มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์ เจนีวา 2018
งานแสดงรถยนต์ รายการสำคัญของเมืองนาฬิกา น่าใจหายเพราะต้องใช้พื้นที่บางส่วนขายกาแฟครึ่งเดือนก่อนถึงกำหนดวันเดินทางสู่เมืองสวิสส์เป็นครั้งที่เท่าไร ก็จำไม่ได้แล้ว มีข่าวคราวเกี่ยวกับสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ และหิมะที่ตกกระหน่ำอย่างผิดฤดูกาลในหลายประเทศของยุโรป ที่ทำให้คณะของเราต้องเตรียมการกันเป็นพิเศษด้านเครื่องนุ่งห่มกันลมกันหนาว เพื่อรับมือกับสภาพอากาศอันย่ำแย่นี้ แต่เมื่อเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทาง ด้วยบริการของสายการบินเจ้าจำปีสีม่วงที่ผลประกอบการยังอยู่ในสภาพเดี๋ยวทรงเดี๋ยวทรุด ก็พบว่าดินฟ้าอากาศของเมืองนาฬิกาไม่เลวร้ายอย่างที่เป็นข่าว อุณหภูมิอากาศซึ่งมีหน่วยเป็นองศาเซลเซียส สามารถเขียนได้โดยใช้ตัวเลขเพียงตัวเดียว และไม่จำเป็นต้องมีเครื่องหมายติดลบนำหน้า คุณปุ้ม ลูกสาวสุดสวยของฝ่ายสร้างสรรค์ในคณะเรา ที่ทำงานและใช้ชีวิตในเมืองสวิสส์มานมนานบอกว่า โชคดีที่คณะเราเดินทางไปเยือนเมืองนี้ตอนปลายสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม ซึ่งอากาศเริ่มอุ่นขึ้นแล้ว ก่อนหน้านี้ คือ ช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ หิมะยังโปรยปรายทุกวัน และอากาศก็เย็นเยียบระดับ -10 องศานั่นเทียว มหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งล่าสุดนี้ นับต่อเนื่องได้ว่าเป็นครั้งที่ 88 มีช่วงเวลาจัดงานรวม 11 วัน คือ ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 8-วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2018 โดยที่ 2 วันก่อนหน้านั้น คือ วันอังคารที่ 6 และวันพุธที่ 7 จัดเป็นวันสำหรับสื่อมวลชน อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า PRESS DAY สถานที่จัดงานเป็นที่เดิม คือ ศูนย์นิทรรศการขนาดใหญ่ซึ่งมีชื่อว่า PALEXPO สภาพของพื้นที่จัดงานที่สัมผัสได้ในช่วงเวลา 2 วันเต็มที่คณะเราเดินไปเดินมาอยู่ในงาน เพื่อบันทึกทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น ทำให้ต้องตั้งคำถามอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของงานแสดงรถยนต์รายการนี้ และอีกหลายรายการที่กำลังมีสภาพคล้ายคลึงกัน ผู้ผลิตรถยนต์เจ้าประจำหลายรายที่หายหน้าหายตาไป รวมทั้งอีกหลายรายที่ยังอยู่แต่ลดขนาดพื้นที่ลง ทำให้งานดูหลวมและลดความคึกคัก เนื่องจากบางพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่จอดอวดตัวของรถยนต์สารพัดแบบ เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ของบูธขายชา ขายกาแฟ ที่สะดุดใจและน่าจะกล่าวถึงด้วยเช่นกัน คือ การแต่งเนื้อแต่งตัวของบรรดา "พริทที" และ "นางข้างรถ" ที่ปรากฏตัวอยู่ในบูธของผู้ผลิตรถยนต์รายต่างๆ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้เดินทางไปชมงานมหกรรมยานยนต์เจนีวาจะผิดหวังไปตามๆ กัน หากตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะได้ยลโฉมรถรุ่นใหม่ๆ ที่มีสาวสวยๆ ในชุดเสียวๆ ยืนอยู่เคียงข้าง เพราะสิ่งที่ว่านี้หาได้ยากถึงยากมากในงานมหกรรมยานยนต์ของเมืองสวิสส์ แล้วปีนี้ล่ะ ? ดูจากภาพประกอบก็แล้วกันครับ ! เข้าใจและทึกทักเอาเองว่าผู้รังสรรค์ชุดแต่งกายเหล่านี้อาจได้แบบอย่างที่ดีจากงาน "มหกรรมยานยนต์" ในบ้านเรา และน่าจะเชื่อได้เลยหากมีใครยืนยันว่า บางชุดขอยืมจากนิสิตนักศึกษาในประเทศไทย (555)
MERCEDES-BENZ A-CLASS
ค่าย "ดาวสามแฉก" ยังคงให้ความสำคัญแก่มหกรรมยานยนต์เจนีวา โดยนำผลงานใหม่ออกอวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" หลายชิ้น ชิ้นแรกสุดที่เลือกมาให้ชื่นชมกัน คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอ-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ A-CLASS) รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 4 ในเยอรมนีรถรุ่นนี้มีกำหนดออกตลาดในเดือนพฤษภาคมของปีหมาทองต้องฉีดวัคซีน พร้อมกับป้ายราคาค่าตัวรวมภาษีซึ่งจะเริ่มต้นที่ระดับ 30,232 ยูโร หรือประมาณ 1.21 ล้านบาทไทย โดยที่ในระยะแรกจะมีรถให้เลือกเพียง 3 โมเดล คือ MERCEDES-BENZ A 200 (เบนซิน 120 กิโลวัตต์/163 แรงม้า) MERCEDES-BENZ A 250 (เบนซิน 165 กิโลวัตต์/224 แรงม้า) และ MERCEDES-BENZ A 180 D (ดีเซล 85 กิโลวัตต์/116 แรงม้า) ทุกโมเดลเป็นรถ 5 ประตูแฮทช์แบค 5 ที่นั่ง ซึ่งมีขนาดตัวถัง 4.419x1.796x1.440 ม. คือ โตขึ้นเล็กน้อยในทุกมิติเมื่อเทียบกับรุ่นเก่าMERCEDES-BENZ C-CLASS
ปรากฏตัว "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ C-CLASS) รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรถรุ่นปัจจุบันในตัวถังซีดาน และตัวถังตรวจการณ์ ที่เพิ่งผ่านการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ "ยกหน้า" หลังจากอยู่ในตลาดมายาวนานกว่า 4 ปี และในปี 2017 ทำยอดขายทั่วโลกได้มากกว่า 415,000 คัน เช่นเดียวกับรถรุ่นเดิม รถรุ่นใหม่นี้จะมีการผลิตใน 4 ประเทศ คือ เยอรมนี แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และจีน เฉพาะในเมืองแม่ซึ่งจะเริ่มการจำหน่ายในเดือนมิถุนายนนี้ ในระยะแรกตัวถังทั้ง 2 แบบจะมีรถขับล้อหลัง 2 โมเดล คือ MERCEDES-BENZ C 200 (เบนซิน 135 กิโลวัตต์/184 แรงม้า กับ MERCEDES-BENZ C 220 D (ดีเซล 143 กิโลวัตต์/194 แรงม้า) และมีรถขับทุกล้ออีก 2 โมเดล คือ MERCEDES-BENZ C 200 4MATIC (เบนซิน 135กิโลวัตต์/184 แรงม้า) กับ MERCEDES-AMG C 43 4MATIC (เบนซิน 287 กิโลวัตต์/390 แรงม้า)MERCEDES-AMG GT 4-DOOR COUPE
