วิถีตลาดรถยนต์
สวัสดีปี 2566
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม 2023/2022
ตลาดโดยรวม -5.6 %
รถยนต์นั่ง -2.1 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +3.1 %
กระบะ 1 ตัน -9.1 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -12.2 %
รูดม่านปิดฉากกันไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับฤดูกาลค้าขายปี 2565 และก็ถึงเวลาของการเริ่มต้นฤดูกาลค้าขายใหม่ปี 2566 ซึ่งในปี 2566 นี้มีการคาดการณ์กันว่าตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศรวมทั้งปี น่าจะอยู่ที่ประมาณ 930,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 8.1 % ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วจะไปถึงฝั่งฝันได้จริงหรือไม่ เพราะมีทั้งปัจจัยบวก และปัจจัยลบ ว่ากันว่าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการเกษตรเป็นตัวนำ เป็นปัจจัยบวก ส่วนปัจจัยลบก็เป็นผลมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิต รวมไปถึงความปรวนแปรของดินฟ้าอากาศที่ยากจะคาดเดาความหนักหน่วงรุนแรงได้ ว่าจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่มากน้อยเพียงไร ส่วนรถยนต์ที่ยังคงเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในปี 2566 นี้ยังคงเป็นรถยนต์พลังงานทางเลือก รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งในรูปแบบของรถยนต์นั่ง และรถยนต์ที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานได้ทั้งในเมือง และนอกเมือง
สำหรับเดือนมกราคม 2566 เดือนแรกของปี ถึงแม้จะมีความพยายามในการเร่งส่งมอบรถยนต์ที่มีการจับจองเป็นเจ้าของไว้ในช่วงของการจัดงาน MOTOR EXPO เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนวัตถุดิบสำคัญบางอย่าง ทำให้รถยนต์บางรุ่น บางยี่ห้อ ไม่สามารถส่งมอบได้ทันตามกำหนดเวลา อีกทั้งความอิ่มตัวของผู้บริโภคจากแคมเปญส่งเสริมการขายพิเศษในช่วงปลายปี ที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงสุด ทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ประจำเดือนมกราคม มีการปรับตัวลดลงไปบ้าง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติมากมายประการใด เพราะตัวเลขยอดจำหนายรถยนต์จะขยับปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนต่อๆ ไป โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม และเมษายน ที่มีการจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ หลังจากนี้ก็จะไปปรับตัวลดลงอีกครั้งในช่วงฤดูฝน และปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เป็นวัฏจักรการซื้อ-ขายที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี หากไม่มีวิกฤตการณ์ร้ายแรงเกินคาดเดาอย่างการระบาดของ COVID-19 เหมือนที่ประสบพบเจอในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หรือเกิดสงครามครั้งใหม่ที่รุนแรงยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาในอดีต
เดือนมกราคม 2566 ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงอยู่ที่ 65,579 คัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ เดือนมกราคม 2565 แล้วเป็นยอดจำหน่ายที่หดหายไป 3,876 คัน หรือปรับตัวลดลง 5.6 % โดยที่ตลาดรถยนต์ที่แบ่งเป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆ ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง, รถพิคอัพ 1 ตัน, รถกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเอสยูวี และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ประเภทอื่นๆ นั้นมีเพียงตลาดรถเอสยูวีที่ยังมีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกนั้นปรับตัวลดน้อยลงทั้งสิ้น ทั้งนี้รถยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็นรุ่นต่างๆ จากค่าย TOYOTA (โตโยตา) ที่เดือนแรกของปี 2566 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 23,796 คัน คิดเป็นสัดส่วนทางการตลาดเท่ากับ 36.3 % เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมปีที่แล้ว 7.4 % หรือเพิ่มมากขึ้น 1,647 คัน อันดับ 2 ISUZU (อีซูซุ) ตัวเลขยอดจำหน่ายอยู่ที่ 14,651 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 22.3 % ลดลง 5.0 % หรือเท่ากับหดหายไป 775 คัน อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) จำหน่ายได้รวม 7,071 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 10.8 % เป็นยอดจำหน่ายที่หดหายไป 17.1 % หรือหายไป 1,454 คัน เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 อันดับ 4 FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้รวม 3,377 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 5.1 % เทียบกับเดือนมกราคม 2565 แล้วเป็นยอดจำหน่ายที่เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 34.5 % หรือจำหน่ายได้มากขึ้น 866 คัน อันดับ 5 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) จำหน่ายได้รวม 3,284 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 5.0 % เป็นยอดจำหน่ายที่ลดลง 32.1 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 หรือจำหน่ายได้น้อยลง 1,550 คัน
