วิถีตลาดรถยนต์
ปี 2566 จบไม่สวย
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนธันวาคม 2023/2022
ตลาดโดยรวม -17.5 %
รถยนต์นั่ง +5.8 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +34.0 %
กระบะ 1 ตัน -44.5 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -0.2 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-ธันวาคม 2023/2022
ตลาดโดยรวม -8.7 %
รถยนต์นั่ง +10.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +38.1 %
กระบะ 1 ตัน -28.5 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -6.0 %
ไม่ผิดความคาดหมายไปสักเท่าไรสำหรับตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงปี 2566 ที่จะปรับตัวลดลงจากปี 2565 ซึ่งก็มาจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งการที่เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวดี หนี้สินครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน และอื่นๆ ถึงแม้ปี 2566 จะมีรถยนต์รุ่นใหม่ ยี่ห้อใหม่ ทางเลือกของการใช้พลังงานเพื่อการขับเคลื่อน และพโรโมชันพิเศษต่างๆ
สำหรับเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปี ถึงแม้จะเป็นเดือนที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงสุดในรอบปี และเป็นเดือนที่ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบปี เดือนธันวาคม ปี 2566 ก็ไม่ต่างไปจากที่ผ่านมา แต่นั่นยังไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งปีดีดตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2565 ได้ และถึงแม้ว่างานมหกรรมยานยนต์ หรือ MOTOR EXPO ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงต้นเดือนธันวาคมจะประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งยวด ทั้งในด้านของยอดจองรถยนต์ใหม่ และผู้เข้าชมงานก็ตาม
งาน MOTOR EXPO 2023 เป็นการจัดงานเป็นปีที่ 40 มียอดผู้เข้าชมงานกว่า 1.5 ล้านคน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในช่วงระยะการจัดงานกว่า 7.2 หมื่นล้านบาท มีบแรนด์รถยนต์ทั้งใหม่ และเก่า ใช้เป็นเวทีเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่กันมากมายหลายรุ่น หลายโมเดล มียอดจองรถยนต์รวมกันถึง 53,248 คัน เพิ่มขึ้นกว่าปี 2565 ถึง 45.2 % โดยรถยนต์ที่มียอดจองสูงสุดประกอบด้วย TOYOTA (โตโยตา) 7,245 คัน, HONDA (ฮอนดา) 6,149 คัน, BYD (บีวายดี) 5,455 คัน, AION (ไอออน) 4,568 คัน, MG (เอมจี) 3,568 คัน, CHANGAN (ฉางอัน) 3,549 คัน, GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) 3,524 คัน, ISUZU (อีซูซุ) 2,460 คัน, NISSAN (นิสสัน) 2,456 คัน และ MAZDA (มาซดา) 1,961 คัน แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงเป็นยอดสั่งจอง ยังต้องฝ่าด่านการอนุมัติสินเชื่อ การรอส่งมอบอีก ตัวเลขที่แท้จริงก็จะไปทยอยทบเข้าไปในตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ของปี 2567 กันต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ของเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ 68,326 คัน ลดลง 17.5 % หรือลดลง 14,473 คัน เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายของเดือนธันวาคม 2565 ในบรรดารถยนต์ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดของเดือนธันวาคมนี้ มีเพียง HONDA กับ BYD ที่มีตัวเลขย
อดจำหน่ายที่ปรับตัวเพิ่มมากขึ้น นอกนั้นปรับตัวลดลง โดย TOYOTA จำหน่ายได้ 24,105 คัน ลดลง 20.2 % หรือลดลง 6,092 คัน ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 35.3 % ISUZU จำหน่ายได้ 10,264 คัน ลดลง 43.7 % หรือลดลง 7,952 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 15.0 % HONDA จำหน่ายได้ 9,820 คัน เพิ่มขึ้น 18.0 % หรือเพิ่มขึ้น 1,496 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 14.4 % BYD จำหน่ายได้ 4,055 คัน เพิ่มขึ้นถึง 1,199.7 % หรือเพิ่มขึ้น 3,743 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 5.9 % และ FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้ 2,828 คัน ลดลง 49.0 % หรือลดลง 2,721 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 4.1 %
สรุปปี 2566 ทั้งรถยนต์ยี่ห้อใหม่ และเก่า มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 775,780 คัน ลดลง 8.7 % หรือลดน้อยลงไป 73,608 คัน เมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายรวมปี 2565 โดยแชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดยังคงเป็นพี่ใหญ่ TOYOTA ที่คว้าแชมพ์ไปครองอย่างต่อเนื่อง ด้วยยอดรวม 265,949 คัน แต่เมื่อเทียบกับปี 2565 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ลดน้อยลง 7.9 % หรือขายได้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา 22,860 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 34.3 % อันดับ 2 ISUZU 151,935 คัน ขายได้น้อยลง 28.5 % หรือขายได้น้อยลง 60,556 คัน ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 19.6 % อันดับ 3 HONDA 94,336 คัน จำหน่ายได้เพิ่มขึ้น 13.9 % หรือเพิ่มขึ้น 11,494 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 12.2 % อันดับ 4 FORD 36,483 คัน ลดลง 16.4 % หรือลดลง 7,145 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 % และอันดับ 5 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) 32,668 คัน ลดลง 35.2 % หรือลดลง 17,717 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 4.2 %
