มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์ ฟรังค์ฟวร์ท 2019
มีสี่ห่วง มีดวงดาว มีสีฟ้าขาวของใบพัดเครื่องบิน มีอนาคต มีความหวัง และมีพลังอยู่ล้นเหลือ ทั้งในรถไฟฟ้า และรถไฮบริดชนิดต้องเสียบหากวัดจากปริมาณ IAA (INTERNATIONALE AUTOMOBIL-AUSSTELLUNG) หรือมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งล่าสุดซึ่งมีขึ้นในเยอรมนีระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 12 จนถึงวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2019 คือ สัญญาณในทางลบอีกครั้งหนึ่งของงานแสดงรถยนต์ระดับ “อินเตอร์” เพราะนับจำนวนผู้ผลิต รถยนต์ที่ร่วมอยู่ในงานแล้ว ไม่เพียงแต่ผู้จัดงาน คือ VDA (VERBAND DER AUTOMOBIL-INDUSTRIE) หรือสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนีเท่านั้นที่ยิ้มไม่ออก ทีมงานของ “สื่อสากล” ที่บินไปเยือนงานนี้ และทำข่าวงานนี้อย่างเต็มอัตราศึกดังที่เห็นในภาพ ก็ยังรู้สึกห่อเหี่ยว และใจหาย เนื่องจากเป็นงานในเยอรมนี ผู้ผลิตรถยนต์เยอรมันจึงจับจองพื้นที่ในงานนี้อย่างพร้อมหน้า คือ มีครบทั้ง เอาดี (AUDI) บีเอมดับเบิลยู (BMW) เมร์เซเดส-เบนซ์ (MERCEDES-BENZ) โอเพล (OPEL) โพร์เช (PORSCHE) และ โฟล์คสวาเกน (VOLKSWAGEN) แต่ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ แทบทุกรายล้วนลดพื้นที่ลงมาก ตัวอย่าง คือ เจ้าของเครื่องหมายการค้า “ใบพัดเครื่องบิน” ซึ่งลดลงครึ่งหนึ่ง ที่หายหน้าหายตากันไปเกือบทั้งหมด คือ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอื่นๆ กล่าวคือ ค่ายฝรั่งเศสเหลืออยู่เพียงเจ้าเดียว คือ เรอโนลต์ (RENAULT) ค่ายอังกฤษเห็นแต่ แจกวาร์ แลนด์ โรเวอร์ (JAGUAR LAND ROVER) กับ มีนี (MINI) ค่ายอิตาลีสูญพันธุ์ไปทั้งหมดยกเว้น ลัมโบร์กินี (LAMBORGHINI) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในสังกัดของยักษ์ใหญ่ โฟล์คสวาเกน ค่ายเกาหลีก็มีแต่ ฮันเด (HYUNDAI) ไม่มี เกีย (KIA) ที่น่าตกใจ และไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเป็นก็คือ ค่ายญี่ปุ่น ที่เหลือ ฮอนดา (HONDA) อยู่เจ้าเดียว ในยามรุ่งเรืองสุดๆ มหกรรมยานยนต์รายการนี้ใช้อาคารแสดงรถยนต์มากมายถึง 10 อาคาร แถมมีพื้นที่นอกอาคารอีกต่างหาก แต่ครั้งนี้มีอยู่เพียง 6 อาคารเท่านั้นเองที่ใช้งาน แถมบางอาคาร คือ อาคาร 9 มีผู้ผลิตรถยนต์อยู่เพียงรายเดียว คือ GREAT WALL MOTOR ของสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่เมื่อใช้คุณภาพไม่ใช่ปริมาณเป็นเกณฑ์ตัดสิน ก็ยืนยันได้อย่างมั่นอกมั่นใจว่ามหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งล่าสุดนี้ไม่ได้ลดน้อยถอยความยิ่งใหญ่อย่างใดเลย มีกี่งานกันในโลกแสนวุ่นวายใบนี้ ? ที่ผู้คนมีโอกาส “ครั้งแรกในชีวิต” ได้สัมผัสรถแนวคิดพลังไฟฟ้าที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่าง เอาดี เอไอ: ทเรล (AUDI AI:TRAIL) ของค่าย “สี่ห่วง” เมร์เซเดส-เบนซ์ วิชัน อีคิวเอส (MERCEDES-BENZ VISION EQS) ของค่าย “ดาวสามแฉก” และฮันเด 45 (HYUNDAI 45) ของยักษ์ใหญ่เมืองโสม มีงานไหนบ้างที่มีการอวดตัวรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ มากมายหลายแบบเหมือนงานนี้ ? คือ มีทั้ง โพร์เช ไทย์คาน (PORSCHE TAYCAN) โฟล์คสวาเกน ไอดี:3 (VOLKSWAGEN ID:3) โอเพล โคร์ซา อี (OPEL CORSA E) เมร์เซเดส-เบนซ์ อีคิววี (MERCEDES-BENZ EQV) มีนี อีเลคทริค (MINI ELECTRIC) เซอัต ซิทีโก ไอวี (SEAT CITIGO IV) และฮอนดา อี (HONDA E) หน้าตา และเรื่องราวของรถบรรดานี้ บรรจุไว้เรียบร้อยแล้วใน 14 หน้ากระดาษถัดไป
AUDI AI: TRAIL
ยกตำแหน่งรถดึงดูดสายตา และความสนใจได้มากที่สุดให้เลยโดยไม่ลังเล คือ เอาดี เอไอ: ทเรล (AUDI AI:TRAIL) ซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นลำดับที่ 4 และลำดับสุดท้ายของรถแนวคิดรหัส AI ถัดจากรถ AUDI AICON-AUDI AI:RACE-AUDI AI:ME และเป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ เอสยูวี หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งสุดไฮเทค ซึ่งออกแบบ/พัฒนาเพื่อให้เป็นรถที่แบ่งกันใช้อย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า SHARED MOTORING และเป็นแนวโน้มของการใช้รถในอนาคต ตัวถังยาว 4.150 มม. กว้าง 2.150 มม. และสูง 1.670 มม. ติดตั้งล้อขนาดโต 22 นิ้ว และมีช่องว่างใต้พื้นรถสูง 34 ซม. รถจึงวิ่งลุยน้ำได้ลึกกว่าครึ่งเมตร ติดตั้งระบบวิ่งได้โดยไร้ผู้ขับ และระบบขับเคลื่อนทุกล้อถาวรด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 4 ชุด แต่ละชุดขับล้อแต่ละล้อ สามารถทำความเร็วสูงสุด 130 กม./ชม. ชาร์จไฟเต็มแต่ละครั้งจะวิ่งบนถนนได้ไกลถึง 400 กม. และลดเหลือ 250 กม. เมื่อวิ่งลุยแบบ “ออฟโรด”AUDI A5 CABRIOLET
