มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์เจนีวา 2019
ชุมนุมรถตลาดและรถแนวคิดพลังไฟฟ้า ไม่มีแมวป่าแต่ยังมีกระทิงดุและสิงห์เผ่นทีมงานของ “สื่อสากล” เดินทางไปเยือนงาน GENEVA INTERNATIONAL MOTOR SHOW หรือมหกรรมยานยนต์เจนีวาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1992 และจากนั้นจนวันนี้เราบรรจุงานแสดงรถยนต์ของเมืองสวิสส์ไว้ในปฏิทินการทำงานเป็นประจำทุกปี ไม่มีขาดตกยกเว้น ไม่มีลากิจลาป่วย ปีนี้เราเดินทางไปเหยียบแผ่นดินเมืองนาฬิกาอีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งที่ 28 แล้วก็พบว่ามหกรรมยานยนต์รายการสำคัญรายการนี้ยังจัดอยู่ที่เดิม และยังยิ่งใหญ่เช่นเดิม เช่นเดียวกับงานแสดงรถยนต์ระดับ “อินเตอร์” หลายงานที่เราเดินทางไปทำข่าวในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งล่าสุดนี้ ไม่ใช่ศูนย์รวมของผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญๆ เกือบทุกรายที่มีอยู่ในโลกเหมือนที่เคยเป็นในอดีต ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายรายหายหน้าหายตาไป ไม่มีผู้ผลิตรถยนต์สายพันธุ์ยุโรปอย่าง โวลโว (VOLVO) แจกวาร์ (JAGUAR) แลนด์ โรเวอร์ (LAND ROVER) และ ฟอร์ด (FORD) และไม่มีผู้ผลิตรถเกาหลีเจ้าประจำอย่าง ฮันเด (HYUNDAI) พื้นที่หลายส่วนของอาคารที่แยกเป็น 7 ฮอลล์ เปลี่ยนสภาพจากเวทีสำหรับการแสดงรถยนต์ เป็น POP-UP COFFEE SHOP หรือร้านกาแฟขนาดใหญ่และขนาดย่อม แต่คุณภาพและความเข้มข้นของงานไม่ได้เจือจางลงเลย เป็นงานที่ขัดแย้งเป็นอย่างยิ่ง กับความเชื่อของใครบางคนที่บอกว่า เรากำลังจะได้พบกับ THE DEATH OF THE MOTOR SHOW หรือ “มรณกรรมของงานแสดงรถยนต์” เพราะผู้ผลิตรถยนต์เห็นแล้วว่ามีวิธีการอื่นที่ส่งผลต่อยอดขายมากกว่าการออกงาน ตามข้อมูลของผู้จัดงาน มหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งนี้มีรถใหม่ที่ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ “ครั้งแรกในโลก” ถึง 70 คัน ปรากฏตัวแบบ EUROPEAN PREMIERE หรือ “ครั้งแรกในยุโรป” 20 คัน และปรากฏตัวแบบ SWISS PREMIERE หรือ “ครั้งแรกในเมืองสวิสส์” 20 คัน ที่เขาไม่ได้บอกแต่ทีมงานของเรานับเองก็คือ เฉพาะรถแนวคิดที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ก็นับได้มากกว่า 20 คันแล้ว น่าเสียดายที่พื้นที่หน้ากระดาษมีจำกัด จึงบรรจุได้เพียงบางคันเท่านั้นในรายงานนี้ ที่จริงยังมีอีกมาก ช่วงเวลา 1-2 ปี ที่ผ่านมานี้ เวลามีโอกาสพูดจาวิสาสะกับญาติสนิทมิตรสหายที่ทราบว่าทำงานด้านรถยนต์ คำถามที่ได้รับมักเกี่ยวข้องกับรถพลังไฟฟ้า ทำนองว่าเมื่อไหร่คนไทยทั่วๆ ไปจะได้ใช้รถไฟฟ้า ? ก็ได้แต่บอกไปว่าได้ใช้แน่ถ้าไม่หยุดหายใจไปเสียก่อน ! รถพลังไฟฟ้าเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว แต่ในความเห็นของคนรังเกียจการรอคอยซึ่งมีผู้รายงานข่าวนี้รวมอยู่ด้วย พัฒนาการของยานติดล้อประเภทนี้ดำเนินไปค่อนข้างช้า ด้วยหลายสาเหตุหลายปัญหา ที่ผู้รายงานข่าวนี้ไม่กล้าระบุอย่างชัดเจนเพราะข้อมูลยังไม่พร้อม ที่พอจะยืนยันได้ก็คือ ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ในทวีปยุโรปเชื่อกันว่า รถยนต์ส่วนบุคคลที่จะใช้กันในอนาคต เป็นรถพลังไฟฟ้า เป็นรถที่วิ่งได้ด้วยตัวเองไม่จำเป็นต้องง้อผู้ขับ และการใช้รถร่วมกันอย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า CAR SHARING หรือ CAR POOLING จะมีบทบาทมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เนื่องจากมีข้อมูลที่บ่งชี้แล้วว่า รถส่วนบุคคลที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ โดยเฉลี่ยจะจอดอยู่กับที่ถึงร้อยละ 95 ของเวลาทั้งหมด นอกจากนั้นในยามที่ใช้งานก็บรรทุกผู้ขับและผู้โดยสารเพียง 1.6 คนเท่านั้นเอง การใช้รถประเภทนี้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็คือ การแบ่งกันใช้หรือใช้ร่วมกันนั่นเอง ส่วนความฝันเกี่ยวกับ SELF-FLYING CAR หรือรถที่วิ่งบนดินก็ได้บินบนฟ้าก็ได้นั้น คงต้องรออีกนาน เพราะรถประเภทนี้ต้องใช้ดโรน (DRONE) ซึ่งขณะนี้ราคาย่อมเยาลงมาก แต่ยังมีปัญหาด้านความเชื่อถือได้ โดยเฉพาะตอนลงจอด และเสียงที่ดังมากขณะบิน
VOLKSWAGEN ID BUGGY
จุดดึงดูดความสนใจในบูธของยักษ์ใหญ่เมืองเบียร์มีอยู่หลายจุด แต่จุดโฟคัส คือ รถติดป้ายชื่อ โฟล์คสวาเกน ไอดี บักกี (VOLKSWAGEN ID BUGGY) ซึ่งอวดตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถไร้ประตูไร้หลังคา 2 ที่นั่ง ซึ่งออกแบบตามสไตล์ของรถ บีช บักกี (BEACH BUGGY) ที่ผลิตขายในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1964-1971 เพื่อใช้ในการแข่งรถลุยทะเลทราย โดยใช้แชสซีส์ของรถเต่าทองยุคนั้น ตัวถังขนาด 4.063x1.890x1.463 ม. ติดตั้งระบบขับล้อหลังด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า ทำงานร่วมกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 62 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเมื่อชาร์จไฟแบบเร่งด่วนด้วยไฟฟ้ากระแสตรงเพื่อให้ได้ไฟร้อยละ 80 จะใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 7.2 วินาที ความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 160 กม./ชม. และชาร์จไฟเต็มหม้อแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกลประมาณ 250 กม. (WLTP)VOLKSWAGEN PASSAT GTE
อวดตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” เช่นกัน คือ รถเก๋งซีดานและรถเก๋งตรวจการณ์ขนาดกลางติดป้ายชื่อ โฟล์คสวาเกน พาสสัท (VOLKSWAGEN PASSAT) ซึ่งไม่ใช่รถรุ่นใหม่แท้ แต่เป็นรถรุ่นปัจจุบัน (รุ่นที่ 8) ซึ่งได้รับการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ “ยกหน้า” และจะเริ่มการจำหน่ายในเมืองเบียร์เดือนพฤษภาคมที่กำลังจะมาถึง จุดเด่นทางเทคนิค คือ เป็นรถแบบแรกของค่ายนี้ที่ติดตั้งระบบ TRAVEL ASSIST อันเป็นระบบช่วยขับที่กดปุ่มให้ทำงานได้ขณะวิ่งเร็ว 0-210 กม./ชม. คันที่เลือกมาเป็นตัวอย่าง คือ โฟล์คสวาเกน พาสสัท จีทีอี (VOLKSWAGEN PASSAT GTE) เป็นรถไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,395 ซีซี ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าและแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 13.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง ได้กำลังสุทธิสูงสุด 160 กิโลวัตต์/218 แรงม้า และชาร์จไฟแต่ละครั้งจะวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกลประมาณ 55 กม. (WLTP)AUDI Q4 E-TRON CONCEPT
