สัมภาษณ์พิเศษ(formula)
ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธาน บริษัท สื่อสากล จำกัด
หัวเรือใหญ่ของ "สื่อสากล" เจ้าของนิตยสารรถยนต์ 5 ฉบับ กับรายการโทรทัศน์อีก 1 รายการ ผู้จัดงาน"มหกรรมยานยนต์" มากว่า 20 ปี พร้อมกิจกรรมอื่นๆ ในวงการยานยนต์อีกมาก อาจไม่ใช่คนที่นานๆจะให้สัมภาษณ์สักครั้ง แต่เรื่องที่เขาพูดบ่อยๆ มักเกี่ยวข้องกับงานที่ดูแล และบางเรื่องที่สื่อ อยากฟังความคิดเห็นของเขา นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ยอม "เปิดใจ" ให้สัมภาษณ์ ทุกเรื่องสด และยาวเหยียด เนื่องในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 31 ของนิตยสารรถยนต์ที่เขาปั้นมากับมือ โดยไม่ใช้สลิง ไม่มีสตันท์และไม่ได้รับคำถามล่วงหน้า
5...4...3...2...คิว !
"ฟอร์มูลา" : คุณคิดว่าอะไรทำให้ "ฟอร์มูลา" มีอายุยืนยาวถึงปีที่ 31 ?
ขวัญชัย : "ฟอร์มูลา" มีบุคลิกของตัวเองที่คนในวงการชื่นชอบ มีสิ่งที่คนในวงการอยากรู้ อยากอ่าน ที่สำคัญมันมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย โดยเฉพาะเรื่องการทดสอบรถ ซึ่งในเมืองไทยไม่มีใครเหมือนเราแน่นอน
เราลงทุนด้านเครื่องมือทดสอบ เพราะเชื่อว่าหน้าปัดรถทุกคันเชื่อไม่ได้ ก่อนจะทดสอบรถ เราต้องรู้แน่ว่าหน้าปัดจริงความเร็วเท่าไร พอเรารู้ว่ามันคลาดเคลื่อน อัตราเร่งจริงเท่าไร มันก็จะเปรียบเทียบผลกันได้ทุกคัน เพราะฉะนั้นจึงต้องลงทุนมากเพื่อนำข้อเท็จจริงมาให้ประชาชนรับรู้
ปัจจุบันเราลงทุนด้านเครื่องมือกว่า 2 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าจะลงทุนต่อให้มีความทันสมัยระดับโลก ตอนนี้เรามีเครื่องวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยราชการและบริษัทรถยนต์เจ้าไหนใช้ สิ่งนี้ถือเป็นจุดแข็งที่แม้กระทั่งนิตยสารที่ไปซื้อหัวของเมืองนอกมา ผลการทดสอบที่ได้ก็ไม่ต่างจากเรา
"ฟอร์มูลา" : ความเป็น "ขวัญชัย" อยู่ตรงส่วนไหนของ "ฟอร์มูลา" และมีผลต่อความสำเร็จหรือไม่ อย่างไร ?
ขวัญชัย : ไม่อยากยกว่าทั้งหมดมาจากขวัญชัย ผมเพียงเป็นผู้เริ่มต้น และการเริ่มต้นของผมทำอย่างมีหลักเกณฑ์ คนที่ชื่นชอบผม ก็อาจชื่นชม "ฟอร์มูลา" ไปด้วย แต่การทำหนังสือไม่สามารถทำเพียงคนเดียวได้ ต้องมีกองบรรณาธิการ กองโฆษณา กองศิลป์ที่ดี ฯลฯ ผมเชื่อว่าที่มีทุกวันนี้ได้ เพราะส่วนประกอบเหล่านี้สมบูรณ์
"ฟอร์มูลา" : ย้อนหลังไปเมื่อ 30 ปีก่อน คุณคิดว่าจะมีวันนี้หรือไม่ ?