ค่าย “สี่ห่วง” นำรถตลาดรุ่นใหม่ๆ ออกอวดตัวในงานนี้หลายรุ่น เอาดี เอ 5 (AUDI A5) ที่เลือกมาบรรจุไว้ในรายงานนี้ เป็นรถเก๋งขนาดกะทัดรัดที่มีตัวถังให้เลือกรวม 3 แบบ คือ ตัวถังแฮทช์แบค ตัวถังคูเป และตัวถังเปิดประทุนอย่างที่เห็นในภาพ ไม่ใช่รถรุ่นใหม่แท้ แต่เป็นรถรุ่นที่ 2 ซึ่งเริ่มการจำหน่ายเมื่อปี 2016 และเพิ่งได้รับการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ “ยกหน้า” เป็นครั้งแรก จุดเปลี่ยนแปลงจุดสำคัญในรถรุ่นใหม่นี้ คือ การนำระบบขับไฮบริดแบบอ่อนซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า MILD HYBRID SYSTEM หรือ MHEV มาใช้เป็นครั้งแรกในรถอนุกรมนี้ เป็นระบบขับซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของผู้ผลิต รถยนต์หลายรายทั้งในยุโรป และในญี่ปุ่น เพราะทำให้เครื่องยนต์ทำงานดีขึ้น และประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงยิ่งขึ้น อีกจุดหนึ่ง คือ เทคโนโลยีการสื่อสารเชื่อมต่อ และระบบช่วยขับสารพัดสารพันที่ทำให้การขับ และการโดยสารไปในรถอนุกรมนี้เป็นไปได้อย่างรื่นรมย์ สะดวกสบาย และปลอดภัยกว่าเดิมVOLKSWAGEN E-UP!
ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์มีผลงานใหม่ที่สมควรกล่าวถึง 2 ชิ้น ชิ้นแรก คือรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ ติดป้ายชื่อ โฟล์คสวาเกน อี-อัพ ! (VOLKSWAGEN E-UP!) ซึ่งเห็นหน้าตาแล้วหลายท่านอาจรู้สึกคุ้นๆ ก็สมควรคุ้นอยู่หรอกเพราะรถชื่อนี้ และหน้าตาอย่างนี้มีขายในยุโรปมาแล้วตั้งแต่ปี 2013 ที่กลายเป็นรถใหม่ก็เนื่องจากเพิ่งได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เป็นครั้งที่ 2 และอวดตัวต่อสายตาสาธารณชนแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ จุดหมายหลักของการปรับปรุงที่ว่าก็เพื่อให้รถวิ่งได้ไกลขึ้น โดยเปลี่ยนขนาดความจุของแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ที่ใช้ จากขนาด 18.7 เป็น 32.3 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ หลังการชาร์จไฟแต่ละครั้ง ระยะเดินทางของรถติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 61 กิโลวัตต์/83 แรงม้ารุ่นนี้ จะเพิ่มจาก 160 เป็น 260 กม. เริ่มการจำหน่ายไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน ค่าตัวในเยอรมนีย่อมเยากว่ารถรุ่นเดิม คือ ลดจาก 26,900 เป็น 21,975 ยูโร หรือประมาณ 770,000 บาทVOLKSWAGEN ID:3
เป็นอีกจุดหนึ่งของศูนย์รวมความสนใจ คือ รถพลังไฟฟ้าติดป้ายชื่อ โฟล์คสวาเกน ไอดี:3 (VOLKSWAGEN ID:3) รถตลาดอีกแบบหนึ่งซึ่งอวดตัว “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นรถที่สื่อมวลชนและผู้คนทั่วไปสนใจกันมาก เพราะวิจารณ์กันตั้งแต่ก่อนงานแล้วว่า นี่คือ รถสำคัญที่สุดของ โฟล์คสวาเกน ถัดจากรถ บีเทิล (BEETLE) รุ่นดั้งเดิม และรถ กอล์ฟ (GOLF) ซึ่งรู้จักกันดีทั่วโลก จะเริ่มการจำหน่ายในฤดูร้อนปี 2020 พร้อมกับป้ายค่าตัวที่ผู้ผลิตยืนยันแล้วว่าจะเริ่มต้นต่ำกว่า 30,000 ยูโร หรือประมาณ 1.05 ล้านบาทไทย ตัวถังยาว 4.261 ม. กว้าง 1.809 ม. และสูง 1.552 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธ์แรงต้านอากาศ 0.267 ติดตั้งระบบขับล้อหลังด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรี ซึ่งจะมีให้เลือก 3 ขนาด คือ 45 กิโลวัตต์ชั่วโมง (วิ่งได้ไกล 330 กม.) 58 กิโลวัตต์ชั่วโมง (วิ่งได้ไกล 420 กม.) และ 77 กิโลวัตต์ชั่วโมง (วิ่งได้ไกล 550 กม.)MERCEDES-BENZ VISION EQS
ค่าย “ดาวสามแฉก” ยังยึดครองอาคารหมายเลข 2 ไว้เพียงผู้เดียวเช่นเคย แต่เห็นได้ชัดว่าลดพื้นที่การจัดงานเกือบครึ่ง มีจุดดึงดูดความสนใจอยู่มากมายในบูธของค่ายนี้ จุดสำคัญที่สุดก็คือ รถแนวคิดติดป้ายชื่อ เมร์เซเดส-เบนซ์ วิชัน อีคิวเอส (MERCEDES-BENZ VISION EQS) ซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นแม่แบบของรถพลังไฟฟ้าสุดหรูที่ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดในปี 2021 พร้อมกับป้ายชื่อ MERCEDES-BENZ EQS และจะเป็นรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ แบบที่ 5 ของค่ายถัดจากรถ EQC EQV EQA และ EQB เป็นรถขับเคลื่อนทุกล้อติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ให้กำลังสุทธิสูงสุดประมาณ 350 กิโลวัตต์/476 แรงม้า และป้อนพลังไฟด้วยแบทเตอรี ลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาดใหญ่ และหนักมาก เพราะมีความจุที่สูงถึง 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จไฟเต็มแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลถึง 700 กม. เมื่อวัดตามมาตรฐาน WLTP และสามารถวิ่งได้เร็วกว่า 200 กม./ชม.MERCEDES-BENZ EQV
