หลังจากรีรออยู่นาน บรรดานักการตลาดค่ายรถยนต์ ก็ให้รู้สึกว่าความกดดันค่อยๆ ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่ายอดการขายรถยนต์สามารถจำหน่ายได้ 67,965 คัน เพิ่มขึ้น 6.8 % ทำให้ยอดโดยรวม 8 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 10.2 % ขายกันทั้งตลาด 543,123 คัน คิดเป็นบัญญัติไตรยางศ์ง่ายๆ ปี 2560 นี้ก็น่าจะจบลงที่ตัวเลขราว 810,000 คัน หรือมากกว่านั้น เพราะไตรมาสสุดท้ายมักเป็นไตรมาสที่ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเยอะอันที่จริงมีเรื่องให้ค่อนข้างดีใจกันมานานแล้ว ตั้งแต่ใครต่อใครคาดการณ์เอาไว้ ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม ที่ประเมินว่า จีดีพี ปีนี้น่าจะโตขึ้นราว 3-4 % ท้ายสุดเมื่อไตรมาสที่ 2 ก็ขยายตัวขึ้นไปได้เป็น 3.7 % ทำให้มีการประเมินกันใหม่ว่า จีดีพี ปีนี้น่าจะโตขึ้นเป็น 3.5 % เมื่อตอนครึ่งปี แต่มาถึง 8 เดือนแล้ว ยอดขายยังโตเพิ่ม 10.2 % ก็ให้มีรอยยิ้มจากบรรดานักการตลาดกันยกใหญ่ แม้ว่าเดือนสิงหาคมนี้ จะเป็นเดือนที่คนไทยทุกคนจะต้องเสียน้ำตากับงานโศกเศร้าครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิตก็ตามที ไปคุยกันเรื่องอื่นดีกว่า เอาเรื่องที่ผู้คนพากันตระหนกว่าจะกระทบต่อราคาจำหน่ายรถยนต์บ้านเรา เมื่อมีการเปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ที่ขายในประเทศ เป็นรูปแบบใหม่ โดยการแก้ไขให้จัดเก็บบนฐานราคาขายปลีกแนะนำ แทนฐานราคาหน้าโรงงานสำหรับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ที่เคยใช้อยู่เดิม จะทำให้ราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้น ส่วนราคานำเข้า ซีไอเอฟ (CIF) สำหรับรถยนต์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งคัน ทำให้ฐานราคาที่นำมาคำนวณภาษีตามวิธีใหม่สูงขึ้นกว่าแบบเดิมนั้น นอกเหนือจากผลดีที่รัฐบาลจะได้รับจากการจัดเก็บภาษีรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ในส่วนของประเด็นข้อดีที่รัฐบาลมองว่าจะช่วยให้การแข่งขันในตลาดมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นด้วยนั้น รายงานระบุว่า น่าจะช่วยให้ประโยชน์ทางอ้อมต่อการส่งเสริมความเชื่อมั่นนักลงทุน และเป็นอีกมูลเหตุจูงใจหนึ่งให้ค่ายรถมีการผลิตรถยนต์บางรุ่นในประเทศเพิ่มขึ้นได้ด้วย การปรับวิธีการคำนวณภาษีแบบใหม่ดังกล่าว น่าจะพิจารณาแยกผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นออกมาตามกลุ่มประเภทรถยนต์แบ่งคร่าวๆ เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ รถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งเปลี่ยนการคำนวณภาษีจากเดิมที่คิดจากราคาหน้าโรงงาน มาคิดจากราคาขายปลีกแนะนำ กรมสรรพสามิตได้มีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงประมาณ 24 % จากอัตราภาษีเดิม ทำให้ไม่เกิดผลกระทบต่อต้นทุนทางภาษีของธุรกิจผลิตรถยนต์ในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยหลังจากคำนวณแล้วพบว่า ภาระภาษียังคงมีความใกล้เคียงกับของเดิมก่อนเปลี่ยนวิธีคิดภาษีสรรพสามิตใหม่ ทำให้คาดว่าผลที่จะเกิดต่อผู้บริโภคในแง่ของการปรับราคาขายรถยนต์ น่าจะยังไม่เกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มีการแข่งขันกันสูงในตลาดรถยนต์ ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และการได้รับพโรโมชันส่งเสริมการตลาดอย่างมากและต่อเนื่องหลายปี รถยนต์นำเข้า คาดว่าจากการคิดภาษีแบบใหม่ที่รัฐบาลมองว่าจะช่วยทำให้การแข่งขันเท่าเทียมกันมากขึ้น ในแง่ที่ภาษีจัดเก็บบนฐานราคาขายปลีกแนะนำนี้ น่าจะส่งผลช่วยกระตุ้นให้มีการลงทุนประกอบในประเทศมากขึ้น เนื่องจากยอดจำหน่ายรถยนต์นำเข้าที่ค่ายรถเจ้าของบแรนด์รับรู้ ผ่านตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ สะท้อนยอดความต้องการจริงในตลาดมากขึ้น และหากจำนวนยอดขายจะสูงพอ ค่ายรถยนต์อาจหันมาพิจารณาเข้าร่วมลงทุนกับธุรกิจไทย เพื่อประกอบรถยนต์รุ่นที่มีทิศทางตลาดดีในอนาคต และมีโอกาสจะต่อยอดไปประกอบรุ่นอื่นๆ ในระยะต่อมาได้ หากบแรนด์ได้รับการตอบรับที่ดีในตลาด ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มมีตัวอย่างรถยนต์บางบแรนด์ที่ส่งสัญญาณไปในทิศทางดังกล่าวแล้ว ทั้งจากฝั่งยุโรป และเอเชีย โดยประเภทรถยนต์ที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ รถยนต์หรู หรือรถยนต์ที่ยังมีขนาดตลาดจำกัด แต่มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต ซึ่งเดิมจะเน้นการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศเป็นหลัก มีผลิตในประเทศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อ้อ หนนี้มีข่าวจะแจ้งนะขอรับ เรื่องที่สมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ ยื่นฟ้องกรมศุลกากร เรื่องการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินราคารถยนต์นั่งสำเร็จรูปนำเข้า ฟ้องว่าเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ส่งผลให้มีการจัดเก็บภาษีและอากรในการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ศาลปกครองกลางท่านมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ในคดีหมายเลขดำที่ 1469/2560 ไปเรียบร้อยแล้วนะขอรับ