ขวัญชัย : ตอนแรกที่เริ่มทำ ไม่คิดว่าจะมาได้ถึง 30 ปี มันมีปัญหามากมายพอสมควร ในช่วง 2 ปีแรกค่อนข้างลำบาก คิดแต่เพียงเอาให้รอดเล่มต่อเล่ม เราทำรายปักษ์ได้ประมาณ 1 ปี ก็เปลี่ยนมาทำเป็นรายเดือน เนื่องจากตอนแรกคิดว่าข่าวที่ทันเหตุการณ์น่าจะถูกใจผู้อ่าน แต่ปรากฏว่าคนไทย ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ เขาอยากรู้เรื่องรถที่ออกใหม่มากกว่า จากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มเดินทางถูก
"ฟอร์มูลา" : ทุกวันนี้มีนิตยสารรถยนต์หัวนอกเข้ามามาก ในฐานะนิตยสารหัวไทยคุณรู้สึกอย่างไร ?
ขวัญชัย : ก่อนที่จะมีนิตยสารหัวนอกเข้ามา หัวไทยก็รบกันเองพอสมควร เนื่องจากตอนแรกที่เราเข้ามา มีรายอื่นทำอยู่ก่อนแล้ว เราไม่รู้ว่าจุดที่เรายืนแผ่นดินกว้างแค่ไหน ดินแดนขอบเขต และผู้อ่านอยู่ตรงไหน เมื่อเราไม่รู้ ก็เหมือนต้องทำสงครามแย่งพื้นที่ ต่างคนก็ต้องเบ่งความเก่งออกมา พยายามคุยทับอีกฝ่ายว่าตัวเองแน่กว่า ฝ่ายนั้นแข่งรถ เราก็แข่งรถ วันไหนเราชนะก็เอารูปเราลง ไม่เอารูปเขาลงเป็นสงครามแบบเด็กๆ
พอระยะเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง เราและเขาต่างก็รู้สึกว่าแผ่นดินมันกว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่าที่เรายืนคนเดียว พอเราเริ่มเห็นจุดยืนของเราชัดเจน ก็จะเห็นกลุ่มคนอ่านที่แยกกันอย่างเด่นชัด เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็เริ่มเป็นมิตร คุยกัน ว่าเราเป็นเพื่อนกันได้
ตอนที่มีหนังสือหัวนอกเข้ามา ตอนแรกก็หวั่นใจ ว่าแผ่นดินที่เราอยู่จะถูกเขาแย่งหรือไม่ แต่เมื่อวิเคราะห์แล้ว เราไม่ด้อยกว่าเขา แถมมีข้อดีตรงที่เป็นทรัพย์สินของคนไทย การที่เอาหัวของเมืองนอกมาแปล โดยเสนอข้อมูลของรถที่ไม่มีขายในเมืองไทย ทำได้ไม่สะใจเท่าเรา คิดว่าเราลงทุนเรื่องเครื่องมือ เราไม่แพ้ใครในโลก แล้วจะกลัวทำไม เราเป็นคนไทย ทำงานในเมืองไทยมานาน อย่างน้อยก็น่าจะได้คะแนนความเห็นใจ
เดี๋ยวนี้คนที่ทำหนังสือหัวนอกก็เป็นเพื่อนกัน ไปเมืองนอก ทดสอบรถด้วยกัน ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้เราผิดใจกัน
"ฟอร์มูลา" : แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ ?
ขวัญชัย : แน่นอน ในเมื่อมีคู่แข่ง เราต้องลงทุนในด้านเครื่องมือเพิ่มตลอดเวลา รวมไปถึงการบริหารงาน ซึ่งไม่นานมานี้ได้มีการปรับการทำงานในกองบรรณาธิการใหม่ แบ่งออกเป็นผู้เชี่ยวชาญ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ฝ่ายข่าวสังคม ทดสอบ และบทความ ถือเป็นการปรับตัวที่ดี เชื่อว่าจุดนี้จะทำให้เราแข็งแกร่งในสายตาผู้อ่าน
"ฟอร์มูลา" : ถ้าพูดถึงยอดขาย และความนิยมของผู้อ่าน ตอนนี้ "ฟอร์มูลา" อยู่ในอันดับที่เท่าไร ?