เป็นผลงานที่เพิ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” เช่นกัน คือ รถตู้อเนกประสงค์พลังไฟฟ้า เมร์เซเดส-เบนซ์ อีคิววี (MERCEDES-BENZ EQV) ซึ่งเคยอวดตัวในรูปลักษณ์ของรถแนวคิดมาก่อนแล้วที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ไม่ใช่รถที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งคัน แต่พัฒนาแตกหน่อต่อยอดจากรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ วี-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ V-CLASS) รุ่นปัจจุบัน ซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2014 โดยเปลี่ยนระบบขับ จากขับด้วยพลังของเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ เป็นระบบขับล้อหน้าซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า ทำงานร่วมกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 90 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งติดตั้งอยู่ใต้พื้นรถ ชาร์จไฟเต็มแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลถึง 405 กม. และทำความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. มีกำหนดออกตลาดในปี 2021 โดยมีตัวถังให้เลือก 2 แบบ คือ ตัวถังยาว 5.140 ม. กับ 5.370 ม.MERCEDES-BENZ GLE COUPE
เปิดตัวผ่านสื่อต่างๆ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ต้องรอจนถึงงานนี้ผู้คนจึงมีโอกาสสัมผัสตัวจริงของรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลอี คูเป (MERCEDES-BENZ GLE COUPE) รุ่นใหม่ ซึ่งนับนิ้วได้ว่าเป็นรถรุ่นที่ 2 อย่างไรก็ตามต้องรอกันอีกหน่อย คือ จนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 2020 นั่นแหละรถรุ่นใหม่นี้จึงจะเริ่มการจำหน่าย เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ระดับหรูขนาดใหญ่ ในตัวถังยาว 4.939 ม. และกว้าง 2.010 ม. ซึ่งติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 2 แถว นั่งได้รวม 5 คน ในระยะแรกจะมีรถให้เลือก 3 โมเดล คือ MERCEDES-BENZ GLE COUPE 350 D 4MATIC (ดีเซล 200 กิโลวัตต์/272 แรงม้า ขับทุกล้อ) MERCEDES-BENZ GLE COUPE 400 D 4MATIC (ดีเซล 243 กิโลวัตต์/330 แรงม้า ขับทุกล้อ) และ MERCEDES-AMG GLE COUPE 53 4MATIC+ (ไมล์ด์ไฮบริด เบนซิน 320 กิโลวัตต์/435 แรงม้า+มอเตอร์ไฟฟ้า ขับทุกล้อ) ทั้งหมดเป็นรถผลิตที่รัฐอลาบามาในสหรัฐอเมริกาMERCEDES-BENZ GLB
เปิดตัวทั้งในเมืองเบียร์ และเมืองมะกันเมื่อต้นเดือนมิถุนายน แต่ทีมงานของเราเพิ่งมีโอกาสสัมผัสตัวจริงเสียงไม่จริงเป็นครั้งแรกที่งานนี้ คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลบี (MERCEDES-BENZ GLB) รถอนุกรมใหม่ของค่าย “ดาวสามแฉก” เป็น COMPACT LUXURY CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ระดับหรูขนาดกะทัดรัดที่พัฒนาต่อกิ่งต่อยอดมาอีกทอดหนึ่งจากรถอเนกประสงค์ เมร์เซเดส-เบนซ์ บี-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ B-CLASS) รุ่นปัจจุบัน ซึ่งเพิ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อเดือนธันวาคม 2018 ตัวถังซึ่งยาว 4.634 ม. กว้าง 1.834 ม. และสูง 1.658 ม. มีให้เลือกทั้งแบบติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 2 แถว นั่งได้รวม 5 คน และเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว นั่งได้รวม 7 คน คันที่เห็นในภาพ คือ รถโมเดลหัวกะทิ MERCEDES-BENZ GLB 250 4MATIC เป็นรถขับทุกล้อ ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,991 ซีซี 165 กิโลวัตต์/224 แรงม้า และติดป้ายค่าตัว 44,857 ยูโรMERCEDES-BENZ A 250 E
รถอีกแบบหนึ่งซึ่งเปิดตัวผ่านสื่อต่างๆ มาก่อนแล้ว แต่สาธารณชนเพิ่งมีโอกาสสัมผัสตัวจริงซึ่งปลอดเสียงเป็นครั้งแรกที่งานนี้ คือ รถไฮบริดติดโลโก “ดาวสามแฉก” และติดป้ายชื่อ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอ 250 อี (MERCEDES-BENZ A 250 E) ซึ่งมีให้เลือกทั้งตัวถัง 5 ประตูแฮทช์แบค อย่างที่เห็นในภาพ และตัวถัง 4 ประตูซีดาน ที่ไม่เห็น ทั้ง 2 ตัวถังติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ หรือ PLUG-IN HYBRID ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบเรียง 1,332 ซีซี 118 กิโลวัตต์/160 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 75 กิโลวัตต์/102 แรงม้า แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 15.6 กิโลวัตต์ชั่วโมง และระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 8 จังหวะ ได้กำลังสุทธิสูงสุด 160 กิโลวัตต์/218 แรงม้า สามารถเดินทางด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกล 60-69 กม. เมื่อวัดตามมาตรฐาน WLTP และทำความเร็วสูงสุด 140 กม./ชม. ค่าตัวรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19 เริ่มต้นที่ 36,944 ยูโรMINI ELECTRIC
