ทดสอบ(formula)
เชฟโรเลต์ อาวีโอ/ฮอนดา ซิที/ฮอนดา แจซซ์/โตโยตา วีออส และโตโยตา ยารีส
4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดรถเก๋งเล็กเติบโตขื้นอย่างรวดเร็ว มีเพียง ฮอนดา และ โตโยตา ที่เริ่มเกมรุกตลาดนี้ก่อนใคร เปิดศึกชิงส่วนแบ่งการตลาดกันอย่างถึงพริกถึงขิง และหลังจากปล่อยรถเก๋งเล็กแบบซีดานลงลุยตลาดเพียงไม่นาน ก็เพิ่มดีกรีการแข่งขันให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น ด้วยการส่งรุ่น แฮทช์แบค 5 ประตู ที่เขย่าวงการรถเล็ก สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อย ครั้งนี้ถึงคราว เชฟโรเลต์ ยักษ์รองที่เพิ่งตื่นตัวเข็น อาวีโอซีดานน้องใหม่เข้าชิง "เค้ก" ก้อนนี้ด้วย จะดุเดือดเผ็ดมันแค่ไหนโปรดติดตาม
การทดสอบครั้งนี้ เราเลือก เชฟโรเลต์ อาวีโอ ฮอนดา ซิที โตโยตา วีออส เป็นคู่ชกเอกในรุ่นรถเก๋งเล็ก 4ประตู ส่วน ฮอนดา แจซซ์ และ โตโยตา ยารีส จัดให้เป็นคู่ชกรองในรุ่นรถเก๋งเล็ก 5 ประตู เนื่องจากมีรูปแบบตัวถังที่แตกต่างออกไป
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับน้องใหม่ อาวีโอ ที่ใช้เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร 93 แรงม้า เล็กที่สุดในกลุ่ม เราจึงนำเอา ฮอนดา ซิที และ แจซซ์ ที่ใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ไอ-ดีเอสไอ 88 แรงม้ามาเปรียบเทียบแทนรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ วีเทค 110 แรงม้า ส่วน โตโยตา ทั้ง 2 รุ่น มีเครื่องยนต์แบบเดียว จึงจำเป็นต้องเอา 1.5 ลิตร วีวีทีไอ 109 แรงม้า มาเปรียบเทียบ
ภายนอก
มุมมอง ที่แตกต่าง
ทั้ง ยารีส และ แจซซ์ ต่างมีดีไซจ์นโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม เนื่องจากเป็นรถรูปทรงกล่องเดียว ทำให้แลดูเล็กกะทัดรัด ฝากระโปรงหน้าสั้น โค้งมน ไฟท้ายแบบ แอลอีดี ให้ความสว่างชัดเจนยามค่ำคืน เมื่อมองจากภายนอก ยารีส ดูคล้ายรถแฮทช์แบค 3 ประตู สปอร์ท เนื่องจากประตูคู่หลังออกแบบได้กลมกลืนลงตัว ส่วน แจซซ์ มีรูปร่างคล้าย เอมพีวี ย่อส่วน ด้านหน้าลาด หลังคาสูงยาว และท้ายตัด โดดเด่นที่กันชนหน้า 3 ช่อง สเกิร์ทข้างสไตล์สปอร์ท โคมไฟหน้าทรงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ มีไฟเลี้ยวฝังอยู่ที่กระจกมองข้างแบบเดียวกับรถหรู รูปลักษณ์ภายนอกทั้งคู่น่าสนใจไม่แพ้กันได้ไป 4 ดาวเท่าๆ กัน