ขวัญชัย : ผมไม่ชอบจัดอันดับ ฉบับหนึ่งก็อ้างว่าเป็นเจ้าของยอดพิมพ์สูงสุด อีกฉบับก็อ้างว่ามียอดขายสูงสุด ผมก็พูดอย่างถ่อมตัวได้ว่า เป็นนิตยสารยอดคืนสูงสุด แอบพูดในใจว่าคืนยังเท่านี้ แล้วยอดขายจะเท่าไร ผมชอบมองว่านิตยสารเล่มไหนมีแนวทางไปทิศทางไหนมากกว่า
ผมมองว่านิตยสารรถยนต์เป็นนิตยสารกึ่งวิชาการ ไม่ใช่เทคนิคลูกทุ่ง ถ้านับกันแล้วผมคิดว่า "ฟอร์มูลา" เป็นอันดับหนึ่งในดวงใจผมขณะนี้ ใครจะให้เราอยู่ในอันดับไหนก็ตาม แต่นี่คือสิ่งที่ผมรัก ชอบและผู้อ่านที่รักชอบเราก็คงให้เราอยู่ในอันดับต้นๆ เช่นกัน
"ฟอร์มูลา" : คุณมีความเห็นเกี่ยวกับสื่อมวลชนสายรถยนต์ในบ้านเราอย่างไร ?
ขวัญชัย : เหมือนทุกสังคม คือ มีทั้งคนที่ดี และไม่ดี คนที่เป็นสื่อมวลชนทำด้วยใจบริสุทธ์ก็มีอยู่มากแต่ก็มีบางกลุ่มหรือบางคนที่ไม่ซื่อตรง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตอนผมเข้ามาทำงานใหม่ๆ บริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งเชิญไปทำข่าว แล้วให้เงินใส่ซอง จำนวน 500 บาท แก่นักข่าวทุกคน ซึ่งผมส่งคืน บอกว่ารับไม่ได้ น้องนักข่าวก็ต้องคืนตามไปหมด โดยที่ผมไม่รู้ว่าใครอยากคืนหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่ค่อยอยากทำข่าวเอง เพราะไม่รู้ว่าเราเป็นตัวอย่างที่เขาอยากทำตามหรือไม่
ผมพยายามบอกเสมอว่าเงินทองเป็นของบาดใจ ในฐานะที่เป็นสื่อ ไม่ควรเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องต่อรองข่าวคือข่าว เรามีค่าครองชีพจากสำนักพิมพ์เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องรับเงินจากลูกค้าอีก
"ฟอร์มูลา" : คุณรู้สึก และมีความเห็นอย่างไรกับสมญา "เกจิ" หรือผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ ที่สื่อมวลชนบางคนได้รับ ?
ขวัญชัย : ผู้เชี่ยวชาญมีหลายประเภท ถ้าเชี่ยวชาญเฉพาะรถยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง ผมเชื่อว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากเขามาก แต่ถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญครอบจักรวาล ผมไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่าไม่มีผู้รอบรู้ฉลาดทุกเรื่องในโลกนี้ เพราะฉะนั้นการตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ มีทั้งข้อดีและเสีย ถ้าบังเอิญถามมาในสิ่งที่ตัวเองรู้ก็ดีไป แต่ถ้าเจอคำถามที่ไม่รู้ แล้วไปตอบมั่วๆ เอาข้อเท็จตอบไป มันก็เป็นผลเสีย ผมคงไม่เหมาะที่จะไปอบรม หรือว่ากล่าวใคร แต่มันเป็นสิ่งที่หลายคนเคยทำ
"ฟอร์มูลา" : ส่วนมากเป็นสื่อสาขาใด ?
