ตลาดโดยรวม | + 33.0 % |
รถยนต์นั่ง | + 45.8 % |
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) | + 29.6 % |
กระบะ 1 ตัน | + 6.5 % |
รถเพื่อการพาณิชย์ | + 200.2 % |
ตลาดโดยรวม | - 3.0 % |
รถยนต์นั่ง | - 16.7 % |
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) | + 30.0 % |
กระบะ 1 ตัน | - 3.5 % |
รถเพื่อการพาณิชย์ | + 62.8 % |
อุตสาหกรรมรถยนต์บ้านเรา เดือนมีนาคมที่ผ่านมา สามารถทำการผลิตรถยนต์ได้ 162,515 คัน เพิ่มขึ้น 10.70 % ด้วยมาตรการของรัฐบาลกระตุ้นกำลังซื้อด้วย “คนละครึ่ง” “ม.33 เรารักกัน” อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคายางพารายังดีอยู่ ทำให้ยอดรวมของเดือนมกราคม-มีนาคม สามารถทำยอดขาย 194,137 คัน ลดลงเพียง 3.0 %ขณะเดียวกัน การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 87.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นเพราะการผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย และการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์ และชิ้นส่วนฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป นอกจากนี้ ความคืบหน้าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ จีน และยุโรป ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น ก็ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจโลก มีผลกระทบกับบ้านเราค่อนข้างมาก เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลก กลับมาเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับเราสามารถส่งออกได้ 104,506 คัน เพิ่มขึ้น 16.38 % สูงสุดในรอบ 24 เดือน จากเศรษฐกิจ และยอดขายรถยนต์ของประเทศคู่ค้าในเดือนมีนาคมเติบโตขึ้น อาทิ ออสเตรเลีย เติบโต 22 % นิวซีแลนด์ 86 % เวียดนาม 58 % อินโดนีเซีย 10 % มาเลเซีย 200 % ยุโรป 87 % เพราะปีที่แล้วยอดขายรถยนต์ในยุโรปต่ำที่สุดในรอบ 30 กว่าปี ทำให้ประเทศไทยส่งออกรถยนต์ไปในตลาดออสเตรเลีย และโอเชียเนีย เพิ่มขึ้น 48.16 % ขณะที่ตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น 46.40 % และตลาดยุโรปเพิ่มขึ้น 53.93 % มกราคม-มีนาคม 2564 ส่งออก 258,108 คัน เพิ่มขึ้น 3.13 % ทางด้านรถจักรยานยนต์ ผลิตได้ทั้งสิ้น 236,286 คัน เพิ่มขึ้น 17.99 % มกราคม-มีนาคม 2564 ผลิตทั้งสิ้น 674,793 คัน เพิ่มขึ้น 7.86 % ที่น่าสนใจสำหรับการผลิตจักรยานยนต์ ก็เห็นจะเป็นการผลิตชิ้นส่วนเพื่อการประกอบรถบิกไบค์ ที่ผู้ผลิตบ้านเราได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยในเดือนมีนาคม 2564 มีจำนวนส่งออก 101,634 คัน (รวม CBU+CKD) เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2563 ถึง 16.53 % โดยมีมูลค่า 8,026.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2563 ถึง 16.70 % แยกเป็นชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 197.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.17 % และเมื่อรวม มกราคม-มีนาคม ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 642.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 14.13 % และเมื่อรวมมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่รถจักรยานยนต์ ทั้งสิ้น 25,893.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.53 % นั่นแสดงว่า เจ้าชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์นี้ ได้รับความนิยมจากคู่ค้าอย่างมาก จากมาตรฐานของผู้ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ใช้กับรถบิกไบค์ ขณะเดียวกัน รายงานจากกลุ่มอุตสาหกรรม ที่สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการ พบว่ายังมีความต้องการอีกเยอะ นับแต่ 1. ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ให้ได้โดยเร็ว โดยใช้มาตรการลอคดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และมีการแพร่ระบาดสูง อย่าลืมว่านี่เป็นข้อมูลจากเดือนมีนาคม 2564 นะครับ 2. เร่งรัดการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้แก่ประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน 3. สนับสนุนให้เอกชนนำเข้าวัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว เพื่อช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น 4. ขอให้ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 5. เร่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) 6. เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก ความต้องการทั้งหมด น่าจะยกเอามานำเสนอกันได้ทุกเดือน เพราะตั้งแต่เริ่มทำข่าวของภาคอุตสาหกรรมมา เวลาท่านประชุมกันแต่ละครั้ง ท่านก็จะบ่นกันเรื่องที่ว่ามานั่นแหละ แต่เห็นว่าเป็นข่าวจากประเทศสารขัณฑ์นะครับ เพราะประเทศไทยก้าวล้ำไปถึงไหนๆ แล้ว นำเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานตั้งหลายปีแล้ว ระบบเช้าชามเย็นชาม ไม่มีให้เห็นมาตั้งนานแล้วนะเนี่ย…เฮ้อ