ค่าย “สี่ห่วง” ซึ่งนำรถพลังไฟฟ้าออกอวดตัวในงานนี้เป็นกองทัพวางจุดโฟคัสไว้ที่ เอาดี คิว 4 อี-ทรอน คอนเซพท์ (AUDI Q4 E-TRON CONCEPT) รถอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัดที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ และเป็นรถที่บ่งบอกแนวทางของรถตลาดที่ค่ายนี้จะนำเข้าสู่สายการผลิตก่อนสิ้นปี 2020 ในฐานะรถพลังไฟฟ้าแบบที่ 5 ของค่าย ตัวถังขนาด 4.59x1.90x1.61 ม. คือ โตกว่ารถ เอาดี คิว 3 (AUDI Q3) รุ่นปัจจุบันเล็กน้อย ติดตั้งระบบขับซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 75 กิโลวัตต์/102 แรงม้า ขับล้อคู่หน้า และใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า ขับล้อคู่หลัง ได้กำลังสุทธิสูงสุด 225 กิโลวัตต์/306 แรงม้า ส่วนอุปกรณ์ป้อนพลังไฟ คือ แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 82 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งชาร์จไฟแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกลกว่า 450 กม. (มาตรฐาน WLTP)BMW 745E
ค่าย “ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว” นำรถ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-7 (BMW 7-SERIES) รุ่นที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงแบบ MID-LIFE FACELIFT หรือ “ยกหน้าช่วงกึ่งกลางชีวิต” ให้ผู้คนได้สัมผัสตัวจริงเสียงไม่จริงแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ หน้าตารูปทรงองค์เอวและสิ่งอื่นๆ ซึ่งเห็นได้ด้วยตาไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะความเปลี่ยนแปลงสำคัญเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นจากภายนอก โมเดลที่ปรากฏในภาพ คือ บีเอมดับเบิลยู 745 อี (BMW 745E) ซึ่งมีทั้งตัวถังฐานล้อมาตรฐาน ตัวถังฐานล้อยาว และมีทั้งแบบขับล้อหลัง แบบขับทุกล้อ เป็นรถไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซิน 6 สูบเรียง 2,998 ซีซี 210 กิโลวัตต์/286 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 83 กิโลวัตต์/113 แรงม้า และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 12.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง ได้กำลังสุทธิสูงสุด 290 กิโลวัตต์/394 แรงม้า และชาร์จไฟแต่ละครั้งจะวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกล 50-58 กม.BMW 8-SERIES CABRIOLET
เปิดตัวเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2018 แต่ทีมงานของเราเพิ่งมีโอกาสสัมผัสตัวจริงซึ่งไร้เสียงเป็นครั้งแรกที่งานนี้ คือ รถเปิดประทุน บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-8 กาบริโอเลต์ (BMW 8-SERIES CABRIOLET) รุ่นใหม่ซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 2 พัฒนาจากรถคูเปอนุกรมเดียวกันซึ่งเปิดตัวไปก่อนแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 โดยเปลี่ยนจากหลังคาแข็งติดตาย เป็นประทุนหลังคาแบบอ่อนซึ่งมีให้เลือก 2 สี คือ สีดำ กับสีเงิน เป็นประทุนที่เปิด/ปิดด้วยระบบไฟฟ้าโดยใช้เวลา 15 วินาที และบังคับควบคุมโดยการกดปุ่มขณะรถยังวิ่งเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม. มีกำหนดออกตลาดในเดือนมีนาคม 2019 และมีรถให้เลือก 2 โมเดล คือ BMW M850I XDRIVE CABRIOLET ซึ่งติดตั้งเครื่องยนต์ทวินเทอร์โบเบนซินฉีดตรง DOHC วี 8 สูบ 4,395 ซีซี 390 กิโลวัตต์/530 แรงม้า กับ BMW 840D XDRIVE CABRIOLET ซึ่งติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลฉีดตรง DOHC 6 สูบเรียง 2,993 ซีซี 235 กิโลวัตต์/320 แรงม้าMERCEDES-BENZ CLA SHOOTING BRAKE
ค่าย “ดาวสามแฉก” อวดผลงานใหม่แบบ “ครั้งแรกในโลก” พร้อมๆ กันถึง 4 ชิ้น ชิ้นแรกที่เลือกมาให้ชื่นชมกัน คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซีแอลเอ ชูทิง เบรค (MERCEDES-BENZ CLA SHOOTING BRAKE) รถรุ่นที่ 2 ที่ผู้ผลิตกล่าวอ้างว่าสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับรถที่จะออกจำหน่ายในอนาคต และอาจจะทำให้คนรักรถบางคนลืมรถ เอสยูวี ที่กำลังนิยมกันไปเลย เป็นรถเก๋งตรวจการณ์ขนาดเล็กกะทัดรัดที่พัฒนาต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจากรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอ-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ A-CLASS) ออกแบบ/พัฒนามาพร้อมกันกับรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซีแอลเอ คูเป (MERCEDES-BENZ CLA COUPE) ที่เปิดตัวไปก่อนหน้าแล้วเมื่อต้นเดือนมกราคม 2019 จะเริ่มการจำหน่ายในเดือนกันยายน 2019 ในตัวถังขนาด 4.688x1.830x1.442 ม. คือ ยาวและกว้างขึ้น 4.8 และ 5.3 ซม. ตามลำดับ เป็นตัวถังที่ออกแบบได้ดี มีห้องโดยสารที่กว้างขวางกว่ารถรุ่นเดิมอย่างรู้สึกได้ เป็นรถเยอรมนีที่จะผลิตในฮังการีMERCEDES-BENZ GLC SUV
ปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” เช่นกัน คือ รถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัดติดป้ายชื่อ เมร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลซี เอสยูวี (MERCEDES-BENZ GLC SUV) ซึ่งเพิ่งได้รับการปรับปรุงแบบ MID-LIFE FACELIFT หรือ “ยกหน้าช่วงกึ่งกลางชีวิต” หลังจากอยู่ในตลาดมาแล้ว 3 ปีเต็มนับแต่เริ่มการจำหน่ายเมื่อปลายปี 2015 หน้าตาและรายละเอียดตัวถังเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อยจนสังเกตแทบไม่เห็น เพราะจุดใหญ่ใจความของการปรับปรุงครั้งนี้ คือ การติดตั้ง MBUX ซึ่งเป็นระบบสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างรถกับผู้ขับ ผู้โดยสาร และเทคโนโลยีด้านเครื่องยนต์ซึ่งสรุปอย่างสั้นๆ ได้ว่า เครื่องยนต์เบนซินชุดเดิมซึ่งมีอยู่รวม 2 ขนาด ถูกแทนที่ด้วยเครื่องยนต์รุ่นใหม่ซึ่งทำงานในลักษณะ MILD HYBRID คือ มีมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็กแค่ 10 กิโลวัตต์/14 แรงม้า ร่วมทำงานด้วย ส่วนเครื่องยนต์ดีเซลชุดเดิมซึ่งมีรหัส OM 651 ก็ถูกแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ชุดใหม่ คือ OM 654 ซึ่งประหยัดเชื้อเพลิงยิ่งขึ้นMERCEDES-BENZ CONCEPT EQV
ผลงานชิ้นสุดท้ายของค่าย “ดาวสามแฉก” ที่เลือกมาให้ชื่นชมกัน คือ รถติดป้ายชื่อ เมร์เซเดส-เบนซ์ คอนเซพท์ อีคิววี (MERCEDES-BENZ CONCEPT EQV) ซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้เช่นกัน หน้าตาและรายละเอียดเหมือนเป็นรถตลาดที่กำลังจะออกโชว์รูม แต่ที่จริงยังติดป้ายว่าเป็นรถแนวคิด เป็นรถแนวคิดที่ดัดแปลงจากรถตลาด เมร์เซเดส-เบนซ์ วี-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ V-CLASS) รุ่นปัจจุบัน และเป็นรถที่ค่าย “ดาวสามแฉก” อวดสรรพคุณว่าเป็น เอมพีวี (MPV) หรือรถอเนกประสงค์ระดับ “พรีเมียม” แบบแรกของโลก ที่ขับด้วยพลังไฟฟ้าจากแบทเตอรีล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ เป็นแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ขนาด 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า มีอัตราสิ้นเปลืองพลังไฟ 22.2 กิโลวัตต์ชั่วโมง/100 กม. ชาร์จไฟเต็มหม้อแต่ละครั้งรถจึงวิ่งได้ไกลถึง 400 กม. และสามารถทำความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม.SMART FOREASE+