ขวัญชัย : ส่วนมากจะเกิดขึ้นกับสื่อวิทยุ เพราะมีการถาม/ตอบฉับพลัน และมีเวลาจำกัด ไม่แต่เฉพาะวงการรถยนต์เท่านั้น วงการอื่นก็มีเช่นกัน อาจจะเป็นไปได้ว่าบุคคลที่ผมพูดอาจเป็นคนในสื่อนี้มากกว่า
"ฟอร์มูลา" : ในรายการโทรทัศน์ โลกรถยนต์ของคุณ จะเห็นว่าคุณบอกรถทุกคันน่าสนใจ ไม่ฟันธงว่าดีหรือไม่ เป็นเพราะเกรงใจบริษัทรถยนต์ใช่ไหม ?
ขวัญชัย : ไม่ใช่ สิ่งที่เราเห็นว่าดีหรือไม่ดีของรถคันนั้น อาจไม่ตรงกับความคิดเห็นของผู้ชมก็ได้ เมื่อเราวิจารณ์มาถึงตอนจบ น่าจะปล่อยให้เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะตัดสินใจเองมากกว่า
ผมอาจจะพูดเหมือนโยนความรับผิดชอบ แต่จริงๆ ผมให้เกียรติผู้ชมมากกว่า คุณเป็นคนจ่ายเงินไม่ใช่ผม ถ้าไปชี้ชัดทุกอย่าง เราจะเป็นเผด็จการเกินไป ผมนิยมความเป็นประชาธิปไตย อยากให้คนใช้สมองคิดเปรียบเทียบเอง ในฐานะสื่อมวลชน เรามีหน้าที่ให้ข้อมูล อย่างถูกต้องและเที่ยงตรงเท่านั้นหลังจากนั้นถ้าคุณอยากได้แบบไหนก็เลือกเอาแบบนั้น
"ฟอร์มูลา" : ในส่วนที่ไม่มีข้อมูลตัวเลข เช่นระบบรองรับ การทรงตัว จะให้ผู้ชมเอาอะไรตัดสิน ถ้าผู้ทดสอบไม่ระบุว่าดีหรือไม่ ?
ขวัญชัย : ถ้าจะเอาเวลาที่ค่อนข้างจำกัดในการทดสอบมาวิจารณ์ อาจจะไม่ค่อยเป็นธรรมกับรถ คันไหนก็ตามถ้ามีข้อดี เราจะบอกไปตามความรู้สึกที่ดี แต่ถ้าคันไหนรู้สึกไม่ดี ก็จะบอกไปว่าการทรงตัวที่ความเร็วนั้น อาจต้องใช้การควบคุมบังคับสูงขึ้นอีกนิด การพูดของผมอาจไม่ฟันธงเด็ดขาด อาจต้องอ่านใจ นี่ถือเป็นสไตล์ของผม
"ฟอร์มูลา" : ขณะวิจารณ์รถคุณนึกถึงใคร ระหว่างประธานบริษัทที่คุณรู้จัก กับผู้ชมที่คุณไม่เคยเห็นหน้า ?
ขวัญชัย : ผมจะนึกถึงหน้าวิศวกรผู้ออกแบบรถมากกว่า เขาใช้ความพยายามสูงในการสร้างรถ แต่บังเอิญออกมาเชย เช่น รถบางยี่ห้อรูปทรงสี่เหลี่ยม โดยส่วนตัวผมมองว่ามันน่าเกลียด แต่ผมจะวิจารณ์โดยใช้คำว่า สี่เหลี่ยมคลาสสิค ผมคิดถึงคนออกแบบ เห็นใจเขา
"ฟอร์มูลา" : ถ้าบังเอิญผู้อ่านหรือผู้ชมไม่ตีความตามที่คุณต้องการ พอซื้อรถคันนั้นไปใช้ แล้วไม่พอใจในฐานะผู้วิจารณ์คุณต้องรับผิดชอบหรือไม่ ?
