ROBO-VEHICLE หรือ ROBO-TAXI อันเป็นรถโดยสารส่วนบุคคล หรือรถโดยสารสาธารณะที่แทรกอยู่ตรงกลางระหว่างรถแทกซีกับรถบัสประจำทางเดือนนี้ “ระเบียงรถใหม่” มาแปลกกว่าทุกๆ เดือน คือ เป็นการชุมนุม CONCEPT CAR หรือ “รถแนวคิด” ล้วนๆ ไม่มี PRODUCTION CAR หรือ “รถตลาด” ที่ทำไว้ขายสอดแทรกมาด้วยเลย นอกจากนั้นรถทุกคันที่นำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังในเดือนนี้ ล้วนเป็นรถที่ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์แบบใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเบนซิน หรือเครื่องดีเซล เพราะเป็นรถที่วิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ยิ่งกว่านั้นบางคันเป็นรถที่ไม่มีพวงมาลัย และคันบังคับใดๆ ด้วยซ้ำ เพราะเป็นรถที่วิ่งได้เองโดยไม่จำเป็นต้องง้อผู้ขับ อย่างที่เรียกกัน ในภาษาอังกฤษว่า AUTONOMOUS DRIVE หรือ AUTONOMOUS VEHICLE นั่นเอง เริ่มกันที่ เรอโนลต์ อีเซด-โก (RENAULT EZ-GO) ผลงานชิ้นโบว์แดงของยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอม ซึ่งเชื่อมั่นว่าก่อนสิ้นทศวรรษหลังปี 2020 จะมีรถไร้ผู้ขับวิ่งกลาดเกลื่อนตามท้องถนน เพิ่งปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานมหกรรมยนต์เจนีวาครั้งที่ 88 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2018 และกรุณาอย่าถามว่าต้องรออีกกี่ปีจึงจะเปลี่ยนฐานะจากรถแนวคิดเป็นรถตลาด ? เพราะไม่น่าจะมีใครตอบคำถามนี้ได้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ ROBO-VEHICLE หรือ ROBO-TAXI อันเป็นรถโดยสารส่วนบุคคล หรือรถโดยสารสาธารณะที่แทรกอยู่ตรงกลางระหว่างรถแทกซีกับรถบัสประจำทาง ที่พิเศษกว่ารถแทกซี และรถบัสประจำทางซึ่งเห็นกันอยู่ทั่วไปขณะนี้ก็คือ เป็นรถพลังไฟฟ้าที่วิ่งได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ขับ จึงไม่มีห้องเครื่องยนต์ ไม่มีที่นั่งผู้ขับ รวมทั้งไม่มีพวงมาลัยและปุ่มหรือคันบังคับใดๆ ให้เกะกะสายตา ตัวถังซึ่งยาว 5.200 ม. กว้าง 2.200 ม. และสูง 1.600 ม. เมื่อยังไม่เปิดหลังคา แต่จะเพิ่มเป็น 1.800 ม. เมื่อเปิด เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบเพื่อให้มีพื้นที่กระจกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้แต่หลังคาและประตูเปิดด้านหน้าซึ่งออกแบบเป็นชิ้นเดียวกันก็เป็นพื้นกระจกล้วนๆ อย่างที่เห็นในภาพประกอบ เป้าหมายหลักของการออกแบบที่ว่านี้ ก็เพื่อให้แสงสว่างจากภายนอกสามารถส่องเข้าไปในตัวรถได้มาก ไม่บดบังทัศนียภาพของตัวเมืองจากสายตาของคนเดินถนน และลดการบดบังเซนเซอร์ (SENSOR) ของระบบขับด้วยตัวเอง ชุดเซนเซอร์ซึ่งประกอบด้วยเรดาร์ (RADAR) ไลดาร์ (LIDAR) อุลทราซาวน์ด (ULTRASOUND) และกล้องถ่ายภาพ รวมกลุ่มกันอยู่ในเสาอากาศซึ่งติดตั้งอยู่ตรงส่วนท้ายของหลังคา ห้องโดยสารซึ่งใช้ประโยชน์ได้เต็มพื้นที่เพราะไม่ต้องมีส่วนของผู้ขับ มีพื้นเรียบที่ปูทับด้วยไม้ลายสวย และทนทาน ติดตั้งเก้าอี้โซฟารูปตัวยูซึ่งนั่งได้รวม 6 คน ส่วนประตูบานหน้าซึ่งออกแบบเป็นชิ้นเดียวกับหลังคาดังที่กล่าวแล้วข้างต้น เมื่อเปิดขึ้นขณะรถเข้าจอดเทียบสถานีอย่างที่เห็นในภาพ ผู้โดยสารก็สามารถขึ้น/ลงรถได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องก้มศีรษะ หรือก้มเพียงเล็กน้อย รวมทั้งยังมีทางลาด 6 องศา กว้าง 1.400 ม. และยาว 6.000 ม. ยื่นจากตัวรถ ทำให้ผู้โดยสารที่จำเป็นต้องใช้เก้าอี้ติดล้อขึ้น/ลงรถได้สะดวกมาก ข้อมูลของระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ในรถแนวคิดคันนี้มีอยู่นิดเดียว คือ เป็นระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเพียง 1 ชุด ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีซึ่งหนักถึง 300 กก. แบทเตอรีที่ว่านี้ติดตั้งอยู่ใต้พื้นรถ และเป็นแบทเตอรีที่ชาร์จไฟด้วยระบบไร้สาย อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า WIRELESS INDUCTION BATTERY CHARGING SYSTEM สามารถชาร์จไฟทั้งขณะจอดรอผู้โดยสาร และขณะรถวิ่งหากมีโครงสร้างสนับสนุน ตัวเลขความเร็วก็บอกแค่ เพื่อความปลอดภัยจึงจำกัดไว้ที่ 50 กม./ชม. ส่วนระบบวิ่งได้เองโดยไม่ต้องมีผู้ขับ เรียกกันทางเทคนิคว่าเป็น LEVEL-4 AUTONOMOUS DRIVE คือ รถทำได้เองหมดตั้งแต่กะระยะห่างจากรถคันหน้า รักษาเส้นทางวิ่งให้อยู่ในลู่ในเลน การเปลี่ยนช่องทางวิ่ง การเลี้ยวและกลับรถ รวมทั้งการเคลื่อนไปอยู่ในที่ปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