รอบรู้เรื่องรถ
แบทเตอรีตะกั่ว-น้ำกรด ที่ไม่มีวันล้าสมัย (ตอนจบ)
เรื่องแบทเตอรีที่ท่านผู้อ่านถืออยู่ข้างหน้านี้ เป็นเรื่องที่ 2 ที่มีความยาวเป็นพิเศษ เรื่องแรกเท่าที่ผมจำได้ น่าจะเป็นการปรับแดมเพอร์ประเภทที่ผู้ผลิตออกแบบมา ให้ปรับได้ตามความต้องการของผู้ใช้ ทั้ง 2 เรื่องนี้ เท่าที่ผมทราบ ไม่มีนิตยสารรถที่ไหนในโลก นำมาสมนาคุณต่อผู้อ่านนะครับ ถ้าจะกล่าวให้ตรงกว่านี้ก็คือ ไม่มี “คอลัมนิสต์” ของนิตยสารรถคนไหน จะยอมเหนื่อย และเสียเวลาทำอย่างนี้ ผมจึงอยากให้ผู้ที่รู้คุณค่า เก็บสะสมไว้นะครับ ในรูปแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระดาษที่ตัดออกมาจากนิตยสารเลย หรือภาพถ่ายด้วยกล้องอีเลคทรอนิคชนิดใดก็ตาม วันใดที่มีข้อสงสัย จะได้นำกลับมาอ่านใหม่ได้ครับ ผมขอเข้าเรื่องแบทเตอรีต่อเลยนะครับ
ส่วนการประจุ หรืออัดไฟ โดยไม่ใช้อัลเทอร์เนเตอร์ของรถ แต่ใช้เครื่องประจุไฟฟ้า หรือเรียกกันง่ายๆ ตามความนิยมว่า “เครื่องอัดไฟ” ซึ่งมีทั้งแบบกระแสคงที่ กับแบบปรับกระแสอัตโนมัติ คือ ลดกระแสไฟฟ้าให้น้อยลง เมื่อแบทเตอรีมีประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ที่เรียกกันง่ายๆ ว่าเครื่องอัดไฟแบบอัตโนมัติ แบบนี้เราไม่ต้องทำอะไรครับ นอกจากต่อสายไฟเข้ากับขั้วแบทเตอรี แล้วเสียบปลั๊ก กะเวลาที่จะใช้ในการประจุ แบบนี้ถึงลืมก็ไม่มีโทษ หรืออันตรายใดๆ เพราะวงจรของเครื่องอัดไฟ จะลดกระแสลงเหลือน้อยมาก เมื่อแบทเตอรีเต็ม ส่วนเครื่องอัดไฟแบบที่ตั้งค่ากระแสไฟฟ้าคงที่ได้ เป็นแบบเก่า หรือแบบราคาถูกกว่า ซึ่งถ้าผู้ใช้มีความรู้ และความเข้าใจเพียงพอ ก็จะกลับมีข้อได้เปรียบเครื่องอัดไฟแบบอัตโนมัติได้เหมือนกัน เพราะใช้เวลาในการอัดไฟน้อยกว่า เพียงแต่ต้องเลือกค่ากระแสให้เหมาะสม และเฝ้าระวัง จำกัดเวลาในการอัดให้ถูกต้อง
การอัดไฟเข้าแบทเตอรี ให้เน้นใช้กระแสไฟฟ้าน้อย และเวลามากครับ โดยคำนวณจากความจุของแบทเตอรี ถ้ามีเวลาเพียงพอ ให้ใช้ค่ากระแสไฟฟ้าเพียง 5 % ของค่าความจุแบทเตอรีที่มีหน่วยเป็นแอมแปร์ชั่วโมง เช่น แบทเตอรีมีความจุ 50 AH 5 % ของ 50 ก็คือ 2.5 ตั้งค่ากระแสไฟฟ้าที่เครื่องอัด 2.5 แอมแปร์ แล้วใช้เวลาอัด 20 ชม. ถ้าจะให้ดีเพิ่มอีกสัก 10 % ของเวลา คือ 2 ชม. เป็น 22 ชม. เมื่อแบทเตอรีใกล้เต็ม จะมีฟองแกสผุดขึ้นมาสม่ำเสมอ วิธีนี้กินเวลานานมากครับ ส่วนใหญ่เรามักต้องการใช้รถ และไม่มีเวลาเหลือเฟือขนาดนั้น ก็ต้อง "เดินสายกลาง" โดยใช้กระแส 10 % ของความจุจากตัวอย่างเดิม 50 AH ก็ใช้ค่า 5 แอมแปร์ ใช้เวลาอัด 10 ชม. (5x10 = 50) บวกอีก 1 ชม. ลดเวลาที่ต้องรอลงเหลือครึ่งหนึ่ง โดยไม่ให้โทษต่อแบทเตอรีด้วย คราวนี้ถ้าค่อนข้างรีบ ใช้กระแส 20 % ของค่าความจุ ในเวลาเพียง 5 ชม. เศษๆ ก็ยังไม่ถึงกับบั่นทอนอายุใช้งานของแบทเตอรีนัก และถ้าจำเป็นจริงๆ เช่น ต้องไปให้ทันนัดสำคัญ สามารถทารุณแบทเตอรี โดยใช้กระแส 40 % หรือถึง 50 % ครับ แต่อย่ารอจนแบทเตอรีเกือบเต็ม ในเวลา 2 ถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง อัดกระแสสูงสักชั่วโมงเดียว แล้วค่อยลดกระแสลงมา หรือไม่ก็ใส่รถพอสตาร์ทเครื่องยนต์ได้ แล้วให้อัลเทอร์เนเตอร์อัดไฟไปเรื่อยๆ ขณะใช้รถก็ยังได้