สมาร์ท (SMART) ซึ่งเริ่มกิจการผลิตรถยนต์เมื่อ 25 ปีก่อน และตอนนี้มีผู้วิจารณ์ว่าเริ่มเร็วไปหน่อย ถ้าเริ่มเมื่อ 2-3 ปีก่อนกิจการน่าจะไปได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ใช้เวทีขนาดย่อมในงานนี้เป็นที่อวดตัวรถจิ๋วติดป้ายชื่อ สมาร์ท ฟอร์อีส พลัส (SMART FOREASE+) ซึ่งก็เป็นรถอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดที่พัฒนาต่อกิ่งต่อยอดจากรถหน้าตาเหมือนกัน ซึ่งปรากฏตัวในงานมหกรรมยานยนต์ปารีสครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2018 พร้อมกับป้ายชื่อ สมาร์ท ฟอร์อีส (SMART FOREASE) จุดแตกต่างจุดสำคัญของรถแนวคิดคู่นี้ก็คือ คันแรกเป็นรถไร้หลังคา ส่วนคันหลังนี้ติดตั้งประทุนหลังคาแบบอ่อน ทำจากผ้าแฟบริค มีโครงทำจากวัสดุแข็ง เป็นประทุนหลังคาเปิด/ปิดด้วยมือที่น้ำหนักเบา แต่แข็งแรง ค่ายนี้บอกว่าเป็นมากกว่า ROOF คือ เป็น #ROOFLOVE ซึ่งอ่านแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าหมายถึงอะไร ? ที่ยืนยันได้ก็คือเป็นหลังคาที่ สมาร์ท พออกพอใจมากPOLESTAR 2
รถสายเลือดสวีเดนยี่ห้อใหม่แบบใหม่ โพลสตาร์ 2 (POLESTAR 2) ปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ภายในบูธขนาดค่อนข้างแคบ และมีผนังปิดล้อมไว้อย่างมิดชิดทั้ง 3 ด้าน ผู้คนจึงแออัดยัดเยียด หามุมกล้องที่จะถ่ายภาพรถโดยไม่มีมนุษย์บดบังไม่ได้เลย แม้ว่าเดินไปเดินมาเพื่อรอจังหวะอยู่เกือบครึ่งชั่วโมง จึงจำเป็นต้องอาศัยภาพที่ผู้ผลิตเขาถ่ายไว้ให้ นับเป็นผลงานชิ้นที่ 2 ของค่าย โพลสตาร์ (POLESTAR) ซึ่งเป็น “พรีเมียมบแรนด์” ที่เพิ่งแยกตัวเป็นเอกเทศจากค่าย โวลโว (VOLVO) เพื่อผลิต/จำหน่ายรถพลังไฟฟ้าโดยเฉพาะ และเป็นรถเก๋ง 5 ประตูฟาสต์แบค หรือท้ายลาด ที่ออกแบบ/พัฒนาโดยใช้พแลทฟอร์มชุดเดียวกันกับรถ เอสยูวี โวลโว เอกซ์ซี 40 (VOLVO XC40) เป็นรถขับทุกล้อที่ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ชุดหนึ่งขับล้อคู่หน้า อีกชุดหนึ่งขับล้อคู่หลัง ได้กำลังสุทธิสูงสุด 300 กิโลวัตต์/408 แรงม้า กล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็นรถไฟฟ้าที่แรงและเร็ว อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลาไม่ถึง 5.0 วินาทีBUGATTI “LA VOITURE NOIRE”
รถค่าตัวแพงที่สุดในงานนี้และในโลก ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE ในบูธของยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองน้ำหอม พร้อมกับป้ายชื่อ บูกัตตี “ลา วัวตือเรอ นัวร์” (BUGATTI “LA VOITURE NOIRE”) อันเป็นภาษาฝรั่งเศสที่ตรงกับ “THE BLACK CAR” ในภาษาอังกฤษ หรือ “รถคันนี้สีดำ” นั่นเอง (555) เป็นรถอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า ONE-OFF CAR คือ ทำขึ้นเพียงคันเดียวไม่มีคันที่ 2 และขายไปแล้วในราคา 11 ล้านยูโร หรือเท่ากับประมาณ 400 ล้านบาทไทย เจ้าของเป็นสาวกของรถ บูกัตตี ซึ่งเวลาเดินเท้าคงไม่ติดพื้น เพราะเป็นเจ้าของ THE WORLD’S MOST POWERFUL, MOST LUXURIOUS AND MOST EXCLUSIVE HYPER SPORTS CAR รถคันนี้เป็นการตีความใหม่ให้แก่รถ TYPE 57 SC ATLANTIC ที่เคยโด่งดังในอดีต ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซิน ดับเบิลยู 16 สูบ 7,993 ซีซี 1,103 กิโลวัตต์/1,500 แรงม้า บลอคเดียวกันกับที่ใช้อยู่แล้วในรถ บูกัตตี ชีรน (BUGATTI CHIRON)SKODA KAMIQ
ที่อวดตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ในบูธของผู้ผลิตรถยนต์แห่งสาธารณรัฐเชค มีทั้งรถตลาดและรถแนวคิด รถตลาด คือ สโกดา คามิค (SKODA KAMIQ) รถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์แบบที่ 3 ของค่ายนี้ที่ชื่อรุ่นนำหน้าด้วยอักษร K ถัดจาก สโกดา โคดิอัค (SKODA KODIAQ) ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2016 และสโกดา คารก (SKODA KAROQ) ที่ตามมาในเดือนพฤษภาคม 2017 เป็นรถขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัด ในตัวถังขนาด 4.241x1.793x1.531 ม. ที่ใช้พแลทฟอร์มชุดเดียวกันกับรถร่วมเครืออีก 2 แบบ คือ โฟล์คสวาเกน ที-ครอสส์ (VOLKSWAGEN T-CROSS) และเซอัต อโรนา (SEAT ARONA) แต่มีห้องโดยสารที่รู้สึกได้ชัดว่ากว้างขวางกว่ารถ 2 แบบนี้ มีแต่รถขับล้อหน้ายังไม่มีขับทุกล้อ และมีเครื่องยนต์ให้เลือกรวม 5 ขนาด เป็นเครื่องเบนซิน 3 ขนาด เครื่องดีเซล 1 ขนาด และเครื่อง ซีเอนจี (CNG) 1 ขนาด ส่วนระบบเกียร์เลือกได้ระหว่างเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กับเกียร์คลัทช์คู่ 7 จังหวะSKODA VISION IV
ส่วนรถแนวคิดที่อวดตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” บนเวทีหมุนขนาดยักษ์ในบูธของผู้ผลิตรถยนต์แห่งสาธารณรัฐเชค คือ สโกดา วิชัน ไอวี (SKODA VISION IV) ซึ่งหน้าตาเหมือนรถตลาดที่กำลังอวดตัวอยู่ในโชว์รูม ทั้งๆ ที่ยังอยู่ห่างจากสถานะนี้อยู่หลายก้าว เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดเล็กกะทัดรัดที่มีส่วนท้ายเหมือนรถคูเป และเป็นรถที่บ่งบอกแนวทางของรถตลาดรุ่นใหม่ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดใน 1 ปี หรือ 2 ปีข้างหน้านี้ ตัวถังขนาด 4.665x1.926x1.613 ม. ติดตั้งระบบขับทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ให้กำลังรวม 225 กิโลวัตต์/306 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 83 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 5.9 วินาที ทำความเร็วสูงสุด 180 กม./ชม. และชาร์จไฟแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกลถึง 500 กม. เมื่อวัดตามมาตรฐาน WLTP (WORLDWIDE HARMONIZED LIGHT VEHICLES TEST PROCEDURE)SEAT MINIMO
ผู้ผลิตรถยนต์เมืองกระทิงซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของยักษ์ใหญ่ โฟล์คสวาเกนเลือกใช้งานในเมืองนาฬิกาเป็นที่เปิดตัวผลงานใหม่หลายชิ้น ชิ้นแรกที่เลือกมาให้ชื่นชมกัน คือ รถจิ๋วติดป้ายชื่อ เซอัต มีนีโม (SEAT MINIMO) ซึ่งก็เป็นรถอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถนาคร (CITY CAR) หรือจักรยาน 4 ล้อ (QUADRICYCLE) ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ และชาร์จไฟแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกลประมาณ 100 กม. ผู้รังสรรค์ยืนยันว่ารถอย่างนี้จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับการใช้รถในเขตเมืองได้อย่างดี ทั้งปัญหาไอพิษ ปัญหาความเหนื่อยล้าของผู้ขับเพราะการจราจรติดขัด และปัญหาไม่มีที่จอด การออกแบบประตูข้างให้เปิดโดยยกขึ้นตรงๆ ไม่ใช่ผลักออกด้านข้าง ก็เป็นกลวิธีที่ช่วยให้สามารถเปิดประตูรถในที่แคบได้ ตัวถังซึ่งยาวแค่ 2.50 ม. และกว้างเพียง 1.24 ม. มีรายละเอียดหลายจุดที่เห็นได้ชัดว่าออกแบบลักษณะเดียวกับจักรยาน เช่น การมีไฟหน้าดวงเดียวSEAT EL-BORN