แค่รถสปอร์ทซูเพอร์คาร์ เมร์เซเดส-เอเอมจี จีที (MERCEDES-AMG GT) ในตัวถัง 2 ประตูคูเป ยังสะใจไม่พอ ที่งานนี้ค่าย "ดาวสามแฉก" จึงเอาใจคนรักรถแรงรถหรูเงินหนา โดยนำรถชื่อเดียวกันในตัวถัง 4 ประตูคูเป ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" พร้อมคำยืนยันว่า "มีพื้นที่เก็บของอย่างพอเพียงตรงท้ายรถ และมีสมรรถนะล้นเหลือตรงหน้ารถ" ไม่ใช่รถที่ทำขึ้นใหม่ทั้งคัน หากพัฒนาต่อยอดอีกทอดหนึ่งจากรถ 2 ประตูคูเป โดยปรับเปลี่ยนส่วนท้ายเพื่อให้เป็นรถที่ใช้งานในชีวิตประจำวันได้โดยสะดวก มีกำหนดออกตลาดในฤดูร้อนของปี 2018 และจะมีรถให้เลือกรวม 3 โมเดล คือ MERCEDES-AMG GT 53 4MATIC+ (เบนซิน 320 กิโลวัตต์/435 แรงม้า) MERCEDES-AMG GT 63 4MATIC+ (เบนซิน 430 กิโลวัตต์/585 แรงม้า) และ MERCEDES-AMG GT 63 S 4MATIC+ (เบนซิน 470 กิโลวัตต์/639 แรงม้า) ทั้งหมดเป็นรถขับทุกล้อ ติดตั้งระบบเกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะAUDI A6
ค่าย "สี่ห่วง" ซึ่งกำลังสร้างความสับสนอลหม่านให้แก่ลูกค้าโดยการเปลี่ยนระบบการตั้งชื่อรุ่นของรถ ดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้ชมงานด้วยรถเก๋งซีดานขนาดกลางติดป้ายชื่อ เอาดี เอ 6 (AUDI A6) รุ่นใหม่ ซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ นับนิ้วได้ว่าเป็นรถรุ่นที่ 8 ในตัวถังขนาด 4.939x1.886x1.457 ม. ที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดหาง เป็นตัวถังที่ยาวขึ้น 0.7 ซม. กว้างขึ้น 1.2 ซม. และสูงขึ้น 0.2 ซม. เมื่อเทียบกับรถรุ่นเดิม หน้าตาและรูปทรงองค์เอวไม่มีจุดโดดเด่นสะดุดตาที่สมควรจะกล่าวถึง ในเยอรมนีมีกำหนดออกโชว์รูมในเดือนมิถุนายน 2018 พร้อมกับป้ายค่าตัวรวมภาษีซึ่งเริ่มต้นที่ 58,050 ยูโร หรือประมาณ 2.32 ล้านบาทไทย และจะมีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาด คือ เครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดตรง วี 6 สูบ 2,995 ซีซี 250 กิโลวัตต์/340 แรงม้า กับเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดตรง วี 6 สูบ 2,967 ซีซี 210 กิโลวัตต์/286 แรงม้าBMW CONCEPT M8 GRAN TURISMO
รถขนาดโตแต่ดูปราดเปรียวติดป้ายชื่อ บีเอมดับเบิลยู คอนเซพท์ เอม 8 กรัน ตูริสโม (BMW CONCEPT M8 GRAN TURISMO) คือ แม่เหล็กแท่งใหญ่ที่ดึงดูดสื่อมวลชนเข้าสู่บูธของยอดผู้ผลิตรถหรูเมืองเบียร์ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋ง 4 ประตูคูเปขนาดโต และเป็นต้นแบบของรถธงอนุกรมใหม่ ที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 พร้อมกับป้ายชื่อ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-8 (BMW 8-SERIES) ตัวถังที่ตั้งใจออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน มีช่วงฐานล้อยาว มีหน้าหม้อยาว แต่มีส่วนท้ายสั้น สไตล์เดียวกันกับรถที่น่าจะเป็นคู่แข่งขันโดยตรงในตลาด คือ เบนท์ลีย์ คอนทิเนนทัล จีที (BENTLEY CONTINENTAL GT) กับ เมร์เซเดส-เอเอมจี จีที 4 ประตูคูเป (MERCEDES-AMG GT 4-DOOR COUPE) ซึ่งเพิ่งผ่านตาไป ที่น่าติดตามก็คือ นอกจากตัวถัง 4 ประตูคูเป อย่างที่เห็นนี้แล้ว รถธงอนุกรมใหม่นี้จะมีตัวถัง 2 ประตูคูเป กับตัวถังเปิดประทุน ให้เลือกด้วยBMW X4
ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งที่ช่วยดึงดูดสื่อมวลชนให้หลั่งไหลเข้าสู่บูธของค่าย "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว" คือ บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 4 (BMW X4) เป็นรถตลาดสายเลือดเยอรมันอีกแบบหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถรุ่นใหม่ซึ่งนับนิ้วได้ว่าเป็นรุ่นที่2 กำลังจะออกโชว์รูมแทนที่รถรุ่นแรกซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2014 และขายทั่วโลกไปแล้วประมาณ 200,000 คัน โดยที่ในระยะแรกจะมีรถให้เลือกรวม 5 โมเดล คือ BMW X4 XDRIVE20I (เบนซิน 1,998 ซีซี 135 กิโลวัตต์/184 แรงม้า) BMW X4 XDRIVE30I (เบนซิน 1,998 ซีซี 185 กิโลวัตต์/252 แรงม้า) BMW X4 XDRIVE20D (ดีเซล 1,995 ซีซี 140 กิโลวัตต์/190 แรงม้า) BMW X4 XDRIVE25D (ดีเซล 1,995 ซีซี 170 กิโลวัตต์/231 แรงม้า) และ BMW X4 M40D (ดีเซล 2,993 ซีซี 240 กิโลวัตต์/326 แรงม้า ค่าตัวรวมภาษีในเยอรมนีเริ่มต้นที่ 49,700 ยูโร หรือประมาณ 1.99 ล้านบาทไทยVOLKSWAGEN ID VIZZION
ยักษ์ใหญ่ซึ่งกำลังมุ่งมั่นอยู่กับการพัฒนารถพลังไฟฟ้า เรียกความสนใจของสื่อมวลชนด้วยรถแนวคิดติดป้ายชื่อ โฟล์คสวาเกน ไอดี วิซซัน (VOLKSWAGEN ID VIZZION) ซึ่งก็เป็นรถอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ นับเป็นรถแนวคิดตระกูล ID แบบที่ 4 และเป็นต้นแบบของรถพลังไฟฟ้าขนาดโตเต็มพิกัดที่คาดว่าออกสู่ตลาดได้ก่อนปี 2025 ตัวถังขนาด 5.163x1.947x1.506 ม. ที่นั่งได้รวม 4 คน และขึ้น/ลงได้สะดวกมาก เพราะมีประตูข้างที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง ติดตั้งระบบขับทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 75 กิโลวัตต์/102 แรงม้า ขับล้อคู่หน้า และมอเตอร์ไฟฟ้า 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า ขับล้อคู่หลัง ได้กำลังสุทธิสูงสุด 225 กิโลวัตต์/306 แรงม้า ชาร์จไฟแต่ละครั้งสามารถวิ่งได้ไกลถึง 665 กม. ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 180 กม./ชม. เป็นรถที่ไม่มีพวงมาลัยและปุ่มบังคับควบคุมใดๆ เพราะวิ่งได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ขับPORSCHE MISSION E CROSS TURISMO
ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทของเมืองเบียร์เรียกความสนอกสนใจจากสื่อมวลชนได้อย่างล้นหลาม ด้วยรถติดป้ายชื่อ โพร์เช มิสชัน อี ครอสส์ ตูริสโม (PORSCHE MISSION E CROSS TURISMO) ซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" และนักวิจารณ์รถยนต์บางคนในยุโรปยกนิ้วให้เป็น ONE OF THE BIGGEST SURPRISES หรือ "หนึ่งในบรรดาสิ่งน่าประหลาดใจที่สุดในงานนี้" เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ที่วิ่งได้ด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์แบบใดๆ เป็นระบบขับเคลื่อนทุกล้อที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ให้กำลังสุทธิสูงสุดสูงกว่า 440 กิโลวัตต์/600 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ซึ่งชาร์จไฟได้หลากหลายวิธี และการชาร์จไฟเพื่อให้รถวิ่งได้ไกลประมาณ 400 กม. จะใช้เวลาเพียง 15 นาที นับเป็นรถพลังไฟฟ้าที่แรงและเร็วไม่เสียชื่อ โพร์เช อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลาไม่ถึง 3.5 วินาทีVOLVO V60
ผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งเพิ่งทำ "สองเด้ง" โดยคว้ารางวัล CAR OF THE YEAR JAPAN ด้วยรถ โวลโว เอกซ์ซี 60 (VOLVO XC60) และคว้ารางวัล CAR OF THE YEAR ด้วยรถ โวลโว เอกซ์ซี 40 (VOLVO XC40) ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว โวลโว วี 60 (VOLVO V60) รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 2 และเป็นรถที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่พื้นรถจรดหลังคา ตัวถังขนาด 4.761x1.850x1.427 ม. คือ ยาวขึ้น 12.6 ซม. แคบลง 1.6 ซม. และเตี้ยลง 5.7 ซม. เมื่อเทียบกับรถรุ่นเดิม ใช้พแลทฟอร์มชุดเดียวกันกับรถอีกหลายรุ่น รวมทั้ง โวลโว เอกซ์ซี 60 (VOLVO XC60) และโวลโว เอส 90/วี 90 (VOLVO S90/V90) กำลังจะเริ่มการจำหน่ายโดยมีรถให้เลือก 3 โมเดล คือ VOLVO V60 T6 AWD (เบนซิน 228 กิโลวัตต์/310 แรงม้า) VOLVO V60 T6 TWIN ENGINE AWD (ไฮบริด 251 กิโลวัตต์/340 แรงม้า) และ VOLVO V60 T8 TWIN ENGINE AWD (ไฮบริด 288 กิโลวัตต์/390 แรงม้า)POLESTAR 1
ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลข 1 ของเมืองฟรีเซกซ์ ที่เจ้าของนั่งจิบน้ำชาอยู่ในเมืองมังกร เดินตามรอยบริษัทรถยนต์อีกหลายราย โดยเริ่มกิจการผลิตรถยี่ห้อใหม่ขึ้น 1 ยี่ห้อ มีชื่อว่า โพลสตาร์ (POLESTAR) และอธิบายว่าเป็น PREMIUM BRAND หรือยี่ห้อพิเศษ ที่จะใช้กับรถไฟฟ้าพลังสูงโดยเฉพาะ ที่งานนี้ทีมงานของเรามีโอกาสสัมผัสผลงานชิ้นแรก ซึ่งมีกำหนดว่าจะเริ่มการผลิตอย่างเป็นเรื่องเป็นราวตอนกลางปี 2019 ที่โรงงานซึ่งตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน และจะออกสู่ตลาดพร้อมกับป้ายชื่อ โพลสตาร์ 1 (POLESTAR 1) เป็นรถเก๋ง 2 ประตูคูเป 2+2 ที่นั่ง ในตัวถังยาว 4.50 ม. ซึ่งขับเคลื่อนทุกล้อด้วยระบบไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ (PLUG-IN HYBRID) ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด และแบทเตอรีขนาด 34 กิโลวัตต์ชั่วโมง ให้กำลังสุทธิสูงสุด 441 กิโลวัตต์/600 แรงม้า และวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกลกว่ารถไฮบริดแบบใดๆ ในขณะนี้ คือ 150 กม.SKODA VISION X
ในบูธของผู้ผลิตรถยนต์แห่งสาธารณรัฐเชค มีผลงานใหม่ที่สมควรกล่าวถึงเพียงชิ้นเดียว คือ สโกดา วิชัน เอกซ์ (SKODA VISION X) รถอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาด 4.255x1.807x1.537 ม. ติดตั้งระบบขับทุกล้อแบบไฮบริดชนิดไม่ต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ รวมทั้งเป็นต้นแบบของรถตลาดอนุกรมใหม่ที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่โชว์รูมในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า ระบบไฮบริดที่กล่าวข้างต้น ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน 4 สูบเรียง 1.5 ลิตร 96 กิโลวัตต์/130 แรงม้า ที่ใช้ CNG หรือแกสธรรมชาติอัดแน่นเป็นเชื้อเพลิง ร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก 1 ชุด ขับล้อคู่หน้า และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็กอีกชุดหนึ่งขับล้อคู่หลัง ติดตั้งถังเชื้อเพลิงไว้ 2 ถัง เติมเชื้อเพลิงเต็มถังแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลถึง 650 กม. ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ได้ใน 9.3 วินาที และทำความเร็วสูงสุด 200 กม./ชม.BUGATTI CHIRON SPORT
ในพื้นที่อันคับแคบของยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทสุดคลาสสิคเมืองน้ำหอม มีรถจอดอยู่เพียงคันเดียว คือ รถสปอร์ทซูเพอร์คาร์ติดป้ายชื่อ บูกัตตี ชีรน สปอร์ท (BUGATTI CHIRON SPORT) คันที่เห็นในภาพ ซึ่งก็เป็นรถใหม่อีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ ไม่ใช่รถใหม่ที่ทำขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่พัฒนาต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจาก บูกัตตี ชีรน (BUGATTI CHIRON) ซึ่งเปิดตัวในงานเดียวกันนี้เมื่อ 2 ปีก่อน เป็นการพัฒนาที่เน้นการลดน้ำหนักตัว โดยแทนที่ชิ้นส่วนหลายชิ้นด้วยของใหม่ที่เบากว่า เช่น กระทะล้อ แผ่นครอบอินเตอร์คูเลอร์ซึ่งทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ กลไกบางชิ้นของระบบใบปัดน้ำฝน กระจกบานหลัง ฯลฯ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในส่วนของเครื่องยนต์กลไก ผลลัพธ์ด้านน้ำหนัก คือ ลดได้ 18 กก. ผลลัพธ์ด้านความเร็ว คือ ทั้งอัตราเร่งและความเร็วสูงสุดยังคงเดิม ส่วนผลลัพธ์ด้านราคา คือ ค่าตัวยังไม่รวมภาษีเพิ่มนิดหน่อยจาก 2.40 เป็น 2.65 ล้านยูโร หรือประมาณ 106 ล้านบาทไทยLAGONDA VISION CONCEPT
