วิถีตลาดรถยนต์
“พิคอัพ” ตกสวรรค์
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนตุลาคม 2023/2022
ตลาดโดยรวม -8.8 %
รถยนต์นั่ง +13.7 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +124.3 %
กระบะ 1 ตัน -35.1 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -34.0 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-ตุลาคม 2023/2022
ตลาดโดยรวม -7.5 %
รถยนต์นั่ง +9.9 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +38.3 %
กระบะ 1 ตัน -25.7 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -7.0 %
โดยปกติแล้ว เดือนตุลาคมเรื่อยไปจนถึงมกราคม/กุมภาพันธ์ ถือเป็นช่วงเวลาเงินเวลาทองสำหรับทุกๆ แวดวงธุรกิจ เป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคสามารถจับจ่ายซื้อของที่หมายมั่นปั้นมือได้ ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ตัวเอง หรือครอบครัว หลังจากที่มุ่งมั่นทำงานมาเกือบตลอดทั้งปี และก็เป็นปกติอีกเช่นกัน ที่ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่จะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ในปี 2566 นี้ ท่าจะไม่เป็นปกติเสียแล้ว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ไหลลื่นอย่างที่ควร ถึงแม้จะมีคณะผู้บริหารประเทศชุดใหม่ เป็นชุดที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม คงต้องไปว่ากันหลังปีใหม่ หรือปี 2567 โน่นแหละ ถึงจะได้รู้แจ้งเห็นจริงกันว่า รัฐบาลชุดใหม่นี้ จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ลื่นไหล แบบที่ผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเลือกพวกเขาเข้ามาบริหารประเทศหรือไม่
แต่ที่แน่ๆ ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศสำหรับปี 2566 กับช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่ถึง 3 เดือน ไม่เป็นไปตามความคาดหวังอย่างแน่นอน ถึงแม้จะมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ รอคิวเปิดตัวเข้าสู่ตลาดอีกมากพอสมควร รวมไปถึงการจัดงานกระตุ้นยอดจำหน่ายงานใหญ่ส่งท้ายปี งาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40” ที่นอกจากจะมีรถยนต์รุ่นใหม่ รุ่นตกแต่งพิเศษ และรุ่นที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมพโรโมชันพิเศษสุดที่ผู้จะออกรถใหม่เฝ้ารออยู่ก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ตัวเลขยอดจำหน่ายไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ มาจากการที่สถาบันการเงินพากันเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ ในการที่จะปล่อยสินเชื่อรถยนต์ เรียกว่าใครจะขอกู้เงินซื้อรถ ช่วงนี้ถ้าหลักฐานการเงินในช่วงที่ผ่านมาไม่ดีเลิศสวยหรูจริงๆ ก็ยากที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อ เพราะแหล่งเงินต่างๆ ขี้คร้านจะแบกรับหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ไปยึดรถคืนมาก็ไม่รู้จะนำออกประมูลขายได้เมื่อไหร่ ต้องมาแบกรับภาระอีก สู้เก็บเงินไว้ ไม่ปล่อยให้กู้ง่ายๆ สบายใจกว่า
ภาพโดยรวมของตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่เดือนตุลาคม 2566 มีการซื้อ-ขายกันรวมทั้งสิ้น 58,963 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.8 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 5,655 คัน ตัวเลขยอดจำหน่ายที่ได้มานี้ ต้องให้เครดิทกับรถยนต์นั่งที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนรถเพื่อการพาณิชย์ รวมถึงรถพิคอัพ มีแต่จะลดน้อยถอยลง ถึงแม้ความต้องการยังมี แต่อย่างที่บอก ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ส่งผลกระทบอย่างมากกับกลุ่มตลาดรถยนต์กลุ่มใหญ่นี้ สำหรับรถที่ทำตัวเลขยอดจำหน่ายได้มากสุดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ ประกอบด้วย TOYOTA (โตโยตา) 20,852 คัน ลดลง 18.0 % หรือลดลง 4,587 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 35.4 % ISUZU (อีซูซุ) 10,962 คัน ลดลง 22.2 % หรือลดลง 3,125 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 18.6 % HONDA (ฮอนดา) 7,306 คัน เพิ่มขึ้น 23.6 % หรือเพิ่มขึ้น 1,397 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 12.4 % BYD (บีวายดี) 3,840 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 6.5 % และ MG (เอมจี) 2,700 คัน เพิ่มขึ้นถึง 43.2 % หรือเพิ่มขึ้น 814 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 4.6 % มาแรงมากสำหรับรถจากประเทศจีนในช่วงท้ายของปี 2566
10 เดือนของปี 2566 ผ่านไป ตัวเลขยอดจำหน่ายรถใหม่สะสม รวมกันทั้งสิ้น 645,833 คัน ลดลงจากห้วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 7.5 % หรือเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ลดน้อยหายไป 52,472 คัน ถึงแม้รถยนต์จากประเทศจีนจะมาแรงในช่วงนี้ แต่เมื่อรวมตัวเลขยอดจำหน่ายจากเดือนแรกของปีมาจนถึงเดือน 10 รถที่ทำยอดจำหน่ายได้มากสุด 5 อันดับแรกยังคงเป็นยี่ห้อเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง นำโดย TOYOTA 220,144 คัน ลดลงจากปีก่อน 5.9 % หรือลดลง 13,914 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 34.1 % ตามด้วย ISUZU 131,256 คัน ลดลง 26.1 % หรือลดลง 46,458 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 20.3 % HONDA 77,188 คัน เพิ่มขึ้น 14.9 % หรือเพิ่มขึ้น 9,998 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 12.0 % FORD (ฟอร์ด) 31,329 คัน ลดลง 5.8 % หรือลดลง 1,943 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 4.9 % และ MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) 28,280 คัน ลดลง 33.8 % หรือลดลง 14,432 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 4.4 %