งานใหม่อีกชิ้นหนึ่งของผู้ผลิตรถยนต์เมืองกระทิง คือ เซอัต เอล-บอร์น (SEAT EL-BORN) ก็ปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้เช่นกัน เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดเล็กกะทัดรัดซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ และเป็นรถที่บ่งบอกความน่าจะเป็นของรถตลาดที่ค่ายนี้ยืนยันว่าจะนำออกสู่โชว์รูมภายในปี 2020 ชื่อรถซึ่งดูแปลกพิกลได้มาจากชื่อของย่านหนึ่งในเมืองบาร์เซโลนา (BARCELONA) อันเป็นถิ่นฐานของผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ ระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าที่กล่าวข้างต้น ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 62 กิโลวัตต์ชั่วโมง (ติดตั้งอยู่บนแชสซีส์ซึ่งออกแบบให้มีลักษณะเหมือนสเกทบอร์ด) สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 7.5 วินาที และชาร์จไฟแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกล 420 กม. เมื่อวัดตามมาตรฐาน WLTP ผู้ผลิตรถยนต์เมืองกระทิงบอกว่า เมื่อเป็นรถตลาดจะใช้โรงงานที่เมือง ZWICKAU ในเยอรมนีเป็นที่ผลิตCITROEN AMI ONE CONCEPT
ตำแหน่งรถแนวคิดที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในงานนี้ ต้องยกให้แก่ผลงานใหม่ของค่าย “จ่าโท” ซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” พร้อมกับป้ายชื่อ ซีตรอง เอมี วัน คอนเซพท์ (CITROEN AMI ONE CONCEPT) เป็นการตื่นตาตื่นใจทั้งในตัวรถเอง ในวิธีการนำเสนอ และในเวทีของการนำเสนอดังที่เห็นในภาพ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถนาคร 2 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด QUADRICYCLE หรือจักรยาน 4 ล้อ ของยุโรป คือ กว้างไม่เกิน 1.50 ม. หนักไม่ถึง 450 กก. และความเร็วสูงสุดไม่เกิน 45 กม./ชม. ซึ่งหมายความว่าในบางประเทศผู้คนสามารถขับรถแบบนี้ตามท้องถนนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบขับขี่ ตัวถังขนาด 2.50x1.50x1.50 ม. หนัก 425 กก. ที่นั่งได้รวม 2 คน ออกแบบในลักษณะให้มีต้นทุนการผลิตต่ำ ตัวอย่างเช่น ประตูข้างทั้ง 2 ด้าน มีรูปลักษณ์เหมือนกันทุกประการ ประตูด้านซ้ายจึงติดบานพับกับเสาหลัง ส่วนด้านขวากลับติดกับเสาหน้าPEUGEOT 208
เรียกความสนใจจากผู้คนได้เยี่ยม คือ รถตลาด เปอโฌต์ 208 (PEUGEOT 208) รุ่นใหม่ ซึ่งออกงานนี้ในลักษณะ “ครั้งแรกในโลก” เช่นกัน เป็นรถแฮทช์แบคขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัดอย่างที่เรียกกันในยุโรปว่า B-SEGMENT CAR จะเริ่มการจำหน่ายในฤดูใบไม้ร่วงของปี 2019 และจะมีระบบขับให้เลือกถึง 3 แบบ คือ ขับด้วยพลังของเครื่องยนต์เบนซินซึ่งมีให้เลือกรวม 3 ขนาด คือ 55 กิโลวัตต์/75 แรงม้า-75 กิโลวัตต์/100 แรงม้า-96 กิโลวัตต์/130 แรงม้า ขับด้วยพลังของเครื่องยนต์ดีเซลซึ่งมีขนาดเดียว คือ 74 กิโลวัตต์/100 แรงม้า และขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ ระบบขับด้วยเครื่องยนต์สันดาปที่กล่าวข้างต้นมีระบบเกียร์ให้เลือกรวม 3 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 5/6 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ตัวถังขนาด 4.055x1.745x1.430 ม. ที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด เมื่อเทียบกับรถรุ่นเก่าก็พบว่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อยทั้งความยาวความกว้าง แต่น้ำหนักตัวกลับลดลง 30 กก.PEUGEOT E-208
ปรากฏตัวที่งานนี้แบบ “ครั้งแรกในโลก” เช่นกัน คือ รถติดป้ายชื่อ เปอโฌต์ อี-208 (PEUGEOT E-208) ซึ่งเมื่อเห็นชื่อก็คงเข้าใจได้ว่าเป็นรถ เปอโฌต์ 208 รุ่นใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ นั่นเอง เป็นระบบขับล้อหน้าไร้เครื่องยนต์ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 100 กิโลวัตต์/136 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออนขนาด 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เคยเป็นที่ติดตั้งถังเชื้อเพลิง เป็นแบทเตอรีซึ่งต้องใช้เวลาในการชาร์จไฟถึง 16 ชั่วโมงหากใช้ไฟฟ้าบ้านปกติ แต่จะลดเหลือ 5 ชั่วโมง 15 นาที เมื่อใช้อุปกรณ์ชาร์จไฟที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า WALL BOX ซึ่งใช้ไฟ 3 เฟส 11 กิโลวัตต์ และจะเหลือเพียง 30 นาที เมื่อชาร์จไฟแบบเร่งด่วนในสถานีชาร์จไฟขนาด 100 กิโลวัตต์ที่จัดไว้โดยเฉพาะ แต่จะได้ไฟเพียงร้อยละ 80 หลังการชาร์จไฟเต็มหม้อแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกล 340 กม. เมื่อวัดตามมาตรฐานใหม่ (WLTP) แต่จะเพิ่มเป็น 450 กม. เมื่อใช้มาตรฐานเก่า (NEDC)RENAULT CLIO
งานนี้ยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสตั้งใจขายสินค้าตัวเดียว คือ รถเก๋งแฮทช์แบค เรอโนลต์ กลีโอ (RENAULT CLIO) ที่จอดเรียงรายเต็มไปหมดในบูธที่ค่อนข้างกว้างขวาง เป็นรถรุ่นใหม่ (รุ่นที่ 5) เป็นทายาทสายตรงของรถที่ขายไปแล้วประมาณ 15 ล้านคัน และเป็นการปรากฏตัวในลักษณะ “ครั้งแรกในโลก” แต่บรรดาสื่อมวลชนและผู้คนทั่วไปดูไม่ค่อยตื่นเต้นกันสักเท่าไร เพราะเปิดตัวผ่านสื่อต่างๆ ไปก่อนแล้วตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยังคงเป็นรถขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัด ในตัวถังขนาด 4.048x1.798x1.440 ม. คือ สั้นลง 1.4 ซม. แต่กว้างขึ้นถึง 6.6 ซม. เมื่อเทียบกับตัวถังของรถรุ่นเดิม หน้าตาและรูปทรงองค์เอวตัวถัง หากจะบอกว่าดูดีขึ้นก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก ในระยะแรกที่ออกตลาดรถรุ่นใหม่นี้จะมีแต่เครื่องเบนซินกับเครื่องดีเซล ต้องรอจนถึงปี 2020 นั่นแหละจึงจะมีโมเดลที่ใช้ระบบขับไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งร้อยละ 70 จะวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆFERRRARI F8 TRIBUTO
เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้คนทั่วไปได้อย่างอึงคนึงเหมือนทุกงานที่ผ่านมา คือ บูธของค่าย “ม้าลำพอง” ซึ่งงานนี้วางจุดโฟคัสไว้ที่ แฟร์รารี เอฟ 8 ตรีบิวโต (FERRARI F8 TRIBUTO) ซึ่งอวดตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ พร้อมคำประกาศสรรพคุณว่าเป็นซูเพอร์คาร์ติดตั้งเครื่องยนต์ วี 8 สูบ ที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ 72 ปีของค่ายนี้ เป็นรถที่กำลังจะเข้าสู่สายการผลิตแทนที่รถรุ่นเดิมซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2015 พร้อมกับป้ายชื่อ แฟร์รารี 488 จีทีบี (FERRARI 488 GTB) มีขนาดตัวถังใกล้เคียงกันมากกับรถที่แทนที่ คือ 4.611x1.979x1.206 ม. และมีน้ำหนักตัวพร้อมขับ 1,435 กก. ติดตั้งเครื่องยนต์ทวินเทอร์โบเบนซินฉีดตรง DOHC วี 8 สูบ 90 องศา 3,902 ซีซี 530 กิโลวัตต์/720 แรงม้า วางเครื่องกลางลำ/ตามยาว และส่งกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลาแค่ 2.9 วินาที และความเร็วสูงสุด 340 กม./ชม.BENTLEY BENTAYGA SPEED
นี่ก็ปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” เช่นกัน คือ รถหรูติดป้ายชื่อ เบนท์ลีย์ เบนเทย์กา สปีด (BENTLEY BENTAYGA SPEED) แถมเป็นการปรากฏพร้อมกับคำกล่าวอ้างว่าเป็น THE WORLD’S FASTEST PRODUCTION SUV หรือ “รถกิจกรรมกลางแจ้งผลิตขายที่วิ่งได้เร็วที่สุดในโลก” อีกต่างหาก นับเป็นพัฒนาการล่าสุดของรถ เอสยูวี สุดหรูสุดแรงซึ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2016 และหัวใจของการพัฒนาที่ว่านี้อยู่ที่อุปกรณ์สำคัญเพียงชิ้นเดียว คือ เครื่องยนต์ที่ยอดผู้ผลิตรถหรูของเมืองผู้ดียกมาทั้งบลอคจากรถคูเป เบนท์ลีย์ คอนทิเนนทัล จีที (BENTLEY CONTINENTAL GT) แล้วนำมาติดตั้งในรถโมเดลนี้ เป็นเครื่องทวินเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC ดับเบิลยู 12 สูบ 5,950 ซีซี 467 กิโลวัตต์/635 แรงม้า ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้าคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ตามตัวเลขของผู้ผลิต รถแรงโมเดลนี้ใช้เวลา 3.9 วินาที ในการทำ 0-100 กม./ชม. ส่วนความเร็วสูงสุด คือ 306 กม./ชม.LAGONDA ALL-TERRAIN CONCEPT
ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองผู้ดีนำรถแนวคิดเป็นกองทัพออกอวดตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ คันแรกที่ตัดสินใจนำมารายงาน คือ รถติดป้ายชื่อ ลากอนดา ออลล์-เทอร์เรน คอนเซพท์ (LAGONDA ALL-TERRAIN CONCEPT) ซึ่งเป็นรถแนวคิดคันที่ 2 ของค่ายนี้ที่ติดป้ายยี่ห้อ ลากอนดา ถัดจากรถ ลากอนดา วิชัน คอนเซพท์ (LAGONDA VISION CONCEPT) ซึ่งอวดตัวในงานเดียวกันนี้เมื่อปี 2018 เป็นรถแนวคิดซึ่งบ่งบอกความน่าจะเป็นของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ระดับหรูขนาดใหญ่ ที่ค่ายนี้บอกว่าจะบรรจุเข้าสู่สายการผลิตภายในปี 2022 โดยใช้โรงงานที่สร้างขึ้นใหม่ในเวลส์เป็นที่ผลิต เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดกับรถหรูรถแรงระดับเดียวกันและสัญชาติเดียวกันอย่าง โรลล์ส-รอยศ์ คัลลิแนน (ROLLS-ROYCE CULLINAN) และเบนท์ลีย์ เบนเทย์กา (BENTLEY BENTAYGA) เป็นรถไร้เครื่องยนต์ เพราะใช้ระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ขณะนี้ผู้ผลิตยังไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดใดๆASTON MARTIN VANQUISH VISION COUPE
ผลงานชิ้นที่ 2 ของยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองผู้ดี คือ แอสตัน มาร์ทิน แวนควิช วิชัน คูเป (ASTON MARTIN VANQUISH VISION COUPE) ก็เป็นรถที่ปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” เช่นกัน เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทวางเครื่องกลางลำ และเป็นรถที่บ่งบอกแนวทางของรถตลาดรุ่นใหม่ ที่จะออกสู่โชว์รูมภายในปี 2022 พร้อมกับป้ายชื่อ แอสตัน มาร์ทิน แวนควิช (ASTON MARTIN VANQUISH) และป้ายราคาค่าตัวที่คาดกันว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 250,000 ปอนด์อังกฤษ หรือเท่ากับประมาณ 10.5 ล้านบาทไทย เมื่อเปลี่ยนฐานะเป็นรถตลาดในช่วงเวลาที่ว่า รถรุ่นใหม่นี้ก็จะเป็น ASTON MARTIN’S FIRST SERIES PRODUCTION MID-ENGINED SUPERCAR หรือซูเพอร์คาร์แบบแรกของค่ายนี้ที่ผลิตจำหน่ายในลักษณะอนุกรมและติดตั้งเครื่องยนต์แบบวางกลางลำ รายละเอียดของเครื่องยนต์ที่ว่านี้ยังไม่มีการยืนยัน แต่คาดกันว่าน่าจะเป็นเครื่องเบนซิน วี 6 สูบ 3.0 ลิตร ที่กำลังพัฒนาขึ้นใหม่ASTON MARTIN AM-RB 003
ผลงานชิ้นสุดท้ายของค่าย “ปีกนก” ที่เลือกมาให้ชื่นชมกัน คือ รถติดป้ายชื่อ แอสตัน มาร์ทิน เอเอม-อาร์บี 003 (ASTON MARTIN AM-RB 003) ซึ่งก็ปรากฏตัว “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้เช่นเดียวกัน เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทประตูปีกนก เป็นผลงานจากความร่วมมือกับทีมแข่งรถ เรด บูลล์ (RED BULL) ชิ้นที่ 2 และเป็นรถที่บ่งบอกความน่าจะเป็นของรถสปอร์ทไฮเพอร์คาร์ที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดในปี 2021 พร้อมกับป้ายค่าตัว 1 ล้านปอนด์อังกฤษ หรือเท่ากับประมาณ 42 ล้านบาทไทย แหล่งข่าวภายในให้ข้อมูลแก่ AUTOCAR นิตยสารรถยนต์ชั้นนำฉบับหนึ่งของเมืองผู้ดีว่า ไฮเพอร์คาร์รุ่นที่ว่านี้เป็นรถที่จะผลิตในจำนวนจำกัด ตัวถังทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ เป็นรถวางเครื่องกลางลำ ติดตั้งระบบขับไฮบริดซึ่งใช้เครื่องยนต์ทวินเทอร์โบเบนซิน วี 6 สูบ ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังสุทธิสูงสุดที่สูงกว่า 1,000 แรงม้า และร้อยละ 90 ของสิ่งที่มีในรถแนวคิดคันนี้จะพบได้ในรถตลาดที่ว่าFIAT CONCEPT CENTOVENTI
ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลขหนึ่งของเมืองมะกะโรนีให้ความสำคัญแก่งานนี้ โดยนำรถใหม่ออกแสดงหลายคัน แต่มีอยู่เพียงคันเดียวที่สมควรบรรจุไว้ในรายงานนี้ คือ รถจิ๋วติดป้ายชื่อ เฟียต คอนเซพท์ เซนโตเวนตี (FIAT CONCEPT CENTOVENTI) ซึ่งก็เป็นรถอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัว “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นรถที่ค่ายนี้ทำขึ้นและตั้งชื่อในโอกาสที่มีอายุครบรอบ 120 ปีในปีนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถนาคร 4 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้สารพัดอย่างตามความต้องการของผู้ใช้ ตัวถังแฮทช์แบคขนาด 3.680x1.740x1.527 ม. ติดตั้งระบบขับซึ่งมีแบทเตอรีเพียงชุดเดียว ซึ่งชาร์จไฟแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกล 100 กม. แต่สามารถซื้อหรือเช่าเพิ่มเติมอีก 3 ชุด ซึ่งจะทำให้ยืดระยะทางเป็น 500 กม. ในส่วนของตัวถังที่ออกแบบได้โดนตาโดนใจมาก ก็มีรายละเอียดที่ออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนยักย้ายถ่ายเทได้มาก เช่น เก้าอี้ที่นั่งทั้ง 4 ตัว เป็นเก้าอี้ที่ยกออกได้ALFA ROMEO TONALE
