วิถีตลาดรถยนต์
ครึ่งปีแรกไม่ผ่านนะ
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมิถุนายน 2023/2022
ตลาดโดยรวม -5.2 %
รถยนต์นั่ง +24.2 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +26.9 %
กระบะ 1 ตัน -27.3 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +4.7 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-มิถุนายน 2023/2022
ตลาดโดยรวม -5.0 %
รถยนต์นั่ง +9.0 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +31.4 %
กระบะ 1 ตัน -19.7 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -6.3 %
ไปๆ มาๆ ทำท่าว่าจะไม่ใช่เป็นปีแห่งความสุขของผู้ทำมาหากินอยู๋ในแวดวงการค้าขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงของบ้านเราสักเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหาร ไล่เรียงมายันระดับผู้ทำหน้าที่ต้อนรับขับสู้คุณลูกค้าที่อยากหารถยนต์ใหม่ป้ายแดงใช้สักคันสองคัน เพราะ 6 เดือนแรกของปี 2566 ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าค่ายรถยนต์ใหญ่ๆ หลายต่อหลายค่าย มีตัวเลขยอดจำหน่ายที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ก็ไม่ใช่เพราะว่าบรรดารถยนต์รุ่นต่างๆ ที่จอดเรียงรายอวดโฉมอยู่บนโชว์รูมไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคุณลูกค้าได้ หรือแคมเปญพโรโมชันพิเศษไม่ถูกอกถูกใจ
แต่เกิดจากหลากหลายปัจจัยลบที่ทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงครึ่งแรกของปี 2566 ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เช่น เรื่องของการปรับอัตราดอกเบี้ย ที่ส่งผลตามมาถึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของบริษัท หรือธนาคารต่างๆ รวมไปถึงความไม่ชัดเจนทางด้านนโยบายเศรษฐกิจของว่าที่รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ หลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งใหญ่ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ผนวกกับกระแสข่าวที่ว่าในหมวดหมู่ของรถพิคอัพ 1 ตัน ที่เป็นเส้นเลือดหลักเส้นหนึ่งของธุรกิจยานยนต์ไทย จะมีรถยนต์โมเดลใหม่เข้ามาแทนที่โมเดลรุ่นที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ในอีกไม่ช้าไม่นานด้วย ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ร่วมมือร่วมใจกันฉุดรั้งการตัดสินใจซื้อของกลุ่มลูกค้า
อย่างไรก็ดี ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงของครึ่งแรกปี 2566 ไม่หัวปักหัวปำทิ้งดิ่งไปมากกว่าที่เกิดขึ้นไปแล้ว ต้องยกความดีความชอบให้แก่กลุ่มก้อนของรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เข้ามามีบทบาทในการทำตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มก้อนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถเอสยูวี ที่สามารถตอบสนองความต้องการในการใช้รถได้มากขึ้น ทั้งในด้านของราคา ประสิทธิภาพ และสมรรถนะในการใช้งาน ไม่แน่เหมือนกันว่าในอนาคตอันใกล้ หากการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนยวดยานพาหนะ ครอบคลุมมาถึงกลุ่มของรถพิคอัพอย่างจริงจังบ้างก็จะดีไม่น้อย จะได้ไม่ต้องสูดดมควันดำที่ออกจากปลายท่อไอเสียของบรรดาพิคอัพสายซิ่งวัยรุ่นสร้างตัว แต่ทำลายสุขภาพร่างกายของผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ อย่างเช่นในทุกวันนี้
มาว่ากันถึงตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงเดือนมิถุนายน 2566 และยอดรวมครึ่งแรกของปี 2566 กันดีกว่า เดือนมิถุนายน 2566 รถยนต์ใหม่ป้ายแดงมีการซื้อ-ขาย และส่งมอบกันรวมทั้งสิ้น 64,440 คัน เทียบกับเดือนเดียวกันปี 2565 แล้วหดหายไป 3,505 คัน หรือติดลบไป 5.2 % รถยนต์ที่จำหน่ายขายดีที่สุด ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA (โตโยตา) 20,877 คัน ลดลง 149 คัน เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 หรือติดลบ 0.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 32.4 % อันดับ 2 ISUZU (อีซูซุ) 12,505 คัน ลดลง 7,641 คัน หรือ 37.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 19.4 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) 7,067 คัน เพิ่มขึ้น 2,672 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 60.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.0 % อันดับ 4 FORD (ฟอร์ด) 3,217 คัน เพิ่มขึ้น 458 คัน หรือเพิ่มขึ้น 16.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.0 % และอันดับ 5 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) 3,010 คัน ลดลง 1,805 คัน หรือลดลง 37.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 %