ค่าทั้งหมดที่ผมยกตัวอย่างมานี้ ใช้กับแบทเตอรีที่ไฟหมดเกลี้ยงนะครับ เช่น เปิดไฟทิ้งไว้ หรือบิดกุญแจไว้ในตำแหน่ง ON ถ้าแบทเตอรีมีประจุเหลืออยู่ ก็ต้องลดเวลาที่ใช้อัดไฟลงไปตามที่เราประมาณ ถ้าไม่มีไฮโดรมิเตอร์ เพื่อวัดความถ่วงจำเพาะ (แบทเตอรีเต็ม เมื่อน้ำกรดมีค่าความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.24 กรัม/ซีซี) ให้คอยสังเกตฟองแกสของทุกเซลล์ครับ (6 เซลล์ สำหรับแบทเตอรี 12 โวลท์) เปิดฝาดูว่ามีฟองแกสผุดขึ้นมาค่อนข้างมากสม่ำเสมอทุกช่อง (แต่ถ้าเป็นแบทเตอรีที่นิยมกันในยุคนี้ ก็ต้องข้ามขั้นตอนนี้ไป ทำได้แค่สังเกตสีที่ช่องบอกประจุ หรือที่เรียกกันว่า “ตาแมว”) ก็ถือว่าเกือบเต็มแล้วครับ ใช้งานได้เหลือเฟือ อย่าเสี่ยงอัดด้วยกระแสสูงจนเต็มจริงๆ
ความจุพลังงานไฟฟ้าของแบทเตอรี ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิด้วยครับ เพราะเราแปลงมาจากพลังงานทางเคมี ยกตัวอย่างเช่น แบทเตอรีความจุ 60 AH แล้วอัดไฟจนเต็ม มีความจุ 60 AH ที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส แต่ที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส มันจะมีความจุลดลง เหลือเพียง 43 AH หรือ 87 % ของความจุมาตรฐานเท่านั้น และที่ -10 องศาเซลเซียส จะเหลือแค่ 57 % เท่านั้นครับ ในทางตรงกันข้าม ถ้าร้อนขึ้น เช่น ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ความจุก็จะเพิ่มขึ้นอีกราวๆ 9 % ด้วยเหตุนี้รถที่จะติดเครื่องยนต์ได้ตอนเช้า หลังจากจอดทิ้งไว้ทั้งคืน ในหน้าหนาวของประเทศแถบเหนือเส้นศูนย์สูตรมากๆ จึงต้องมีแบทเตอรีที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์จริงๆ เช่น ที่อุณหภูมิ -10 องศาเซลเซียส นอกจากความจุจะเหลือเพียงครึ่งเดียวแล้ว กระแสที่แบทเตอรีจ่ายให้แก่มอเตอร์สตาร์ท ก็น้อยกว่าปกติด้วย แล้วยังต้องเผชิญกับความเหนียวของน้ำมันเครื่อง ที่ข้นหนืดตอนเย็นเฉียบ และทำให้ต้องใช้แรงบิดสูงขึ้นในการหมุนเครื่องยนต์ สมมติว่าวันนี้อากาศของเมืองไทยมีอุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ผมรับรองว่าจะเหลือจำนวนรถที่สามารถติดเครื่องยนต์ได้ไม่ถึงครึ่งแน่นอน เพราะส่วนใหญ่ของแบทเตอรีในรถของพวกเรา ไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พอครับ