ขวัญชัย : ถ้าเขาจับได้ว่าเราโกหก เช่น รถคันนี้เบรคไม่ดี กลับบอกว่าดี เราต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าเราพูดเป็นกลางๆ อย่างตรงไปตรงมา แล้วเขาไปซื้อ ผมก็จะว่ากล่าวให้ เพราะผมบอกตัวเลขไปแล้ว เขาต้องมีวิจารณญาณของตัวเอง บางทีคุณจะหวังให้ใครป้อนทุกอย่างใส่ปากคุณไม่ได้ คุณต้องมีวิจารณญาณวิเคราะห์ได้เอง การเป็นนักเขียน เราจะเขียนวิจารณ์ให้เขาเสียหายก็ได้ หรือจะพูดแบบกลางๆ ก็ได้ มีหลายวิธี ต้องดูสไตล์ของนักเขียนแต่ละคน อย่างผมไม่ใช่นักทดสอบที่วิจารณ์เสียๆ หายๆ
"ฟอร์มูลา" : การเป็นสื่อด้านรถยนต์จำต้องมีความเป็นกลางหรือไม่ และความเป็นกลาง สำหรับคุณคืออะไร ?
ขวัญชัย : สื่อรถยนต์จำต้องมีความเป็นกลางในการนำเสนอข่าว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ บางครั้งเราก็จำต้องไม่เป็นกลางเหมือนกัน เช่น เกิดเหตุการณ์ทุบรถ เราไม่ใช่ผู้ยืนอยู่ตรงกลาง แล้วบอกว่าอย่าทะเลาะกันเลย เราคงต้องฟันธงว่าวิธีการนี้ถูกต้องหรือไม่ หรือบริษัทรถยนต์ควรชดเชยอะไร อย่างเช่น กรณีของ ฮอนดา ตอนนั้นผมมีความรู้สึกว่าวิศวกรของฮอนดา ไม่ได้อธิบายให้ถูกต้อง ทางบริษัทเองก็ต้องแก้ไข แต่การเรียกร้องด้วยการทุบรถ ผมก็ว่าไม่ถูกต้องเช่นกัน มันกลายเป็นโรคระบาด เป็นการประท้วงแบบรุนแรง วิธีการนี้ผมไม่ชอบ สื่อมวลชนเป็นผู้นำความคิด ต้องมีความเป็นกลาง โดยไม่มีอคติ
"ฟอร์มูลา" : ถ้าเทียบกับในต่างประเทศ สื่อมวลชน หรือนักทดสอบรถของเขามีความเป็นมืออาชีพมากกว่าเราหรือไม่ ผู้ผลิตเขาใจกว้างกว่าเราหรือไม่ ผู้บริโภคเขาฉลาดกว่าเรา หรือไม่ ?
ขวัญชัย : สื่อเมืองนอกมีหลายประเภท บางเล่มบริษัทรถกลัวมาก ถ้าส่งรถให้ทดสอบ เพราะรู้ว่าจะโดนวิจารณ์อย่างไร บางเจ้าเป็นกลาง วิจารณ์แบบเรียบๆ จากข้อมูล ไม่ว่ากล่าวเสียหาย และไม่ชมจนเลอเลิศ ผมชอบวิธีนี้มากกว่า ไม่ใช่ว่าฝรั่งทำอะไร แล้วคนไทยต้องเห็นดีไปหมด ยกตัวอย่าง นักเขียนอเมริกัน เมื่อทดสอบรถสักคันหนึ่งจะต้องชักแม่น้ำทั้งห้า เรื่องท่องเที่ยวฟุ้งเฟ้อต่างๆ นานา ยาว 3-5 หน้า แต่วิจารณ์รถนิดเดียว ส่วนคนยุโรปจะพูดถึงเทคนิคตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ก็ไม่ยาวมาก มันเป็นไปตามสไตล์ของคนแต่ละประเทศ อย่างเราวิจารณ์กัน 4 หัวข้อ คือ ภายนอก ภายใน เครื่องยนต์ และระบบรองรับ ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับคนไทยที่สุดแล้ว
ส่วนผู้อ่าน ถ้าเปรียบเทียบผู้อ่านทางยุโรป เป็นคนมีความรู้ บางทีคุยกับเขานึกว่าเขาเป็นนักวิจารณ์รถด้วยซ้ำ ถ้าเขาชอบรถรุ่นไหน จะมีข้อมูลเปรียบเทียบ ส่วนผู้อ่านอเมริกันชอบความฟุ้งเฟ้อ แต่สรุปนิดเดียว จะว่าฉลาดหรือโง่ ผมตอบไม่ได้
"ฟอร์มูลา" : บริษัทรถยนต์ที่ต่างประเทศ เขารู้สึกและปฏิบัติกับสื่อมวลชนของเขาอย่างไร ?