ในส่วนของตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน ฟ้ายังไม่สีทองผ่องอำไพอย่างต่อเนื่อง เดือนนี้จำหน่ายรวมกันได้ทั้งสิ้น 22,998 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคมปีก่อนถึง 35.1 % กล่าวคือ จำหน่ายรวมกันได้น้อยกว่าที่เคยทำไว้ในเดือนตุลาคมปีก่อนถึง 12,449 คัน ขณะที่หัวแถวกลับมาเป็นรถพิคอัพ ISUZU เดือนตุลาคม 2566 จำหน่ายได้ 9,725 คัน ลดลงจากตุลาคมปีก่อน 24.0 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 3,070 คัน ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 42.3 % อันดับ 2 TOYOTA จำหน่ายได้ 9,338 คัน ลดลง 37.8 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 5,682 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 40.6 % อันดับ 3 FORD จำหน่ายได้ 2,539 คัน ลดลง 49.7 % หรือลดลง 2,504 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 11.0 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 977 คัน ลดลง 48.5 % หรือลดลง 921 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 4.2 % และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) จำหน่ายได้ 308 คัน ลดลง 24.7 % หรือลดลง 101 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 1.3 %
เดือนตุลาคม 2566 รวมกับอีก 9 เดือนที่ผ่านมา รถพิคอัพ 1 ตัน จำหน่ายรวมทั้งสิ้น 278,897 คัน ลดลงจาระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน 25.7 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 96,370 คัน จำหน่ายได้มากที่สุด เมื่อหมดเดือนตุลาคม อันดับ 1 ISUZU จำหน่ายรวม 117,883 คัน ลดลง 28.1 % หรือลดลง 46,042 คัน ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 42.3 % อันดับ 2 TOYOTA 109,531 คัน ลดลง 24.0 % หรือลดลง 34,537 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 39.3 % อันดับ 3 FORD 31,312 คัน ลดลง 5.8 % หรือลดลง 1,922 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 11.2 % อันดับ 4 MITSUBISHI 14,767 คัน ลดลง 40.1 % หรือลดลง 9,880 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 5.3 % และอันดับ 5 NISSAN 3,813 คัน ลดลง 34.4 % หรือลดลง 1,999 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 1.4 %
มาถึงรถกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเอสยูวี ใครที่ชอบรถประเภทวิ่งทางดำก็ได้ทางแดงก็ดี รถประเภทนี้มีให้เลือกมากมายตั้งแต่ราคาเกินเอื้อมมาจนถึงจับต้องได้ และตลาดรถประเภทนี้ มีตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เดือนตุลาคม 2566 รถเอสยูวีจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 10,530 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมปี 2565 ถึง 124.3 % หรือเพิ่มขึ้น 5,835 คันโดยรถจากประเทศจีนพาเหรดเข้ามาอยู่ใน 5 อันดับหัวแถวถึง 3 ยี่ห้อ อันดับ 1 เป็นของ HONDA จำหน่ายได้ 3,844 คัน เพิ่มขึ้นถึง 744.8 % หรือเพิ่มขึ้นถึง 3,389 คัน ส่วนแบ่งการตลาดรับไป 36.5 % อันดับ 2 TOYOTA 3,433 คัน เพิ่มขึ้นถึง 111.3 % หรือเพิ่มขึ้น 1,808 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 32.5 % อันดับ 3 BYD 1,427 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 13.6 % อันดับ 4 ค่าย GREAT WALL MOTOR (กเรท วอลล์ มอเตอร์) 554 คัน เพิ่มขึ้น 7.8 % หรือเพิ่มขึ้น 40 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 5.3 % และอันดับ 5 MG จำหน่ายได้ 500 คัน ลดลง 50.2 % หรือลดลง 504 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 %
เดือนมกราคมถึงตุลาคม 2566 รถเอสยูวีจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 89,903 คัน เพิ่มขึ้น 38.3 % หรือเพิ่มขึ้น 24,879 คัน จำหน่ายได้มากสุดอันดับ 1 HONDA 29,819 คัน เพิ่มขึ้น 89.3 % หรือเพิ่มขึ้น 14,070 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 33.2 % อันดับ 2 TOYOTA 18,369 คัน ลดลง 1.9 % หรือลดลง 353 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 20.4 % อันดับ 3 BYD 17,350 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 19.3 % อันดับ 4 MAZDA (มาซดา) 6,209 คัน ลดลง 42.2 % หรือลดลง 4,524 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 6.9 % และอันดับ 5 MG 6,023 คัน ลดลง 29.3 % หรือลดลง 2,495 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 6.7 %
รถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เดือนตุลาคม 2566 จำหน่ายได้รวม 3,305 คัน ลดลง 34.0 % หรือลดลง 1,703 คัน รวม 10 เดือนจำหน่ายแล้วรวม 39,235 คัน ลดลง 7.0 % หรือลดลง 2,671 คัน เดือนตุลาคม 2566 มีการจดทะเบียนรถเอสยูวี และรถพิคอัพ 1 ตัน รวมทั้งสิ้น 32,900 คัน ลดลง 14.9 % หรือลดลง 5,749 คัน