ปิด “ระเบียงรถใหม่” ในเดือนของการชุมนุมรถแนวคิดพลังไฟฟ้า ด้วยผลงานใหม่ของสำนักออกแบบอิตัลดีไซจ์น ITALDESIGN ซึ่งเดิมเป็นฐานทำมาหากินของพระอาจารย์ โจร์เกตโต จูราโร (GIORGETTO GIUGIARO) อัจฉริยะยอดนักออกแบบรถยนต์ของเมืองมะกะโรนี แต่ปัจจุบันมีฐานะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของค่าย โฟล์คสวาเกน กรุพ (VOLKSWAGEN GROUP) เป็นรถแนวคิดพลังไฟฟ้าซึ่งเคลื่อนที่ได้ทั้งบนดิน และเหนือดิน เป็นผลงานจากความร่วมมือกับยักษ์ใหญ่อีก 2 เจ้า คือ บริษัทผู้ผลิตอากาศยาน แอร์บัส (AIRBUS) กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เอาดี (AUDI) โดยที่เจ้าแรกรับผิดชอบการพัฒนาระบบบิน และระบบเชื่อมต่อ ส่วนเจ้าหลังสนับสนุนเทคโนโลยีระบบขับซึ่งไม่จำเป็นต้องมีผู้ขับระบบขับด้วยพลังไฟฟ้า และระบบชาร์จไฟอิตัลดีไซจ์น พอพ. อัพ เนคท์ (ITALDESIGN POP.UP NEXT) ปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลกที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวา ครั้งที่ 88 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2018 พร้อมคำประกาศว่า นี่คือ พัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของรถติดป้ายชื่อ อิตัลดีไซจ์น พอพ.อัพ (ITALDESIGN POP.UP) ซึ่งปรากฏตัวให้เห็นที่งานเดียวกันนี้เมื่อปี 2017 แนวความคิดซึ่งเป็นจุดกำเนิดของรถ พอพ.อัพ ทั้งที่มีชื่อรองต่อท้าย และไม่มีนี้ คือ การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองใหญ่ โดยการรังสรรค์ยานพาหนะแบบใหม่ คือ “รถบิน” ที่วิ่งบนดินก็ได้ เหาะเหินไปในอากาศก็ได้ เป็นยานพาหนะที่ผสมผสานความคล่องตัวของรถยนต์ขนาดเล็กที่นั่งได้เพียง 2 คน เข้าด้วยกันกับอิสระเสรี และความเร็วของอากาศยานที่ขึ้นบิน และลงจอดในแนวดิ่ง ในกรณีของพัฒนาการล่าสุดคือ อิตัลดีไซจ์น พอพ.อัพ เนคท์ ยานพาหนะที่ว่านี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนล่างสุดที่เรียกว่า GROUND MODULE ทำหน้าที่เป็นหน่วยขับเคลื่อนเมื่อวิ่งอยู่บนพื้นดิน ถัดขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า CAPSULE ทำหน้าที่เป็นห้องโดยสาร และส่วนบนสุด คือ AIRMODULE ทำหน้าที่เป็นหน่วยขับเคลื่อนเมื่อบินในอากาศ GROUND MODULE ซึ่งหน้าเหมือนรถ 4 ล้อ ซึ่งมีแต่พื้นรถไม่มีห้องโดยสาร มีขนาดยาว 3.115 ม. กว้าง 1.900 ม. สูง 0.681 ม. และมีน้ำหนักตัวพร้อมขับ 200 กก. ติดตั้งระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด แต่ละชุดขับล้อหลังแต่ละล้อ ได้กำลังสุทธิสูงสุด 60 กิโลวัตต์/82 แรงม้า ส่วนอุปกรณ์ป้อนพลังไฟฟ้า คือ แบทเตอรีขนาด 15 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งใช้เวลาชาร์จไฟแค่ 15 นาที และวิ่งได้ไกลถึง 130 กม. ส่วนความเร็วสูงสุดทำได้เพียง 100 กม./ชม. CAPSULE ซึ่งหน้าตาเหมือนห้องโดยสารของเฮลิคอพเตอร์อย่างที่เห็นในภาพ เป็นกล่องยาว 2.647 ม. กว้าง 1.540 ม. สูง 1.415 ม. มีน้ำหนักตัวพร้อมบิน 200 กก. และบรรทุกผู้โดยสารได้เพียง 2 คน AIR MODULE ซึ่งหน้าตาเหมือนเอาวงกลม 4 วงมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน มีความยาว 4.403 ม. กว้าง 5.000 ม. และสูง 0.847 ม. ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 20 กิโลวัตต์/27 แรงม้า จำนวน 8 ชุด ให้กำลังรวม 160 กิโลวัตต์/218 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีขนาด 70 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งใช้เวลาในการชาร์จไฟเพียง 15 นาที ชาร์์จไฟแต่ละครั้งจะบินได้ไกล 50 กม. และสามารถทำความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ผู้รังสรรค์ยืนยันว่า ระบบเชื่อมต่อส่วนห้องโดยสารเข้ากับหน่วยขับบนดิน และเชื่อมต่อห้องโดยสารเข้ากับหน่วยขับในอากาศ ผ่านการออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด ทั้งในสภาพปกติ และในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเท่านั้น