ขวัญชัย : เขาให้เกียรติสื่อมวลชนมากกว่าเมืองไทย ในด้านสื่อมวลชนเองก็มีระเบียบ เคารพกฎกติกาเวลารถใหม่เปิดตัว บริษัทจะส่งข่าวให้สื่อรู้ล่วงหน้า เขารู้ว่าเวลาปิดต้นฉบับของสื่อเล่มนั้นๆ มีกำหนดเมื่อไร เขาส่งข่าวให้ก่อน แล้วบันทึกต่อท้ายว่าห้ามเปิดเผยก่อนวันที่เท่านี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเคารพกันและกัน มันก็เกิดกติกา และเกิดความสดใหม่อยู่ตลอด แต่บ้านเรา รถจะออกวันนี้พรุ่งนี้ ยังไม่บอกกันเลย ข่าวกลับรั่วไหลออกมาจากคนทำงานกันเองทั้งนั้น อย่างเช่น งาน "มหกรรมยานยนต์" เราจะให้บริษัทบอกล่วงหน้ามา แต่ถ้าใครถามว่าบริษัทต่างๆ จะเอารถอะไรมาบ้าง ผมจะไม่พูด จนกว่าเขาจะประกาศเอง ถ้าสื่อมวลชนมาถามผมจะบอกยังตอบไม่ได้ แต่สื่อจะบอกได้ข่าวแล้วว่าจะนำรถรุ่นนี้ รุ่นนั้นมา ผมพยายามปิดแทบตาย สื่อส่วนใหญ่กลับรู้กันหมดแล้ว
"ฟอร์มูลา" : คุณต้องสวมบทบาทเป็นทั้งนักธุรกิจ และสื่อมวลชน บรรทัดฐานในสองบทบาทของคุณคืออะไร ?
ขวัญชัย : การเป็นนักธุรกิจแล้วเป็นสื่อมวลชนด้วย มันมีจรรยาบรรณค้ำคออยู่ เวลาไม่ชอบใคร แล้วเขียนวิจารณ์เขาเสียหาย จะมีคนกลุ่มหนึ่งวิจารณ์กลับไปว่าคุณทำไม่ถูก จรรยาบรรณของสื่อมวลชนมันพอดีกับจรรยาบรรณของการเป็นนักธุรกิจ ผมทำธุรกิจตรงไปตรงมา ผมเล่นได้ทั้งสองบทบาท โดยไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงแต่อย่างใด ผมสร้างความสมดุลให้มันได้ และไม่รู้สึกด้อยหรือเก่งในบทบาทใดเป็นพิเศษ
"ฟอร์มูลา" : นิตยสารรถเมืองไทยไม่สามารถอยู่ได้ด้วยยอดขาย แต่อยู่ได้ด้วยโฆษณา คุณมีวิธีจัดการกับการใช้อิทธิพลของบริษัทรถยนต์อย่างไร ?
