เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนกันยายน 2023/2022
ตลาดโดยรวม -16.3 %
รถยนต์นั่ง +10.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +55.6 %
กระบะ 1 ตัน -43.6 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +4.6 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-กันยายน 2023/2022
ตลาดโดยรวม -7.4 %
รถยนต์นั่ง +9.5 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +31.6 %
กระบะ 1 ตัน -24.7 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -2.9 %
เผลอไม่นานปีใหม่ก็กำลังจะมาถึง เป็นปีที่เราได้เห็นสิ่งใหม่ๆ มากมายจากการเข้ามาเล่นของผู้เล่นหน้าใหม่จากโลกยานยนต์ตะวันออก ทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดก้าวหน้ามากจากผู้เล่นหลายราย และแน่นอน เป็นโอกาสของผู้บริโภคได้เลือกซื้อรถยนต์ตรงตามความต้องการของตัวเองในราคาที่คุ้มค่ามากขึ้น เนื้อหาของปี 2566 นั้นน่าตื่นเต้นกว่าปีใดๆ ที่ผ่านมา ซึ่งท้าทายความดั้งเดิมที่เราได้สัมผัสมามากกว่า 30 ปี ดูเหมือนการแข่งขันเดิมนั้น ยุโรปแข่งกับรถญี่ปุ่น และรถญี่ปุ่นทำได้ดีที่สุด แต่วันนี้ญี่ปุ่นถูกท้าทายในแบบ “เปลี่ยนเกม” และดูเหมือนผู้ท้าทายเดินเกมอย่างกล้าหาญ ไม่ว่าการลงทุน การเปิดการขายด้วยเทคนิคใหม่ๆ และก็ได้ใจคนซื้อยุคใหม่ไปเสียด้วย
การยอมรับบแรนด์ใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว มีคำถามว่า ทำไมกำแพงเดิมๆ ที่เจ้าตลาดเคยใช้บลอคคู่แข่ง ถึงถูกทำลายลงอย่างง่ายดายภายในเวลาไม่ถึง 24 เดือน กำแพงที่ว่า เช่น “ราคาขายต่อ” ของรถที่ไม่มีคนรู้จัก, ความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งยังไม่เคยมีประสบการณ์ หรือถูกพิสูจน์มาก่อนในประเทศนี้ กลับได้รับการยอมรับ ทั้งที่ยังไม่มีใครรู้เลยว่า ความซับซ้อนในการบำรุงรักษาเทคโนโลยีเหล่านั้นมีมากน้อยแค่ไหน, อะไหล่ และเครือข่ายบริการที่ไม่ครอบคลุม แต่กลับได้รับการยอมรับ และมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป, ราคาอะไหล่ และบริการที่ครั้งหนึ่งต้องวางให้พร้อมก่อนขายสินค้า แต่ปัจจุบัน การขายก่อนมีเครือข่ายกลับได้รับความนิยม
ตลอดฤดูการขายที่ผ่านมา 12 เดือน มีสิ่งที่น่าสนใจมากๆ เช่น
1. มีการแจ้งเกิดรถเฉพาะกลุ่มอีกครั้ง หลังจากรถกลุ่มนี้แทบจะหายจากตลาด เช่น รถออฟโรดขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งรถตู้กลุ่มครอบครัว(MPV) รถ 7 ที่นั่ง และรถเฉพาะของผู้บริหาร
2. รถยนต์กับเครือข่ายดิจิทอล เชื่อมต่อกับอุปกรณ์รถยนต์ และบริการออนไลน์เริ่มมีมากขึ้น เรียกว่าทุกค่ายต่างมีแอพพลิเคชันให้ลูกค้าในมือถือได้ใช้
3. ระบบช่วยเหลือการขับขี่ และความปลอดภัยอัจฉริยะ (ADVANCED DRIVER ASSISTANCE SYSTEMS-ADAS) กลายเป็นระบบมาตรฐานที่สามารถเอื้อมถึง อย่างไรก็ตาม ข้อเสียอย่างเดียวของระบบนี้ คือ การที่คนซื้อไปแล้วบางครั้งใช้ไม่เต็มระบบ
4. มีการใช้ระบบที่ก้าวหน้าทแรคคิงลูกค้าในหลายๆ ด้าน ข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อสิ่งนี้ คือ ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว คนไทยยังไม่เน้นเรื่องนี้ แต่ในต่างประเทศค่อนข้างสำคัญ เทคโนโลยีใหม่ๆ ในรถยนต์อาจมีการแจ้งเตือนเพื่อสื่อสารกับลูกค้า และแจ้งเตือนเกี่ยวกับพโรโมชัน, ข้อมูลสินค้าใหม่ หรือเหตุการณ์สำคัญ แต่ระบบเหล่านั้นอาจเก็บข้อมูลส่วนตัว ประวัติการใช้งาน ประวัติการเดินทางของเราไปด้วย และเกิดความเสี่ยงในความปลอดภัย หากข้อมูลต่างๆ หลุดออกไป
ปลายปี ส่งท้ายด้วยข่าวดีสำหรับผู้ที่ต้องการรถยนต์พลังงานใหม่ ซึ่งภาครัฐต่อมาตรการ EV 3.5 ที่ให้งบสนับสนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า บอร์ด EV ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี (ปี 2567-2570) สำหรับมาตรการ EV 3.5 รัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบทเตอรี ดังนี้
กรณีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบทเตอรีตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 50,000-100,000 บาท/คัน สำหรับขนาดแบทเตอรีต่ำกว่า 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 20,000-50,000 บาท/คัน
กรณีรถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบทเตอรีตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 50,000-100,000 บาท/คัน
กรณีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบทเตอรีตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมง จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 5,000-10,000 บาท/คัน
เอาละ ไม่ว่าข้อสังเกตต่างๆ ว่าไว้อย่างไร กล่าวว่าปีใหม่ 2567 ก็เป็นปีที่คึกคักด้วยความแปลกใหม่ พร้อมด้วยการแข่งขันที่สูง สู้กันหมัดต่อหมัด รายใหม่ก็ใช่ว่าจะง่าย รายเดิมก็ต้องสู้ คิดว่าปี 2567 เราได้เห็นศึกใหญ่กว่าปีผ่านๆ มาแน่นอน และขออวยพรท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มาตลอด ขอให้สุขภาพดี มีความสุขตลอดปี 2567