เป็นรถอีกแบบหนึ่งซึ่งเปิดตัวไปก่อนแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2019 แต่ทีมงานของเราเพิ่งมีโอกาสสัมผัสตัวจริงเป็นครั้งแรกที่งานนี้ คือ รถพลังไฟฟ้าสายเลือดวิสกีผสมเบียร์ ซึ่งในอังกฤษจะใช้ชื่อ มีนี อีเลคทริค (MINI ELECTRIC) แต่ในประเทศอื่นๆ รวมทั้งในเยอรมนีกลับติดป้ายชื่อ มีมี คูเพอร์ เอส อี (MINI COOPER S E) เป็นรถซึ่งต้องรอกันนานหน่อย คือ จนถึงเดือนมีนาคม 2020 นั่นแหละจึงจะเริ่มการจำหน่ายทั่วโลก ราคารวมภาษีค่าจดทะเบียน และหักเงินอุดหนุนของรัฐออกแล้วของรถที่ขายในอังกฤษ จะเริ่มต้นที่ 24,400 ปอนด์ หรือประมาณ 970,000 บาทไทย ที่น่าประหลาดใจมากก็คือ ราคานี้ต่ำกว่ารถ มีนี คูเพอร์ เอส (MINI COOPER S) ที่ใช้เชื้อเพลิงเบนซินด้วยซ้ำ เป็นรถขับล้อหน้าด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 135 กิโลวัตต์/184 แรงม้า ซึ่งรับพลังไฟจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ขนาด 32.6 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จไฟเต็มแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกล 200-232 กม. เมื่อวัดตามมาตรฐาน WLTPBMW CONCEPT 4
เจ้าของเครื่องหมายการค้า “ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว” ซึ่งพื้นที่จัดงานหดเหลือแค่ครึ่งเดียว อวดผลงานใหม่หลายชิ้นทั้งรถแนวคิด และรถตลาด คันที่เรียกความสนใจจากสื่อมวลชน และผู้คนได้มากที่สุด คือ รถคูเปติดป้ายชื่อ บีเอมดับเบิลยู คอนเซพท์ 4 (BMW CONCEPT 4) ซึ่งก็เป็นรถอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นแม่แบบของรถ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-4 คูเป (BMW 4-SERIES COUPE) ที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดตอนปลายปี 2020 หน้าตาตัวถังดูแปลกไปจากรถทุกรุ่น ทุกแบบที่ค่ายนี้เคยผลิตขาย จุดสำคัญที่วิจารณ์กันมากในยุโรปก็คือ แผงกระจังหน้ารูปไตคู่ขนาดใหญ่โตมโหฬาร และดูอวบอ้วนกวนสายตา กับดวงโคมไฟหน้าแบบแอลอีดีที่เห็นได้ชัดว่าเรียวบางกว่าปกติ และไม่เคยเห็นกันมาก่อนในรถแบบใดของค่ายนี้ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน เมื่อมองจากด้านข้างตรงๆ ลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัด คือ ช่วงล้อที่ค่อนข้างยาว และช่วงยื่นหน้ายื่นหลังที่สั้นมากBMW I HYDROGEN NEXT
ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งของค่าย “ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว” ซึ่งดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชน และผู้คนได้มาก คือ รถติดป้ายชื่อ บีเอมดับเบิลยู ไอ ไฮโดรเจน เนกซ์ท์ (BMW I HYDROGEN NEXT) ซึ่งก็เป็นรถใหม่อีกคันหนึ่งที่ปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นผลงานจากความร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ โตโยตา (TOYOTA) และเป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถไฟฟ้า ติดตั้ง HYDROGEN FUEL-CELL-ELECTRIC DRIVE SYSTEM หรือระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างแกสไฮโดรเจน และออกซิเจนในเซลล์เชื้อเพลิง ตัวถังได้ทำขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่ขอหยิบขอยืมตัวถังทั้งคันจากรถตลาด บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 5 (BMW X5) รุ่นปัจจุบัน และปรับเปลี่ยนรายละเอียดเพียงเล็กน้อยในบางจุด ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลทางเทคนิคใดๆ ทราบกันแต่เพียงว่า ยอดผู้ผลิตรถหรูของเมืองเบียร์ตั้งใจจะพัฒนารถแบบนี้ และเริ่มการผลิตจำนวนจำกัดในปี 2022 ก่อนจะเริ่มการผลิตอย่างเต็มพิกัดในปี 2025PORSCHE TAYCAN
ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทของเมืองเบียร์นำรถไฮบริด และรถพลังไฟฟ้าออกแสดงในงานนี้เป็นกองทัพ แต่คันที่เรียกความสนใจได้อึงคะนึงที่สุดจะเป็นคันไหนไม่ได้หากไม่ใช่คันที่ติดป้ายชื่อ โพร์เช ไทย์คาน (PORSCHE TAYCAN) เป็นข่าวมานมนาน แต่เพิ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ ผู้สื่อข่าว และผู้คนทั่วไปจึงจับจ้องมองเมียงกันมาก เพราะนี่ คือ รถเก๋งซีดาน หรือรถสปอร์ท 4 ประตู แบบแรกของค่ายนี้ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ เป็นรถที่จะเป็นได้ทั้งรถขับทุกล้อ รถขับล้อหลัง หรือรถขับล้อหน้าในรถคันเดียว ขึ้นอยู่กับโหมดการขับที่ใช้ จะมีรถให้เลือก 2 โมเดล คือ PORSCHE TAYCAN TURBO กับ PORSCHE TAYCAN TURBO S ทั้งคู่มีตัวถังยาว 4.963 ม. และกว้าง 1.966 ม. ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ให้กำลังสูงสุด 460 กิโลวัตต์/625 แรงม้า และแบทเตอรีขนาด 93.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง รายละเอียดมากกว่านี้โปรดติดตามอ่านใน “ระเบียงรถใหม่”PORSCHE 911 CARRERA/911 CARRERA 4