ผู้ผลิตรถระดับ “พรีเมียม” ของเมืองมะกะโรนีซึ่งรอบปีที่ผ่านมาดูเงียบพิกล พยายามดึงดูดความสนใจของผู้คนด้วยรถ อัลฟา โรเมโอ โตนาเล (ALFA ROMEO TONALE) ซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้เช่นกัน เป็นรถแนวคิดซึ่งบ่งบอกความน่าจะเป็น และคงจะเป็นของรถกิจกรรมกลางข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดก่อนสิ้นปี 2020 เป็นรถขนาดเดียวกันและระดับเดียวกันกับรถที่มีอยู่แล้วขณะนี้อย่าง เอาดี คิว 3 (AUDI Q3) และบีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 1 (BMW X1) เป็นรถที่ค่ายนี้เชื่อว่าน่าจะขายดีมาก และช่วยให้สามารถเพิ่มยอดขาย 150,000 คัน/ปีในรอบปี 2018 เป็น 400,000 คัน/ปีในปี 2020 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ เมื่อเปลี่ยนฐานะเป็นรถตลาด คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากที่เป็นรถแนวคิดเพียงเล็กน้อย เช่น เพิ่มกระจกปาดน้ำฝน ปรับเปลี่ยนห้องโดยสารจาก 4 เป็น 5 ที่นั่ง ฯลฯ ส่วนเครื่องยนต์กลไกยังไม่มีรายละเอียด รู้กันแต่เพียงว่าจะมีรถไฮบริดด้วยJEEP RENEGADE PHEV
ค่าย จีพ ซึ่งเป็นรถสายพันธุ์อเมริกันเพียงยี่ห้อเดียวที่ปรากฏตัวให้เห็นในงานนี้ มีจุดดึงดูดความสนใจอยู่ 2 จุด คือ จีพ เรเนเกด พีเอชอีวี (JEEP RENEGADE PHEV) กับ จีพ คอมพาสส์ พีเอชอีวี (JEEP COMPASS PHEV) ซึ่งจอดอยู่ใกล้กัน แต่ดูเหมือนว่าผู้คนและสื่อมวลชนไม่ค่อยจะไยดีกันเลย จุดสนใจในรถ 2 คันนี้ คือ ตัวอักษร PHEV (PLUG-IN HYBRID ELECTRIC VEHICLE) ห้อยท้ายชื่อรุ่น ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟแบทเตอรี เมื่อศึกษาจากรายละเอียดก็พบว่า ทั้งคู่เป็นรถที่ค่ายนี้จะบรรจุเข้าสู่สายการผลิตในปี 2020 คันแรกตอนต้นปีส่วนคันหลังตอนกลางปี และทั้งคู่จะติดตั้งระบบขับไฮบริดซึ่งใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินขนาด 1.3 ลิตร ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า ได้กำลังสุทธิสูงสุด 176 กิโลวัตต์/240 แรงม้า สามารถวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกลประมาณ 50 กม. และทำความเร็วสูงสุด 130 กม./ชม.LAMBORGHINI AVENTADOR SVJ ROADSTER
ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทกระทิงดุเปิดตัวรถใหม่ 2 รุ่น รุ่นแรกในภาพซ้ายมือ คือ ลัมโบร์กินี อเวนตาโดร์ เอสวีเจ โรดสเตอร์ (LAMBORGHINI AVENTADOR SVJ ROADSTER) ซูเพอร์คาร์ที่ฤดูร้อนปี 2019 นี้ จะเริ่มการจำหน่ายในยุโรป พร้อมกับป้ายค่าตัว 387,007 ยูโร (ยังไม่รวมภาษี) หรือประมาณ 14.0 ล้านบาทไทย เป็นรถเปิดประทุนซึ่งพัฒนาต่อกิ่งต่อยอดจากรถคูเปชื่อเดียวกันที่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2018 โดยเปลี่ยนจากหลังคาแข็งติดตาย เป็นประทุนหลังคาเปิดได้แบบแข็ง ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ สามารถถอดออกและนำไปเก็บใต้ฝากระโปรงหน้าด้วยมือ เพราะหนักไม่ถึง 6 กก. เป็นรถขับทุกล้อด้วยพลังของเครื่องยนต์เบนซิน DOHC วี 12 สูบ 6,498 ซีซี 566 กิโลวัตต์/770 แรงม้า ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้าคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลาแค่ 2.9 วินาที ความเร็วสูงสุดก็สูงกว่า 350 กม./ชม. เป็นรถที่จะจำกัดจำนวนผลิตไว้เพียง 800 คันLAMBORGHINI HURACAN EVO SPYDER
รถใหม่อีกรุ่นหนึ่งที่ผู้ผลิตรถกระทิงดุนำออกอวดตัว “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ คือ ลัมโบร์กินี อูรากัน เอโว สไปเดอร์ (LAMBORGHINI HURACAN EVO SPYDER) ซึ่งเปิดรับการสั่งจองแล้วในราคา 202,437 ยูโร (ยังไม่รวมภาษี) หรือประมาณ 7.30 ล้านบาทไทย เช่นเดียวกับรถคันซ้ายมือ รถรุ่นนี้เป็นรถเปิดประทุนที่พัฒนาต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจากรถคูเปชื่อเดียวกัน ซึ่งเปิดตัวเมื่อต้นเดือนมกราคม 2019 และจุดหลักของการพัฒนาที่ว่านี้ คือ การแทนที่หลังคาแข็งติดตายด้วยประทุนหลังคาแบบอ่อน เปิด/ปิดด้วยระบบอีเลคทรอไฮดรอลิคโดยใช้เวลา 17 วินาที และบังคับควบคุมโดยการกดปุ่มที่ติดตั้งอยู่ตรงอุโมงค์กลาง ส่วนระบบขับยกมาทั้งชุดจากรถซึ่งเป็นที่มา คือ เครื่องยนต์เบนซินฉีดตรง DOHC วี 10 สูบ 5,204 ซีซี 470 กิโลวัตต์/640 แรงม้า ซึ่งส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้าคู่หลังผ่านระบบเกียร์คลัทช์คู่ 7 จังหวะ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 3.1 วินาที ความเร็วสูงสุด 325 กม./ชม.PININFARINA BATTISTA
เหมาะสมกับตำแหน่งรถทรงพลังที่สุดในงานนี้ คือ ปินินฟารีนา บัตติสตา (PININFARINA BATTISTA) ซึ่งอวดตัวในบูธของ ออโตโมบิลี ปินินฟารีนา (AUTOMOBILI PININFARINA) ผู้ผลิตรถยนต์เกิดใหม่ซึ่งมีค่าย มหินทรา (MAHINDRA) ของอินเดียเป็นเจ้าของ บริษัทนี้ตั้งใจจะทำเพียง 150 คัน เพื่อจำหน่ายในราคา 2.0-2.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับประมาณ 64-80 ล้านบาทไทย จะเริ่มการจำหน่ายไฮเพอร์คาร์แบบนี้ในฤดูใบไม้ผลิปี 2020 และขณะนี้มีผู้วางเงินจองไว้แล้วมากกว่า 30 คัน ผู้ผลิตกล่าวอ้างว่าเป็นรถออกแบบและผลิตในอิตาลีที่ทรงพลังที่สุด เพราะใช้ระบบขับทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ให้กำลังสูงถึง 1,400 กิโลวัตต์/1,900 แรงม้า และป้อนพลังไฟฟ้าด้วยแบทเตอรีขนาด 120 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งชาร์จไฟแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลถึง 450 กม. เป็นรถแรงจัดและเร็วสุดๆ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลาไม่ถึง 2.0 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดก็สูงกว่า 350 กม./ชม.ITALDESIGN DAVINCI
สำนักออกแบบชื่อดังของเมืองมะกะโรนีซึ่งขณะนี้เปลี่ยนสภาพเป็นหน่วยงานย่อยภายใต้ร่มเงาของยักษ์ใหญ่ โฟล์คสวาเกน กรุพ (VOLKSWAGEN GROUP) ไปแล้ว ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถประตูปีกนกติดป้ายชื่อ อิตัลดีไซจ์น ดาวินชี (ITALDESIGN DAVINCI) พร้อมกับอธิบายว่าที่ใช้ชื่อนี้ก็เพื่อเตือนใจให้รำลึกว่า ปี 2019 คือ วาระครบ 500 ปีแห่งมรณกรรมของยอดศิลปินเจ้าของนาม เลโอนาร์โด ดาวินชี (LEONARDO DA VINCI) นั่นเอง เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทคูเป 4 ที่นั่ง ที่ออกแบบให้ติดตั้งระบบขับด้วยพลังของเครื่องยนต์เบนซิน วี 8 สูบ 4.0 ลิตร ก็ได้ หรือจะเปลี่ยนไปใช้ระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ ก็ได้ ตัวถังขนาด 4.981x1.966x1.392 ม. ออกแบบในลักษณะให้มีช่วงยื่นหน้าและยื่นหลังสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อผลบวกด้านพื้นที่ในห้องโดยสาร ส่วนประตูที่เปิด/ปิดแบบปีกนกนางนวล ก็เพื่อให้ผู้โดยสารแถวหน้า และแถวหลังขึ้นรถได้พร้อมกันPIECH MARK ZERO