นั่นคือภาพโดยรวมของการซื้อ-ขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงทั้งหมดในเดือนมกราคม 2566 เมื่อแยกย่อยออกมาเป็นตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน, รถเอสยูวี และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ
รถพิคอัพ 1 ตัน ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาด เดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 31,771 คัน ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายรถพิคอัพ 1 ตัน ของเดือนมกราคม 2565 แล้วปรากฏว่า เดือนมกราคม 2566 ยอดจำหน่ายของรถพิคอัพ 1 ตัน ลดน้อยลง 9.1 % หรือเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่หายไป 3,191 คัน และเป็นรถพิคอัพสายพันธุ์ D-MAX (ดี-แมกซ์) ของค่าย ISUZU ที่ยังคงเป็นที่หนึ่งในใจผู้ใช้รถพิคอัพอย่างต่อเนื่องต่อไป เดือนมกราคม 2566 จำหน่ายไปได้ทั้งสิ้น 13,543 คัน ได้ส่วนแบ่งการตลาด 42.6 % แต่ตัวเลขยอดจำหน่ายนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2565 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลง 4.2 % หรือขาดหายไป 600 คัน พอดิบพอดี อันดับ 2 รถพิคอัพตระกูล HILUX REVO (ไฮลักซ์ รีโว) ของ TOYOTA ตามมาไม่ห่าง จำหน่ายได้รวม 12,602 คัน ส่วนแบ่งการตลาดได้ไป 39.7 % เทียบกับเดือนมกราคม 2565 แล้วยอดจำหน่ายของ TOYOTA ลดลงไป 12.3 % หรือหายไป 1,762 คัน จำหน่ายได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ได้แก่ พิคอัพสายพันธุ์ RANGER (เรนเจอร์) ของ FORD เดือนมกราคม 2566 จำหน่ายได้รวม 3,376 คัน ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 10.6 % เทียบกับมกราคม 2565 แล้วพิคอัพของ FORD จำหน่ายได้มากขึ้น 34.8 % หรือเพิ่มมากขึ้น 871 คัน พิคอัพสายพันธุ์ TRITON (ทไรทัน) ของ MITSUBISHI อยู่ในอันดับที่ 4 จำหน่ายได้ 1,717 คัน ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 5.4 % เทียบกับเดือนมกราคม 2565 แล้วเป็นยอดจำหน่ายที่ลดลง 39.8 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 1,133 คัน ส่วนพิคอัพตระกูล NAVARA (นาวารา) ของ NISSAN (นิสสัน) จำหน่ายได้ 367 คัน ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 1.2 % เทียบกับมกราคม 2565 แล้วลดน้อยลง 55.1 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 451 คัน
ทางด้านของรถเอสยูวี ตลาดนี้เติบโตขึ้น 3.1 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 โดยตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาดอยู่ที่ 7,931 คัน เปิดหัวได้ดีสำหรับค่าย HONDA โดยมีตัวเลขยอดจำหน่ายเข้ามาในอันดับที่ 1 จำหน่ายได้รวม 1,998 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 25.2 % แต่เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายของเดือนมกราคม 2565 แล้วเป็นตัวเลขที่ปรับตัวลดลง 15.8 % จำหน่ายได้น้อยลง 374 คัน อันดับ 2 TOYOTA ตามมาแบบหายใจรดต้นคอ จำหน่ายได้ 1,722 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 21.7 % เทียบกับเดือนมกราคม 2565 แล้วยอดจำหน่ายหดหายไป 6.9 % หรือเท่ากับหายไป 128 คัน อันดับ 3 ของตลาดนี้เป็นค่ายน้องใหม่จากเมืองจีน BYD (บีวายดี) เดือนแรกก็หวดเข้าไปแล้ว 1,040 คัน คว้าส่วนแบ่งการตลาดไป 13.1 % น่าจับตามองยิ่งนักสำหรับค่ายนี้ อันดับ 4 เป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมของค่าย NISSAN ทำตัวเลขยอดจำหน่ายได้ 810 คัน รับส่วนแบ่งการตลาดไป 10.2 % เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว เพราะเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 แล้วเพิ่มมากขึ้นถึง 313.3 % จาก 196 คัน เพิ่มขึ้นมาถึง 614 คัน อันดับ 5 MAZDA (มาซดา) จำหน่ายได้ 747 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 9.4 % เทียบกับเดือนมกราคม 2565 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับลดลง 32.4 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 358 คัน
ทั้งนี้รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เดือนมกราคม 2566 ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันอยู่ที่ 3,013 คัน เทียบกับเดือนมกราคม 2565 แล้วปรับตัวลดลง 12.2 % จำหน่ายได้น้อยลง 419 คัน ส่วนยอดจดทะเบียนรถพิคอัพ 1 ตัน และรถเอสยูวี เดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 53,978 คัน เพิ่มขึ้น 10.7 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 5,222 คัน
ABOUT THE AUTHOR
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2566
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์