ช่วงปลายปีหมาน้อยต่อต้นปีหมูทองยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทของเมืองเบียร์นำรถ โพร์เช 911 (PORSCHE 911) รุ่นใหม่ซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 8 ออกอวดตัวตามงานต่างๆ รวม 4 โมเดล คือ รถคูเป PORSCHE 911 CARRERA S และ PORSCHE 911 CARRERA 4S กับรถเปิดประทุน PORSCHE 911 CARRERA S CABRIOLET และ PORSCHE 911 CARRERA 4S CABRIOLET งานนี้มีการเติมเต็มให้แก่ยอดรถสปอร์ทรุ่นดังกล่าว โดยการปรากฏตัวของรถอีก 4 โมเดล คือ รถคูเป PORSCHE 911 CARRERA และ PORSCHE 911 CARRERA 4 กับรถเปิดประทุน PORSCHE 911 CARRERA CABRIOLET และ PORSCHE 911 CARRERA 4 CABRIOLET คันที่เห็นในภาพซึ่งเป็นรถโมเดลพื้นฐาน คือ รถคูเป PORSCHE 911 CARRERA ค่าตัวรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19 ในเยอรมนี เริ่มต้นที่ 104,655 ยูโร รถโมเดลนี้ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดตรง 6 สูบนอนยัน 2,981 ซีซี 283 กิโลวัตต์/385 แรงม้าPORSCHE CAYENNE TURBO S E-HYBRID COUPE
มีรถ โพร์เช ไฮบริดถึง 3 โมเดล ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกที่งานนี้ คือ รถ PORSCHE CAYENNE E-HYBRID COUPE รถ PORSCHE CAYENNE TURBO S E-HYBRID COUPE และรถ PORSCHE CAYENNE TURBO S E-HYBRID เลือกมาให้ชมเป็นตัวอย่าง 1 โมเดล คือ โมเดลสุดท้ายซึ่งเป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งที่แพงที่สุด แรงที่สุด และเร็วที่สุดของ โพร์เช ขณะนี้ ในเยอรมนีราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19 ของรถโมเดลนี้เริ่มต้นที่ 176,293 ยูโร หรือประมาณ 6.17 ล้านบาทไทย เป็นรถแรง และเร็วมากเพราะติดตั้งระบบขับทุกล้อแบบไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ หรือ PLUG-IN HYBRID ซึ่งใช้เครื่องไบเทอร์โบเบนซินฉีดตรง DOHC วี 8 สูบ 3,996 ซีซี 550 กิโลวัตต์/680 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า 136 กิโลวัตต์/185 แรงม้า ได้กำลังสุทธิสูงสุด 500 กิโลวัตต์/680 แรงม้า อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 3.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 295 กม./ชม. และวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกล 40 กม.OPEL CORSA E
สื่อมวลชน และผู้คนทั่วไปสนใจกันมากเช่นกัน คือ รถพลังไฟฟ้า โอเพล โคร์ซา-อี (OPEL CORSA-E) ที่เปิดตัวผ่านสื่อต่างๆ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ทีมงานของเราเพิ่งมีโอกาสสัมผัสเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัด โอเพล โคร์ซา (OPEL CORSA) รุ่นใหม่ (รุ่นที่ 6) ซึ่งกำลังจะออกจำหน่ายในฐานะรถรุ่นปี 2020 โดยมีรถให้เลือกอย่างหลากหลายถึง 16 โมเดล เป็นรถขับล้อหน้าด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 100 กิโลวัตต์/136 แรงม้า ทำงานร่วมกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีโหมดการขับ 3 แบบ คือ NORMAL-ECO (เพิ่มระยะทาง)-SPORT (เพิ่มไดนามิคการขับขี่) สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 8.1 วินาที และชาร์จไฟเต็มแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกล 330 กม. เมื่อวัดตามมาตรฐาน WLTP ค่าตัวรวมภาษีมูลค่าเพิ่มในเยอรมนีเริ่มต้นที่ 29,900 ยูโร หรือประมาณ 1.05 ล้านบาทไทยSKODA CITIGO IV
เปิดตัวที่แหล่งกำเนิด คือ โรงงานซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบราติสลาวา (BRATISLAVA) นครหลวงของประเทศสโลวาเกีย เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2019 และทีมงานของเพิ่งมีโอกาสสัมผัสตัวจริงเสียงไม่จริงเป็นครั้งแรกที่งานนี้เช่นกัน คือ รถเก๋งแฮทช์แบคขนาดซูเพอร์มีนีติดป้ายชื่อ สโกดา ซิทีโก ไอวี (SKODA CITIGO IV) รถพลังไฟฟ้าล้วนๆ แบบแรกในประวัติศาสตร์ของผู้ผลิตรถยนต์แห่งสาธารณรัฐเชคที่ประกอบธุรกิจมายาวนานกว่า 12 ทศวรรษ และขณะนี้เป็นผู้ผลิตรถยนต์ในร่มเงาของยักษ์ใหญ่ โฟล์คสวาเกน (VOLKSWAGEN) ไม่ได้ทำขึ้นใหม่ทั้งคัน แต่พัฒนาจากรถ สโกดา ซิทีโก (SKODA CITIGO) ซึ่งอยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี 2011 ตัวถังยาว 3.597 ม. กว้าง 1.645 ม. และสูง 1.481 ม. ติดตั้งระบบขับล้อหน้าซี่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 61 กิโลวัตต์/83 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ขนาดความจุ 36.8 กิโลวัตต์ ซึ่งชาร์จไฟเต็มแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกล 265 กม. เมื่อวัดตามมาตรฐาน WLTPLAMBORGHINI SIAN
