บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแทกซีไทย ทุ่มงบเปิดฐานการผลิตรถยนต์ ASIA CAB (เอเชีย แคบ) “ฟอร์มูลา” สนทนาธุรกิจกับ ผศ. ดร. ศรายุทธ เรืองสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฯฟอร์มูลา : จุดเริ่มต้นของ บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด ? ผศ. ดร. ศรายุทธ : บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด ผู้ผลิตรถแทกซี และดำเนินกิจการให้บริการรถแทกซีได้ร่วมมือกันกับ ZHEJIANG GEELY NEW ENERGY COMMERCIAL VEHICLE ค่ายรถจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งฐานผลิตรถยนต์บแรนด์ CABB รุ่น AS4 (เอเอส 4) ครั้งแรกในไทย ที่โรงงานประกอบรถยนต์ ASIA CAB ณ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เราเช่าโรงงานประกอบรถยนต์ของกลุ่มพระนครยนตรการ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ซึ่งเป็นโรงงานประกอบรถยนต์แทกซี TX4 (ทีเอกซ์ 4) ด้วยความมุ่งมั่น และตั้งใจจริงที่จะยกระดับการบริการรถแทกซีในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น บริษัทฯ ได้วางแผนประกอบ และผลิตรถแทกซี CABB (แคบบ์) เพื่อให้บริการธุรกิจรถแทกซีสาธารณะในไทย ภายใต้งบประมาณการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนในส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์ อู่แทกซี และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าผู้เรียกใช้รถแทกซี CABB ให้ได้รับความสะดวกสบาย และความพึงพอใจสูงสุด ฟอร์มูลา : วางนโยบายไว้อย่างไร ? ผศ. ดร. ศรายุทธ : การร่วมทุนในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกแห่งความภูมิใจของกลุ่ม ซี.เอ.เอส กรุพ (C.A.S. GROUP) และเอเชีย แค็บฯ ที่ก้าวข้ามอุตสาหกรรมที่ท้าทาย ด้วยการก่อตั้งบริษัทขึ้นจากความตั้งใจที่จะร่วมกันพัฒนามาตรฐานรถแทกซีในไทยให้เทียบเท่าระดับสากล โดยการควบคุมคุณภาพ เริ่มตั้งแต่ตัวรถ การออกแบบเพื่อการใช้งาน ผลิตสำหรับรถแทกซีโดยเฉพาะ ไม่ใช่นำรถยนต์ทั่วไปมาทำ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องประกอบรถเองภายใต้บแรนด์ CABB รุ่น AS4 บริษัทฯ มองว่าอุตสาหกรรมรถแทกซียังมีช่องว่างที่สามารถเติบโตได้ไม่ยาก ปัจจุบันมีรถแทกซีถูกกฎหมายอยู่ประมาณ 80,000 คัน และผิดกฎหมายอยู่ 70,000 คัน โดยรวม 150,000 คัน บริษัทฯ สามารถผลิตรถได้เต็มที่ปีละ 3,000 คัน และใช้เวลา 30 ปี กว่าจะสามารถครองตลาดได้ นโยบายหลักของบริษัทฯ ไม่ได้เน้นการแข่งขันกับใคร แต่ต้องการสร้างคุณภาพใหม่ในอุตสาหกรรมรถแทกซี รวมถึงคนขับแทกซีที่ให้บริการด้วยหัวใจ ขณะนี้ เริ่มนำรถออกบริการอย่างต่อเนื่อง ประมาณเดือนละ 100 คัน ฟอร์มูลา : จุดเด่นของ CABB แทกซี คืออะไร ? ผศ. ดร. ศรายุทธ : เอเชีย แค็บฯ เป็นผู้ประกอบการรถแทกซีเพียงแห่งเดียวในโลกที่ทำธุรกิจแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ เริ่มตั้งแต่โรงงานประกอบรถ การอบรมบุคลากร และการพัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นของตัวเอง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้โดยสารมั่นใจในคุณภาพทุกครั้งที่ใช้บริการ จะมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัย สะอาด และสะดวกสบาย ในราคาที่จับต้องได้ รถแทกซี CABB AS4 มีรูปทรงคลาสสิค และเปี่ยมไปด้วยนวัตกรรมอันเป็นเอกลักษณ์จากรถลอนดอนแทกซี รุ่น TX4 ที่เป็นโมเดลต้นแบบ อาทิ ห้องโดยสารกว้างขวาง ขนาด 5 ที่นั่ง แผงกั้นระหว่างคนขับ และห้องโดยสาร พร้อมระบบสื่อสาร INTERCOM เสริมราวจับสำหรับผู้สูงอายุ และทางลาดสำหรับรถเข็น ปุ่ม SOS ในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ด้วยจุดชาร์จ USB และ WI-FI