รถแนวคิดรูปทรงงดงามวามวับที่สุดในงานนี้จะเป็นรถคันใดไม่ได้เลย หากไม่ใช่ ลากอนดา วิชัน คอนเซพท์ (LAGONDA VISION CONCEPT) ที่เห็นในภาพใหญ่ และภาพเล็กซ้ายสุด เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งระดับอัครฐาน รวมทั้งเป็นต้นแบบของรถตลาดรุ่นใหม่และยี่ห้อใหม่ ที่ค่าย แอสตัน มาร์ทิน (ASTON MARTIN) ตั้งใจจะเริ่มการผลิตในปี 2021 แล้วนำออกสู่โชว์รูมพร้อมกับป้ายยี่ห้อ ลากอนดา (LAGONDA) อันเป็นยี่ห้อดั้งเดิมที่ค่ายนี้เคยใช้มาก่อนแล้วกับรถหลาย 10 รุ่นที่จำหน่ายในช่วงปี 1906-1989 แนวคิดในการผลิตรถรุ่นดังกล่าวก็คือ เป็นรถสุดหรูและอัครฐานระดับเดียวกันกับรถ โรลล์ส-รอยศ์ แฟนทอม (ROLLS-ROYCE PHANTOM) และเบนท์ลีย์ มุลซานน์ (BENTLEY MULSANNE) แต่ทันสมัยกว่า ไฮเทคกว่า และน่าใช้กว่า เพราะเป็นรถขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ จึงไม่จำเป็นต้องมีแม้กระทั่งฝากระโปรงหน้า แถมเป็นรถที่วิ่งได้โดยไม่ต้องมีผู้ขับBENTLEY BENTAYGA HYBRID
ผู้ผลิตรถอัครฐานของเมืองผู้ดีเพิ่มทางเลือกให้แก่คนรักรถกระเป๋าเงินโต ที่ต้องการเป็นเจ้าของรถกิจกรรมกลางแจ้งติดโลโก "ปีกนก" ขณะเดียวกันก็ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสุรุ่ยสุร่าย โดยเสนอรถใหม่ให้เลือกอีก 1 โมเดล คือ เบนท์ลีย์ เบนเทย์กา ไฮบริด (BENTLEY BENTAYGA HYBRID) ซึ่งก็เป็นรถใหม่อีกแบบหนึ่งซึ่งอวดตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ รถหรูรถแรงแต่ไม่เปลืองเชื้อเพลิงโมเดลนี้ ติดตั้งระบบขับทุกล้อแบบไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ (PLUG-IN HYBRID) ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซิน วี 6 สูบ 3.0 ลิตร ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า และคาดหมายว่าน่าจะให้กำลังสุทธิสูงสุด 330 กิโลวัตต์/450 แรงม้า มีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต่ำเพียง 75 กรัม/กม. และหลังการชาร์จไฟแต่ละครั้ง (ด้วยไฟบ้านซึ่งใช้เวลา 7.5 ชม. และลดเป็น 2.5 ชม. เมื่อใช้ที่ชาร์จไฟซึ่งทำขึ้นโดยเฉพาะ) รถจะวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกลกว่า 50 กม.JAGUAR I-PACE
หนึ่งในบรรดารถตลาดที่สื่อมวลชนสนใจกันมาก คือ รถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ แจกวาร์ ไอ-เพศ (JAGUAR I-PACE) ซึ่งเป็นข่าวมานมนาน แต่ผู้คนเพิ่งมีโอกาสสัมผัสตัวจริงเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นรถพลังไฟฟ้าแบบแรกของค่าย "แมวป่า" ที่เคยยืนยันแล้วว่าจะทำรถไฟฟ้ารวม 2 แบบ ตัวถังขนาด 4.682x2.011 (รวมกระจกมองข้างขณะพับ)x1.558 ม. ติดตั้งระบบขับทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด (กำลังรวมสุทธิ 294 กิโลวัตต์/400 แรงม้า) ทำงานร่วมกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ขนาด 90 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งชาร์จไฟแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลถึง 480 กม. สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 4.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 200 กม./ชม. เป็นรถผลิตในออสเตรีย และเริ่มจำหน่ายแล้วในอังกฤษ มีรถให้เลือก 3 โมเดล คือ JAGUAR I-PACE S/JAGUAR I-PACE SE/JAGUAR I-PACE HSE ค่าตัวรวมภาษีเริ่มต้นที่ 63,495 ปอนด์ หรือประมาณ 2.80 ล้านบาทไทยROLLS-ROYCE PHANTOM
เปิดตัวในเมืองผู้ดีเมื่อไตรมาสแรกของปีไก่อูรู้ไม่จริง แต่ต้องรอกันหลายเดือนจนถึงงานนี้นี่แหละ ทีมงานของเราจึงมีโอกาสสัมผัสตัวจริงที่ไร้เสียงของรถ โรลล์ส-รอยศ์ แฟนทอม (ROLLS-ROYCE PHANTOM รุ่นใหม่ ซึ่งนับนิ้วได้ว่าเป็นรถรุ่นที่ 8 และเป็นรถที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่พื้นรถจรดหลังคา แต่หน้าตาและรูปทรงองค์เอวดูเผินๆ แทบไม่ต่างจากรถรุ่นเก่า ตัวถังขนาด 5.762x2.018x1.646 ม. ซึ่งมีน้ำหนักตัวพร้อมขับที่หนักน้องๆ รถถัง คือ 2,560 กก. ติดตั้งระบบขับด้วยพลังของเครื่องยนต์ทวินเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 12 สูบ 6,749 ซีซี 420 กิโลวัตต์/571 แรงม้า ส่งกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ของ ZF อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 5.3 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 250 กม./ชม. นอกจากตัวถังอย่างที่เห็นนี่แล้ว รถแบบนี้ยังมีตัวถังแบบพิเศษ คือ PHANTOM EXTENDED WHEELBASE ซึ่งยืดความยาวตัวถังเป็น 5.982 ม. ให้เลือกด้วยMcLAREN SENNA GTR CONCEPT
ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองผู้ดีนำรถรุ่นใหม่ๆ ออกอวดตัวในงานนี้หลายคัน และคันที่ดูจะดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนได้มากที่สุด คือ แมคลาเรน เซนนา จีทีอาร์ คอนเซพท์ (McLAREN SENNA GTR CONCEPT) ซึ่งก็เป็นรถอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดที่ไม่ได้รังสรรค์ขึ้นใหม่ทั้งคัน หากพัฒนาแตกหน่อต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจากรถตลาด แมคลาเรน เซนนา (McLAREN SENNA) ซึ่งกำหนดจำนวนผลิตไว้เพียง 500 คัน ตั้งค่าตัวไว้ 750,000 ปอนด์ หรือประมาณ 33.0 ล้านบาทไทย และขายหมดไปแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มการผลิตรถคันแรก เป็นการพัฒนาโดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้กลายสภาพเป็นรถแข่งที่วิ่งไม่ได้ตามท้องถนนทั่วไป รวมทั้งเพิ่มกำลังของเครื่องยนต์ทวินเทอร์โบเบนซิน DOHC วี 8 สูบ 3,994 ซีซี จาก 800 เป็นไม่น้อยกว่า 825 แรงม้า ยืนยันว่าจะผลิตเพื่อใช้แข่งเพียง 75 คัน และเพิ่มค่าตัวเป็น 1 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 44 ล้านบาทไทยRENAULT EZ-GO
ทันทีที่ได้เห็นรถติดป้ายชื่อ เรอโนลต์ อีเซด-โก (RENAULT EZ-GO) วิ่งกลับไปกลับมาอยู่ในบูธของยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอม ก็ตัดสินใจยกตำแหน่ง "รถแนวคิดชวนฉงน" ให้ไปเลยโดยไม่มีการลังเล ยืนพิจารณาและศึกษารายละเอียดอยู่ไม่นานจึงทราบข้อมูลอย่างเป็นสังเขปว่า เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถพลังไฟฟ้าไร้ผู้ขับ ที่ตั้งใจออกแบบเพื่อให้เป็นรถแทกซี หรือรถบัสโดยสารสาธารณะ ตัวถังขนาด 5.20x2.20x1.60 ม. หนัก 1,700 กก. (รวมแบทเตอรีหนัก 300 กก.) ซึ่งเต็มไปด้วยพื้นที่กระจก มีห้องโดยสารที่นั่งได้รวม 6 คน ในลักษณะแถวยาวและหันหน้าเข้าหากัน ประตูซึ่งมีอยู่เพียงบานเดียวติดตั้งตรงด้านหน้าของตัวรถ และเปิด/ปิดอย่างที่เห็นในภาพ การขึ้น/ลงรถจึงทำได้สะดวกและไม่จำเป็นต้องก้มศีรษะ เป็นรถซึ่งไม่มีทั้งพวงมาลัย แผงหน้าปัดอุปกรณ์ และปุ่มบังคับ อย่างที่คุ้นเคยกัน เพราะเป็นรถที่วิ่งได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ขับ ส่วนระบบขับเคลื่อนด้วยล้อหลังก็ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเพียงชุดเดียวPEUGEOT RIFTER
ค่าย "สิงห์เผ่น" นำรถตลาดรุ่นใหม่ออกอวดตัว "ครั้งแรกในโลก" รวม 2 แบบ แบบแรก คือ เปอโฌต์ ริฟเตอร์ (PEUGEOT RIFTER) รถผลิตในสเปนและโปรตุเกส ซึ่งต้องรอจนถึงเดือนกันยายน 2018 จึงจะเริ่มการจำหน่ายในตลาดทั่วโลก เป็นรถสารพัดประโยชน์อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า LEISURE ACTIVITY VEHICLE ซึ่งมีตัวถังให้เลือกใช้ 2 ขนาด คือ ตัวถังยาว 4.40 ม. ซึ่งติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 2 แถว/นั่งได้รวม 5 คน กับตัวถังยาว 4.75 ม. ซึ่งติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว/นั่งได้รวม 7 คน ทั้ง 2 ตัวถังมีเครื่องยนต์ให้เลือกรวม 5 ขนาด แยกเป็นเครื่องเบนซิน 2 ขนาด คือ เครื่อง 81 กิโลวัตต์/110 แรงม้า ซึ่งทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ กับเครื่อง 96 กิโลวัตต์/130 แรงม้า ซึ่งทำงานร่วมกับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเป็นเครื่องดีเซล 3 ขนาด คือ เครื่อง 55 กิโลวัตต์/75 แรงม้า เครื่อง 74 กิโลวัตต์/100 แรงม้า และเครื่อง 96 กิโลวัตต์ 130 แรงม้าPEUGEOT 508
รถตลาดอีกอนุกรมหนึ่งซึ่งค่าย "สิงห์เผ่น" นำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ รถเก๋งซีดานขนาดกลางติดป้ายชิ่อ เปอโฌต์ 508 (PEUGEOT 508) ซึ่งต้องอดใจรอคอยจนถึงเดือนกันยายนของปีหมาน้อยไม่ค่อยยิ้มเช่นกันจึงจะเริ่มการจำหน่ายทั่วโลก โดยใช้โรงงานซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมิวลูส (MULHOUSE) ของฝรั่งเศสเป็นที่ผลิต นับเป็นรถรุ่นที่ 2 มีขนาดตัวถัง 4.75x1.84x1.40 ม. คือ สั้นลง 8 ซม. กว้างขึ้น 2 ซม. และเตี้ยลง 6 ซม. เมื่อเทียบกับรถรุ่นแรกซึ่งอยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี 2011 หน้าตาและรูปทรงองค์เอวดูดีขึ้นเยอะ โดยเฉพาะส่วนท้ายซึ่งคล้ายรถคูเป จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกรวม 5 ขนาด คือ เครื่องเบนซิน 132 กิโลวัตต์/180 แรงม้า เครื่องเบนซิน 165 กิโลวัตต์/225 แรงม้า เครื่องดีเซล 96 กิโลวัตต์/130 แรงม้า เครื่องดีเซล 118 กิโลวัตต์/160 แรงม้า และเครื่องดีเซล 132 กิโลวัตต์/180 แรงม้า ส่วนระบบเกียร์มี 2 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะCITROEN BERLINGO
ค่าย "จ่าโท" นำรถอนุกรมใหม่ออกอวดตัวในงานนี้ 2 อนุกรม อนุกรมหนึ่งซึ่งเป็นการปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" คือ รถเล็กติดป้ายชื่อ ซีตรอง แบร์แลงโก (CITROEN BERLINGO) ที่ต้องรอจนถึงครึ่งหลังของปีนี้จึงจะเริ่มการจำหน่าย เป็นรถใช้สอยสารพัดประโยชน์อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า LEISURE ACTIVITY VEHICLE และเป็นคู่ฝาคู่แฝดกับรถร่วมเครือ คือ เปอโฌต์ ริฟเตอร์ (PEUGEOT RIFTER) ที่เพิ่งผ่านตาไป ใช้ตัวถังเดียวกัน เครื่องยนต์กลไกชุดเดียวกัน แต่ตกแต่งต่างกัน และมีรายละเอียดต่างกัน เช่นเดียวกับรถคู่แฝดรถใหม่ของค่าย "จ่าโท" ซึ่งนับเป็นรถรุ่นที่ 3 นี้ มีตัวถังให้เลือก 2 แบบ คือ ตัวถังยาว 4.40 ม. ซึ่งนั่งได้ 5 คน กับตัวถังยาว 4.75 ม. ที่นั่งได้ 7 คน หน้าตาและรูปทรงองค์เอวของตัวถังทั้ง 2 แบบชี้ให้เห็นว่าทีมออกแบบยังอาลัยอาวรณ์รถรุ่นเก่าอยู่มาก เครื่องยนต์ที่ใช้มีทั้งเครื่องเบนซิน เครื่องดีเซล ระบบเกียร์ก็มีทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะCITROEN C4 CACTUS
