ยอดขายของรถ เอสยูวี กำลังเบ่งบานทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเมื่อ 20-30 ปีก่อน ท้องถนนยังเต็มไปด้วยรถปั่นล้อด้วย 2 เท้า แต่เดี๋ยวนี้กลับกลายเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว ตามตัวเลขของ CAAM (CHINA ASSOCIATION OF AUTOMOBILE MANUFACTURERS หรือ สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศจีน ในรอบปีไก่แก่แย่ทั้งเล้าอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ สามารถผลิตรถสารพัดชนิดได้รวมทั้งสิ้นประมาณ 29,015,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จากตัวเลขในรอบปีก่อนหน้านั้น ส่วนยอดขายอยู่ที่ระดับ 28,879,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.0 นับเป็นอัตราการเพิ่มต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี และต่ำกว่าตัวเลขที่เคยพยากรณ์กันน่าว่าจะมีอัตราการเพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 CAAM วิเคราะห์ว่าตัวเลขซึ่งต่ำกว่าที่คาดนี้ เป็นผลพวงจากการลดอัตราภาษีการบริโภคในปี 2016 ซึ่งทำให้ยอดขายรถเพิ่มขึ้นมากผิดปกติในรอบปีดังกล่าว รวมทั้งส่งผลกระทบในทางลบเป็นอย่างมากต่อยอดขายในช่วงครึ่งแรกของปีถัดมาเฉพาะรถยนต์นั่งซึ่งแยกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ รถเก๋ง เอมพีวี และเอสยูวี ยอดผลิตยอดขายอยู่ที่ระดับ 24,807,000 และ 24,718,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 และ 1.4 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับตัวเลขในรอบปี 2016 จุดที่น่าสังเกตและทำให้กล่าวได้ว่ายอดขายของรถ เอสยูวี กำลังเบ่งบานก็คือ ในขณะที่ยอดผลิตยอดขายของรถเก๋งลดลงร้อยละ 1.4 และ 2.5 ตามลำดับ และยอดผลิตยอดขายของรถ เอมพีวี ลดลงร้อยละ 17.6 และ 17.1 ตามลำดับ ยอดผลิตยอดขายของรถ เอสยูวี ที่ "สื่อสากล" นิยมเรียกในพากย์ไทยว่า "รถกิจกรรมกลางแจ้ง" กลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.4 และ 13.3 ตามลำดับ ครั้นแยกยอดขายตามรุ่นก็พบว่ารถ เอสยูวี ขายดีที่สุด คือ รถสัญชาติจีน ฮาวัล เอช 6 (HAVAL H6) ซึ่งขายได้มากถึง 505,944 คัน ถัดไป คือ รถสัญชาติจีน เปาจุน 510 (BAOJUN 510) 358,877 คัน และรถเยอรมัน โฟล์คสวาเกน ทีกวน (VOLKSWAGEN TIGUAN) 340,032 คัน เดือนนี้เป็นอีกเดือนหนึ่งที่ "ระเบียงรถใหม่" นำเสนอแต่รถ เอสยูวี ล้วนๆ มีทั้งรถขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และเป็นรถจาก 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อิตาลี โดยเริ่มต้นที่รถขนาดเล็กจากเมืองมะกัน ซึ่งเพิ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ ครั้งล่าสุด เมื่อกลางเดือนมกราคมที่เพิ่งผ่านพ้นไป ค่าย จีพ ซึ่งรถประเภทอื่นๆ ทำไม่เป็น ทำเป็นก็แต่รถ เอสยูวี เริ่มนำรถติดป้ายชื่อ จีพ แรงเลอร์ (JEEP WRANGLER) ออกจำหน่ายในเมืองมะกันเมื่อปี 1986 รถรุ่นดังกล่าวมีรหัส JEEP YJ มีการผลิตทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา อิหร่าน และถือได้ว่าเป็นทายาทสายไม่ตรงของ WORLD WAR II JEEP หรือรถ จีพ ทหาร สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คนรักรถ "สอวอ" คงจำกันได้ดี รถรุ่นดังกล่าวอยู่ในสายการผลิตจนถึงปี 