วีออส เน้นความเรียบง่ายไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนเอา โคโรลลา เดิมมาย่อส่วน แต่พอปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ จับแต่งหน้าแต่งตาเล็กน้อย ก็แลดูทันสมัยขึ้น เมื่อมองจากด้านหน้า วีออส และ อาวีโอ มีส่วนคล้ายกันมาก แต่ อาวีโอ กลับดูมีเหลี่ยมมุม คมเข้มที่ทะมัดทะแมงกว่า ซุ้มล้อโป่งข้างยิ่งทำให้ดูแมนมากขึ้น เส้นแนวข้างตัวรถเด่นชัด และหรูกว่าด้วยชิ้นโครเมียมรอบคัน ส่วน ซิที พี่น้องร่วมบอดีกับแจซซ์ แต่มีท้ายที่ยาวแลดูผิดสัดส่วน ทำให้ดูขัดตา เราลงความเห็นว่าทั้ง 3 คัน ได้ไป 3 ดาว
ภายใน
ถึงตัวเล็ก แต่กว้างสบาย
เรื่องของความกว้างขวาง และสะดวกสบายภายในห้องโดยสารต้องยกให้ ซิที เบาะคู่หน้าปรับเลื่อนได้จากด้านหลัง เบาะหลังขนาดใหญ่นั่งสบาย ห้องเก็บของสัมภาระขนาด 500 ลิตร ใหญ่ที่สุดในกลุ่มแถมยังพับเบาะแยก 60/40 ได้ เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระ มีดีไซจ์นทันสมัย
ใน แจซซ์ มีเบาะแบบอุลทราซีทให้เลือก โดยสามารถปรับเปลี่ยนการใช้ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ยกเบาะนั่งขึ้น เพื่อใส่จักรยาน กระถางต้นไม้ หรือปรับพนักพิงพับเบาะลงเพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกของ ขนาดใส่ทีวี 29 นิ้วกล่องใหญ่ๆ ได้สบาย
ทั้ง ซิที และ แจซซ์ มีสิ่งที่โดดเด่นกว่าเพื่อน คือ ปุ่มควบคุมเกียร์ ซีวีที 7 จังหวะ บนพวงมาลัยที่คู่แข่งไม่มี
ยารีส มีคอนโซลเรียบง่ายคล้าย วีออส มาตรวัดอยู่ตรงกลาง เราลงความเห็นว่าใช้งานไม่สะดวก
เพราะต้องละสายตาจากถนน และต้องตั้งใจเหลือบตาชำเลืองมองทุกครั้งเมื่อดูเข็มความเร็ว จุดเด่น
คือ มีช่องเก็บของมากมายหลายจุด (มากจริงๆ) จนบางครั้งทำให้หาของที่เก็บไว้ไม่เจอ ที่วางแก้วน้ำหลายจุด บานกระจกที่เว้าลงมา และแผงข้างประตู เล่นระดับแปลกตา และไม่อึดอัด เบาะหลังที่ปรับเอน เลื่อนถอยหลัง และแยกพับเก็บได้เฉพาะในรุ่น จี และ เอส ส่วนท้ายที่ลาดต่ำทำให้มีพื้นที่เก็บสัมภาระหลังน้อยกว่าแจซซ์ จุดเด่นที่สุดอยู่ในรุ่น จี ลิมิเทด มีรีโมทแบบพกพาเปิดประตูได้เมื่อเข้าใกล้รัศมีโดยไม่จำเป็นต้องกดปุ่มปลดลอคที่รีโมท และพิเศษกว่านั้นใช้กดปุ่มเพื่อสตาร์ท หรือดับเครื่องยนต์ แบบเดียวกับที่กำลังนิยมในรถหรูสมัยนี้
การออกแบบภายในของ อาวีโอ ดูแล้วเหมือนรถหรู ลงตัว และวัสดุภายในสีเข้ม ทำให้โดดเด่น พวงมาลัยแบบ 4 ก้าน ช่องลมแอร์ทรงกลมหมุนได้รอบทิศ วิทยุ/ซีดีแบบฝัง ออกแบบให้เข้ากันกับคอนโซล (เหมือนกับ ยาริส) เบาะหลังพนักพิงพับได้ (เหมือนกับ ซิที) แต่ไม่สามารถแบนราบเป็นพื้นเดียวเหมือนใน ยารีส และ แจซซ์
