สัมภาษณ์พิเศษ(formula)
ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์
“ฟอร์มูลา” สัมภาษณ์พิเศษ ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ คนใหม่ ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของสถาบันฯ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนของสถาบันฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์โบว์ 3 สี
ฟอร์มูลา : ที่มาของสถาบันยานยนต์ ?
ดร. เกรียงศักดิ์ : สถาบันยานยนต์เป็นองค์กรอิสระ ก่อตั้งขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดโลก ให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และมีความเป็นอิสระในตัวเอง ภารกิจหลัก คือ การทดสอบ การวางแผนสนับสนุนยานยนต์ในหลายด้าน โดยผลงานล่าสุดที่ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ หรือ AUTOMOTIVE AND TYRE TESTING, RESEARCH AND INNOVATION CENTER: ATTRIC ช่วยส่งเสริม และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็น SUPER CLUSTER (ซูเพอร์คลัสเตอร์) ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อสนับสนุนให้มีการออกแบบ วิจัยพัฒนา ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไทยเป็นผู้นำ และเป็นศูนย์กลางการทดสอบ และรับรองมาตรฐานในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการทดสอบเพื่อความสอดคล้องในกระบวนการผลิต การส่งเสริมตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทน
ฟอร์มูลา : หน้าที่หลักของสถาบันยานยนต์คืออะไร ?
ดร. เกรียงศักดิ์ : สถาบันยานยนต์เป็นหน่วยงานที่ได้รับการแต่งตั้งจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อบริการตรวจการผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยเน้นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ และชิ้นส่วนเป็นหลัก และให้บริการในรูปแบบ ONE STOP SERVICE เพื่อเพิ่มความสะดวก และรวดเร็วให้แก่ผู้ใช้บริการ
ฟอร์มูลา : วางทิศทางสถาบันยานยนต์ไว้อย่างไร ?
ดร. เกรียงศักดิ์ : สถาบันยานยนต์มีบริการหลักดังนี้ บริการทดสอบยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ตามมาตรฐาน บริการตรวจการทำผลิตภัณฑ์ (IB) และ FREE ZONE เขตปลอดอากร บริการฝึกอบรม รวมถึงบริการข้อมูลศูนย์สารสนเทศยานยนต์ที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ พร้อมจัดทำงานวิจัย เสนอแนะชี้นำ และเตือนภัย เพื่อสนับสนุนการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ปีนี้สถาบันยานยนต์ ครบรอบ 25 ปี ได้วางยุทธศาสตร์ และแนวทางการดำเนินงานด้วย “3 RIBBONS STRATEGY” หรือยุทธศาสตร์โบว์ 3 สี ฟ้า เขียว และขาว
BLUE OCEAN การสร้างนวัตกรรม
ในช่วงปี 2566-2573 จะมีการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการ และเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่ พร้อมขับเคลื่อนสถาบันยานยนต์ด้วยการทำการตลาดเชิงรุก พัฒนาให้สถาบันยานยนต์เป็นผู้ให้บริการด้านเทคนิค (TECHNICAL SERVICE) ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างครบวงจร อาทิ มาตรฐานบังคับ (มอก.) มาตรฐานกรมการขนส่งทางบก ASEAN MRA และมาตรฐานตามข้อตกลง 1958 AGREEMENT ของสมาชิก 48 ประเทศ เป็นต้น เพื่อยกระดับการทดสอบของ สยย. ให้ผลการทดสอบเป็นที่ยอมรับในสากล ช่วยเพิ่มศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการส่งออกยานยนต์ไทยตามนโยบายการเป็นฐานการผลิตรถยนต์แห่งอนาคต
เปิดบริการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาธุรกิจ สร้างนวัตกรรม ด้านวิศวกรรม โดยผู้เชี่ยวชาญ เสริมสร้างความพร้อมด้านการทดสอบด้วยศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ สู่การเป็น SUPER CLUSTER ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ทำให้ไทยเป็นผู้นำ และศูนย์กลางการทดสอบ การรับรองในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการทดสอบเพื่อความสอดคล้องในกระบวนการผลิต การส่งเสริมตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทน (AFTERMARKET) พร้อมขยายพันธมิตรทางธุรกิจให้เพิ่มขึ้น
GREEN GROWTH การสร้างความยั่งยืน
เตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการทดสอบการปล่อยสารมลพิษจากเครื่องยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 และ 6 เพื่อลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งขณะนี้สถาบันยานยนต์ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องมือทดสอบ พร้อมให้บริการเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงการทดสอบแบทเตอรียานยนต์ไฟฟ้า โดย สถาบันยานยนต์ มีศูนย์ทดสอบแบทเตอรียานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจรที่สุดในอาเซียน ตามมาตรฐาน UNECE R100 สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและ UNECE R136 สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสามารถทดสอบเพื่อการวิจัยและพัฒนาในการปรับปรุงสมรรถนะของแบทเตอรีได้อีกด้วย
ในเรื่องการทดสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้สถาบันยานยนต์ ยังสนับสนุนนโยบาย ZEV การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ มุ่งเน้นสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนไดออกไซด์ NET ZERO รวมถึงลดหรือกักเก็บปริมาณแกสเรือนกระจกไว้ไม่ให้ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การทำธุรกิจที่ยั่งยืน และจะเพิ่มเติมการทำกิจกรรมเพื่อสังคม อาทิ การรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัย เป็นต้น
WHITE SPIRIT การสร้างความน่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาล
การปรับเปลี่ยนวิถีการบริหาร การจัดการควบคุมดูแลกิจกรรมต่างๆ ของ สถาบันยานยนต์ ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมุ่งเน้นประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยปรับกระบวนการทำงานมุ่งสู่ความเป็นเลิศในด้านการปฎิบัติการ การบริหารจัดการองค์กรด้วยแนวคิด SMART STRONG และ SLIIM
ความท้าทายของการบริหารงานสถาบันยานยนต์ในยุคนี้ คือ ปรับการทำงานของ สยย. ให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์ในการส่งเสริม และสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สร้างโมเดลของธุรกิจใหม่ๆ ในเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และการพัฒนาทักษะเดิม พร้อมเสริมสร้างทักษะใหม่ให้แก่บุคลากรภายใน สยย. รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร
และเรื่องเร่งด่วนที่สุด คือ “การปั้นสถาบันยานยนต์ให้มีความพร้อม เป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ ในการทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีความสมบูรณ์ในทุกมิติ เพื่อผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ ด้วยการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก หรือศูนย์กลางของภูมิภาคเติบโต และเข้มแข็งอย่างมีศักยภาพพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยศักยภาพของศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 11 ของโลก และใหญ่เป็นลำดับที่ 1 ของภาคพื้นอาเซียน และศูนย์ทดสอบแบทเตอรียานยนต์ไฟฟ้าที่สามารถทดสอบได้ตามมาตรฐานครบวงจร” และเรียกได้ว่าเป็นการ “พลิกโฉมสู่ยานยนต์แห่งอนาคต” อีกหนึ่งบทบาทก็ว่าได้
ฟอร์มูลา : ปัญหาบุคลากรด้านยานยนต์ขาดแคลนมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร ?
ดร. เกรียงศักดิ์ : ปัญหาเรื่องบุคลากร เป็นปัญหาใหญ่มาก ซึ่งอาจจะต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งถ้าพูดเรื่องการศึกษาและการเพิ่มทักษะของบุคลากรด้านยานยนต์ และด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องปัจจุบันก็มีหลายสถาบันได้เปิดหลักสูตรเพิ่มขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ไปเร็วมากๆ ทำให้ขาดแคลนด้านบุคลากรอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทาย
ดังนั้น ที่ผ่านมาสถาบันยานยนต์ จึงได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรในลักษณะการจัดฝึกอบรม เพื่อให้ความรู้แก่พนักงานจากสถานประกอบการยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัจจุบันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน สถาบันยานยนต์ ได้ดำเนินโครงการยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยมุ่งเน้น 2 ประการ คือ 1. การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษและลดการปล่อยแกสเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในระยะยาว และ 2. การต่อยอดจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูง คือ การพัฒนาเทคโนโลยีการเชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV) ที่นำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง และความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์ รวมถึงการพัฒนายานยนต์สันดาปใหม่ที่มีลักษณะ สะอาด ประหยัด และปลอดภัย อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไร้มลพิษ
และเพื่อลดผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ จึงจำเป็นต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และแผนการปรับเปลี่ยนผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมถึงแรงงานไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ ครอบคลุมอุตสาหกรรมชิ้นส่วน เป้าหมาย เพื่อยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
ฟอร์มูลา : ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อ จะมีการลงทุนเพิ่มอีกหรือไม่ ?
ดร. เกรียงศักดิ์ : กระทรวงอุตสาหกรรม ลงทุนไปแล้วประมาณ 55 % พร้อมจะมีการลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยสนามทดสอบจะมีทั้งหมด 6 สนาม และสนามที่แล้วเสร็จไปแล้ว 5 สนาม คือ สนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 (เกณฑ์มาตรฐานยางล้อที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปของสหประชาชาติ) และอาคารปฏิบัติการทดสอบยางล้อแล้วเสร็จ รวมทั้งดำเนินการติดตั้งเครื่องมือทดสอบยางล้อ ด้านมลพิษทางเสียง การยึดเกาะบนพื้นผิวเปียก และความต้านทานการหมุนแล้วเสร็จ โดยเปิดให้บริการทดสอบแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา
ในส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารและสนามทดสอบแล้วเสร็จเรียบร้อย ได้แก่ สถานีควบคุมการทดสอบ สนามทดสอบระบบเบรค, สนามทดสอบระบบเบรคมือ, สนามทดสอบพลวัต, สนามทดสอบการยึดเกาะขณะเข้าโค้ง และถนนหลักในสนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งดำเนินการติดตั้งเครื่องมือทดสอบ ได้แก่ ชุดทดสอบเข็มขัดนิรภัย ชุดทดสอบจุดยึดเข็มขัดนิรภัย และชุดทดสอบที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และพนักพิงศีรษะชุดทดสอบห้ามล้อ
ส่วนที่เหลือ คือ สนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว อาคารสำหรับเตรียมสภาพรถ ทางวิ่งส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อ และ LAB ทดสอบการชน รวมทั้งใช้ในการจัดซื้อเครื่องมือทดสอบเพิ่มเติม ได้แก่ ชุดทดสอบอุปกรณ์เลี้ยว ชุดทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง ชุดทดสอบมาตรวัดความเร็ว ชุดทดสอบความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง พลังงานไฟฟ้า และระยะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ชุดทดสอบการชนด้านหน้าและการชนด้านข้าง และชุดทดสอบอุปกรณ์สัญญาณเสียงเตือน ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการครบวงจรในปี 2569