเสวนาของ บริษัท คิงส์เมน ซี.เอ็ม.ที.ไอ. จำกัด (มหาชน) พันธมิตรของ บริษัท สื่อสากล จำกัด ผู้จัดงานมหกรรมยานยนต์ หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ MOTOR EXPO ผมขอเกริ่นให้ฟังก่อนว่า คิงส์เมน ซี.เอ็ม.ที.ไอ.ฯ เป็นผู้แทนงานก่อสร้างและตกแต่ง และผู้แทนจัดหากระแสไฟฟ้าอย่างเป็นทางการของงาน MOTOR EXPO โดยเราร่วมงานกันมาเป็นเวลากว่าสิบปี สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ในงาน MOTOR EXPO จนเป็นที่กล่าวขวัญสำหรับการเสวนาครั้งนี้ คิงส์เมน ซี.เอ็ม.ที.ไอฯ เขาตั้งหัวข้อไว้น่าสนใจมาก "มองโลก...เห็นเรา ก้าวทันกระแสดิจิทอล" และแน่นอนว่า ปัจจุบันเราๆ ท่านๆ ใช้ชีวิตอยู่ในยุคการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ตั้งแต่ยุค 2G สู่ 3G และมาเบิกบานเริงร่าในยุค 4G เกือบทุกบ้าน ทุกครัวเรือน ทั้งในและนอกกรุง ต่างถวิลหา อินเตอร์เนท, เฟศบุค, อินสตาแกรม และไลน์ วิทยากรที่เชิญมาทั้ง 2 ท่าน เป็นบุคคลที่มีความรอบรู้และความชำนาญระดับแม่เหล็กของวงการ โดยท่านแรก คือ ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ท่านให้ข้อมูลไว้ว่า จับตาดูราคาน้ำมัน ยาง และน้ำตาล ทั้ง 3 ส่วนนี้ ราคาจะขึ้น จะลง ล้วนมีผลกับเศรษฐกิจทั้งระดับในและต่างประเทศ ท่านบอกว่า เศรษฐกิจของประเทศไทย กำลังดีขึ้น เพราะมีปัจจัยบวกมาจากภาคส่งออก ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนนี้เป็นแรงขับเคลื่อนให้กับประเทศ พอๆ กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เรายังต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เข้า/ออกเมืองไทยเป็นจำนวนมาก มาจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ทั้งเสื้อผ้า ของที่ระลึก และอาหารไทย ล้วนแต่เป็นสินค้าที่นักท่องเที่ยวชาวจีนต้องการ และใช้เงินกับเรื่องนี้มากสุด ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่คนจีนชอบไปมีอยู่ 6 จังหวัดหลักๆ เชียงใหม่, กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, กระบี่, ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังให้เราจับตาดูการสร้าง EEC (EASTERN ECONOMIC CORRIDOR) ที่ภาครัฐจะลงทุนครั้งมโหฬารเพื่อเนรมิตเมืองที่มีความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน และวิทยากรท่านที่ 2 คือ พอ.ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วิทยากรท่านนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย และเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเราโดยตรงหลายเรื่อง ยิ่งในวงการสื่อสารมวลชนด้วยแล้ว ต้องลองฟังท่านบรรยายข้อมูล แล้วเราจะรู้ว่า สิ่งที่คนรุ่นเราคิด กับสิ่งที่โลกกำลังจะเป็น มันดูห่างไกลกันจริงๆ ผมขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจคร่าวๆ ดังนี้ ในช่วงยุค 2000 โลกก้าวสู่ยุค 3G และเป็นปีที่โลกเริ่มรู้จักกับ GOOGLE ซึ่งมีผลทำให้อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์จากกระดาษเริ่มเข้าสู่จุดจบ และถัดมาอีก 10 ปี ในปี 2010 เป็นยุดเริ่มต้นของ 4G โลกการสื่อสารเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง จาก "เฟศบุค" สื่อโซเซียลเนทเวิร์ค ที่ทรงพลังที่สุดในโลก เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้คนหลายวงการต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อเรียนรู้ และเพื่ออยู่ให้รอดในยุคที่ผู้คนเสพข่าวสารต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน และแทบเลท ซึ่งแน่นอนว่า เป็นการตอกย้ำการล้มหายตายจากของสื่อสิ่งพิมพ์รุ่นแรกๆ หลายๆ เล่ม หลายๆ ฉบับ เริ่มโบกมือลาจากแผงหนังสือ และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โลกจะเริ่มทำความรู้จักกับ IOT หรือ INTERNET OF THING ที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลขนาดมหึมาของโลก และเมื่อเราเข้าสู่ยุค 5G ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น สังคมที่อยู่อาศัย สังคมอุตสาหกรรม จะอุดมไปด้วยหุ่นยนต์ ซึ่งเชื่อว่าภายในปี 2030 มันจะเป็นแบบนั้น แน่นอนครับว่า ในยุคที่กำลังจะมาถึงนี้ วิวัฒนาการเดินทางจะเปลี่ยนไปเช่นกัน โลกยานยนต์ ย่อมแปรผันตามเทคโนโลยี ยานยนต์ไร้คนขับ ยานยนต์บินได้ ในรูปแบบดโรน จะเข้ามามีบทบาท และแหล่งพลังงานต่างๆ จะเปลี่ยนไป จากซากฟอสซิส จะเริ่มเข้าสู่ยุคพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สะอาดและมีปริมาณมากกว่าแหล่งพลังงานอื่นๆ การเสพข่าวสาร ก็จะเปลี่ยนรูปแบบเช่นกัน จากเดิมที่เป็นฝ่ายรับข่าวสารจากสื่อ ผู้คนก็จะเปลี่ยนเป็นผู้ส่งข่าว โดยผ่านโซเชียลเนทเวิร์คใหญ่ๆ ที่มีอยู่ จากรับ กลายเป็นแชร์ ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้แบบไม่ยากเย็น แต่จะมีกี่คนที่รู้จักการส่งข่าวที่ถูกต้องและเป็นจริง บนโลกโซเชียลเนทเวิร์ค !?! นี่เป็นคำถาม ? ยากที่จะตอบ เรารู้ว่า เราต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในโลกยุคใหม่ แต่จะอยู่อย่างไรให้รอด ปลอดภัย อันนี้เป็นเรื่องที่ชวนให้คิดจริงๆ หรือจะเหมือนกับคำพูดประโยคหนึ่ง ที่ลอยมากลางอากาศ "ถ้าเราไม่เปลี่ยน โลกจะเปลี่ยนเราเอง"