รถใหม่อีกแบบหนึ่งของค่าย "จ่าโท" ที่สมควรบรรจุไว้ในรายงานนี้ คือ ซีตรอง เซ กัตร์ คักตุส (CITROEN C4 CACTUS) รุ่นใหม่ (รุ่นที่ 2) ซึ่งเปิดตัวในเมืองน้ำหอมมาก่อนแล้ว และเพิ่งออกงานระดับ "อินเตอร์" เป็นครั้งแรก มีกำหนดออกตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 แทนที่รถรุ่นเดิมซึ่งเริ่มจำหน่ายในเมืองน้ำหอมเมื่อเดือนมิถุนายน 2014 และก็เช่นเดียวกับรถรุ่นเดิม รถรุ่นใหม่นี้เป็นรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดเล็กกะทัดรัด ที่มีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวซึ่งไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน แถมยังมีนวัตกรรมถึง 2 รายการ ที่ค่าย "จ่าโท" บอกว่าไม่เคยพบเคยเห็นกันมาก่อนในรถแบบใดๆ ที่จำหน่ายอยู่ในยุโรป คือ ระบบรองรับ PHC (PROGRESSIVE HYDRAULIC CUSHIONS) ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกราวกับรถกำลังวิ่งอยู่บนพื้นปูพรม กับเก้าอี้ที่นั่งที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ และเรียกขานในภาษาอังกฤษว่า ADVANCED COMFORT SEATS เป็นเก้าอี้นั่งสบายที่ไม่เคยพบกันมาก่อนในรถแบบใดๆ ในโลกด้วยซ้ำFERRARI 488 PISTA
เปิดตัวผ่านสื่อต่างๆ มาก่อนแล้ว แต่การออกงานเป็นครั้งแรกของรถ แฟร์รารี 488 ปิสตา (FERRARI 488 PISTA) ก็ยังทำให้บูธของยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองมะกะโรนีแน่นขนัดไปด้วยบรรดาสื่อมวลชน ที่ประสงค์จะได้สัมผัสตัวจริงเสียงไม่จริงของ "รถม้าลำพอง" รุ่นนี้ เป็นรถรุ่นใหม่ซึ่งไม่ใช่ใหม่แท้ๆ แต่พัฒนาต่อกิ่งต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจากรถที่อยู่ในสายการผลิตมาตั้งแต่ปี 2015 คือ แฟร์รารี 488 จีทีบี (FERRARI 488 GTB) ตัวถังขนาด 4.605x1.975x1.206 ม. ซึ่งมีน้ำหนักตัวพร้อมขับ 1,385 กก. ติดตั้งเครื่องยนต์ 8 สูบ ที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ของค่ายนี้ คือ เครื่องทวินเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 8 สูบ 90 องศา ความจุ 3,902 ซีซี ซึ่งให้กำลังสูงสุด 530 กิโลวัตต์/720 แรงม้า และส่งกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลาแค่ 2.85 วินาที ความเร็วสูงสุดไม่ระบุตัวเลขชัดเจน แต่บอกว่า เร็วกว่า 340 กม./ชม.PININFARINA HK GT
สำนักออกแบบรถยนต์ที่ยังหากินอยู่ได้ อวดผลงานใหม่ 2 คันในงานนี้ คันหนึ่งซึ่งเป็นการปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" คือ รถติดป้ายชื่อ ปินินฟารีนา เอชเค จีที (PININFARINA HK GT) ซึ่งเป็นรถแนวคิดคันที่ 4 ที่ค่ายนี้ร่วมกันรังสรรค์กับผู้ผลิตรถจีนซึ่งมีฐานประกอบการอยู่ในฮ่องกง คือ บริษัท ไฮบริด ไคเนทิค กรุพ (HYBRID KINETIC GROUP) ตัวถังขนาด 4.980x2.000x1.365 ม. ซึ่งมีจุดโดดเด่นสะดุดตาตรงประตูข้างที่เปิด/ปิดแบบปีกนก ติดตั้งระบบขับทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 4 ชุด (กำลังสุทธิสูงสุดสูงกว่า 800 กิโลวัตต์/1,088 แรงม้า) ทำงานร่วมกับแบทเตอรี 38 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระบบเกียร์อัตโนมัติ 2 จังหวะ และไมโครเทอร์ไบน์ซึ่งทำหน้าที่เป็น "ตัวยืดระยะทาง" สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 2.7 วินาที ทำความเร็วสูงสุด 350 กม./ชม. ชาร์จไฟแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกลกว่า 160 กม. และจะเพิ่มเป็นไกลกว่า 1,000 กม. เมื่อให้ตัวยืดระยะทางทำงานPININFARINA H2 SPEED
ผลงานใหม่อีกคันหนึ่งที่ยอดสำนักออกแบบเมืองมะกะโรนีนำออกอวดในงานนี้ ไม่ใช่รถแนวคิด แต่เป็นรถตลาดติดป้ายชื่อ ปินินฟารีนา เอช 2 สปีด (PININFARINA H2 SPEED) เป็นรถที่จะผลิตเพียง 12 คัน และค่ายนี้ยืนยันว่าจะเป็นการผลิตอย่างพิเศษสำหรับคนรักรถพันธุ์พิเศษ คือ เป็นผู้หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของสิ่งที่เรียกกันว่าความเร็ว ขณะที่ยังเคารพสิ่งแวดล้อม และประทับใจในรถยนต์ที่ค่าย ปินินฟารีนา ออกแบบ ตัวถังขนาด 4.730x1.956x1.113 ม. ติดตั้งระบบขับล้อหลังด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 4 ชุด (กำลังสุทธิสูงสุด 480 กิโลวัตต์/653 แรงม้า) ทำงานร่วมกับ FUEL CELL หรือเซลล์ไฟฟ้าขนาด 250 กิโลวัตต์ และถังซึ่งบรรจุแกสไฮโดรเจนได้ 7.6 กก. สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 3.4 วินาที และทำความเร็วสูงสุด 300 กม./ชม. ที่น่าเสียดายก็คือ ไม่มีการยืนยันตัวเลขว่าหลังการเติมแกสจนเต็มถังโดยใช้เวลาเพียง 3 นาที รถสะอาดคันนี้จะวิ่งได้ไกลแค่ไหน ?LAMBORGHINI HURACAN PERFORMANTE SPYDER
ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทกระทิงดุใช้เวทีหมุนขนาดยักษ์ในงานนี้เป็นที่เปิดตัวรถรุ่นใหม่ล่าสุด คือ ลัมโบร์กินี อูรากัน เปอร์โฟร์มันเต สไปเดอร์ (LAMBORGHINI HURACAN PERFORMANTE SPYDER) ซึ่งไม่เคยปรากฏตัวที่งานใดมาก่อนเลย เป็นรถเปิดประทุนขับเคลื่อนทุกล้อที่ไม่ได้ทำขึ้นใหม่ทั้งคัน แต่พัฒนาต่อกิ่งต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจากรถคูเปติดป้ายชื่อ ลัมโบร์กินี อูรากัน เปอร์โฟร์มันเต (LAMBORGHINI HURACAN PERFORMANTE) ซึ่งเริ่มเข้าสู่สายการผลิตเมื่อปี 2017 ตัวถังขนาด 4.506x1.924x1.180 ม. ซึ่งมีน้ำหนักตัวเปล่า 1,507 กก. ติดตั้งประทุนหลังคาแบบอ่อนซึ่งทำจากผ้าแฟบริค และเปิด/ปิดด้วยการกดปุ่มโดยใช้เวลาประมาณ 17 วินาที ส่วนเครื่องยนต์และระบบเกียร์ยกมาทั้งชุดจากรถคูเป คือ เครื่องเบนซินฉีดตรง DOHC วี 10 สูบ 5,204 ซีซี 470 กิโลวัตต์/640 แรงม้า กับเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลาแค่ 3.1 วินาที ความเร็วสูงสุด 325 กม./ชม.ITALDESIGN POP.UP NEXT
