ทดสอบ(formula)
มาซดา บีที-50 VS ฟอร์ด เรนเจอร์
ข้อเด่น มาซดา/ฟอร์ด
- หน้าตาทันสมัย สไตล์เอสยูวี/หน้าตาดุดัน ตามสไตล์อเมริกัน
- ห้องโดยสารกว้าง เก็บเสียงดี อุปกรณ์ครบ/ห้องโดยสารหรูหราดูดี
- เครื่องยนต์แรงบิดสูง ขับสนุกทั้ง 2 คัน
- จังหวะเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวลเหมือนกัน
- ราคาน่าสนใจ สาวกใครสาวกมัน
ข้อด้อย มาซดา/ฟอร์ด
- เครื่องเสียงปรับเปลี่ยนยาก
- ช่วงล่างยังกระด้าง
ฟันธง มาซดา/ฟอร์ด
- สีทูโทนไม่ซ้ำใคร เครื่องยนต์แรง ประหยัด/สมรรถนะกับราคากำลังสวย น่าลุ้นเป็นเจ้าของ
การทดสอบครั้งนี้นำรถพิคอัพ มาซดา บีที-50 มาทดสอบร่วมกับ ฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ โดยใช้รุ่น 4 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์ธรรมดา มาวัดสมรรถนะด้วยเครื่องดาทรอน เพื่อพิสูจน์เปรียบเทียบสมรรถนะของรถทั้ง 2 รุ่นนี้
มาซดา บีที-50 รุ่น 4 ประตู ดับเบิลแคบ ขับเคลื่อน 4 ล้อ ใหม่ ปรับเปลี่ยนรูปโฉมภายใน/ภายนอก รวมถึงเครื่องยนต์คอมมอนเรล ให้มีความทันสมัย ประหยัด และมีแรงบิดสูงมากรุ่นหนึ่งในตลาดพิคอัพเมืองไทย ส่วน ฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่น 4 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่หมดทั้งภายใน/ภายนอก หัวใจดวงใหม่สายพันธุ์ ดูราทอร์ค ผสมผสานความแรงและความประหยัดไว้ด้วยกัน
ภายนอก มาซดา/ฟอร์ด
โค้งมน แบบเอสยูวี 3 ดาว/หน้าตาดุดันเอาเรื่อง 4 ดาว
บีที-50 รูปทรงด้านหน้าโค้งมนคล้าย ทรีบิวท์ เอสยูวียอดนิยมของ มาซดา ฝากระโปรงลาดเอียงและมีแนวเส้นโค้งมนรับกับกันชนหน้าที่ออกแบบเป็นชิ้นเดียวกันกับกระจังหน้าขนาดใหญ่ ทรง 5 เหลี่ยม เส้นกลางมีโลโก มาซดา ใต้กันชนติดตั้งไฟตัดหมอกทรงกลมมาด้วย
ไฟหน้ารูปทรงโค้งมนดวงใหญ่ แบบมัลทิรีเฟลคเตอร์ อยู่ในโคมเดียวกับไฟหรี่และไฟเลี้ยวที่ตกแต่งด้วยกรอบไฟสีเทาจากภายใน ดูทันสมัยแปลกตา ด้านข้างมีโป่งข้างขนาดใหญ่สีตามตัวรถ โป่งล้อหลังฝั่งคนขับออกแบบให้เว้าหลบฝาถังน้ำมัน หรูหราด้วยสีทูโทนรอบคัน
มือจับประตูและกระจกมองข้างแบบโครเมียม ไฟท้ายออกแบบใหม่ เสริมกรอบสีเทา ครอบไฟเลี้ยวอยู่ด้านใน ทันสมัยแปลกตา ไฟเบรคดวงที่ 3 อยู่บนหลังคาด้านท้าย มองเห็นชัดเจน กันชนหลังสีเดียวกับตัวรถ ด้านบนเสริมยางกันลื่น ขึ้น/ลงสะดวก
ส่วน ฟอร์ด เรนเจอร์ ยังคงอนุรักษ์รูปทรงภายนอกตามสไตล์อเมริกันที่แฝงไว้ด้วยความโหดและดิบเอาไว้ ด้านหน้าดุดันด้วยกระจังหน้าขนาดใหญ่ กันชนหน้าออกแบบให้ตรงมุมซ้าย/ขวาฝังสปอทไลท์ได้อย่างลงตัว
ไฟหน้าโคมใสแบบสปอร์ทที่ใช้ไฟใหญ่และไฟเลี้ยวในโคมเดียวกัน โป่งซุ้มล้อขนาดใหญ่เสริมให้ตัวรถดูแข็งแรงบึกบึน ฝาถังน้ำมันออกแบบให้กลมกลืนไปกับโป่งซุ้มล้อได้อย่างลงตัว
กระจกมองข้างขนาดใหญ่เพิ่มทัศนวิสัยการมองได้ดี ที่สำคัญยังสามารถพับเข้า/ออกไม่แพ้รถยุโรปราคาแพง ไฟท้ายดีไซจ์นใหม่ใหญ่ขึ้น เพิ่มความปลอดภัยแก่รถตามหลัง
ภายใน มาซดา/ฟอร์ด
ออกแบบใหม่ สวยล้ำ 3.5 ดาว/หรู เทียบรถเก๋งราคาแพง 4 ดาว
มาซดา และฟอร์ด มีการออกแบบภายในที่คล้ายกัน แต่ทาง มาซดา นั้นได้ดีไซจ์นตามแนวคิดสรีรศาสตร์ เน้นการออกแบบอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับการใช้งานของผู้ขับขี่ แต่สำหรับ ฟอร์ด เป็นรุ่นลิมิเทด เน้นความหรูหราด้วยเบาะนั่งหนังแท้ตัดเย็บอย่างประณีต
