ประสาใจ
ความเดิมวันนี้
ข้าพเจ้า (ไก่อ่อน) อายุเพียง 10 ปี เมื่อประเทศไทยอยู่กับสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เริ่มจากการที่ญี่ปุ่นขอใช้แผ่นดินไทยเป็นเส้นทางยกทัพผ่านพม่าไปตีอินเดียของอังกฤษญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกรุกรานอธิปไตยไทยช่วงเช้ามืด เจออย่างจังด้วยกระแสความรักชาติของคนไทยอย่างน่าเลื่อมใส วีรบุรุษ และวีรสตรีหลายท่านต้องสังเวยชีวิต ก่อนรับคำสั่งให้หยุดการต่อต้านจากพระนครในตอนสาย ที่กองบินน้อยที่ 5 อ่าวมะนาว จังหวัดประ-จวบคีรีขันธ์ ข้าพเจ้าได้ยินว่า พรรณี วัฒนางกูร ภริยาของนายเรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร (ยศในขณะนั้น) ถูกญี่ปุ่นยิงเสียชีวิตที่บ้านพัก ประจวบคีรีขันธ์ เป็น “เมืองสามอ่าว” ประ-กอบด้วย อ่าวน้อย อ่าวประจวบ และอ่าวมะนาว อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งของกองบินน้อยที่ 5 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกยึดกองบินน้อยที่ 5 แต่นายทหาร จ่าอากาศ และพลทหารจำนวน 120 นาย ภายใต้การนำของ นาวาอากาศโท หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย ยืนหยัดสู้อย่างเข้มแข็ง การสู้รบดำเนินไปหลายชั่วโมงตั้งแต่เช้ามืดจนถึงบ่าย ก่อนรับคำสั่งเป็นโทรเลขจากรัฐบาลให้หยุดการต่อต้าน ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตเป็นศพเรียงรายเกลื่อนชายหาดกว่า 500 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก วีรชนฝ่ายไทยเสียชีวิต 38 คน บาดเจ็บ 27 คน ที่สนามบินวัฒนานคร (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดสระแก้ว) เครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นรุ่น “เซนโตกิ” โจมตี ยิงเครื่องบินของกองทัพอากาศที่จอดอยู่กับพื้นสนามบิน ยิงกองบังคับการ และอาคารต่างๆ บริเวณสนามบินได้รับความเสียหาย ทหารอากาศไทยผู้กล้าใช้เครื่องบินฮอว์ค 3 (ปีก 2 ชั้นพับล้อได้) 3 เครื่องขึ้นสู้กับญี่ปุ่นทั้งฝูง (ประมาณ 25 ลำ) เครื่องบินฝ่ายเราถูกยิงตกทั้ง 3 เครื่อง และ 3 นักบินวีรชนเสียชีวิต ที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร กลุ่มยุวชนทหารซึ่งส่วนมากเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา มีร้อยเอกถวิล นิยมเสน เป็นผู้บังคับการ ออกมาปะทะกับกองทหารญี่ปุ่น จนผู้บังคับการเสียชีวิต แต่การต่อสู้มิได้หยุด จนกระทั่งมีคำสั่งรัฐบาลให้หยุดการต่อต้านเมื่อประมาณ 11 นาฬิกา พันตรีถวัลย์ ศรีเพ็ญ รองผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 5 ค่ายคอหงส์ ปลุกราษฎรที่มีบ้านอยู่ริมถนนกาญจนวณิชย์ (สงขลา-หาดใหญ่) ตอนตี 5 ช่วยกันวางระเบิดรางรถไฟตัดเส้นทางลำเลียงของญี่ปุ่น วางระเบิดได้ 2 จุด กับวางระเบิดสะพานรถยนต์ข้ามคลองน้ำน้อยได้อีก 1 จุด ก่อน 8 โมงเช้า รับคำสั่งระงับ และข้าพเจ้าได้ยินเรื่องเล่า ปืนยาวญี่ปุ่น สู้กับดาบของคนไทยชื่อ ราไวย์ ที่หาดภูเก็ต ใครที่เคยดูภาพยนตร์ INDIANA JONES AND THE TEMPLE OF DOOM “ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า ตอน ถล่มวิหารเจ้าแม่กาลี” คงมองเห็นภาพ อินเดียนา โจนส์ ใช้ปืนพกกระบอกเดียวกับการเงื้อดาบฝ่ายเจ้าแม่กาลี แต่ที่ภูเก็ตเป็นอีเวนท์จริง และต่อมาทำให้หาดทรายนั้นชื่อ “หาดราไวย์” มาจนถึงวันนี้ การยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น มีทั้ง บางปู-สมุทรปราการ ภูเก็ต สงขลา ชุมพร ปัตตานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ประวัติ- ศาสตร์ และเรื่องราวต่อไปนี้ ข้าพเจ้าสรุปความบางตอนจากหนังสือ “สงครามโลกครั้งที่ 2” ซึ่งคณะประวัติศาสตร์ทหารโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นผู้เรียบเรียงเมื่อปี 2491 สงครามมหาเอเชียบูรพา หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “วงศ์ไพบูลย์อันไพศาลของเอเชียภาคบูรพา” อาจถูกมองว่า ญี่ปุ่นจรยุทธ์โดยอิสระ และมีจุดมุ่งหมายเป็นส่วนตัว ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก่อนญี่ปุ่นเปิดฉากทำสงคราม