สำนักออกแบบเลื่องชื่อของเมืองมะกะโรนี ซึ่งปัจจุบันตกอยู่ในอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของค่าย โฟล์คสวาเกน กรุพ ดึงดูดสื่อมวลชนเข้าสู่บูธอย่างหนาแน่นด้วย อิตัลดีไซจ์น พอพ.อัพ เนกซ์ (ITALDESIGN POP.UP NEXT) รถแนวคิดซึ่งพัฒนาแตกหน่อต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจากรถแนวคิดติดป้ายชื่อ อิตัลดีไซจ์น พอพ.อัพ (ITALDESIGN POP.UP) ที่ปรากฏตัวในงานนี้เมื่อปี 2017 เป็นผลงานจากความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ สำนักอิตัลดีไซจ์น เอาดี บริษัทผู้ผลิตอากาศยานแอร์บัส และเป็นผลงานที่ตั้งใจรังสรรค์ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองใหญ่ๆ เพราะทำให้ผู้คนสามารถเดินทางได้ทั้งทางบก และทางอากาศ ในยานพาหนะคันเดียว ตัวถังซึ่งออกแบบสไตล์เดียวกันกับรถซึ่งเป็นที่มา แยกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ AIR MODULE ซึ่งทำหน้าเหมือนดโรน หรือเครื่องบินที่ขับด้วยพลังไฟฟ้า CAPSULE ซึ่งทำหน้าที่เป็นห้องโดยสาร และ GROUND MODULE ซึ่งทำหน้าที่เหมือนรถบรรทุกที่ขับเคลื่อนล้อหลังด้วยพลังไฟฟ้าเช่นกันHYUNDAI KONA ELECTRIC
ยักษ์ใหญ่ของเมืองโสมมีผลงานที่สมควรกล่าวถึง 2 ชิ้น ชิ้นแรก คือ รถตลาด ฮันเด โคนา อีเลคทริค (HYUNDAI KONA ELECTRIC) รถใหม่อีกแบบหนึ่งซึ่งปรากฏตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัด ที่พัฒนาต่อกิ่งต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจากรถ ฮันเด โคนา (HYUNDAI KONA) ซึ่งเริ่มจำหน่ายในเมืองโสมขาวเมื่อกลางปี 2017 โดยที่จุดหลักของการพัฒนาที่ว่านี้ คือ การเปลี่ยนระบบขับ จากขับด้วยพลังของเครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นการขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งมีให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ แบบที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 100 กิโลวัตต์/136 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน โพลีเมอร์ (LITHIUM-ION POLYMER) 39.2 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งชาร์จไฟแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลกว่า 340 กม. กับแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า ทำงานร่วมกับแบทเตอรี 64 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งชาร์จไฟแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกลถึง 550 กม.HYUNDAI LE FIL ROUGE
ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งซึ่งยักษ์ใหญ่เมืองโสมนำออกอวดตัวแบบ"ครั้งแรกในโลก"ที่งานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ ฮันเด เลอ ฟิล รูจ (HYUNDAI LE FIL ROUGE) ซึ่งเป็นรถแนวคิดไม่ใช่รถตลาดที่กำลังจะออกโชว์รูม เป็นรถแนวคิดที่ค่ายนี้เพิ่งรังสรรค์ขึ้นเพื่อบอกแนวทางการออกแบบของทีมงานใหม่ ซึ่งมี ลุค ดงเคร์โวลเค (LUC DONCKERWOLKE) นักออกแบบชาวเบลเยียม วัย 53 ปี ซึ่งเคยทำงานกับ เบนท์ลีย์ และลัมโบร์กินี มาก่อนแล้วเป็นผู้นำ รวมทั้งเป็นต้นแบบของรถตลาดรุ่นใหม่ที่จะออกจำหน่ายพร้อมกับป้ายชื่อ ฮันเด ไอ 40 ซาลูน (HYUNDAI I40 SALOON) ยักษ์ใหญ่เมืองโสมบรรยายสรรพคุณของรถแนวคิดคันนี้ไว้ยืดยาว 3 หน้ากระดาษ A4 แต่อ่านแล้วมีเรื่องที่สมควรถ่ายทอดไว้ตรงนี้เพียงเรื่องเดียว คือ ชื่อในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งแปลว่า เส้นลวดสีแดง ในภาษาไทย เป็นการบ่งบอกให้ประจักษ์ว่าค่ายนี้เชื่อมั่นว่าการออกแบบรถ ฮันเด ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ล้วนเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงถึงกันหมดSSANGYONG E-SIV
ยักษ์เล็กเมืองโสมยังคงจับจองพื้นที่ในงานมหกรรมยานยนต์เจนีวา เหมือนปีก่อนๆ เพราะยอดขายรถในประเทศยุโรปยังเดินหน้าไปได้ด้วยดี ปีนี้ผลงานที่สมควรกล่าวถึง คือ รถแนวคิดติดป้ายชื่อ ซังยง อี-เอสไอวี (SSANGYONG E-SIV) ซึ่งก็เป็นรถอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดเล็กกะทัดรัดที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ รวมทั้งเป็นต้นแบบของรถอนุกรมใหม่ที่ตั้งใจว่าจะนำออกสู่ตลาดแทนที่รถรุ่นปัจจุบัน คือ ซังยง โครันโด (SSANGYONG KORANDO) ที่ดูจะตกยุคตกสมัยไปแล้วเพราะอยู่ในสายการผลิตมาตั้งแต่ปี 2010 ตัวถังขนาด 4.560x1.870x1.630 ม. ติดตั้งระบบและอุปกรณ์อันทันสมัย รวมทั้งเทคโนโลยีวิ่งได้แม้ไร้ผู้ขับ (AUTONOMOUS DRIVING TECHNOLOGY) ระบบเชื่อมโยงระหว่างรถกับคน/คนกับรถ/รถกับรถ ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า CONNECTIVITY และ INFOTAINMENT SERVICE ซึ่งเป็นระบบบริการสื่อสารเริงรมย์TATA EVISION