นี่ก็อีกคันหนึ่งที่หน้าตาเหมือนรถกำลังจะออกโชว์รูม แต่ยังติดป้ายว่าเป็นรถแนวคิด คือ พีค มาร์ค เซโร (PIECH MARK ZERO) ผลงานปฐมฤกษ์ของ พีค ออโทโมทีฟ (PIECH AUTOMOTIVE) บริษัทรถยนต์เกิดใหม่ของเมืองสวิสส์/เมืองเบียร์ ซึ่งมีฐานปฏิบัติการทั้งในเมืองซูริคและเมืองมิวนิค เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ 2 ประตู ที่อัดแน่นไปด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และเป็นพื้นฐานของรถตลาดที่ค่ายนี้ตั้งใจจะผลิตรวม 3 แบบ คือ รถ 2 ที่นั่ง-รถ 4 ที่นั่ง และรถกิจกรรมกลางแจ้ง ตัวถังขนาด 4.432x1.991x1.250 ม. ซึ่งดูดีในทุกมุมมอง ติดตั้งระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า ขับล้อคู่หน้า และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเดียวกันอีก 2 ชุด ขับล้อคู่หลัง ส่วนอุปกรณ์ป้อนพลังไฟเป็นแบทเตอรีระบายความร้อนด้วยอากาศผลิตในจีน ที่ชาร์จไฟแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลถึง 500 กม. ทำ 0-100 กม./ชม. ใน 3.2 วินาที และทำความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม.GUMPERT NATHALIE
เคยปรากฏตัวที่อื่นมาแล้ว แต่เห็นว่าน่าสนใจดีจึงนำบรรจุไว้ด้วยในรายงานนี้ คือ กัมเพิร์ท นาธาลี (GUMPERT NATHALIE) ผลงานจากความร่วมมือของ โรลันด์ กัมเพิร์ท (ROLAND GUMPERT) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายย่อยของเยอรมนี กับค่าย ไอเวย์ส์ (AIWAYS) ของจีน เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทคูเป 2 ที่นั่ง/ขับทุกล้อ ซึ่งไม่มีการติดตั้งเครื่อง-ยนต์ใดๆ รวมทั้งเป็นต้นแบบของรถที่ค่ายนี้จะผลิตขายเพียง 500 คัน และกำหนดราคาค่าตัวไว้ที่ระดับ 400,000 ยูโร หรือเท่ากับประมาณ 14.4 ล้านบาทไทย ตัวถังขนาด 4.307x2.103x1.309 ม. ติดตั้งระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 4 ชุด ให้กำลังรวม 300-600 กิโลวัตต์ หรือ 408-816 แรงม้า สามารถวิ่งได้เร็วกว่า 300 กม./ชม. และชาร์จไฟแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกลถึง 850 กม. เพราะมีอุปกรณ์พิเศษที่ไม่มีในรถไฟฟ้าแบบอื่นๆ คือ ระบบชาร์จไฟแบทเตอรีด้วยเซลล์เชื้อเพลิง (FUEL CELL) ซึ่งติดตั้งอยู่ด้วยในตัวรถARCFOX ECF CONCEPT
BAIC MOTOR บริษัทรถยนต์ของรัฐบาลจีนซึ่งร่วมงานนี้เป็นครั้งแรก ดึงดูดความสนใจของสื่อมวลชนและผู้ชมงานด้วยรถใหม่หลายคัน คันที่น่าสนใจที่สุดจนต้องตัดสินใจนำมาบรรจุไว้ในรายงานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ อาร์คฟอกซ์ อีซีเอฟ คอนเซพท์ (ARCFOX ECF CONCEPT) ซึ่งก็เป็นรถอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ ELECTRIC CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ เป็นระบบที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 4 ชุด และประจุไฟแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกลระหว่าง 385-700 กม. ขึ้นอยู่กับขนาดของแบทเตอรีที่ใช้ เป็นรถที่ผู้ผลิตยืนยันกับสื่อมวลชนในงานนี้ว่า ภายใน 2 ปีจะเปลี่ยนฐานะเป็นรถตลาดสมบูรณ์แบบ (มีรถพลังไฟฟ้าอีกคันหนึ่งที่ค่ายนี้นำออกแสดง เป็นรถสปอร์ท 2 ที่นั่ง ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 4 ชุด เช่นกัน แต่ให้กำลังรวมสูงกว่าชุดที่ติดตั้งในรถแนวคิด คือ สูงถึง 1,600 แรงม้า)NISSAN IMQ
สร้างความหวือหวาและเรียกเสียงฮือฮาได้ดีเหลือเกิน คือ รถติดป้ายชื่อ นิสสัน ไอเอมคิว (NISSAN IMQ) ซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” บนเวทีขนาดใหญ่ในบูธของยักษ์รองเมืองยุ่น เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัดที่ใช้ระบบขับทุกล้อแบบ E-POWER และเป็นรถที่บ่งบอกแนวทางของรถรุ่นใหม่ ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดในยุโรปพร้อมกับป้ายชื่อ นิสสัน กัชไก (NISSAN QASHQAI) ตัวถังขนาด 4.558x1.940x1.560 ม. ซึ่งคงจะเปลี่ยนไปมากเมื่อกลายสภาพเป็นรถตลาดสมบูรณ์แบบ ติดตั้งระบบขับ E-POWER ที่พัฒนาต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจากระบบ E-POWER ซึ่งใช้อยู่ในขณะนี้กับรถที่จำหน่ายในญี่ปุ่นโดยติดป้ายชื่อ นิสสัน โนท (NISSAN NOTE) และนิสสัน เซเรนา (NISSAN SERENA) เป็นระบบที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินความจุ 1.5 ลิตร ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า และให้กำลังสุทธิสูงสุดที่สูงถึง 250 กิโลวัตต์/340 แรงม้าMITSUBISHI ENGELBERG TOURER
เรียกความสนใจจากผู้คนได้ดีเช่นกัน คือ มิตซูบิชิ เอนเกลเบิร์ก ทัวเรอร์ (MITSUBISHI ENGELBERG TOURER) ซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” บนเวทีหมุนขนาดใหญ่ในบูธของค่าย “สามเพชร” เป็นรถแนวคิดที่ค่ายนี้รังสรรค์ขึ้นเพื่ออวดเทคโนโลยีมากมาย ที่จะนำไปใช้กับรถที่ผลิตจำหน่ายในอนาคต รวมทั้งระบบขับที่ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า TWIN MOTOR 4WD PLUG-IN HYBRID ที่น่าจะแปลเป็นไทยอย่างตรงไปตรงมาและยาวเหยียดได้ว่า ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟแบทเตอรีและใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแฝด อธิบายได้ว่าเป็นระบบที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ชุดหนึ่งขับล้อคู่หน้า อีกชุดขับล้อคู่หลัง สามารถวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกล 70 กม. (WLTP) และจะวิ่งได้ไกลกว่า 700 กม. เมื่อเติมเบนซินเต็มถัง ส่วนชื่อรถซึ่งตั้งตามชื่อเมืองสกีของสวิทเซอร์แลนด์นั้น ก็เพื่ออวดความหรู และใช้งานได้คล่องของรถคันนี้TOYOTA PRIUS AWD-I
ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นนำรถใหม่ออกอวดตัวแบบในงานนี้หลายคัน เลือกคันที่คิดว่าคนรักรถในบ้านเราน่าจะสนใจมาเพียงคันเดียว คือ รถไฮบริดติดป้ายชื่อ โตโยตา ปรีอุส ออลล์วีลดไรฟ-ไอ (TOYOTA PRIUS AWD-I) ซึ่งทีมงานของ “สื่อสากล” เพิ่งมีโอกาสสัมผัสเป็นครั้งแรกที่งานนี้ หน้าตาและรูปทรงองค์เอวมีสิ่งแตกต่างจากรถ โตโยตา ปรีอุส (TOYOTA PRIUS) รุ่นที่ 4 ซึ่งกำลังจำหน่ายอยู่ในญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศทั่วโลกเพียงเล็กน้อย แต่ที่ต่างกันมากก็คือ ไม่ใช่รถไฮบริดที่ขับเคลื่อนด้วยล้อหน้า แต่เป็นรถไฮบริดขับเคลื่อนทุกล้อ อธิบายอย่างพอเป็นสังเขปได้ว่า เป็นระบบขับทุกล้อแบบไฟฟ้า ที่ค่ายนี้พัฒนาขึ้นเองและเรียกชื่อในภาษาอังกฤษว่า ALL-WHEEL DRIVE-INTELLIGENT ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรถ ระบบนี้เพิ่มมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 5.3 กิโลวัตต์/7.2 แรงม้า จำนวน 1 ชุด เพื่อช่วยขับล้อคู่หลัง เป็นระบบที่ผู้ผลิตบอกว่ามีข้อดีมากมายเมื่อเทียบกับระบบกลไก รวมทั้งไม่ทำให้รถต้องใช้เชื้อเพลิงมากขึ้นด้วยMAZDA CX-30