ระดับเสียงภายในห้องโดยสารทั้งกลุ่มอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ขณะจอดติดเครื่อง และปิดแอร์ อาวีโอ/ซิที/ แจซซ์/วีออส และ ยารีส ทำได้ 40.4/40.6/45.3/42.5/39.1 เดซิเบล ตามลำดับ ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. 51.8/51.4/55.5/53.7/61.5 เดซิเบล ที่ความเร็ว 120 กม./ชม. 68.4/65.7/69.8/68.7/70.2 เดซิเบลทั้ง ซิที และ อาวีโอ โดดเด่นในเรื่องของเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร แต่เมื่อรวมความสะดวกสบายทำให้ ซิที รับไป 4 ดาว มากกว่าคู่แข่งอื่นๆ 1 ดาว
สมรรถนะ
วาล์วแปรผัน/ซีวีที เร็ว/ต่อเนื่อง
จากการทดสอบสมรรถนะอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. วีออส ทำเวลาได้ดีที่สุด 10.1 วินาที 0-160 กม./ชม. 30.3 วินาที อัตราเร่งที่ระยะ 0-400 ม. ใช้เวลา 17.7 วินาที และ 0-1,000 ม. 31.7 วินาที ด้วยเครื่องยนต์ วีวีที-ไอ ขนาด 1.5 ลิตร กำลังสูงสุด 109 แรงม้า เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ประกอบกับน้ำหนักตัวเบา และมีรูปทรงเพรียวลม ให้ผลดีในเรื่องความจัดจ้านของอัตราเร่ง โดดเด่นที่สุดในกลุ่มขณะที่ ยารีส ใช้เครื่องยนต์ตัวเดียวกัน แต่แตกต่างที่รูปทรง กลับใช้เวลามากกว่าเกือบ 3 วินาที ในการทดสอบ 0-1,000 ม. และต้องใช้เวลา 43 วินาทีกว่าจะไต่ถึงความเร็ว 160 กม./ชม.
สำหรับ แจซซ์ และ ซิที มีเครื่องยนต์ วีเทค 110 แรงม้า แรงจัดจ้านให้เลือกใช้ ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ ซีวีที 7 จังหวะ ให้ความยืดหยุ่น เร่งแซงต่อเนื่องทำให้สามารถไล่ตาม วีออส มาติดๆ ชนิดกัดไม่ปล่อย โดยเฉพาะช่วงทดสอบ ความยืดหยุ่นเร่งแซงที่ความเร็ว 40-120 กม./ชม. ใช้เวลาเพียง 13.2 วินาที และความเร็วปลายอยู่ที่ 180 กม./ชม. แต่ถ้าเป็นเครื่องยนต์แบบหัวเทียนคู่ 8 วาล์ว ไอ-ดีเอสไอ 88 แรงม้า คงต้องเหนื่อยขึ้นกว่าจะตามทัน
ปิดท้ายขบวนด้วย อาวีโอ ที่ต้องแบกน้ำหนักตัวถึง 1,120 กก. มากกว่าคู่แข่ง 70-90 กก. (อาจเป็นเพราะโครงสร้าง และวัสดุเก็บเสียงที่หุ้มไว้ทั้งคัน) ใช้เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร 94 แรงม้า จึงตกเป็นรองในเรื่องกำลังเครื่องยนต์ แม้มีท่อร่วมไอดีแปรผันมาช่วยรีดกำลังเพิ่มที่รอบเครื่อง 4,700 รตน. แต่ก็ไม่เป็นผลทำให้อัตราเร่งเป็นรองคู่แข่ง
สรุปเราให้ วีออส ซิที และ แจซซ์ 4 ดาวในหัวข้อนี้
ค่าความคลาดเคลื่อนของมาตรวัดที่ความเร็ว 100 กม./ชม. ทั้ง ซิที และ แจซซ์ ทำได้ดีที่สุด คือ ผิดเพี้ยนจากความเร็วจริงเพียง 0.7 % อาวีโอ 3.2 % ยารีส 5.7 % และ วีออส 7.6 %
การบังคับควบคุม