ขวัญชัย : เราจะไม่ยอมให้เขามาเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของเรา เช่น เราตั้งกติกาว่ารถที่จะมาลงปกกับเราเราจะใช้ภาพรถเพียงบางส่วนที่คิดว่าสวยมาขยายใหญ่ ซึ่งอาจจะไม่เห็นโลโกก็ได้ แต่ผมคิดว่าตรงนี้มันสื่อถึงคุณได้ ช่วงแรกผมก็ถูกต่อต้านจากบริษัทรถ แต่มันเป็นความบังเอิญที่รถเปิดตัวใหม่ก็อยากลงปก พอขายปกแล้วเรามีกฎเกณฑ์ เขาก็ต้องเคารพกฎด้วย ตอนหลังก็ได้รับความร่วมมือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่บางอย่างเราเอื้อได้เราก็ช่วย เช่น เขาต้องการให้เราสะกดชื่อยี่ห้อ และรุ่นตามแบบของเขา ซึ่งเราเขียนให้ไม่ได้ เรามีจุดยืนของเรา คือ สะกดตรงตัว แต่ถ้าเขาขอมามากๆ เราก็มีทางออก โดยชื่อยี่ห้อและรุ่นบนปก ผมจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษให้
"ฟอร์มูลา" : เคยมีข่าวว่าบริษัทรถยนต์ไปบีบบริษัทผลิตสื่อให้เลิกจ้างพนักงานที่เขียนเรื่องไม่ถูกใจ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และคุณรู้สึกอย่างไร ?
ขวัญชัย : เป็นเรื่องจริง และเป็นเหมือนรอยด่างในวงการรถยนต์ ผมไม่เห็นด้วยกับทั้งบริษัทรถยนต์และบริษัทผลิตสื่อที่บีบเอาพนักงานออก ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่าเขาเขียนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีอคติ ตรงไปตรงมา ก็ไม่น่าจะมีความผิด แค่เขียนแง่ลบนิดหน่อย แต่ไปสะเทือนผลประโยชน์เขา ผมว่าทำไม่ถูกต้อง และไม่ยุติธรรม
"ฟอร์มูลา" : ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณ จะทำอย่างไร ?
ขวัญชัย : ผมเชื่อว่า ผมอยู่ในวงการนี้มา 30 กว่าปี คงไม่มีใครกล้าพูดกับผม เพราะเขารู้ว่าผมจะตอบกลับไปอย่างไร
"ฟอร์มูลา" : คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับตำแหน่ง "เจ้าพ่อนิตยสารรถยนต์" และ "เจ้าพ่อมอเตอร์โชว์"ซึ่งไม่ใช่ของคุณทั้งสองตำแหน่ง ?
ขวัญชัย : ผมไม่เคยชื่นชอบการเป็นเจ้าพ่อ คำนี้สำหรับผมมันมีความหมายลบ ผมไม่เคยเป็นเจ้าพ่อใคร และไม่คิดจะไปบงการใครให้มาทำตามความต้องการ ผมเองก็ไม่มีอำนาจด้วย ผมชอบที่จะอยู่ให้คนเคารพความคิดความอ่านสติปัญญามากกว่าการบังคับขู่เข็ญ หรือเอารางวัลไปแจกเขา แล้วให้เขามาตอบแทนคุณ รางวัลที่ผมเอาไปให้ใคร ผมไม่เคยหวังผลตอบแทน หรือการที่ผมจะขอให้ใครช่วยอะไร เราจะมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันตลอด ผมไม่ชอบที่ใครจะมาขนานนามว่าเป็นเจ้าพ่อ ใครให้เป็นผมก็ไม่เอา ผมชอบเป็นดอกไม้ประดับวงการมากกว่า
"ฟอร์มูลา" : ความล้มเหลวของรางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม ที่คุณจัด มันสะท้อนอะไรในวงการรถยนต์ ?
