ได้ทราบข่าวรัฐบาลแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย แล้วก็อดชื่นใจไม่ได้ที่รัฐบาลอุตส่าห์นำเงินภาษีของราษฎรที่มีฐานะดี ไปเผื่อแผ่ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และผู้มีบัตรจะสามารถนั่งรถไฟและรถเมล์ฟรีได้ เคยคิดเล่นๆ ว่าเมื่อเกษียณจะไปนั่งรถไฟชั้น 3 ท่องเที่ยวเมืองไทยดูบ้าง รวมทั้งนั่งรถเมล์ฟรีไปดูเมืองเก่า เช่น บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ หรือฝั่งธนบุรี ตอนนี้เป็นอันหมดสิทธิ์แต่เป็นความรู้สึกหมดสิทธิ์ด้วยความเต็มใจ รถไฟนั้นไม่ได้นั่งมานานมากแล้ว จำประสบการณ์ที่นั่งว่าไม่ค่อยโรแมนทิคเท่าไร ครั้งสุดท้าย 20 ปีที่แล้ว โดยสารรถนอนไปเชียงใหม่เที่ยวเย็นวันศุกร์ กะว่าถึงตอนเช้าวันเสาร์ออกเที่ยวเลย ได้ที่นอนด้านบน นอนไม่ค่อยหลับ เมื่อไปถึงเชียงใหม่ ตอนเช้า ทักทายญาติพี่น้อง แล้วง่วงนอน ตาลืมไม่ขึ้น ร่างกายขัดยอกอ่อนเปลี้ยต้องนอนพักอีกทั้งวัน สรุปได้ว่าวันเสาร์ ไม่ได้ไปไหน และตัวเรานี้คงไม่ถูกโฉลกกับการเดินทางแบบนี้ อย่างไรก็ดีเมื่อถึงวัยพักผ่อน ก็มักจะมีเพื่อนชวนให้ไปเที่ยวด้วยขบวนรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียน ชื่อของ ทรานส์-ไซบีเรียน มีมนต์ขลัง สำหรับผู้ที่ชื่นชอบท่องเที่ยวเดินทางเสมอ เพราะมันคือ รถไฟขบวนที่ยาวที่สุดในโลก ที่มีความยาวถึง 9,289 กิโลเมตร เชื่อมต่อมอสโคว์กับรัสเซียน ฟาร์ อีสต์ และเชื่อมกับมองโกเลีย จีน และเกาหลีเหนือ ผู้เดินทาง สามารถเดินทางจากมอสโคว์ไปยังวลาดีวอสตอคได้ด้วยรถไฟสายนี้ตั้งแต่ปี 1961 ประวัติความเป็นมาของรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถ้าสนใจเรื่องของรัสเซีย เราก็ต้องเคยได้ยินชื่อของราชวงศ์โรมาโนฟมาบ้าง ราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์สุดท้ายของรัสเซีย ก่อนที่ประเทศนี้จะสูญสิ้นระบบกษัตริย์และเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบบสาธารณรัฐ และกษัตริย์องค์สุดท้าย คือ ซาร์เรวิช หรือ ซาร์นิโคลัส ที่ 2 จะถูกปลงพระชนม์ ปี 1890 ซาร์นิโคลัส เสด็จกลับจากการเสด็จประพาสรอบโลก การเดินทางของพระองค์สิ้นสุดที่ญี่ปุ่น จากนั้นเสด็จมายังวลาดีวอสตอค ได้ทรงมีรับสั่งให้สร้างทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียนขึ้น เพื่อให้พระองค์มีความสะดวกสบายในการเดินทางข้ามทะเลทรายไซบีเรียอันกว้างใหญ่ไพศาลในประเทศรัสเซีย สำหรับการคมนาคมในไซบีเรียในศตวรรษที่ 19 เป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะทางถนนที่มีหิมะปกคลุม ต้องใช้ทางเรือเดินทางแทนถึง 5 เดือน รถไฟจึงเป็นคำตอบ การสร้างทางรถไฟดำเนินไปตั้งแต่ปี 1891-1916 มนต์ขลังของรถไฟสายนี้เลื่องลือแม้จะยังไม่เสร็จดี รัสเซียได้เชิญปากีสถานมาร่วมมือกันในระเบียงเศรษฐกิจปากีสถาน-จีน และขยายเส้นทางรถไฟไปจนถึงเมืองท่ากวาดาร์ ปัจจุบันรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียน ได้กลายเป็นสายที่นักท่องเที่ยวปรารถนาจะได้สัมผัสสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อการเดินทางอย่างหรูหรา ผ่านทะเลทรายกว้างใหญ่จากเมืองในรัสเซียทั้งที่อยู่ในทวีปเอเชียและยุโรปเป็นร้อยๆ เมือง แค่สายมอสโคว์ วลาดิวอสตอค ก็ผ่านเมืองที่อยู่ในเขตไทม์โซนที่ต่างกันถึง 8 เขตด้วยกัน การเดินทางจากต้นจนจบกินเวลา 8 วัน การเดินทางด้วยรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียน ใช่ว่าจะเป็นประสบการณ์แค่การเดินทางหรูหรา ยาวนานผ่านเมืองต่างๆ เท่านั้น ยังเป็นโอกาสได้ชมสถานที่สำคัญ สัมผัสชีวิต และวัฒนธรรมของรัสเซียอย่างเต็มอิ่ม ตั้งแต่การชมโอเพรา หรือแม้กระทั่งชิมอาหารสตรีทฟูดแบบรัสเซียตามตลาด เขาก็จะเริ่มกันที่มอสโคว์ ซึ่งมีทั้งวัด โบสถ์ อาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทุกซอกทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นคเรมลิน พิพิธภัณฑ์ต่างๆ และรวมทั้งบัลเลท์บอลชอยอันลือเลื่อง จุดแวะเที่ยวระหว่าง 8 วันยังมีที่ คีโรฟ, ยาโรสลาฟล์ และ เปียร์ม ซึ่งมีโรงละครและบัลเลท์มากมายให้ดูชม แสนเสียดายเมื่อคิดว่าเพื่อนของผู้เขียนเคยเป็นเอกอัคราชทูตที่รัสเซีย แต่เราพลาดโอกาสไปเยี่ยมเยือนเธอ แต่นั่นก็ยังไม่นานเท่า รถไฟสายมอสโคว์-เปียงยาง ที่ยาว 10,267 กิโลเมตร และเคียฟ-วลาดีวอสตอค ที่ยาว 11,085 กิโลเมตร แต่ทั้งคู่ก็ใช้ทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียนเป็นส่วนใหญ่