1995 แล้วก็ถูกแทนที่ด้วยรถรุ่นที่ 2 (JEEP TJ) ตอนต้นปี 1996 ตามมาด้วยรถรุ่นที่ 3 (JEEP JK) ตอนกลางปี 2006 และล่าสุด คือ รุ่นที่ 4 (JEEP JL) ซึ่งเพิ่งเปิดตัวดังที่กล่าวข้างต้น เช่นเดียวกับรถรุ่นก่อน รถรุ่นใหม่ซึ่งผ่านการทดสอบทั้งในสหรัฐอเมริกา จีน บราซิล อินเดีย ออสเตรเลีย และอิตาลี รวมระยะทางทดสอบยาวไกลกว่า 6.2 ล้านกิโลเมตรนี้ นับเป็นรถ เอสยูวี พันธุ์แท้ มีโครงสร้างตัวถังอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษสไตล์อเมริกันว่า SEPERATE BODY AND FRAME หรือ BODY-ON-FRAME เป็นตัวถังเหล็กกล้า/อลูมิเนียม วางตัวอยู่บนโครงฐานแบบ LADDER-TYPE FRAME หรือ "โครงบันไดลิง" เป็นรถวางเครื่องหน้าตามยาว/ขับเคลื่อนทุกล้อ ติดตั้งระบบเกียร์ที่เลือกการทำงานได้ 2 แบบ คือ HIGH GEARING กับ LOW GEARING ระบบรองรับ (กันสะเทือน) ทั้งชุดหน้าและชุดหลังใช้สปริงขด ไม่ใช่แหนบเหมือนรถ 2 รุ่นแรก จึงวิ่งในเมืองได้ดีไม่แพ้การวิ่งแบบลุย และก็เช่นเดียวกับรถรุ่นก่อน รถรุ่นใหม่นี้มีตัวถังให้เลือกใช้ 2 แบบ เป็นตัวถังที่กว้างและสูงเท่ากัน แต่ยาวไม่เท่ากัน คือ ตัวถัง 2 ประตู 4 ที่นั่ง ซึ่งยาว 4.237 ม. (รวมยางอะไหล่) กว้าง 1.875 ม. สูง 1.868 ม. และมีน้ำหนักรถพร้อมขับ 1,794-1,987 กก. กับตัวถัง 4 ประตู 5 ที่นั่ง ซึ่งยาว 4.785 ม. (รวมยางอะไหล่) กว้าง 1.875 ม. สูง 1.868 ม. และมีน้ำหนักรถพร้อมขับ 1,905-2,034 กก. หลังคาที่เปิดได้ของตัวถังที่ว่านี้มีให้เลือก 2 แบบ คือ แบบประทุนอ่อน (SOFT TOP) กับแบบประทุนแข็ง ซึ่งแยกเป็น 3 ชิ้น (3-PIECE HARD TOP) ประตูข้างทั้ง 2 ด้านหากไม่ต้องการก็สามารถถอดออกได้ดังที่เห็นในภาพ กระจกหน้าก็มีหลายแบบ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนผสมที่ทำให้ผู้ซื้อรถสามารถพลิกแพลงแต่งรถได้สารพัดแบบ และไร้ขีดจำกัด อย่างที่กล่าวเป็นภาษาอังกฤษว่า ENDLESS CONFIGURATION POSSIBILITIES นั่นเอง ที่ยังไม่เห็นในภาพ และต้องรอจนถึงปี 2019 จึงจะมีให้เลือกใช้ คือ HALF DOOR DESIGN ซึ่งเป็นประตูที่มีอยู่เพียงครึ่งบาน กำลังจะออกตลาดในฐานะรถรุ่นปี 2018 โดยที่ตัวถัง 2 ประตู จะแบ่งการตกแต่ง/ติดอุปกรณ์เป็น 3 ระดับ กำกับด้วยรหัส SPORT-SPORT S-RUBICON และค่าตัว MSRP (MANUFACTURER'S SUGGESTED RETAIL PRICE หรือราคาที่ผู้ผลิตแนะนำว่าน่าจะเป็น) จะเริ่มต้นที่ระดับ 26,995 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 864,000 บาทไทย ส่วนตัวถัง 4 ประตู จะแบ่งการตกแต่ง/ติดอุปกรณ์เป็น 4 ระดับ กำกับด้วยรหัส SPORT-SPORT S-SAHARA-RUBICON และค่าตัว MSRP จะแพงกว่ากันนิดหน่อย คือ เริ่มต้นที่ 30,495 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 976,000 บาทไทย ตัวถังทั้ง 2 แบบนี้มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาด เครื่องยนต์มาตรฐานเป็นเครื่องเบนซิน DOHC วี 6 สูบ 3,604 ซีซี 209 กิโลวัตต์/285 แรงม้า ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ส่วนเครื่องยนต์ที่เป็นออพชันพิเศษให้เลือก คือ เครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,995 ซีซี 200 กิโลวัตต์/270 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ไม่มีเกียร์ธรรมดา