วิถีตลาดรถยนต์
โลว์ซีซัน...แล้วไง !
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนสิงหาคม 2022/2021
ตลาดโดยรวม +61.7 %
รถยนต์นั่ง +62.7 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +77.9 %
กระบะ 1 ตัน +67.0 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +5.3 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-สิงหาคม 2022/2021
ตลาดโดยรวม +19.6 %
รถยนต์นั่ง +17.7 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +24.6 %
กระบะ 1 ตัน +21.0 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +9.3 %
หลากหลายการดำเนินธุรกิจในช่วงกลางฤดูฝนอย่างในเดือนสิงหาคม จะตกอยู่ในสภาวะการค้าการขายฝืดเคือง ลูกค้าหายหน้าหายตา เนื่องจากฟ้าฝนที่ตกกระหน่ำ บางจุด บางสถานที่มีน้ำท่วมขังสัญจรไป/มาลำบาก สู้นอนอยู่บ้าน หรือทำงานอยู่บ้านดีกว่า เรียกว่าอยู่ในช่วงโลว์ซีซันของการค้าการขาย แต่มีอยู่หนึ่งธุรกิจที่ไม่แคร์ไม่สนฟ้าฝนแม้แต่น้อย มียอดจำหน่ายที่พุ่งสวนทางฟ้าฝนได้อย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือ ธุรกิจยานยนต์ของเรานี่แหละครับ เดือนสิงหาคม ปี 2565 นี้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่พุ่งทะยานเติบโตขึ้นเกินกว่า 60 % ในทุกตลาดเมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ของเดือนสิงหาคม ปี 2564 ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงเติบโตขึ้นอย่างมากในเดือนสิงหาคมนี้ก็เนื่องมาจากการที่มีผู้ใหญ่ใจดีเปิดพื้นที่ให้บริษัทรถยนต์ต่างๆ นำรถยนต์รุ่นต่างๆ ที่มี รวมไปถึงรถยนต์รุ่นใหม่มาจัดแสดงภายในงาน โดยมีข้อแม้เพียงอย่างเดียว นั่นคือ ต้องมาพร้อมกับพโรโมชันพิเศษสุดๆ ที่หาไม่ได้ในช่วงเวลาการจำหน่ายปกติ งานดังกล่าว คือ งาน Big Motor Sales นั่นเอง ซึ่งผลที่ตามมา คือ สุขใจผู้ขาย ถูกใจผู้รับ เบิกบานแจ่มใสไปตามๆ กัน อีกทั้งผลสำเร็จจากการค้าการขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงในงานดังกล่าวนี้ นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในเดือนสิงหาคม เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติแล้ว ยังจะส่งผลถึงตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในเดือนถัดไป คือ เดือนกันยายนด้วย เนื่องจากจะเกิดการส่งมอบรถยนต์ที่สั่งจองไว้ภายในงานอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย สำหรับรถยนต์ใหม่แกะกล่องที่เปิดตัวในงานนี้เป็นแห่งแรก ได้แก่ BR-V (บีอาร์-วี) ใหม่ ของทางค่าย HONDA (ฮอนดา) ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
เดือนสิงหาคม 2565 นี้ 61.7 % เป็นของตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคยทำไว้ในเดือนสิงหาคม 2564 โดยสิงหาคม 2565 มีตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่รวมทั้งสิ้น 68,208 คัน TOYOTA (โตโยตา) ยังคงเป็นบแรนด์รถยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เดือนสิงหาคมนี้จำหน่ายได้รวม 23,356 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ถึง 88.9 % คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 34.2 % บแรนด์รถยนต์ยอดนิยมอันดับ 2 ได้แก่ ISUZU (อีซูซุ) จำหน่ายได้รวม 15,858 คัน เพิ่มขึ้นจากสิงหาคมปีก่อน 43.7 % คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 23.2 % ยอดนิยมอันดับ 3 เป็นของ HONDA จำหน่ายได้รวม 7,071 คัน เพิ่มขึ้น 32.3 % ส่วนแบ่งการตลาดเท่ากับ 10.4 % ยอดนิยมอันดับ 4 เป็นรถยนต์ FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้รวม 4,676 คัน เพิ่มขึ้นมากถึง 132.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.9 % และรถยนต์ยอดนิยมอันดับ 5 ได้แก่ MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) จำหน่ายได้ 4,013 คัน เพิ่มขึ้น 49.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.9 %
ปี 2565 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม รถยนต์ใหม่ป้ายแดงถูกนำออกจากโชว์รูมของบริษัทผู้จำหน่ายทั่วประเทศรวมแล้ว 559,537คัน เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2564 แล้วเป็นปริมาณการขายที่เพิ่มมากขึ้น 19.6 % รถยนต์ที่ส่งมอบไปแล้วมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA จำหน่าย และส่งมอบไปแล้วรวมทั้งสิ้น 185,665 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 แล้วเพิ่มมากขึ้น 26.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 33.2 % อันดับ 2 ISUZU 142,029 คัน เพิ่มขึ้น 20.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 25.4 % อันดับ 3 HONDA 54,488 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 แล้วยังติดลบอยู่ 1.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 9.7 % อันดับ 4 MITSUBISHI 35,438 คัน เพิ่มขึ้น 20.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.3 % และอันดับ 5 MAZDA (มาซดา) 25,243 คัน เพิ่มขึ้น 10.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.5 %
