ทดสอบ(formula)
โตโยตา ฟอร์ทูเนอร์ 2.7 วี
ข้อเด่น
- ภายนอกสวย ลงตัวทุกสัดส่วน
- ภายในสะดวกสบาย เทียบเท่าเอสยูวีหรู
- เครื่องยนต์เงียบ
- ราคาถูกกว่ารุ่นดีเซล
ข้อด้อย
- ช่องแอร์หลังอยู่ด้านล่าง พับเบาะแถวที่ 3 แล้ว ใช้ไม่ได้
ฟันธง
- หน้าตาดี เครื่องยนต์เงียบ ภายในกว้างสบาย
รถกิจกรรมกลางแจ้ง หน้าใหม่ ที่ฉีกแนวจากสปอร์ทไรเดอร์ ด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ระบบรองรับแบบคอยล์สปริง และเครื่องยนต์ 163 แรงม้า
ฟอร์ทูเนอร์ (FORTUNER) เป็นรถเอสยูวี รุ่นใหม่ ที่ โตโยต้า ฯ พัฒนาขึ้นมาจากพิคอัพ วีโก (VIGO) และนำมาแทน สปอร์ทไรเดอร์ (SPORT RIDER) ซึ่งเป็นพีพีวี หรือรถที่มีพื้นฐานมาจากพิคอัพรูปแบบเดิมๆ
ภายนอก
เท่ดุ ต่างจาก วีโก
4 ดาว
แม้ว่าจะมีพื้นฐานมาจาก วีโก แต่การออกแบบตกแต่งปรับเปลี่ยนหน้าตาใหม่โดยเน้นมาดสปอร์ทมากขึ้น ทั้งกันชน โคมไฟ และกระจังหน้า พร้อมทั้งแนวเสา "ซี" ตัดเฉียงคล้ายกับ เลกซัส อาร์เอกซ์ 300 ทำให้ ฟอร์ทูเนอร์ มีส่วนท้ายสั้นกระชับไม่เทอทะเหมือนรถพิคอัพดัดแปลงรุ่นเก่าๆ
เมื่อเปรียบเทียบขนาดกับ สปอร์ทไรเดอร์ มีมิติตัวถังของ ฟอร์ทูเนอร์ ที่สั้นกว่าแต่กว้างกว่า 50 มม.
รูปทรงโค้งมน ลดเสียงลมปะทะ โคมไฟหน้าคู่ขนาดใหญ่กว่า วีโก กระจังหน้าแบบชั้นทำให้หน้าตาดูดีขึ้น และกันชนใหม่ออกแบบรับกับตัวรถพร้อมไฟตัดหมอกทรงกลมขนาด 5 นิ้ว ที่เน้นมาดดุสไตล์เอสยูวี
เสาอากาศแบบฝังซ่อนในกระจกหน้าต่างด้านท้าย ไฟท้ายแบบเลนส์ใส และสปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรค แอลอีดี ทำได้เรียบร้อยและบอกถึงความตั้งใจของผู้สร้าง ล้ออัลลอยลาย 6 ก้าน ขนาดใหญ่ พร้อมยางขนาด 265/70/16 ที่ให้มาก็พอใช้ แต่ที่ไม่ควรใส่ก็พวกโครเมียมที่กระจกมองข้าง และมือจับประตูแบบดึงเปิด กับบันไดข้างที่คล้ายพิคอัพ
ภายใน
น้องๆ เอสยูวีระดับหรู
4 ดาว
มาตรวัดเรืองแสง มองเห็นชัดเจนทั้งกลางวัน/กลางคืน ระบบเครื่องเสียงคุณภาพดี เล่นวิทยุ/เทปและซีดี 6 แผ่น พร้อมระบบ MP3 ลำโพง 6 ทิศทาง และลำโพงทวีเตอร์ 2 ตำแหน่งคันเกียร์อัตโนมัติแบบขั้นบันได ใช้งานง่าย
อุปกรณ์มาตรฐานเพียบ ไม่ว่าจะเป็น จอแสดงข้อมูลจากการขับที่บอกทั้ง อุณหภูมิ และอัตราสิ้นเปลือง พวงมาลัยแบบมัลทิฟังค์ชัน พร้อมสวิทช์ควบคุมเครื่องเสียง และจอแสดงข้อมูล ที่แป้นพวงมาลัย ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกควบคุมอุปกรณ์ได้โดยไม่ต้องละมือจากพวงมาลัยเซนเตอร์ลอคอัตโนมัติที่ความเร็ว 40 กม./ชม.