ครึ่งแรกปี 2566 ผ่านพ้นไป รถยนต์ป้ายแดงทุกรุ่นทุกยี่ห้อจำหน่ายไปแล้วรวมทั้งสิ้น 406,131 คัน เทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปี 2565 แล้วจำหน่ายได้น้อยลง 21,165 คัน หรือ 5.0 % รถยนต์ที่จำหน่ายได้มากที่สุดก็ตามนั้นแหละไม่เปลี่ยนแปลง ไล่เรียงจาก TOYOTA 136,859 คัน ลดลง 5,173 คัน หรือลดลง 3.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 33.7 % ISUZU 86,281 คัน ลดลง 23,608 คัน หรือลดลง 21.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 21.2 % HONDA 46,134 คัน เพิ่มขึ้น 5,973 คัน หรือเพิ่มขึ้น 14.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.4 % FORD 20,128 คัน เพิ่มขึ้น 5,199 คัน หรือเพิ่้มขึ้น 34.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.0 % และ MITSUBISHI 19,835 คัน ลดลง 7,639 คัน หรือลดลง 27.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.9 %
รถพิคอัพ 1 ตันละครับ...เป็นอย่างไรบ้าง
อ๋อ…หัวทิ่มสิครับ เดือนมิถุนายน 2566 ทั้งตลาดจำหน่ายไปได้ทั้งสิ้น 27,339 คัน เทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 แล้วหายไปถึง 10,280 คัน หรือจำหน่ายได้น้อยลง 27.3 % ทีเดียวเชียว เดือนนี้ ISUZU ยังเป็นพระเอกอันดับ 1 ต่อไป โดยจำหน่ายได้ 11,100 คัน แต่เทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 แล้วจำหน่ายได้น้อยลงถึง 7,540 คัน หรือติดลบ 40.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 40.6 % TOYOTA ตามมาไม่ห่าง แต่ยังไม่พอที่จะแซง ISUZU จำหน่ายได้ 10,803 คัน ลดลง 1,826 คัน หรือลดลง 14.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 39.5 % อันดับ 3 FORD จำหน่ายได้ 3,215 คัน เพิ่มขึ้น 459 คัน หรือเพิ่มขึ้น 16.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.8 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 1,653 คัน ลดลง 1,068 คัน หรือลดลง 39.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.0 % และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) จำหน่ายได้ 410 คัน ลดลง 79 คัน หรือลดลง 16.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 %
6 เดือนแรกของปี 2566 ผ่านไปแล้ว รถพิคอัพ 1 ตัน จำหน่ายไปแล้วรวมกันทั้งสิ้น 182,952 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 แล้วลดลง 44,890 คัน หรือติดลบ 19.7 % ครึ่งปีหลังจะกลับมาได้มั้ยล่ะเนี่ย...ยอดจำหน่ายสะสมมากสุดตอนนี้เป็นพิคอัพ ISUZU 78,633 คัน น้อยกว่าปี 2565 ถึง 22,806 คัน หรือลดลง 22.5 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 43.0 % ตามด้วย TOYOTA 70,544 คัน เทียบกับปี 2565 แล้วขาดหายไป 18,688 คัน หรือลดลง 20.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 38.6 % FORD 20,117 คัน เพิ่มขึ้นถึง 5,216 คัน หรือเพิ่มขึ้น 35.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.0 % MITSUBISHI 10,194 คัน ยังขาดหายไป 5,974 คัน หรือลดลง 36.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.6 % และ NISSAN 2,361 คัน ติดลบอยู่ 1,610 คัน หรือลดลง 40.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.3 %
รถเอสยูวี เดือนมิถุนายน 2566 จำหน่ายไปได้ทั้งสิ้น 8,720 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2565 ถึง 1,850 คัน หรือเพิ่มขึ้น 26.9 % จำหน่ายได้มากสุดเป็น HONDA 2,626 คัน เพิ่มขึ้น 749 คัน หรือเพิ่มขึ้น 39.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 30.1 % รองลงมาเป็น BYD (บีวายดี) จำหน่ายได้ 1,857 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 21.3 % หวือหวาจริง รถยนต์จากเมืองจีนนี่...ตามด้วย TOYOTA 1,810 คัน ลดลง 270 คัน หรือลดลง 13.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 20.8 % MAZDA (มาซดา) 686 คัน หายไป 472 คัน หรือลดลง 40.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.9 % และ MG (เอมจี) 627 คัน หายไป 349 คัน หรือลดลง 35.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.2 %
สรุป 6 เดือนแรกปี 2566 รถเอสยูวีจำหน่ายไปแล้วรวมทั้งสิ้น 54,207 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ถึง 12,939 คัน หรือเพิ่มขึ้น 31.4 % จำหน่ายได้มากสุดเป็น HONDA 15,709 คัน เพิ่มขึ้น 5,122 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 48.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 29.0 % ตามด้วยน้องใหม่มาแรง BYD 11,167 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 20.6 % TOYOTA 10,669 คัน ลดลง 487 คัน หรือลดลง 4.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 19.7 % MAZDA 4,362 คัน ลดลงถึง 3,134 คัน หรือลดลง 41.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.0 % และ MG 4,073 คัน ลดลง 1,533 คัน หรือลดลง 27.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.5 %
เดือนมิถุนายน 2566 รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ จำหน่ายได้ 4,048 คัน เพิ่มขึ้น 183 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4.7 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 รวม 6 เดือน จำหน่ายแล้ว 20,885 คัน ลดลง 1,408 คัน หรือลดลง 6.3 % มีการจดทะเบียนรถเอสยูวี และรถพิคอัพทั้งสิ้น 44,707 คัน ลดลง 4,781 คัน หรือลดลง 9.7 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2565
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2566
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์