คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ฟิทจัด เตรียมส่งเสริมการผลิตอีโคคาร์ไฟฟ้า หรือ “อีโคอีวี” หวังเร่งให้ไทยเข้าสู่สังคมรถไฟฟ้าเร็วขึ้น แต่พอไปหารือกับค่ายรถยนต์ ฮอนดา นิสสัน และโตโยตา ก็หงายเงิบ กลับมา เพราะทั้ง 3 ค่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ขณะนี้ยังไม่เหมาะจะลงทุนผลิตรถยนต์ อีโคอีวีเหตุผลง่ายๆ คือ ปัจจุบัน บีโอไอ ได้ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนหลัก และลดหย่อนภาษีสรรพสามิต สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) อยู่แล้ว ที่สำคัญ การออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน “อีโคอีวี” สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพลัก-อิน ไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบทเตอรี (BEV) ในภาวะที่ตลาดไม่มีดีมานด์ ย่อมไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน ดังนั้น ถ้าอยากทำ “อีโคอีวี” รัฐควรรอให้มาตรการเดิมที่มีอายุถึงปี 2568 สิ้นสุดลงก่อน เรื่องนี้ ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)ฯ พูดชัดกว่าเพื่อนว่า รัฐควรหันมาเอาใจใส่โครงการเดิมๆ ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการจะดีกว่า อาทิ โครงการอีโคคาร์ ที่ปัจจุบันเสียภาษีในอัตราสูงกว่ารถไฟฟ้า โดยอีโคคาร์เสีย 10-12 % ขณะที่โครงการรถยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อยไอเสียต่ำกว่า 100 กรัม/กิโลเมตร จ่ายเพียง 4 % เท่านั้น ฮอนดา จึงอยากเสนอให้รัฐพิจารณาลดภาษีโครงการอีโคคาร์ลง เพื่อให้สอดคล้องกับตลาด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน กับโครงการรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนโครงการ “อีโคอีวี” ซึ่งรัฐเน้นให้ใช้ระบบไมลด์ไฮบริดนั้น ไม่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นระบบไฮบริด และไฟฟ้าได้ ทั้งเป็นโครงการที่มีความซ้ำซ้อนกับโครงการอีโคคาร์ และอีวี ที่ต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการทุกรายเดินหน้าสู่การผลิตรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายใน 3 ปีอยู่แล้ว สรุปง่ายๆ คือ ช่วยกรุณาดูแลโครงการที่ส่งเสริมกันมาแต่แรกให้ไปได้ดี และแข็งแรงก่อน จึงค่อยมาสนใจเรื่อง “อีโคอีวี” ซึ่งผมว่าจะไปเริ่มตอนปี 2568 อย่างที่ผู้ผลิตเสนอ หรือหลังจากนั้นอีก 2-3 ปี ก็ไม่สาย เพราะการเข้าสู่สังคมรถไฟฟ้าเต็มตัวนั้น มันมีองค์ประกอบเกี่ยวเนื่องอีกหลายอย่างที่ต้องปรึกษาหารือกัน และเตรียมการให้พร้อมล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ผมกลัวอย่างเดียวว่า บีโอไอ จะใจร้อนหันไปส่งเสริมผู้ผลิตสายจีนที่มีความพร้อมเรื่องรถไฟฟ้ามากกว่า ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นละก็ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่ยังไปได้สวย กับรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ระส่ำระสายแน่ เดี๋ยวจะหาว่าหล่อไม่เตือนนะครับ !
บทความแนะนำ