เบาะนั่งหนังแท้ขนาดใหญ่ทั้ง 7 ที่นั่ง เบาะคู่หน้าขนาดใหญ่ เบาะแถวที่ 2 แบ่งพับ 60/40 ได้ และแถวที่ 3 แยกพับซ้าย/ขวา เพิ่มพื้นที่ใช้งาน และบรรทุกสัมภาระ ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบดิจิทอล พร้อมสวิทช์ควบคุมด้านหลัง ช่องลมตอน 3 ตอน ช่วยกระจายลมได้ดี ถ้าไม่มีการพับเบาะขึ้น
ระดับเสียงภายในอยู่ในระดับ 40.5 เดซิเบล เมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ ปิดแอร์ และ 69.8 เดซิเบลขณะใช้ความเร็ว 140 กม./ชม. เปิดแอร์ เพราะเสียงยางและรอบเครื่องยนต์ แต่ก็ไม่น่าเกลียดจนรับไม่ได้
สมรรถนะ
พอตัว แต่เป็นรองแค่ ดี-โฟร์ดี
3 ดาว
สำหรับผู้ต้องการความเงียบเลือกเครื่องยนต์เบนซิน รหัส 2TR-FE ขนาด 2.7 ลิตร 4 สูบ ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 16 วาล์ว พร้อมระบบวาล์วแปรผัน VVT-I ให้กำลังสูงสุด 160 แรงม้า ที่ 5,200 รตน. แรงบิดสูงสุด 24.6 กก.-ม. ที่ 3,800 รตน. เพราะไม่มีเสียงดังรบกวนชาวบ้านให้ได้ยิน
เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ทำงานร่วมกับลิ้นปีกผีเสื้อ และคันเร่งไฟฟ้า ควบคุมด้วยระบบอีเลคทรอนิคส์ ให้การตอบสนองที่รวดเร็ว พร้อมระบบ ฟเลกซ์ลอคอัพ คลัทช์คอนทโรล ที่ทำให้การถ่ายทอดกำลังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ตลอดเวลา ส่งกำลังไปยังล้อทั้ง 4 อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกดปุ่มหรือเปลี่ยนเกียร์ โดยมีระบบป้องกันการหมุนฟรีแบบ "TORSEN CENTER LSD" ที่ติดตั้งอยู่ในระบบเฟืองท้ายกลาง วัดค่าแรงบิดจากศูนย์กลาง และกระจายแรงบิดที่ส่งไปยังล้อหน้ากับล้อหลัง ตามสภาพถนน ช่วยเพิ่มความสมดุลในขณะเข้าโค้ง และมีโหมด HL (HIGH LOCK) และ LL (LOW LOCK) ให้เลือกใช้ตามความต้องการ
จากการทดลองขับจะเห็นได้ว่า ในรุ่นเครื่องยนต์เบนซินจะเน้นรูปแบบการขับที่นุ่มนวลกำลังและแรงบิดที่ส่งออกมาจึงไม่หวือหวา
ผลจากเครื่องมือวัดสมรรถนะดาทรอน ในตำแหน่งเกียร์ "D" อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 13.8 วินาที ใช้ระยะทาง 227 ม. 0-400 ม. ในเวลา 19.4 วินาที และระยะ 0-1 กม. กับเวลา 35.7 วินาที ซึ่งความเร็วขึ้นไปเพียง 144 กม./ชม. ส่วนความเร็ว 0-160 กม./ชม. ต้องแช่คันเร่งนานมาก ใช้ทางกว่า 2 กม. เสี่ยงเกินไป จึงไม่มีผลออกมา
การตอบสนองคันเร่ง สม่ำเสมอช่วงต้นและกลาง 60-100 กม./ชม. 8.2 วินาที และ 80-120 กม./ชม. 10.1 วินาที ในขณะที่ 40-120 กม./ชม. 17.4 วินาที ใช้ระยะทางถึง 426 ม.
