แม้ว่าเศรษฐกิจของยุโรปปีนี้ จะอยู่ในภาวะปั่นป่วนรวนเร กระทบกระเทือนกันไปทั้งโลก และยากที่จะทำนายได้ว่าเมื่อไหร่จะกระดกหัวขึ้นมาได้อีกครั้ง แต่นั่นก็เป็นภาพโดยรวมของประชาชนทุกกลุ่ม แต่ไม่ใช่ภาพของกลุ่มที่เรียกว่า “มหาเศรษฐี” เพราะคนกลุ่มนี้อย่างไรก็ไม่กระทบหรอก มันช่างเป็นภาพที่สวนทางกับภาพโดยรวมของคนส่วนใหญ่เสียนี่กระไรประจักษ์พยานในเรื่องนี้จะเห็นได้จากยอดขายของรถยนต์ประเภทที่เรียกว่า “รถหรูระยับ” ระดับตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป อันได้แก่ แฟร์รารี ลัมโบร์กินี มาเซราตี แอสตัน มาร์ทิน เบนท์ลีย์ รวมถึงโรลล์ส-รอยศ์ คาดว่าจะมียอดขายทั่วโลกเติบโตขึ้นเป็นเลข 2 หลัก คือ 19 % หรือ 28,090 คัน เพราะความเป็นรถสุดหรู ราคาต่อคันเฉลี่ยจึงอยู่ที่ 15 ล้านบาท ดังนั้นจึงมีราคารวมกันมากกว่า 4 แสนล้านบาท !?! นั่นหมายความว่า ทุกปีบรรดา "มหาเศรษฐี" ทั้งหลายใช้เงินรวมกว่า 4 แสนล้านบาท เพื่อหาซื้อรถมาอยู่ในความครอบครอง ซึ่งบริษัทรถหรูต่างตระหนักว่า กระเป๋าของคนรวยสามารถขยายได้โดยไม่สิ้นสุด และวิธีดูดทรัพย์จากคนกลุ่มนี้ คือ หาเรื่องอัพราคาเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก ด้วยการชักชวนให้เจ้าของสั่งตกแต่งรถยนต์ตามสไตล์ที่ตัวเองชอบ จากหลักการง่ายๆ ว่า เศรษฐีเขามีรถแพงๆ เพื่อโอ้อวดฐานะ ดังนั้นถ้าจะอวดกันให้ถนัดถนี่ แค่ซื้อมาแพงๆ ยังไม่พอ แต่ต้องเป็นรถที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเหมือนกับที่พวกเศรษฐีที่เขาชอบอวดบ้านกันนั่นแหละ บางทีซื้อบ้านมา 10 กว่าล้านบาท แล้วไปซื้อ แชนเดอเลียร์ ราคา 5 ล้านบาท นำมาตกแต่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อเป็นเช่นนี้ แฟร์รารี สัญชาติอิตาเลียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ปีกของ FERRARI NV จึงหันมาพัฒนางานตกแต่งภายใน โดยหวังจะบวกเพิ่มราคารถเข้าไปอีกประมาณ 20 % เช่น หุ้มเบาะนั่งด้วยผ้าขนสัตว์ แคชเมียร์ (สำหรับเศรษฐีไทยคงต้องใช้ผ้าไหมบุ) หรือพ่นสีทองทั้งคัน (โอเวอร์ขนาดนี้ก็มีด้วยนะ) นักวิเคราะห์บอกว่ามันเหมือนกับดาราแต่งตัวไปงานแต่ละครั้งนั่นแหละ จะใส่ชุดซ้ำกันได้อย่างไร แฟร์รารี ตั้งใจว่าการตกแต่งรถตามความต้องการของลูกค้า จะสามารถเพิ่มมูลค่าตัวรถได้ราว 20 % โดยสาเหตุที่ตั้งเป้าหมายไว้เช่นนี้ เพราะใน 1 ปี ยอดขายรวมทั้งหมดของรถค่ายนี้มีประมาณ 7,000 คัน (ถ้าผลิตออกมามากกว่านี้จะกลายเป็นรถโหล) อดีต เฟียต ซึ่งเป็นเจ้าของ แฟร์รารี ต้องทำอย่างนี้ เพื่อพยุงรายได้ของตลาดรถยุโรปเอาไว้ เนื่องจากยอดขายรถ "บ้านๆ" ของ เฟียต ไม่ค่อยดีนัก เมื่อปีที่แล้ว ด้วยกลยุทธ์แบบนี้ แฟร์รารี สามารถสร้างกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 32 % แฟร์รารี ได้แบ่งผลงานดีไซจ์นออกเป็น 3 สไตล์ ให้ลูกค้าเลือก ได้แก่ คลาสสิค มีส่วนละม้ายรุ่นประวัติศาสตร์ แฟร์รารี จีที ภายในบุหนังแบบวินเทจ สกูเดรีอา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการแข่งขัน ฟอร์มูลา วัน ภายในตกแต่งด้วยวัสดุไฮเทค เช่น คาร์บอนไฟเบอร์ และ อีเนดิท ใช้วัสดุทันสมัย สีสันตามแฟชัน และทเรนด์แห่งยุค เช่น ภายในบุเดนิม เป็นต้น หากลูกค้าคนไหนที่ต้องการจะสั่งตกแต่งแบบพิเศษที่ว่านี้ ก็ไปที่สำนักงานใหญ่ที่ มาราเนลโล ไปคุยกับดีไซจ์เนอร์ที่จะให้คำปรึกษากันอย่างใกล้ชิดแบบตัวต่อตัว นี่คือทางออกของ เฟียต ซึ่งยอดขายในบ้านเกิด กำลังย่ำแย่มองไม่เห็นทางฟื้น ส่วนทางด้าน โพร์เช ของเยอรมนี ใช้กลยุทธ์ต่างออกไป โดยวางเป้าหมายจะส่งมอบรถให้ได้ถึง 200,000 คัน ในปี 2018 ไม่ใช่เฉพาะ แฟร์รารี เท่านั้นที่ใช้กลยุทธ์ตกแต่งตามคำสั่งเจ้าของ ส่วนรถหรูเจ้าอื่นก็เป็นอย่างนี้เช่นกัน อาทิ มายบัค ของ ไดมเลร์ ซึ่งราคาระดับ 11 ล้านบาท เชื่อหรือไม่ว่ามีเฉดสี เบาะ และการตกแต่งต่างๆ ซึ่งมีให้เลือกถึง 2 ล้านแบบ !?! คุณอ่านไม่ผิดหรอกค่ะ มีให้เลือกมากมายมหาศาลจริงๆ สำหรับ โรลล์ส-รอยศ์ แฟนทอม ที่ขายดิบขายดีในประเทศอินเดีย โดย 90 % ของรถที่ขายออกไป เป็นรถที่สั่งตกแต่งโดยเจ้าของ ลูกค้าเมืองโรตี จะใช้ส่าหรีตกแต่ง ก็ไม่ว่ากัน ส่วนรุ่น โกสต์ กำลังเริ่มเดินหน้าให้ลูกค้าสั่งตกแต่งกันตามสไตล์ส่วนตัวด้วยเช่นกัน การตกแต่งตามความต้องการ ถือเป็นความสนุกสนานของ "มหาเศรษฐี" เพราะมีเงินเยอะ ก็ต้องหาทางใช้ไปเรื่อยๆ ลองไปสืบถามดู รถหรูๆ ทั้งหลายทั้งปวงนี้อยู่ในมือชาวไทยกี่คัน...ถ้าผู้อ่านรู้แล้วจะหนาว