ปิด "ระเบียงรถใหม่" ในเดือนแห่งการชุมนุมรถเก๋งแฮทช์แบค ด้วยรถแฮทช์แบคขนาดเล็กจิ๋วติดป้ายชื่อ โตโยตา อาอีโก (TOYOTA AYGO) ซึ่งก็เป็นรถสายพันธุ์ญี่ปุ่นอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ต้องไปค้นหาในญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่ของเมืองยุ่นเริ่มนำรถ โตโยตา อาอีโก (TOYOTA AYGO) ออกสู่ตลาดในทวีปยุโรปเมื่อปี 2005 และประกาศอย่างอย่างเปิดเผยว่า เป็นรถที่ทำขึ้นโดยเฉพาะสำหรับผู้คนในยุโรป เป็นผลงานจากความร่วมมือกับค่าย เปอโฌต์/ซีตรอง (PEUGEOT/CITROEN) เป็นคู่แฝดต่างฝากับ เปอโฌต์ 107 (PEUGEOT 107) และ ซีตรอง เซ เอิง (CITROEN C1) สถานที่ผลิตก็เป็นที่เดียวกันกับรถฝรั่งเศสคู่นี้ เป็นโรงงานที่ร่วมทุนกันก่อสร้างขึ้นที่เมืองโคลิน (KOLIN) ในสาธารณรัฐเชค ส่วนชื่อรุ่น AYGO นั้น ที่มา คือ I-GO ในภาษาอังกฤษต้นปี 2014 รถรุ่นแรกที่อยู่ในตลาดยาวนานเกือบ 1 ทศวรรษถูกปลดจากสายการผลิต แล้วถูกแทนที่ด้วยรถรุ่นที่ 2 ซึ่งรูปทรงองค์เอวและขนาดตัวถังไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมสักเท่าไร รถรุ่นใหม่นี้ปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 84 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2014 โดยที่รถของยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นยังใช้ชื่อเดิม คือ โตโยตา อาอีโก (TOYOTA AYGO) รถของค่าย "จ่าโท" ก็ใช้ชื่อเดิมคือ ซีตรอง เซ เอิง (CITROEN C1) แต่รถของค่าย "สิงห์เผ่น" เปลี่ยนชื่อเป็น เปอโฌต์ 108 (PEUGEOT 108) รถรุ่นใหม่เหล่านี้ก็เช่นเดียวกับรถรุ่นเดิม คือ มีให้เลือกทั้งตัวถัง 3 ประตูแฮทช์แบคและตัวถัง 5 ประตูแฮทช์แบค เฉพาะรถของยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นซึ่งตัวถังยาว 3.455 ม.กว้าง 1.615 ม. สูง 1.400 ม. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.28-0.29 มีเครื่องยนต์เพียงขนาดเดียว คือ เครื่องเบนซิน DOHC 3 สูบเรียง 998 ซีซี 51 กิโลวัตต์/69 แรงม้า ซึ่งส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้าผ่านเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ที่กำลังอวดหน้าตาและรูปทรงองค์เอวอยูนี้ เป็นรถรุ่นใหม่ซึ่งเพิ่งปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 88 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2018 เป็นรถใหม่ซึ่งไม่ใช่รถรุ่นที่ 3 แต่เป็นรถรุ่นที่ 2 ที่อยู่ในตลาดมานานเกือบ 4 ปี และเพิ่งได้รับการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ "ยกหน้า" เป็นครั้งแรก มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในหลายจุดทั้งในส่วนของตัวถังและเครื่องยนต์กลไก ความเปลี่ยนแปลงในส่วนของตัวถังภายนอกซึ่งสัมผัสได้ด้วยสายตา จุดที่เห็นได้ชัดที่สุด คือคู่ดวงโคมไฟหน้าที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด กับแผงกระจังหน้ารูปตัวเอกซ์ (X) ที่เปลี่ยนรูปลักษณ์จาก TWO-DIMENSIONAL GRAPHIC หรือกราฟิค 3 มิติ เป็น THREE-DIMENSIONAL ARCHITECTURAL ELEMENT หรือสถาปัตยกรรม 3 มิติ เครื่องยนต์ที่ติดตั้งอยู่ภายใต้ฝากระโปรงหน้า ยังคงเป็นเครื่องบลอคเดิม คือ เครื่องเบนซิน DOHC 3 สูบเรียง 998 ซีซี ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้าผ่านระบบเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ แต่ปรับรายละเอียดในบางจุดจนกำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นนิหน่อย คือ จาก 51 กิโลวัตต์/69 แรงม้า เป็น 53 กิโลวัตต์/72 แรงม้า หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4 มีการตกแต่งและติดตั้งอุปกรณ์ให้เลือก 2 แบบ คือ STANDARD กับ ECO แบบหลังซึ่งเน้นความประหยัด ติดตั้งยางล้อชนิดที่มีสัมประสิทธิ์แรงต้านการหมุนต่ำ อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า LOW ROLLING RESISTANT COEFFICIENT TYRE (RRC TYRE) มีระบบ STOP & START ซึ่งหยุดการทำงานของเครื่องยนต์โดยอัตโนมัติเพื่อผลด้านการประหยัดเชื้อเพลิง และมีการปรับปรุงคุณสมบัติอากาศพลศาสตร์ในบางจุด ตามตัวเลขของผู้ผลิต ไม่ว่าตกแต่งและติดตั้งอุปกรณ์แบบใด อัตราเร่ง 0-100 กม. จะทำได้ใน 13.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. ที่ต่างกันก็คืออัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยและอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คือ เมื่อตกแต่งและติดตั้งอุปกรณ์แบบ STANDARD ค่าที่วัดได้ คือ 4.0 ลิตร/100 กม. หรือ 25.0 กม./ลิตร และ 93 กรัม/กม. แต่เมื่อตกแต่งและติดตั้งอุปกรณ์แบบ ECO ตัวเลขจะเปลี่ยนเป็น 3.7 ลิตร/100 กม. หรือ 27.0 กม./ลิตร และ 86 กรัม/กม.