รถพลังไฟฟ้าแบบที่ 7 ของค่าย ภายใต้รหัส เซดอีผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสเจ้าของเครื่องหมายการค้า “ข้าวหลามตัด” นับเป็นผู้ผลิตรถยนต์ระดับยักษ์ใหญ่รายแรกๆ ที่เอาจริงเอาจังกับการผลิต และจำหน่ายรถยนต์ซึ่งไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ รถพลังไฟฟ้าล้วนๆ แบบแรกของค่ายนี้มีขายในหลายประเทศของยุโรปตั้งแต่ก่อนเริ่มทศวรรษแห่งปี 2010 คือ ตั้งแต่ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ อีกหลายรายยังไม่คิดจะทำรถพลังไฟฟ้าด้วยซ้ำ ล่าสุด คือ รถจิ๋ว เรอโนลต์ ทวิงโก เซดอี (RENAULT TWINGO ZE) ที่กำลังอวดรูปทรงองค์เอวอยู่นี้ เพิ่งเปิดตัวผ่านสื่อต่างๆ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ต้องรอนานหน่อย คือ จนเกือบสิ้นปีหนูทองร้องเสียงแหบนั่นแหละจึงจะเริ่มการจำหน่าย เป็นผลงานจากความร่วมมือกับค่าย สมาร์ท (SMART) และนับเป็นรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ แบบที่ 7 ของค่ายนี้ ถัดจากรถจักรยาน 4 ล้อ เรอโนลต์ ทวิซี (RENAULT TWIZY) รถเก๋งแฮทช์แบคขนาดซูเพอร์มีนี เรอโนลต์ โซ (RENAULT ZOE) รถตู้ เรอโนลต์ กังกู เซดอี (RENAULT KANGOO ZE) รถตู้ เรอโนลต์ มาสเตอร์ เซดอี (RENAULT MASTER ZE) และรถพลังไฟฟ้าอีก 2 แบบ ที่มีขายเฉพาะในสาธารณรัฐประชาชนจีน และในเกาหลีใต้ ในช่วงเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมนำรถขนาดจิ๋วติดป้ายชื่อ เรอโนลต์ ทวิงโก (RENAULT TWINGO) ออกจำหน่ายแล้วรวม 3 รุ่น คือ รุ่นแรกซึ่งมีแต่รถเบนซินเมื่อปี 1992 รุ่นที่ 2 ซึ่งมีทั้งรถเบนซิน และรถดีเซลเมื่อปี 2007 และล่าสุด คือรุ่นที่ 3 ซึ่งใช้ชิ้นส่วนหลายชิ้นร่วมกันกับรถ สมาร์ท ฟอร์โฟร์ (SMART FORFOUR) ปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 84 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2014 และเริ่มการจำหน่ายในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ทั้ง 3 รุ่นนี้ ล้วนเป็นรถขนาดจิ๋ว อย่างที่เรียกกันในยุโรปว่า A-SEGMENT CAR และเมื่อรวมตัวเลขจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2020 รถ 3 รุ่นนี้ขายใน 25 ประเทศไปแล้วเกือบ 4 ล้านคัน ในระยะแรกรถรุ่นปัจจุบันซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 นี้มีแต่รถเบนซิน และมีเครื่องยนต์ให้เลือก 3 ขนาด คือเครื่อง DOHC 3 สูบเรียง 998 ซีซี 48 กิโลวัตต์/65 แรงม้า หรือ 54 กิโลวัตต์/73 แรงม้า กับเครื่องเทอร์โบ DOHC 3 สูบเรียง 898 ซีซี 68 กิโลวัตต์/92 แรงม้า ส่วนระบบเกียร์เพื่อส่งกำลังสู่ล้อคู่หลังเลือกได้ระหว่างเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ ส่วนรถโมเดลใหม่ล่าสุด คือ เรอโนลต์ ทวิงโก เซดอี (RENAULT TWINGO ZE) ซึ่งมีตัวถังยาว 3.615 ม. กว้าง 1.646 ม. สูง 1.541 ม. และหนักกว่ารถเบนซินประมาณ 150 กก. นี้ เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังถูกยกออกทั้งหมด แล้วแทนที่ด้วยระบบขับล้อหลังซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 60 กิโลวัตต์/82 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 21.3 กิโลวัตต์ชั่วโมง หนัก 165 กก. ซึ่งติดตั้งอยู่ใต้เบาะหน้า อุปกรณ์ป้อนพลังไฟที่ว่านี้เป็นสินค้าของค่าย LG CHEM แห่งเกาหลีใต้ การชาร์จไฟเต็มแต่ละครั้งใช้เวลา 63 นาที ถึง 13 ชั่วโมง 30 นาที ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ และวิธีชาร์จที่ใช้ รวมทั้งมีวิธีเร่งด่วนซึ่งการชาร์จไฟเพื่อให้รถวิ่งได้ไกล 80 กม. จะใช้เวลาเพียง 30 วินาที การชาร์จไฟเต็มแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกล 180 กม. (วัดตามมาตรฐาน WLTP) เมื่ออ้างอิงจากผลการสำรวจซึ่งระบุว่า โดยเฉลี่ยผู้ใช้รถขนาดมีนีในยุโรปจะใช้รถวันละ 30 กม. ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมจึงกล่าวอ้างว่า รถแบบนี้ “ชาร์จไฟครั้งเดียวใช้งานได้ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์” ที่คนอยากใช้รถไฟฟ้าแต่ก็อยากได้รถเร็วด้วย อาจไม่ถูกใจสักเท่าไร ตัวเลขความเร็วทั้งตีนต้นตีนปลาย นั่นคือ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 12.6 วินาที และความเร็วสูงสุดระดับ 135 กม./ชม.