ตลอดการเดินทาง นอกจากนี้ ลูกค้ายังมั่นใจได้ว่า พนักงานขับรถแทกซี CABB ทุกคน ทุกคัน ผ่านมาตรฐานการคัดเลือกของบริษัทฯ ทั้งการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ การให้บริการ และที่สำคัญ คือ พนักงานขับรถทุกคนจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพ 13 รายการ และมีการวัดไข้ทุกเช้าก่อนออกให้บริการ พร้อมพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อภายในรถ และจุดสัมผัสต่างๆ ด้วย จึงมั่นใจได้ว่าการใช้บริการรถแทกซี CABB จะได้รับความปลอดภัย และปราศจากเชื้อโรค นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาระบบไอที และแอพพลิเคชัน เพื่อให้บริการได้สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงทุกพื้นที่ เป็นมิตรแก่ผู้ใช้งาน และตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้เหนือกว่ารถบริการสาธารณะทั่วไป ฟอร์มูลา : มีจุดให้บริการที่ใดบ้าง ? ผศ. ดร. ศรายุทธ : ศูนย์การค้าสยามพารากอน ไอคอนสยาม เธอะ มอลล์ ธิ เอมโพเรียม และโรงพยาบาลต่างๆ รวมแล้วประมาณ 10 จุด และจะขยายจุดให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมประมาณ 50 จุด โดยจะมีรถแทกซี CABB ให้บริการ 1,000 คัน ฟอร์มูลา : ค่าบริการเริ่มต้นเท่าไร ? ผศ. ดร. ศรายุทธ : 60 บาท จากนั้นก็จะคิดค่าบริการตามระยะทางจริง ซึ่งไม่แตกต่างจากบริการของรถแทกซีทั่วไป ผู้โดยสารสามารถเรียกใช้บริการผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ แอพพลิเคชัน “CABB” จุดจอดแทกซี ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และคอลล์เซนเตอร์ โทร. 0-2026-8888 ฟอร์มูลา : มีแผนที่จะผลิตรถออกมาจำหน่ายหรือไม่ ? ผศ. ดร. ศรายุทธ : ด้วยรูปลักษณ์ของรถแทกซี CABB มีคนจำนวนมากที่สนใจจะซื้อ แต่บริษัทฯ ไม่มีนโยบายผลิตรถเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด ฟอร์มูลา : แผนระยะยาววางไว้อย่างไร ? ผศ. ดร. ศรายุทธ : หลังจากประสบความสำเร็จเรื่องจำนวนรถแทกซี บริษัทฯ มองถึงการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งหากมีสถาบันที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของระบบขนส่งจะทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาบริหารจัดการที่ดีขึ้น เพราะปัจจุบันระบบขนส่งต่างๆ ในไทย ส่วนใหญ่จะเป็นของบริษัทต่างประเทศเข้ามาบริหารทั้งหมด ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ แต่ถ้าคนไทยมีความรู้เรื่องการบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะ ก็สามารถพัฒนาระบบให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ ส่วนเฟสต่อไป มองที่การมุ่งสู่พลังงานสะอาด ปัจจุบัน รถ ASIA CAB ใช้แกส แอลพีจี แต่บริษัทฯ ก็ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้รถพลังงานไฟฟ้า โดยอาจเริ่มที่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างก่อน ส่วนรถแทกซี คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพราะไทยยังไม่พร้อมเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้า ฟอร์มูลา : วางเป้าหมายไว้อย่างไร ? ผศ. ดร. ศรายุทธ : บริษัทฯ ต้องการสร้าง บแรนด์ CABB พร้อมพัฒนาการบริการในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง ซึ่งหลังจากที่กรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จ เป้าหมายต่อไป คือ ต่างจังหวัด เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ และในอนาคตวางเป้าหมายประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงในอีก 2-3 ปี จะนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงยังมีแผนที่จะขยายไปในธุรกิจ รถประจำทาง และมอเตอร์ไซค์รับจ้างด้วย