งานนี้ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเมืองภารตะมีผลงานใหม่ให้ชมถึง 3 คัน แต่มีอยู่เพียงคันเดียวที่สมควรบรรจุไว้ในรายงานนี้ คือ รถหุ่นสวยติดป้ายชื่อ ทาทา อีวิชัน (TATA EVISION) ซึ่งปรากฏตัวให้เห็นเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดที่ค่ายนี้ทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 20 ปีที่ร่วมงานมหกรรมยานยนต์ของเมืองสวิสส์ ตัวถัง 4 ประตูซีดาน ซึ่งออกแบบหน้าตาและรูปทรงองค์เอว ด้วยปรัชญาการออกแบบที่เพิ่งกำหนดขึ้นใหม่ และตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า IMPACT 2.0 DESIGN PHILOSOPHY ติดตั้งระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆ บอกแต่เพียงว่า มีระบบชาร์จไฟแบทเตอรีให้เลือก 2 แบบ คือ แบบ SLOW CHARGING ซึ่งใช้ไฟกระแสสลับ (AC) กับแบบ FAST CHARGING ซึ่งใช้ไฟกระแสตรง (DC)สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลาไม่ถึง 7 วินาที ทำความเร็วสูงสุด 200 กม./ชม. และมี 40 % MAXIMUM GRADABILITY คือ สามารถวิ่งขึ้นทางลาดชันได้ถึงร้อยละ 40TOYOTA GR SUPRA RACING CONCEPT
ยักษ์ใหญ่ของเมืองยุ่นซึ่งยังคงปักหลักอยู่ในที่เดิม และไม่มีการลดขนาดพื้นที่มีผลงานที่สมควรกล่าวถึง 2 ชิ้น ชิ้นแรกในภาพใหญ่ และภาพเล็กซ้ายมือสุด คือ รถติดป้ายชื่อ โตโยตา จีอาร์ ซูพรา เรซิง คอนเซพท์ (TOYOTA GR SUPRA RACING CONCEPT) ซึ่งอวดตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ท 2+2 ที่นั่ง วางเครื่องหน้า/ขับล้อหลังซึ่งมีขนาดตัวถัง 4.574x2.048x1.230 ม. เป็นผลงานรังสรรค์ของ โตโยตา กาซู เรซิง (TOYOTA GAZOO RACING) หน่วยงานย่อยซึ่งรับผิดชอบงานรถแข่ง และกิจกรรมแข่งรถของยักษ์ใหญ่เมืองยุ่น รวมทั้งเป็นต้นแบบของรถสปอร์ทคูเปที่ตอนต้นปี 2019 ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดพร้อมกับป้ายชื่อ โตโยตา ซูพรา (TOYOTA SUPRA) นับเป็นรถรุ่นที่ 5 และเป็นการคืนชีพอีกครั้งหนึ่งของรถแรงที่หลุดจากสายการผลิตไปแล้ว 15 ปีเต็ม ในอดีตรถสปอร์ทอนุกรมนี้ออกตลาดมาแล้วรวม 4 รุ่น ในปี 1978 1981 1986 1993 และหยุดผลิตปี 2002TOYOTA AURIS
ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งของยักษ์ใหญ่เมืองยุ่น คือ โตโยตา เอารีส (TOYOTA AURIS) เป็นรถตลาดซึ่งก็อวดตัวที่งานนี้แบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน เป็นรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดเล็กกะทัดรัดในตัวถัง 4.370x1.790x1.435 ม. ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยใช้พแลทฟอร์มที่ค่ายนี้เพิ่งทำขึ้นใหม่ และตั้งชื่อในภาษาอังกฤษว่า TNGA (TOYOTA NEW GLOBAL ARCHITECTURE PLATFORM) เป็นรถรุ่นที่ 3 และก็เช่นเดียวกับรถ 2 รุ่นแรก คือ เป็นรถที่ออกแบบ/พัฒนาในยุโรป และจะใช้โรงงานที่เมืองเบอร์นาสตัน (BURNASTON) ในอังกฤษเป็นที่ผลิต ที่น่าติดตามก็คือ รถรุ่นใหม่ซึ่งต้องรอประมาณ 1 ปีจึงจะถึงกำหนดออกโชว์รูมนี้ จะไม่มีรถดีเซล แต่จะมีระบบขับไฮบริดให้เลือกใช้ถึง 2 แบบ คือ แบบที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร 90 กิโลวัตต์/122 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า เหมือน โตโยตา ปรีอุส (TOYOTA PRIUS) รุ่นล่าสุด กับแบบที่เพิ่มขนาดเครื่องยนต์เป็น 2.0 ลิตร 132 กิโลวัตต์/180 แรงม้าLEXUS UX
รถตลาดสายเลือดซามูไรอีกแบบหนึ่งซึ่งปรากฏตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ พบได้ในบูธของค่าย เลกซัส พร้อมกับป้ายชื่อ เลกซัส ยูเอกซ์ (LEXUS UX) นับเป็นรถอนุกรมใหม่ล่าสุดของค่ายนี้ และเป็น COMPACT CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ซึ่งออกแบบโดยใช้พแลทฟอร์มที่ค่ายนี้เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ และตั้งชื่อว่า NEW GLOBAL ARCHITECTURE PLATFORM หรือ GA-C มีตัวถังที่แข็งแกร่งและจุดศูนย์ถ่วงค่อนข้างต่ำ คาดหมายกันว่าอีกไม่นานก็จะเริ่มออกสู่โชว์รูมในยุโรปแทนที่รถ เลกซัส ซีที (LEXUS CT) ซึ่งเป็นรถเก๋งแฮทช์แบคไม่ใช่รถเอสยูวี โดยที่ในระยะแรกจะมีรถให้เลือกเพียง 2 โมเดล คือ LEXUS UX200 ซึ่งติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.0 ลิตร และระบบเกียร์อัตโนมัติปรับอัตราทดต่อเนื่อง DIRECT SHIFT-CVT กับ LEXUS UX250H ซึ่งเป็นรถไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าSUBARU VIZIV TOURER CONCEPT
ปิดท้ายรายงานมหกรรมยานยนต์เจนีวา ครั้งล่าสุด ด้วยผลงานของค่าย "ดาวลูกไก่ คือ ซูบารุ วีซีฟ ทัวเรอร์ คอนเซพท์ (SUBARU VIZIV TOURER CONCEPT) ซึ่งก็เป็นรถสายเลือดซามูไรอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดและไม่ใช่รถที่ทำขึ้นใหม่ทั้งคัน แต่พัฒนาต่อกิ่งต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจากรถแนวคิดติดป้ายชื่อ ซูบารุ วีซีฟ เพอร์ฟอร์มานซ์ คอนเซพท์ (SUBARU VIZIV PERFORMANCE CONCEPT) ซึ่งปรากฏตัวที่งานมหกรรมยานยนต์โตเกียว เมื่อเดือนตุลาคม 2017 รวมทั้งเป็นต้นแบบของรถเก๋งตรวจการณ์สมรรถนะสูงที่คาดหมายกันว่า ในปี 2020 จะเริ่มการจำหน่ายพร้อมกับป้ายชื่อ ซูบารุ ดับเบิลยูอาร์เอกซ์ (SUBARU WRX) ตัวถังขนาด 4.775x1.930x1.435 ม. ที่ตั้งใจออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน ติดตั้งเครื่องยนต์สูบนอนยัน (บอกเซอร์) ระบบขับเคลื่อนทุกล้อที่ค่ายนี้เรียกในภาษาอังกฤษว่า SYMMETRICAL AWD และ DRIVER-ASSIST FUNCTION หรือระบบช่วยขับสารพัดสารพันABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดานิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2561
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