การบังคับควบคุม
แน่น ขับง่าย นิ่ง นั่งสบาย
3 ดาว
ระบบรองรับด้านหน้าที่ยกชุดจาก วีโก ทั้งปีกนกคู่ กับคอยล์สปริง ให้ความนุ่มนวล น่าใช้เช่นเดิมแต่ด้านหลังได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นแขนยึดแบบ 4 จุด และคอยล์สปริง กับคานแข็งที่เน้นความแข็งแรง ช่วยลดอาการสั่นสะท้านของช่วงล่างแบบเดิมและระบบขับเคลื่อนสี่ล้อที่มีระบบป้องกันการหมุนฟรีแบบ TORSEN CENTER LSD ที่ติดตั้งอยู่ในระบบเฟืองท้ายกลาง วัดค่าแรงบิดจากศูนย์กลาง และกระจายแรงบิดที่ส่งไปยังล้อหน้า/หลัง อย่างเหมาะสม ให้ความนุ่มนวลในการขับมากขึ้น
ปกติกำลังจะถูกถ่ายทอดที่ล้อทั้ง 4 โดยแบ่งหน้า/หลัง ตามสัดส่วน 50/50 แต่เมื่อรถวิ่งเร็วขึ้นกำลังเครื่องยนต์จะถูกถ่ายทอดไปยังล้อหลังมากขึ้นตามสัดส่วน ตั้งแต่ 49/51 เรื่อยไป จนถึงสูงสุดที่ 30/70 เน้นประสิทธิภาพการทรงตัวและยึดเกาะถนนมาก
จานเบรคขนาดใหญ่ และคาลิเพอร์เบรคคู่ ระบบเบรคป้องกันล้อลอค เอบีเอส วาล์วปรับแรงดันน้ำมันเบรค แอลเอสพีวี
ผลจากเครื่องวัดสมรรถนะดาทรอน ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. หยุดนิ่งได้ในระยะ 16.7 ม. ในเวลา 1.9 วินาที คิดเป็นแรงจี 0.97 และความเร็ว 80 กม./ชม. ในระยะ 28.7 ม. ในเวลา 2.5 วินาที แรงจี 0.92 ตัวเลขที่ได้ดูแล้ว ต้องบอกว่าดีทีเดียวสำหรับรถที่มีน้ำหนักตัวถึง 1.8 ตัน
สรุป
น่าใช้ พอๆ กับเอสยูวีหรู
ฟอร์ทูเนอร์ มาทดแทน สปอร์ท ไรเดอร์ ได้อย่างสบาย และเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดเดียวกันก็หาคู่เปรียบค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเครื่องยนต์เบนซิน ที่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อทันสมัยและช่วงล่างคอยล์สปริงที่มีให้ประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนดี บอกได้เลยว่าน่าใช้
สนนราคาค่าตัวของ โตโยตา ฟอร์ทูเนอร์ รุ่นเบนซิน 2.7 วี ราคา 1,119,000 บาท ต่ำกว่ารุ่นดีเซล 3.0 วี 1 แสนบาท ทำให้ต้องคิดทบทวนแบบ "รักพี่เสียดายน้อง" แต่ถ้าเทียบกับเอสยูวีพันทางที่ใช้ระบบขับเคลื่อน 4ล้อแบบเรียลไทม์ทั้ง ฟอร์ด/ฮอนดา และมาซดา ล่ะก็ ฟอร์ทูเนอร์ "คุ้มกว่า"
ข้อมูลจำเพาะ โตโยตา ฟอร์ทูเนอร์ 2.7 จี
ตัวแทนจำหน่าย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
โทร. 0-2386-1000
มิติ และน้ำหนัก
ยาว/กว้าง/สูง (มม.) 4,695/1,840/1,795
ช่วงล้อ หน้า/หลัง (มม.) 1,540/1,540
ฐานล้อ (มม.) 2,750
น้ำหนักรถ (กก.) 1,810
ความจุถังเชื้อเพลิง (ลิตร) 65
เครื่องยนต์
แบบ 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว
ความจุ (ซีซี) 2,694
กระบอกสูบ/ช่วงชัก (มม.) 95.0/95.0
อัตราส่วนกำลังอัด 9.6:1
กำลังสูงสุด (แรงม้า/รตน.) 160/5,200
แรงบิดสูงสุด (กก.-ม./รตน.) 24.6/3,800
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง หัวฉีดมัลทิพอยท์
ระบบถ่ายทอดกำลัง
เกียร์อัตโนมัติ (จังหวะ) 4
ขับเคลื่อน (ล้อ) 4 ตลอดเวลา
ระบบรองรับ
หน้า อิสระ ปีกนกคู่ คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง
หลัง โฟร์ลิงค์ คอยล์สปริง คานแข็ง พร้อมชอคอับ
ระบบบังคับเลี้ยว
แบบ ฟันเฟือง และตัวหนอน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง
ระบบห้ามล้อ
แบบ เอบีเอส
หน้า จาน มีช่องระบายความร้อน
หลัง จาน
ราคา (บาท) 1,119,000
ABOUT THE AUTHOR
ธ
ธนสาร เสาวมล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2548
คอลัมน์ Online : ทดสอบ(formula)