แต่งแต้มสีสัน และเพิ่มคุณค่าให้แก่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งนี้ได้อย่างเยี่ยมยอด คือ รถสปอร์ท “ซูเพอร์คาร์” ติดป้ายชื่อ ลัมโบร์กินี ซีอัน (LAMBORGHINI SIAN) รถตลาดอีกแบบหนึ่งซึ่งปรากฏตัวที่งานนี้แบบ “ครั้งแรกในโลก” เป็นรถไฮบริดแบบแรกในประวัติศาสตร์ของค่าย “กระทิงดุ” รวมทั้งเป็นรถแรงที่สุด และเร็วที่สุดที่ค่ายนี้เคยผลิต ออกแบบ/พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเป็นที่ระลึกถึงปี 1963 อันเป็นปีแห่งการก่อตั้ง จึงจะจำกัดจำนวนผลิตไว้เพียง 63 คัน และขณะนี้ทุกคันมีผู้ซื้อหมดแล้ว แม้ว่ามีค่าตัวยังไม่รวมภาษีที่สูงลิบลิ่ว คือ สูงกว่า 2 ล้านยูโร หรือเท่ากับประมาณ 70 ล้านบาทไทย เป็นรถไฮบริดชนิดไม่ต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซิน DOHC วี 12 สูบ 60 องศา 6,498 ซีซี 577 กิโลวัตต์/785 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 25 กิโลวัตต์/34 แรงม้า ได้กำลังสุทธิสูงสุด 602 กิโลวัตต์/819 แรงม้า รายละเอียดโปรดติดตามใน “ระเบียงรถใหม่” เช่นกันFORD PUMA ECOBOOST HYBRID
เจ้าของเครื่องหมายการค้า “วงรีสีฟ้า” ซึ่งกำลังมือไม่ว่างกับการออกแบบ/พัฒนา ELECTRIFIED VEHICLE ซึ่งอธิบายความหมายได้ว่า คือ รถที่ใช้พลังไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดของกำลังขับเคลื่อนนั่นเอง นำรถไฮบริดทั้งชนิดต้องเสียบ และชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊ก ออกอวดตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” หลายแบบหลายรุ่น และเกือบทั้งหมดเชื่อว่าคงไม่มีโอกาสเข้ามาขายบ้านเรา เลือกมาให้ชมเพียง 1 แบบ คือ รถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัดติดป้ายชื่อ ฟอร์ด พูมา อีโคบูสต์ ไฮบริด (FORD PUMA ECOBOOST HYBRID) ซึ่งเป็นรถผลิตในโรมาเนีย รถใหม่รุ่นนี้ติดตั้งระบบขับ MILD-HYBRID หรือไฮบริดแบบอ่อนๆ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 3 สูบเรียง ความจุ 1.0 ลิตร ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็กซึ่งทำหน้าที่เป็น STARTER/GENERATOR คือ ทั้งสตาร์ทเครื่องยนต์ และปั่นไฟเข้าแบทเตอรี ได้กำลังสุทธิสูงสุด 114 กิโลวัตต์/155 แรงม้าRENAULT CAPTUR
เพราะเป็นผู้นำของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัดในยุโรป และรถรุ่นแรกขายใน 90 ประเทศทั่วโลกไปแล้วถึง 1.5 ล้านคันนับแต่เริ่มออกตลาดเมื่อปี 2013 การปรากฏตัวให้เห็นเป็นครั้งแรกที่งานนี้ของรถ เรอโนลต์ กัปตือร์ (RENAULT CAPTUR) รุ่นที่ 2 จึงเรียกความสนใจจากบรรดา สื่อมวลชนได้อย่างดี มีตัวถังยาว 4.228 ม. กว้าง 1.797 ม. และสูง 1.566 ม. คือ ยาวขึ้นถึง 10.6 ซม. กว้างขึ้น 1.90 ม. และสูงเท่ากันพอดิบพอดีเมื่อเทียบกับตัวถังของรถรุ่นแรก รูปทรงองค์เอวตัวถังไม่มีจุดเด่นอะไรที่สมควรกล่าวถึง แต่หน้าตาดูดีขึ้น จะเริ่มการจำหน่ายก่อนสิ้นปีหมูทองร้องโอ้กนี้ และจะมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้อย่างหลากหลาย ทั้งเครื่องเบนซินขนาด 100-150 แรงม้า เครื่องดีเซล 95-115 แรงม้า และระบบขับไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ นอกจากที่เมืองวัลลาโดลิด (VALLADOLID) ในสเปนเหมือนรถรุ่นก่อน ยังจะมีการผลิตรถรุ่นนี้ในสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยSEAT TARRACO FR PHEV
เชื่อกันว่า รถไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบ คือ การเติมช่องว่างก่อนเข้าสู่ยุคแห่งรถพลังไฟฟ้าที่แท้จริง ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้จึงมีรถไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟสารพัดรุ่นสารพัดยี่ห้อทยอยกันออกตลาดอยู่บ่อยๆ ในงานนี้ก็มีให้เห็นมากมาย รถติดป้ายชื่อ เซอัต ตาร์ราโก เอฟอาร์ พีเอชอีวี (SEAT TARRACO FR PHEV) ที่กำลังอวดโฉมอยู่ขณะนี้ก็เช่นกัน เป็นโมเดลใหม่โมเดลหนึ่งในบรรดาหลายโมเดลของ เซอัต ตาร์ราโก (SEAT TARRACO) รถ เอสยูวี อนุกรมใหม่ล่าสุด และขนาดใหญ่ที่สุดของผู้ผลิตรถยนต์เมืองกระทิงดุที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปี 2018 รถใหม่โมเดลนี้ติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดต้องเสียบ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดตรง 4 สูบเรียง 110 กิโลวัตต์/150 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 85 กิโลวัตต์/116 แรงม้า และแบทเตอรีขนาด 13 กิโลวัตต์ชั่วโมง ได้กำลังสุทธิสูงสุด 180 กิโลวัตต์/245 แรงม้า สามารถวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกล 50 กม.CUPRA TAVASCAN