ทั้งคู่ได้ ใช้วิทยุแบบซีดี 6 แผ่น และเอมพี 3
ช่องแอร์ด้านข้างทรงกลม ส่วนตรงกลางแบบ 4 เหลี่ยมแนวยาวรับกับทรงของวิทยุ อีกทั้งยังมีกล่องเก็บของ 2 ชั้น เช่นเดียวกับลิ้นชักหน้าคอนโซล ที่สามารถเก็บของและเอกสารแยกจากกันเป็นสัดส่วน คันเกียร์ธรรมดาแบบสปอร์ท สวยงามจับกระชับมือ เบรคมือจัดวางแบบเก่าดูย้อนยุค ใช้งานยาก เช่นเดียวกันกุญแจของ มาซดา เป็นแบบรีโมทคอนทโรล พับเก็บได้ แต่ ฟอร์ด ใช้รีโมทแยกกันกับดอกกุญแจ
การเก็บเสียงภายใน สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลของ มาซดา ทำได้ดี ระดับเสียงขณะติดเครื่องยนต์ จอดรถปิดแอร์ 52.9 เดซิเบล ความเร็ว 60 กม./ชม. 60.3 เดซิเบล ความเร็ว 100 กม./ชม. 64.8 เดซิเบล และความเร็ว 140 กม./ชม. 71.9 เดซิเบล
สำหรับการเก็บเสียงใน ฟอร์ด ระดับเสียงขณะติดเครื่องยนต์ จอดรถปิดแอร์ 59.8 เดซิเบล ความเร็ว 60 กม./ชม. 60.8 เดซิเบล ความเร็ว 100 กม./ชม. 64.2 เดซิเบล และความเร็ว 140 กม./ชม. 71.6 เดซิเบล
เครื่องยนต์ มาซดา/ฟอร์ด
พลังแรงขับสนุกเหมือนกัน เพราะเครื่องบลอคเดียวกัน 3 ดาว
เครื่องยนต์ขนาด 3.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 156 แรงม้า ที่ 3,200 รตน. ให้แรงบิดสูงถึง 38.7 กก.-ม. ที่ 1,800 รตน. เพลาราวลิ้นคู่เหนือฝาสูบ ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 16 วาล์ว ไดเรคท์อินเจคชัน กระเดื่องวาล์วแบบโรลเลอร์ ไทร์ ลดแรงต้านระหว่างกระเดื่องวาล์วกับชุดแคมชาฟท์ จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยปั๊มแรงดันสูง ระบบหัวฉีดคอมมอนเรล ที่ตั้งแรงดันสูงถึง 1,600 บาร์
ระบบเทอร์โบแปรผัน พร้อมกล่องอีซียูแบบ 32 บิท เครื่องยนต์ติดตั้งแกนบาลานศ์-ชาฟท์ ช่วยลดอาการสั่นสะเทือน ทำงานร่วมกับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ที่ออกแบบมารองรับแรงบิดสูงได้ดี ชุดเกียร์ 1-2 นั้น ใช้ชุดเฟืองแบบ TRIPLE-CONE SYNCHRONIZERS ช่วยให้เปลี่ยนเกียร์ราบรื่นขึ้น ส่วนชุดคลัทช์เปลี่ยนมาใช้แบบ DUAL-MASS FLYWHEEL เป็นฟลายวีลแบบให้ตัวได้ ลดเสียงการทำงานของชุดเกียร์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กับรถเก๋งระดับหรู และรถยุโรป ที่มีแรงบิดสูง
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบพาร์ทไทม์ ทำงานร่วมกับสวิทช์ RFW (REMOTE FREE WHEEL HUB LOCK) สามารถตัดต่อการทำงานของระบบขับเคลื่อนได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส นอกจากนี้รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ยังมีระบบเฟืองท้ายแบบลิมิเทด สลิพ ที่จะทำงานทันทีเมื่อล้อหลังข้างใดข้างหนึ่งหมุนฟรี แรงบิดทั้งหมดจะถูกถ่ายเทไปยังล้ออีกข้างหนึ่งที่ยังสัมผัสพื้น
ผลจากเครื่องมือวัดสมรรถนะดาทรอนกับ มาซดา อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 11.8 วินาที ในระยะทาง 195.7 ม. ส่วน 0-400 ม. ในเวลา 18.4 วินาที และระยะทาง 0-1,000 ม. ในเวลา 34.2 วินาที ส่วนความเร็วปลายทำได้ 155.9 กม./ชม.