ตลาดรถพิคอัพ หรือกระบะ 1 ตัน เดือนสิงหาคมนี้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยทำได้ในเดือนสิงหาคม ปี 2564 เช่นเดียวกับตลาดรถยนต์ประเภทอื่นๆ โดยตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาดอยู่ที่ 36,528 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ถึง 67.0 % พิคอัพยอดนิยมอันดับ 1 แฟนๆ นักเลงรถพิคอัพยังคงยกให้เป็นของ ISUZU เหมือนเดิม โดยเดือนสิงหาคมนี้จำหน่ายไปได้อีก 14,633 คัน เทียบกับเดือนสิงหาคม ปี 2564 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้น 51.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 40.1 % อันดับ 2 ยังคงเป็น TOYOTA จำหน่ายได้ 13,923 คัน เพิ่มขึ้นถึง 79.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 38.1 % อันดับ 3 FORD เดือนสิงหาคมนี้จำหน่ายได้ 4,674คัน เพิ่มขึ้นมากมายถึง 132.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 12.8 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 2,398 คัน เพิ่มขึ้น 46.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.6 % และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) จำหน่ายได้ 472 คัน ลดลง 4.3 % เมื่อเทียบกับที่เคยจำหน่ายได้ในเดือนสิงหาคม 2564 ส่วนแบ่งการตลาด 1.3 %
ตัวเลขยอดจำหน่ายของพิคอัพ 1 ตัน ไล่เรียงบวกมัดรวมกันมาตั้งแต่เดือนมกราคมมาจนถึงเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 298,424 คัน เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2564 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับเพิ่มมากขึ้นถึง 21.0 % ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมมากที่สุดไม่ต่างไปจากตัวเลขยอดจำหน่ายรายเดือนแต่อย่างใด ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมสูงสุดเป็นของ ISUZU 130,904 คัน เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2564 แล้วเพิ่มขึ้น 22.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 43.9 % อันดับ 2 TOYOTA 115,814 คัน เป็นยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น 25.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 38.8 % อันดับ 3 FORD 23,184 คัน เพิ่มขึ้น 13.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.8 % อันดับ 4 MITSUBISHI 20,704 คัน เพิ่มขึ้น 16.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.9 % และอันดับ 5 NISSAN 4,966 คัน เพิ่มขึ้น 3.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.7 %
รถเอสยูวี หรือรถกิจกรรมกลางแจ้ง เดือนสิงหาคมนี้มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาดเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ โดยเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม ปี 2564 แล้วตลาดรถเอสยูวีมีตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้นถึง 77.9 % จากตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาด 5,760 คัน อันดับ 1 ยังคงเป็นของ TOYOTA 1,787 คัน เทียบกับเดือนสิงหาคม 2564 แล้วเพิ่มมากขึ้น 227.3 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 31.0 % รองลงมาเป็น HONDA จำหน่ายได้ 1,254 คัน เพิ่มขึ้นถึง 185.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 21.8 % ตามด้วย MAZDA จำหน่ายได้ 965 คัน เพิ่มขึ้น 41.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 16.8 % ต่อด้วย MG (เอมจี) จำหน่ายได้ 662 คัน ลดลง 25.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.5 % และรถเอสยูวีของ NISSAN จำหน่ายได้ 414 คัน เพิ่มขึ้นถึง 527.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.2 %
รถเอสยูวี นับจากเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2565 มีตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวมทั้งหมดที่ 54,171 คัน เพิ่มขึ้นมากกว่าระยะเดียวกันของปี 2564 ที่ 24.6 % จำหน่ายไปแล้วมากที่สุดเป็น TOYOTA 15,082 คัน เพิ่มขึ้น 19.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 27.8 % ตามด้วยค่าย HONDA จำหน่ายแล้วรวม 14,462 คัน เพิ่มขึ้น 93.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 26.7 % ต่อด้วย MAZDA จำหน่ายแล้วรวม 9,040 คัน เพิ่มขึ้น 3.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 16.7 % ค่าย MG จำหน่ายแล้วรวม 6,778 คัน ลดลง 35.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 12.5 % และค่าย GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) จำหน่ายแล้วรวม 4,664 คัน เพิ่มขึ้น 540.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.6 %
เดือนสิงหาคม มีตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 3,390 คัน เพิ่มขึ้น 5.3 % มกราคมถึงสิงหาคม 2565 ตัวเลขยอดจำหน่ายรวม 29,325 คัน เพิ่มขึ้น 9.3 % และเดือนสิงหาคมนี้ มียอดจดทะเบียนรถพิคอัพ และรถเอสยูวี รวมกันทั้งสิ้น 48,840 คัน เพิ่มขึ้น 33.5 % เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2564
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์