อีกคันหนึ่งที่ปรากฏตัวต่อสายตาผู้คนแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ หลังจากเปิดตัวผ่านสื่อต่างๆ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม คือ รถติดป้ายชื่อ คูปรา ตาวาสกัน (CUPRA TAVASCAN) ซึ่งเป็นจุดโฟคัสความสนใจในบูธของรถยี่ห้อ คูปรา (CUPRA) ที่เพิ่งแยกตัวเป็นเอกเทศจากรถยี่ห้อ เซอัต (SEAT) ทำนองเดียวกันกับรถ เดแอส (DS) แยกตัวจาก ซีตรอง (CITROEN) และรถ โพลสตาร์ (POLESTAR) แยกตัวจาก โวลโว (VOLVO) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งได้ชื่อตามชื่อเมืองสกีของสเปนซึ่งอยู่ใกล้ผสมแดนฝรั่งเศส และผู้ผลิตเอ่ยอ้างว่ารูปทรงองค์เอวตัวถัง คือ การรวมบุคลิกของรถกิจกรรมกลางแจ้ง และความเรียวบางของรถสปอร์ทคูเปเข้าไว้ด้วยกัน ติดตั้งระบบขับทุกล้อซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 77 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเป็นแบทเตอรีขนาดใหญ่ที่สุดของรถ โฟล์คสวาเกน ไอดี:3 (VOLKSWAGEN ID:3) ชาร์จไฟเต็มแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกล 450 กม.LAND ROVER DEFENDER
รถแบบสำคัญอีกแบบหนึ่งที่ช่วยเพิ่มเติมสีสัน และคุณค่าแก่งานแสดงรถยนต์งานนี้ คือ รถกิจกรรมกลางแจ้ง แลนด์ โรเวอร์ ดีเฟนเดอร์ (LAND ROVER DEFENDER) รุ่นใหม่ ซึ่งได้ฤกษ์การปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” หลังจากเป็นข่าวมานมนาน และต่อเนื่อง เป็นข่าวจริงบ้างข่าวไม่จริงบ้างปะปนกันไป จะมีระบบขับให้เลือกถึง 4 แบบ คือ ด้วยพลังของเครื่องยนต์เบนซิน ด้วยพลังของเครื่องยนต์ดีเซล ด้วยระบบขับไฮบริดแบบอ่อน (MILD-HYBRID) และด้วยระบบขับไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊ก (PLUG-IN HYBRID) ส่วนตัวถังที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด และหน้าตาเหมือนมาจากดาวต่างดวงกับรถรุ่นเดิมมี 2 แบบ คือ ตัวถัง 3 ประตู 5 ที่นั่ง ยาว 4.323 ม. ซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า DEFENDER 90 และค่าตัวยังไม่รวมภาษีในอังกฤษเริ่มต้นที่ 40,000 ปอนด์ กับตัวถัง 5 ประตู 5+2 ที่นั่ง ยาว 4.758 ม. ซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า DEFENDER 110 และค่าตัวเริ่มต้นที่ 45,240 ปอนด์ ข้อมูลมากกว่านี้โปรดติดตามใน “ระเบียงรถใหม่”HONDA E
ปรากฏตัวในยุโรปครั้งล่าสุดที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวา เมื่อเดือนมีนาคม 2019 พร้อมกับป้ายชื่อ ฮอนดา อี พโรโทไทพ์ (HONDA E PROTOTYPE) ซึ่งบ่งบอกว่ายังเป็นเพียงรถต้นแบบ ที่งานนี้รถพลังไฟฟ้าของยักษ์รองเมืองยุ่นปรากฏตัวให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้อยู่ในรูปลักษณ์ของรถตลาดสมบูรณ์แบบ และติดป้ายชื่อ ฮอนดา อี (HONDA E) เริ่มเปิดรับการสั่งจองแล้ว และยืนยันว่าจะเริ่มการส่งมอบรถในฤดูร้อนของปี 2020 จะมีระบบขับล้อหลังด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ให้เลือก 2 แบบ คือ แบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 100 กิโลวัตต์/136 แรงม้า ซึ่งค่าตัวในเยอรมนีเมื่อหักเงินอุดหนุนของรัฐแล้วเริ่มต้นที่ 29,470 ยูโร กับแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 113 กิโลวัตต์/154 แรงม้า ซึ่งแพงกว่ากันนิดหน่อย คือ เริ่มต้นที่ 32,470 ยูโร ทั้ง 2 แบบติดตั้งแบทเตอรีขนาดเดียวกัน คือ 35.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งการชาร์จไฟร้อยละ 80 ใช้เวลาเพียง 30 นาที และหลังการชาร์จไฟเต็มแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลกว่า 200 กม.HYUNDAI 45
รถแนวคิดสายเลือดโสมซึ่งปรากฏตัวให้เห็นแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้มีอยู่คันเดียว คือ ฮันเด 45 (HYUNDAI 45) ซึ่งเป็นนางกวักเรียกผู้คนในบูธของยักษ์ใหญ่เมืองกิมจิ ชื่อรถ 45 คือ จำนวนปีนับแต่ปี 1974 อันเป็นปีที่ค่ายนี้นำรถแนวคิดผลงานของพระอาจารย์ โจร์เกตโต จูจาโร (GIORGETTO GIUGIARO) แห่งสำนักอิตัลดีไซจ์นออกแสดงเป็นครั้งแรก และรถดังกล่าวเป็นต้นแบบของรถ ฮันเด โพนี (HYUNDAI PONY) ซึ่งเป็นรถตลาดแบบแรกของค่ายนี้ รูปลักษณ์ และรายละเอียดในหลายจุดๆ ทั้งภายนอก และภายในผู้ผลิตก็ยืนยันว่าได้แรงบันดาลใจจากรถแนวคิดที่ว่านี้เช่นกัน นอกจากนั้น 45 ยังเป็นองศามุมเอียงของกระจกหน้า และกระจกหลังของรถแนวคิดคันนี้อีกต่างหาก เป็นรถที่มีจุดสนใจอยู่มากมายในส่วนตัวถัง แต่มีการเปิดเผยข้อมูลด้านระบบขับเพียงเล็กน้อย คือ บอกว่าเป็นรถที่ออกแบบสำหรับ FULLY-ELECTRIC POWERTRAIN คือ ระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆHONGQI S9