เป็นรถพันธุ์ยุ่นที่ดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้คนทั่วไปได้ดีเช่นกัน แม้ว่าเป็นรถตลาด แต่ก็เป็นรถตลาดที่ไม่เคยมีมาก่อน คือ มาซดา ซีเอกซ์-30 (MAZDA CX-30) ซึ่งก็เป็นรถอีกคันหนึ่งที่ปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” เป็น SUBCOMPACT CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัด ที่ค่ายนี้กำลังจะนำออกสู่ตลาดในยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยวางตำแหน่งในตลาดให้แทรกอยู่ตรงกลางระหว่างรถ มาซดา ซีเอกซ์-3 (MAZDA CX-3) กับ มาซดา ซีเอกซ์-5 (MAZDA CX-5) ตัวถังขนาด 4.395x1.795x1.540 ม. พัฒนาจากตัวถังของรถเก๋งแฮทช์แบค มาซดา 3 (MAZDA 3) รุ่นล่าสุดที่ยังไม่เข้าเมืองไทย ส่วนรูปทรงองค์เอวตัวถังเป็นผลลัพธ์ของภาษาการออกแบบ KODO DESIGN LANGUAGE อันโด่งดังของค่ายนี้ ยังไม่มีการยืนยันรายละเอียดของเครื่องยนต์ที่ใช้ ทราบกันแต่เพียงว่า เครื่องเบนซินทุกขนาดจะติดตั้งระบบ MILD-HYBRIDHONDA E PROTOTYPE
รถจิ๋วแต่ความสนอกสนใจของผู้คนไม่จิ๋วตามไปด้วย คือ รถติดป้ายชื่อ ฮอนดา อี พโรโทไทพ์ (HONDA E-PROTOTYPE) ซึ่งเป็นรถพันธุ์ยุ่นอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นต้นแบบที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ของรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ ขนาดจิ๋ว ที่ค่ายนี้ตั้งใจจะผลิตในญี่ปุ่น แล้วเริ่มการจำหน่ายในยุโรปตอนปลายปี 2019 หลังจากนั้น คือ ในปี 2020 จึงส่งไปยังตลาดอื่นๆ รวมทั้งเริ่มการจำหน่ายในญี่ปุ่นด้วย เป็นรถขับล้อหลังด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่หาข้อมูลเป็นตัวเลขได้น้อยมาก ที่พอจะบอกกล่าวกันได้ก็คือ ตัวถังที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน จะสั้นกว่ารถ ฮอนดา แจซซ์ (HONDA JAZZ) ประมาณ 10 ซม. ติดตั้งแบทเตอรีที่ชาร์จไฟแต่ละครั้งจะทำให้รถวิ่งได้ไกลประมาณ 200 กม. การชาร์จไฟแบบเร่งด่วนและได้ปริมาณไฟร้อยละ 80 จะใช้เวลาเพียง 30 นาที ครึ่งหลังของห้องโดยสารยังออกแบบไม่ลงตัว (ที่งานนี้มีผู้พยายามเปิดประตูบานท้ายแต่ถูกห้าม) และติดตั้งกล้องถ่ายภาพแทนกระจกมองข้างSUBARU VIZIV ADRENALINE CONCEPT
รถแนวคิดพันธุ์ยุ่นอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” อย่างหงอยเหงาน่าเศร้าใจ คือ ซูบารุ วีซีฟ อดรีนาลีน คอนเซพท์ (SUBARU VIZIV ADRENALINE CONCEPT) ซึ่งก็หาข้อมูลทางเทคนิคและข้อมูลตัวเลขต่างๆ แทบไม่ได้เลยเช่นกัน จึงบอกได้แต่เพียงว่า เป็นรถแนวคิดที่ค่ายนี้บอกว่า รังสรรค์ขึ้นเป็นคันแรกเพื่ออวดปรัชญาการออกแบบแนวใหม่ ที่ประกาศไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 และตั้งชื่อในภาษาอังกฤษว่า BOLDER DESIGN PHILOSOPHY มีรูปทรงองค์เอวที่เปี่ยมพลวัตและให้ความรู้สึกในความแข็งแรง มีหลังคาที่ไม่เหมือนรถคันใดและไม่มีรถคันใดเหมือน (น่าเสียดายที่มองไม่เห็นในภาพ) เป็นหลังคาที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถัง และปกป้องตัวถังไปด้วยในเวลาเดียวกัน เป็นคุณลักษณะที่เหมาะเจาะมากกับชื่อ อดรีนาลีน อันเป็นฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ทั้งหมดนี้ไม่ได้คิดเอาเอง แต่ว่ากันตามข้อความประชาสัมพันธ์ของค่ายนี้IMAGINE BY KIA
รถแนวคิดสายพันธุ์โสมเพียงคันเดียวซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ คือ อิเมจิน บาย เกีย (IMAGINE BY KIA) ซึ่งก็เป็นรถเพียงคันเดียวในงานนี้ด้วย ที่เอาชื่อรถไว้ข้างหน้าแล้วเอายี่ห้อรถไว้ข้างท้าย เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถพลังไฟฟ้า 4 ประตู 4 ที่นั่ง และเป็นพื้นฐานของรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ค่ายนี้จะเริ่มนำออกสู่ตลาดในปี 2021 ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของระบบขับ บอกเพียงว่าการชาร์จไฟแต่ละครั้งตั้งเป้าให้รถวิ่งได้ไกลถึง 800 กม. ส่วนตัวถังที่มีจุดสะดุดตาสะดุดใจอยู่หลายจุด รวมทั้งประตูข้างที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมรถพลังไฟฟ้าที่ค่ายนี้จะใช้ร่วมกันกับผู้ผลิตร่วมเครือ คือ ฮันเด (HYUNDAI) เป็นการออกแบบที่สามารถพลิกแพลงเป็นรถเก๋งซีดานก็ได้เป็นรถ เอสยูวี ก็ได้ ส่วนแผงกระจังหน้าที่ตั้งชื่อว่า TIGER MASK หรือหน้ากากเสือ เป็นการตีความใหม่ของกระจังแบบเดิมที่เรียกว่า TIGER NOSE หรือจมูกเสือSSANGYONG KORANDO
ส่วนรถตลาดสายพันธุ์โสมเพียงคันเดียวซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ ซังยง โครันโด (SSANGYONG KORANDO) ซึ่งเปิดโอกาสให้คนต่างชาติได้สัมผัสก่อนคนเกาหลี เป็นรถรุ่นใหม่ (รุ่นที่ 4) และเป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัดที่เริ่มจำหน่ายแล้วในเกาหลีใต้ แต่ในตลาดยุโรปต้องรอจนถึงกลางปี 2019 นี้จึงออกโชว์รูม ตัวถังขนาด 4.450x1.870x1.620 ม. ที่ออกแบบ/พัฒนาขึ้นใหม่ตั้งแต่พื้นรถจรดหลังคา จะติดตั้งระบบขับ 2 แบบ คือ แบบขับล้อหน้า หรือแบบขับทุกล้อ ส่วนพลังขับเคลื่อนในระยะแรกก็จะมีให้เลือก 2 แบบเช่นกัน คือ ขับด้วยพลังของเครื่องยนต์เบนซิน 1,497 ซีซี 120 กิโลวัตต์/163 แรงม้า หรือด้วยพลังของเครื่องยนต์ดีเซล 1,597 ซีซี 100 กิโลวัตต์/136 แรงม้า ที่ต้องรอหน่อยเพราะจะตามมาในปี 2020 คือระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ค่ายนี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ชาร์จไฟแบทเตอรีแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลถึง 480 กม.TATA H2X CONCEPT
ปิดรายงานมหกรรมยานยนต์เจนีวา ครั้งล่าสุด ที่ทำให้ “ใจชื้นขึ้นเป็น กอง” ด้วยรถแนวคิดจากแดนภารตะเพียงคันเดียวที่อวดตัวในงานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ ทาทา เอช 2 เอกซ์ คอนเซพท์ (TATA H2X CONCEPT) ซึ่งก็เป็นรถที่ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ “ครั้งแรกในโลก” เช่นกัน เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ SUBCOMPACT CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัด และเป็นรถที่บ่งบอกทิศทางของรถตลาดรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่สายการผลิตภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ตัวถังขนาด 3.840x1.822x1.635 ม. ที่นั่งได้รวม 4 คน เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมที่ค่ายนี้รังสรรค์ขึ้น และตั้งชื่อในภาษาอังกฤษว่า ALFA หรือ AGILE LIGHT FLEXIBLE ADVANCED ARCHITECTURE (มีรถใหม่อีก 3 แบบของค่าย ทาทา ที่อวดตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ในบ้านเรารถยี่ห้อนี้อาจไม่ฟู ? แต่ในตลาดยุโรปรถยี่ห้อนี้กำลังเฟื่อง !)ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา ผู้จัดงาน และบริษัทผู้ผลิตนิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2562
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