การเก็บแบทเตอรีที่ไม่ใช้เป็นเวลานาน เช่น เกินหนึ่งเดือนจนถึงหลายเดือน ไม่ควรทิ้งไว้โดยต่อขั้วทั้งสองกับสายไฟของรถ เพราะอาจมีตำแหน่งของระบบไฟฟ้าที่กระแสรั่วไหลอยู่ ปลดสายไฟออกจากขั้ว แล้วเช็ดส่วนบนของแบทเตอรี รวมทั้งโคนขั้วให้สะอาด เพื่อป้องกันกระแสไฟรั่วผ่านความชื้นของเปลือกแบทเตอรี ถ้าที่จอดรถถูกแดด หรืออุณหภูมิรอบข้างสูง ยกแบทเตอรีออกมาเก็บไว้ในที่เย็นที่สุดเท่าที่จะหาได้เลยครับ ความร้อนทำให้ประจุของแบทเตอรีลดลงอย่างเร็ว แม้จะไม่ได้ใช้เลย และอยู่ในที่ไม่ร้อนนัก เช่น ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส ประจุไฟฟ้าก็ยังลดลงราวๆ วันละเกือบ 1 % ไม่ได้หมายความว่า หมดเกลี้ยงภายใน 100 วันนะครับ แต่หมายถึงความจุในวันรุ่งขึ้นจะเหลือราว 99 % ของวันนี้ สมมติว่าเราอยากรู้ว่าหลังจาก 15 วัน จะเหลือความจุกี่เปอร์เซนต์ของวันนี้ ก็เอา 0.99 คูณกัน 15 ครั้ง หรือยกกำลัง 16 แล้วคูณด้วย 100 ก็จะได้ราวๆ 0.85 คูณด้วย 100 เป็น 85 % ถ้าเก็บในที่ร้อนกว่า ชื้นกว่า ก็จะเหลือน้อยกว่านี้อีก เพราะฉะนั้นที่ๆ เหมาะต่อการเก็บแบทเตอรีที่ไม่ใช้เป็นเวลานาน คือ ที่เย็น แห้ง และสะอาด หมายถึง ไม่มีฝุ่นนะครับ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ห้ามปล่อยแบทเตอรีไว้ในสภาพที่ไม่มีประจุไฟฟ้า หรือมีน้อยมาก เพราะจะเกิดซัลเฟทจับแน่นที่แผ่นตะกั่ว แบทเตอรีที่ถูกใช้จนหมดเกลี้ยง หรือเกือบหมด เช่น ลืมปิดไฟส่องสว่าง หรือวิทยุ หรือเครื่องยนต์มีปัญหา สตาร์ทจนประจุเกือบหมด ถ้าไม่มีเครื่องอัดไฟเอง ก็ต้องรีบถอดส่งร้านแบทเตอรี เพื่ออัดไฟโดยเร็วที่สุดครับ
สิ่งที่ต้องระวังถัดมา คือ ระดับน้ำกรดในแบทเตอรี ต้องให้ท่วมส่วนบนของแผ่นตะกั่วอย่างน้อย 1 ซม. เติมตามระดับที่บอกไว้ด้านข้าง หรือให้ระดับน้ำถึงปลายล่างของช่องเติมจะดีที่สุด เพราะถึงจะท่วมแผ่นตะกั่ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หมายความว่า น้ำกรดเข้มข้นเกินไป ทำให้แผ่นตะกั่วเสื่อมเร็วขึ้น เพราะระดับน้ำกรดที่ลดลง เป็นเพราะน้ำกลั่นเปลี่ยนสภาพเป็นไฮโดรเจน และออกซิเจน กับอีกส่วนที่ระเหยแบบธรรมดาที่ผิวบน แต่ส่วนที่เป็นกรดกำมะถันยังคงอยู่เท่าเดิม น้ำกรดจึงเข้มข้นขึ้น เพราะฉะนั้นควรรักษาระดับน้ำกรดไว้ที่ตำแหน่งสูงสุด โดยการเติมน้ำกลั่นสม่ำเสมอครับ
ถ้าขั้วสายไฟที่ขั้วแบทเตอรี รวมทั้งนอทที่ขันยึด มีคราบขาวที่ช่างเรียกกันว่า "ขี้เกลือ" พอกอยู่ ถอดขั้วสายไฟไม่ออก อย่างัด หรือทุบนะครับ เอาน้ำอุ่นราดแล้วรอให้ละลายสักครู่ค่อยถอด ถ้าไม่มีน้ำอุ่น ใช้น้ำประปาก็ได้เหมือนกัน
ก่อนที่จะจบ ผมอยากจะฝากไว้ว่า พวกเราผู้ใช้รถ ซึ่งก็คือผู้บริโภคสินค้า ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้สินค้าคุณภาพสูงพอ แลกกับเงินที่พวกเราจ่ายไป การเอาแบทเตอรี "ห่วยๆ" (ผมว่าคงสุภาพกว่าคำว่า เฮงซวย) มาขายพวกเรา โดยรับประกันคุณภาพแค่ 6 เดือนนั้น เอาเปรียบเกินไป ทำไมพวกเราต้องเสียเงินซื้อแบทเตอรีใหม่ เพียงเพราะมันเสียหลังจากใช้งาน และดูแลอย่างถูกต้องแค่ 9 หรือ 10 เดือนด้วย ระยะประกันคุณภาพที่ยุติธรรม ต้องไม่ต่ำกว่า 10 ถึง 12 เดือนครับ ยังโชคดีที่มีผู้ผลิตบางราย รับประกันคุณภาพเป็นเวลาถึง 18 เดือน หรือ 1 ปีครึ่ง ถึงจะเป็นรุ่นพิเศษหน่อย แต่เขาก็ไม่ได้ขายในราคาที่สูงนักครับ