แตกต่างที่ความนุ่มหนึบ
ระบบรองรับของ อาวีโอ ที่ให้ความรู้สึกแน่นหนึบสไตล์รถยุโรป ด้วยบุชยางขนาดใหญ่ เหล็กกันโคลงด้านหน้ายึดกับตัวชอคอับบริเวณใต้สปริง ลดอาการยุบตัว แขนยึดด้านหลัง และสปริงกับชอคอับยาวให้ตัวได้มาก เกาะถนน ดูดซับแรงสั่นสะเทือนจากผิวถนนได้ดี และให้ความมั่นใจขณะเข้าโค้ง โดดเด่นที่สุดในกลุ่ม แต่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำหนักตัวมากที่สุด เลยต้องแลกด้วยอัตราเร่งที่รั้งท้าย
พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าของ ซิที และ แจซซ์ ควบคุมง่าย เบาแรง ให้ความคล่องตัวสูง รัศมีวงเลี้ยวแคบสุดเพียง 4.7 ม. เหมาะกับการใช้งานในเมือง แต่ที่ความเร็วสูงพวงมาลัยยังคงมีน้ำหนักเบา ผู้ขับต้องใช้สมาธิในการบังคับควบคุม บางครั้งให้ความรู้สึกวูบวาบเมื่อผ่านกระแสลม แรงปะทะด้านข้าง
ใน ยารีส รุ่นนี้ (เอส ลิมิเทด) ใช้ช่วงล่างแบบสปอร์ท และล้อขนาด 16 นิ้ว ให้ความมั่นใจกว่า มีรัศมีวงเลี้ยว 5.5 ม. ส่วน วีออส ที่มีขนาดตัวเล็ก และน้ำหนักเบาที่สุด กับช่วงล่างที่ให้ความรู้สึกนุ่มนวลบางครั้งมีอาการท้ายโยนเมื่อเปลี่ยนช่องทางกะทันหันที่ความเร็วสูง
จากการทดสอบเบรคที่ความเร็ว 60-0 กม./ชม. ยารีส ทำได้ดีที่สุด ใช้ระยะทางเพียง 16.0 ม อาจเป็นเพราะจานเบรคหน้าที่มีขนาดใหญ่ ได้เปรียบคู่แข่ง ส่วนการทดสอบเบรคที่ความเร็ว 80-0 กม./ชม. อาวีโอ ใช้ระยะทางเพียง 27.8 ม. สั้นที่สุด หัวข้อนี้แบ่งคะแนนกันไป 3 ดาว เท่าๆ กัน
สรุป
ซิทีคาร์ คุ้มค่า ขับสนุก
รูปร่างหน้าตาภายนอก ยารีส กับ แจซซ์ โฉบเฉี่ยว น่าใช้ สวยมีสไตล์ ลงตัว ต่างจากรถแบบ 4 ประตูทั้งในเรื่องของความสะดวกสบายภายใน ที่มีให้มาครบเครื่อง และสามารถปรับเปลี่ยนได้หลากหลายรูปแบบการใช้งาน แต่ถ้าเลือกรถซีดาน เน้นประโยชน์ใช้สอยภายในห้องโดยสารเป็นหลัก และห้องเก็บของสัมภาระขนาดใหญ่ ซิที น่าจะเป็นคำตอบแรก
ในเรื่องของสมรรถนะเครื่องยนต์ และอัตราเร่ง วีออส เป็นรถที่แรงสุดในกลุ่มนี้ เมื่อคำนึงถึงการใช้งานในเมือง แจซซ์/ซิที ที่มีระบบเกียร์อัตโนมัติแบบ ซีวีที ตอบสนองต่อเนื่อง และนุ่มนวล พร้อมระบบควบคุมการปรับเปลี่ยนเกียร์บนพวงมาลัย และมีเพาเวอร์ไฟฟ้า เบาแรง ให้ความคล่องตัวสูง แต่ถ้าต้องขับขี่ทางไกลเป็นประจำ ระบบรองรับที่แน่นหนึบสไตล์รถยุโรปของ อาวีโอ โดดเด่น มั่นใจ ขับสบายใกล้เคียงกับรถขนาดกลาง
ABOUT THE AUTHOR
ธ
ธนสาร เสาวมล
ภาพโดย : ราชวัตร แสงจันทรานิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2549
คอลัมน์ Online : ทดสอบ(formula)