ค่าย หงฉี (HONGQI) หรือ “ธงแดง” ผู้ผลิตรถยนต์รายเก่าแก่ที่สุดของเมืองมังกร ซึ่งเริ่มธุรกิจรถยนต์เมื่อปี 1958 และเป็นบริษัทของรัฐบาลจีน ร่วมงานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทเป็นครั้งแรก และกล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก เพราะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนด้วยรถแนวคิดสุดไฮเทค 2 คัน ซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ คือ หงฉี เอส 9 (HONGQI S9) กับ หงฉี อี 115 (HONGQI E115) คันแรกซึ่งดูอลังการกว่า เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทระดับ “ซูเพอร์คาร์” ประตูปีกผีเสื้อ ซึ่งแรง และเร็วสุดๆ เห็นตัวเลขแล้วต้องตั้งคำถามว่าทำได้ยังไง ? คือ สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลาแค่ 1.9 วินาที และทำความเร็วสูงสุด 400 กม./ชม. เพราะติดตั้งระบบขับไฮบริด V8T ที่ค่ายนี้เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ และให้กำลังสูงถึง 1,030 กิโลวัตต์/1,400 แรงม้า เป็นรถที่ผู้ผลิตจีนบอกว่าตั้งใจจะทำขายอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำเพื่ออวดฝีมือ และเทคโนโลยีเหมือนรถแนวคิดบางคันเท่านั้นHONGQI E115
รถแนวคิดอีกคันหนึ่งซึ่งเป็นจุดดึงดูดสายตา และความสนใจในบูธของยักษ์ใหญ่เมืองมังกร คือ รถติดป้ายชื่อ หงฉี อี 115 (HONGQI E115) ซึ่งก็เป็นรถอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ เอสยูวี หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งขับเคลื่อนทุกล้อที่ออกแบบหน้าตาตัวถังได้วิลิศมาหรามาก มีแผงกระจังหน้าดวงโคมไฟหน้า และกันชนหน้าที่ต้องมองอย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะดูพิลึก พิสดาร และไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนในรถแนวคิดคันใด ที่น่าจะทำได้ดีไม่แพ้ตัวถังก็คือ ระบบขับ แต่จนถึงวันที่รายงานนี้ก็ทราบแต่เพียงว่า เป็นรถขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ใช้เวลาไม่ถึง 4 วินาที ในการทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. และชาร์จไฟแบทเตอรีแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลถึง 600 กม. ข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ ซึ่งไม่กล้ายืนยันว่าเป็นจริงหรือไม่ ? คือ สื่อบางรายระบุว่ารถแนวคิดคันนี้มี LEVEL 4 AUTONOMOUS DRIVE ซึ่งเป็นระบบขับด้วยตัวเองเกือบสมบูรณ์แบบติดตั้งอยู่ด้วยBYTON M-BYTE
รถตลาดสายพันธุ์มังกรเพียงแบบเดียวที่เลือกมาบรรจุไว้ในรายงานนี้ คือ บายทัน เอม-ไบท์ (BYTON M-BYTE) ผลงานของบริษัทรถยนต์เกิดใหม่ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองหนานจิง (NANJING) มณฑลเจียงซู มีศูนย์ออกแบบอยู่ในเมืองมิวนิคของเยอรมนี และมีสำนักงานทั้งในกรุงปักกิ่ง ในนครเซี่ยงไฮ้ ในฮ่องกง และที่ซิลิคอนวัลลีย์ (SILICON VALLEY) ในสหรัฐอเมริกา เป็นรถที่ค่ายนี้จะผลิตจำหน่ายเป็นแบบแรก และคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายตอนกลางปี 2020 โดยใช้โรงงานที่สร้างขึ้นใหม่ในเมืองหนานจิงเป็นที่ผลิต งานนี้มีพื้นที่ 800,000 ตารางเมตร และมีกำลังผลิตถึง 300,000 คัน/ปี เป็นรถ เอสยูวี ระดับ “พรีเมียม” ที่ขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ กรณีเป็นรถขับล้อหลังจะติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 200 กิโลวัตต์/272 แรงม้า และชาร์จไฟเต็มแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกล 360 กม. เมื่อวัดตามมาตรฐาน WLTP กรณีเป็นรถขับทุกล้อจะติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 300 กิโลวัตต์/408 แรงม้า และวิ่งได้ไกล 435 กม.WEY S/WEY X
ผู้ผลิตรถยนต์สายพันธุ์มังกรอีกเจ้าหนึ่งที่ช่วยทำให้งานนี้มีพื้นที่ว่างน้อยลง คือ กเรท วอลล์ มอเตอร์ (GREAT WALL MOTOR) ซึ่งไม่เคยร่วมงานนี้มาก่อนเลย ค่ายนี้มีผลงานด้านรถแนวคิด 2 คัน ที่เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนได้ดี คือ เวย์-เอส (WEY-S) กับ เวย์-เอกซ์ (WEY-X) คันแรก (คันขวาในภาพใหญ่ และคันเดียวในภาพเล็กขวาสุด) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งระดับหรู ติดตั้งระบบขับทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ให้กำลังสูงสุด 260 กิโลวัตต์/354 แรงม้า สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลาแค่ 4.9 วินาที และมีระบบขับด้วยตนเอง LEVEL 4 AUTONOMOUS DRIVE ติดตั้งอยู่ด้วย ส่วนคันหลัง (คันซ้ายในภาพใหญ่) เป็นรถพลังไฟฟ้าที่ออกแบบตัวถังโดยได้แรงบันดาลใจจากปีกของอากาศยาน เป็นรถ 4 ที่นั่ง ซึ่งทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลาแค่ 4.5 วินาที ทำความเร็วสูงสุด 200 กม./ชม. และชาร์จไฟเต็มแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลถึง 510 กม.ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา ผู้จัดงานและบริษัทผู้ผลิตนิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2562
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