พวกเขามีความสัมพันธ์ทางใจอยู่กับเยอรมนี ความทะเยอทะยานอาจเป็นเพราะญี่ปุ่นมีพื้นที่เป็นเกาะ มีขีดจำกัดต่อการระบายพลเมือง เมื่อตนมีวัตถุดิบ มีแรงคนมากมาย แผนการเพื่อวงศ์ไพบูลย์อันไพศาลของเอเชียบูรพาจึงมิน่าใช่เป็นเพียงความฝัน ญี่ปุ่นมองเศรษฐกิจจีนเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับประเทศกลุ่มตะวันตก ซึ่งมีข้อเสียเปรียบญี่ปุ่น เพราะภูมิศาสตร์ของประเทศห่างไกลคนละขอบฟ้าโลก พิจารณาตามแง่ยุทธศาสตร์ ญี่ปุ่นมีเป้าหมายการสู้รบ 2 แห่ง แห่งแรก คือ ทวีปเอเชีย และแห่งที่ 2 คือ การรบบนภาคพื้นทะเล ยุทธศาสตร์แห่งแรก ญี่ปุ่นไม่มุ่งหมายที่จะรบกับจีนถึงขั้นแตกหัก เพราะต้องใช้กำลังพลมาก แต่ญี่ปุ่นต้องการให้จีนตายอย่างช้าๆ ยุทธศาสตร์นี้มุ่งตัดเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ระหว่างเมืองจุงกิงของจีนกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็จะเอื้อมมือคว้าทรัพยากรทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยกำลังพลจากผู้คนในอินโดจีนของฝรั่งเศส ในประเทศไทย ในมลายู และพม่า หลังการเข้ายึดสิงคโปร์-กุญแจดอกสำคัญ เส้นทางสู่อินเดีย ยุทธศาสตร์แห่งที่ 2 ญี่ปุ่นวางเป้าหมายยึดเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิค ใช้เป็นประตูเปิดทางไปสู่ออสเตรเลีย แหล่งทรัพยากรอันมั่งคั่งของฮอลลันดา ตลอดจนเกาะนิวกินี หากแผนยุทธศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ญี่ปุ่นจะเป็นผู้ครอบครองภูมิภาคอันอุดมด้วยพืชพันธุ์ ธัญญาหาร สมบูรณ์ด้วยวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม เช่น ยาง ดีบุก และน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้ และดังนั้น ทะเล ในความหมายของญี่ปุ่น ก็จะกลายเป็นอ่างน้ำอยู่กลางอาณาจักรวงศ์ไพบูลย์อันไพศาลของเอเชียภาคบูรพา เช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ตามวันเวลาไทย (หรือ 7 ธันวาคม ของประเทศกลุ่มตะวันตก) กองบัญชาการฐานทัพภาคพื้นแปซิฟิคของอเมริกันอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ ถูกฝูงบินรบญี่ปุ่นจำนวน 200 เครื่อง โจมตีเต็มพิกัด ท่าเรือถูกทำลายย่อยยับ เครื่องบินสหรัฐอเมริกา แหลกคาสนามบิน เรือประจัญบาน 6 ใน 8 ลำ จมลงสู่ก้นอ่าว เหตุการณ์นี้ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา รายงาน “กองทัพนาวีแห่งสหรัฐอเมริกา เหลือแต่กางเกงใน” หลังสงครามไม่นาน ปรากฏบางข้อความน่าสนใจในรายงานของคณะกรรมการผสม แต่งตั้งโดยสภาคองกเรสส์ วิเคราะห์กรณีญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรืออ่าวเพิร์ล “ความพินาศของอ่าวเพิร์ล เป็นความล้มเหลวของกองทัพบก และกองทัพเรือที่มิได้สร้างมาตรการสำหรับตรวจตราการเข้ามาของข้าศึก มิได้มีมาตรการอย่างพอเพียงสำหรับเตือนให้รัฐเตรียมพร้อมด้วยความสำนึกว่า สงครามได้มาถึงแล้ว รวมทั้งมาตรการที่จะทำให้เกิดการผลักดันการรุกรานของญี่ปุ่นได้โดยสะดวก” นี่กลายเป็นบทสังวรของกองทัพประเทศอื่นในโลกใบนี้เช่นเดียวกัน และนี่คือ ที่มาของกองทัพญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกประเทศไทย วันเดียวกันกับวันถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ ข้าพเจ้าไม่ได้เรียนรัฐศาสตร์ ตามความฝันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ซึ่งเคยตอบคำถามคุณแม่ขณะเหยียบคลายเส้นให้ท่านว่า โตขึ้นลูกขอเป็น “เจ้าเมือง” โดยข้าพเจ้าตกสอบสัมภาษณ์เอนทรานศ์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ปี 2493 จึงไม่บังอาจมีทรรศนะวิจารณ์เรื่องราวที่กล่าวมา ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่า โลกวันนั้นไม่ใช่โลกวันนี้ โลกวันนั้นมีความห่างไกลกันสุดๆ แต่โลกวันนี้ เข็มตกที่ไหนได้ยินกันทั้งโลก...โลกวันนั้น มีลอดช่องสิงคโปร์ ส่วนโลกวันนี้ มีข้าวหอมมะลิเวียดนาม อีกไม่ช้าหรอก คนไทยก็จะได้กินทุเรียนจีน !
ABOUT THE AUTHOR
ข
ข้าวเปลือก
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2562
คอลัมน์ Online : ประสาใจ