ปี 2566 ตลาดรถพิคอัพไม่สดใสเอาเสียเลย เดือนธันวาคมน่าจะมีตัวเลขยอดจำหน่ายที่สวยหรูสักหน่อย แต่ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดจำหน่ายรวมทั้งตลาดอยู่ที่ 24,023 คัน ลดลงถึง 44.5 % หรือจำหน่ายรวมกันได้น้อยลง 19,299 คัน เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 และเป็นพิคอัพ HILUX REVO (ไฮลักซ์ รีโว) ของ TOYOTA ที่ยึดจ่าฝูงได้อีกเดือนหนึ่งจากยอดจำหน่าย 10,614 คัน แต่ก็ยังลดลงจากเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา 41.3 % หรือน้อยลง 7,469 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 44.2 % ตามด้วย D-MAX (ดี-แมกซ์) ของ ISUZU จำหน่ายได้ 9,090 คัน ลดลงถึง 45.4 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 7,548 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 37.8 % พิคอัพ RANGER (เรนเจอร์) ของ FORD จำหน่ายได้ 2,825 คัน ลดลงถึง 49.0 % หรือลดลง 2,718 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 11.8 % พิคอัพ TRITON (ทไรทัน) ของ MITSUBISHI จำหน่ายได้ 1,063 คัน ลดลง 1,297 คัน หรือลดลงถึง 55.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.4 % และพิคอัพตระกูล NAVARA (นาวารา) ของ NISSAN จำหน่ายได้ 353 คัน ลดลง 17.7 % หรือลดลง 76 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 %
สรุปตัวเลขยอดจำหน่ายรถพิคอัพประจำปี 2566 อยู่ที่ 325,024 คัน เทียบกับปี 2565 แล้วปรากฏว่ามีตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลง 28.5 % หรือทำยอดจำหน่ายได้น้อยลงถึง 129,851 คันเลยทีเดียว แชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดปี 2566 ยังคงเป็นแชมพ์เก่า ISUZU ที่จำหน่ายได้ 136,350 คัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับตัวเลขที่เคยทำได้ในปี 2565 แล้วเป็นยอดจำหน่ายที่ลดน้อยลง 30.4 % หรือขาดหายไป 59,595 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 42.0 % อันดับ 2 TOYOTA 128,689 คัน ลดลง 26.8 % หรือขาดหายไป 47,097 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 39.6 % อันดับ 3 FORD 36,461 คัน ลดลง 16.3 % หรือลดลง 7,121 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 11.2 % อันดับ 4 MITSUBISHI 17,142 คัน ลดลง 40.8 % หรือลดลง 11,836 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 5.3 % และอันดับ 5 NISSAN 4,618 คัน ลดลง 29.1 % หรือลดลง 1,898 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 1.4 % สรุปว่าพิคอัพมียอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลงทั้งตลาดในปี 2566
ตลาดรถเอสยูวี นอกจากจะมีตัวเลือกมากมายแล้ว ยังเป็นตลาดหนึ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เดือนธันวาคม 2566 ทั้งตลาดจำหน่ายได้รวม 13,359 คัน เพิ่มขึ้น 34.0 % หรือเพิ่มขึ้น 3,393 คัน เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 ตัวเลขยอดจำหน่ายสูงสุดเดือนธันวาคมนี้ ประกอบด้วย TOYOTA 5,244 คัน เพิ่มขึ้นถึง 132.7 % หรือเพิ่มขึ้น 2,990 คัน เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 ส่วนแบ่งการตลาด 39.3 % ตามด้วย HONDA 4,394 คัน เพิ่มขึ้น 73.1 % หรือเพิ่มขึ้น 1,856 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 32.9 % GWM 907 คัน ลดลง 11.9 % หรือลดลง 122 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 6.8 % MG 728 คัน ลดลง 30.4 % หรือลดลง 318 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 5.4 % และ BYD 721 คัน เพิ่มขึ้น 131.1 % หรือเพิ่มขึ้น 409 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 5.4 % เท่ากับ MG
สรุปปี 2566 รถเอสยูวีจำหน่ายได้รวมกันทั้งสิ้น 114,486 คัน เพิ่มขึ้น 38.1 % หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 31,592 คัน แชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดของรถยนต์กลุ่มนี้เป็นของ HONDA ด้วยยอดจำหน่ายรวมทั้งปี 37,613 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 77.6 % หรือจำหน่ายได้มากขึ้น 16,436 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 32.9 % อันดับ 2 TOYOTA 28,160 คัน เพิ่มขึ้น 24.4 % หรือเพิ่มขึ้น 5,516 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 24.6 % อันดับ 3 BYD 19,213 คัน เพิ่มขึ้นถึง 6,058.0 % หรือเพิ่มขึ้น 18,901 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 16.8 % อันดับ 4 MG 7,332 คัน ลดลง 30.2 % หรือลดลง 3,165 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 6.4 % และอันดับ 5 GWM 6,993 คัน ลดลง 4.1 % หรือลดลง 297 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 6.1 %
สำหรับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เดือนธันวาคม 2566 จำหน่ายได้รวม 4,803 คัน ลดลง 0.2 % หรือลดลง 10 คัน เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 สรุปปี 2566 รถยนต์กลุ่มนี้จำหน่ายได้รวม 43,765 คัน ลดลง 6.0 % หรือลดลง 2,785 คัน เมื่อเทียบกับปี 2565
รถเอสยูวี และรถพิคอัพ เดือนธันวาคม 2566 มีการจดทะเบียนใช้งานถูกต้องรวม 22,867 คัน ลดลง 26.9 % หรือลดลง 8,397 คัน เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565