การตอบสนองคันเร่ง จากต้นถึงปลาย 40-120 กม./ชม. ใช้เวลา 16.0 วินาที ค่อยๆ ไต่ระดับความเร็วได้เรื่อยๆ ในช่วงกลาง 60-100 กม./ชม. ใช้เวลา 5.8 วินาที ทำได้ดี เนื่องจากมีแรงบิดสูงในรอบต่ำ ส่วนในช่วงปลายความเร็ว 80-120 กม./ชม. ใช้เวลา 7.9 วินาที ได้ระยะทาง 220.4 ม. ความคลาดเคลื่อนเข็มไมล์ กับความเร็วจริง ประมาณ 4-5 %
สำหรับ ฟอร์ด อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 13.0 วินาที ในระยะทาง 228.8 ม. ส่วน 0-400 ม. ในเวลา 18.6 วินาที และระยะทาง 0-1,000 ม. ในเวลา 34.8 วินาที ส่วนความเร็วปลายทำได้ 151.6 กม./ชม.
การตอบสนองคันเร่ง จากต้นถึงปลาย 40-120 กม./ชม. ใช้เวลา 17.8 วินาที ในช่วงกลาง 60-100 กม./ชม. ในเวลา 7.7 วินาที ส่วนช่วงปลายความเร็ว 80-120 กม./ชม. ในเวลา 9.3 วินาที ได้ระยะทาง 261.6 ม. ส่วนความคลาดเคลื่อนเข็มไมล์ พอๆ กับมาซดา
ระบบรองรับ มาซดา/ฟอร์ด
นุ่มหนึบ เกาะถนน นั่งสบาย 3 ดาว
มาซดา และฟอร์ด ใช้ระบบรองรับหน้า แบบปีกนกคู่ พร้อมทอร์ชันบาร์ ทั้งรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 4 ล้อ เพราะยังให้ความสำคัญกับความแข็งแกร่งทนทาน เหมาะสำหรับใช้งานในสภาพถนนเมืองไทย โดยนำมาพัฒนาให้มีความนุ่มนวลมากขึ้น ดูดซับแรงกระแทกได้ดี ด้านหลังใช้แบบแหนบแผ่นซ้อนติดตั้งเหนือเพลา ปรับปรุงความยาวของแหนบให้ยาวถึง 1,320 มม. ซึ่งจะทำให้มีความนุ่มนวลสูงขึ้น รองรับงานหนัก/เบาได้อย่างสบาย นอกจากนี้ยังติดตั้งเหล็กกันโคลงหลัง เพื่อสร้างความสมดุล และลดการโคลงตัวของรถ
ระบบเบรคด้านหน้าแบบจาน ด้านหลังแบบดุม ปรับปรุงวาล์วปรับแรงดันน้ำมันเบรค LSPV ใช้ท่อทางเดินน้ำมันที่สั้นลง ใช้ปริมาณน้ำมันเบรคน้อย และยังช่วยให้เบรคทำงานได้เร็วขึ้น ผลจากการวัดประสิทธิภาพการเบรคของ มาซดา กับเครื่องวัดสมรรถนะดาทรอน ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. หยุดนิ่งได้ในระยะ 18.4 ม. ในเวลา 2.1 วินาที คิดเป็นแรงจี 0.77 และความเร็ว 80 กม./ชม. หยุดนิ่งได้ในระยะ 32.2 ม. ในเวลา 2.7 วินาที คิดเป็นแรงจี 0.78
ส่วนประสิทธิภาพการเบรคของ ฟอร์ด ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. หยุดนิ่งได้ในระยะ 20.0 ม. ในเวลา 2.3 วินาที คิดเป็นเรงจี 0.71 สำหรับความเร็ว 80 กม./ชม. หยุดนิ่งได้ในระยะ 34.2 ม. ในเวลา 3.0 วินาที คิดเป็นแรงจี 0.74
สรุป
ทันสมัย ขับสนุก
มาซดา บีที-50 และฟอร์ด เรนเจอร์ 4 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อ มีรูปโฉมภายนอกทันสมัย ภายในหรูหรา เครื่องยนต์แรง ประหยัด คล้ายกันมาก ซึ่งถือว่าเป็นอาวุธใหม่ที่มาต่อกรกับคู่แข่งมากมายในตลาดรถขับเคลื่อน 4 ล้อ
ข้อมูลจำเพาะ ฟอร์ด เรนเจอร์ ดับเบิลแคบ 4x4 มาซดา บีที-50 ดับเบิลแคบ 4x4ผู้จัดจำหน่าย บริษัท ฟอร์ด ประเทศไทย จำกัด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 0-2686-4000 โทร. 0-2686-4900 มิติและน้ำหนัก กว้าง/ยาว/สูง (มม.) 1,804/5,076/1,762 1,807/5,169/1,750 ช่วงล้อหน้า/หลัง (มม.) 1,475/1,470 ฐานล้อ (มม.) 3,000 น้ำหนัก (กก.) ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง (ลิตร) 70 เครื่องยนต์ ชนิด ดีเซล เทอร์โบ อินเตอร์คูเลอร์ 4 สูบเรียง 16 วาล์ว ไดเรคท์อินเจคชัน ความจุ (ซีซี) 2,953 กระบอกสูบ/ช่วงชัก (มม.) 96.0/102.0 อัตราส่วนกำลังอัด 18.0:1 กำลังสูงสุด (แรงม้า/รตน.) 156/3,200 แรงบิดสูงสุด (กก.-ม./รตน.) 38.7/1,800 ระบบจ่ายเชื้อเพลิง หัวฉีด ควบคุมด้วยระบบอีเลคทรอนิค คอมมอนเรล ระบบถ่ายทอดกำลัง เกียร์ธรรมดา (จังหวะ) 5 ขับเคลื่อน (ล้อ) 4 บางเวลา ระบบรองรับ หน้า อิสระปีกนกคู่ ทอชันบาร์ พร้อมเหล็กกันโคลง หลัง แหนบแผ่นซ้อน พร้อมเหล็กกันโคลง ระบบบังคับเลี้ยว แบบ ลูกปืนหมุนวน พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรง ระบบห้ามล้อ แบบ เอบีเอส อีบีดี หน้า จาน พร้อมช่องระบายความร้อน หลัง ดุม ราคา (บาท) 831,000 819,900 ผลการทดสอบจากเครื่องวัดสมรรถนะดาทรอน ฟอร์ด เรนเจอร์ ดับเบิลแคบ 4x4 มาซดา บีที-50 ดับเบิลแคบ 4x4 สมรรถนะ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. (วินาที) 13.0 11.8 ควอร์เตอร์ไมล์ (วินาที/กม./ชม.) 18.6/119.4 18.4/125.8 ระยะ 0-1,000 ม. (วินาที/กม./ชม.) 34.8/151.6 34.2/155.9 ความยืดหยุ่น 40-120 กม./ชม. (วินาที/ม.) 17.8/393.6 160/349.1 60-100 กม./ชม. (วินาที/ม.) 7.7/177.0 5.8/131.2 80-120 กม./ชม. (วินาที/ม.) 9.3/261.6 7.9/220.4 ระยะเบรค ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. (ม./แรงจี) 20.0/0.71 18.4/0.77 ที่ความเร็ว 80 กม./ชม. (ม./แรงจี) 34.2/0.74 32.2/0.78
ABOUT THE AUTHOR
ณ
ณัฐเวช ยอดแสง
ภาพโดย : เกรียงศักดิ์ ปันสม/ราชวัตร แสงจันทรานิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2549
คอลัมน์ Online : ทดสอบ(formula)