ขวัญชัย : เรื่องนี้มันอยู่ในใจมานาน เมื่อ 20 กว่าปี เราเคยคิดรางวัลรถยนต์ของมหาชน ร่วมมือกับบริษัทคอมพิวเตอร์ ลงทุนหลายแสนบาท โดยให้ผู้อ่านโหวทว่าชอบรถรุ่นไหน แล้วเอาข้อมูลไปประเมินผลในคอมพิวเตอร์แบบตรงไปตรงมา ผมเคยไปบอกบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งว่าบริษัทคุณได้รางวัล ช่วยเอารถมาจอดแสดง คำตอบที่ได้รับ คือ คุณทำให้อีกรุ่นได้ไหม เพราะรุ่นนี้ไม่ได้โพรโมท ผมบอกคุณไม่เอามาโชว์ ผมไม่ว่า ผมก็จะมอบรางวัลให้ตัวแทนบริษัท วิธีนี้เป็นของฝรั่ง แต่เป็นจุดอ่อนสำหรับการตลาด ผมรู้สึกว่าที่ทำไป เราเหมือนมีเพื่อนเพิ่มขึ้น 5 คน และลดลงอีก 10 คน ในเวลาเดียวกัน
ยุคนั้นเป็นยุคแรกๆ ของการทำหนังสือ ยอมรับว่ารู้สึกหวั่นไหว แต่ก็มีคนทำนิตยสารเหมือนกันที่เอาใจแจกรางวัลแบบโหล ทุกคนได้รางวัลในแต่ละสาขากันหมด จนตอนนี้เริ่มมีเสียงวิจารณ์แล้วว่าเป็นรางวัลอะไรกันแน่ เป็นรางวัลเมขโหล หรือเปล่า
ตอนนี้ผมมีความรู้สึกว่า ผมสุกแล้ว ผมอยู่ในวงการมานานกว่า 30 ปี ผมร่วมกับบริษัทรีเสิร์ช มอบเพียงไม่กี่รางวัล จะชอบหรือไม่ก็ตาม เราทำอย่างตรงไปตรงมา ช่วงแรกกล่าวหาว่าเรารับทรัพย์มา ผมก็ไม่โต้ตอบ ผมจะทำอย่างนี้ต่อไป ดูเหมือนจะล้มเหลว แต่บางบริษัทก็เอารางวัลนี้ไปใส่ในโฆษณา
"ฟอร์มูลา" : บริษัทรถยนต์มีมากกว่าสิบราย การที่เขายอมรับรางวัลของคุณแค่รายสองราย ไม่ถือว่าล้มเหลวหรือ ?
ขวัญชัย : มันคือการเริ่มต้น จะสำเร็จเลยคงไม่มี แต่ถ้าเราใช้หลักการนี้ต่อไป เชื่อว่าเราจะได้รับความเชื่อถือเพิ่มขึ้น บางคนวิจารณ์ว่าเรารับเงินมา ผมตอบไปว่า ถ้าผมจะรับเงินคงทำมานานแล้ว ผมทำในสิ่งที่ถูกต้อง เวลาที่ผมใช้กับวงการนี้มันมากพอที่จะพิสูจน์ว่าเราเป็นอย่างไร
"ฟอร์มูลา" : ตอนที่เริ่มแจกรางวัล คุณบอกว่าต้องการสร้างมาตรฐานให้วงการรถยนต์ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะเขามีมาตรฐานอยู่แล้ว หรือไม่ยอมรับมาตรฐานของคุณ ?
ขวัญชัย : หลังจากผมทำรางวัลนี้มาสักระยะ ก็ได้ไปคุยกับบริษัทรถยนต์บางแห่ง เขาบอกว่าข้อมูลที่เราทำตรงกับใจเขามาก แต่ไม่ตรงกับของบริษัทรีเสิร์ช ระดับโลก และมีราคาแพงกว่า เขาก็ซื้อข้อมูลทั้งสองบริษัท เอามาเปรียบเทียบ แล้วนำไปพัฒนา ปีถัดไปเขาได้รางวัลเพิ่มขึ้น เมื่อใดที่คนไทยเชื่อคนไทยกันเอง สิ่งที่ทำด้วยจิตวิญาณมันให้ผลทางธุรกิจที่ดีกว่าแน่นอน
"ฟอร์มูลา" : บางโครงการที่คุณทำแล้ว ไม่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทรถยนต์เท่าที่ควร คุณรู้สึกเสียหน้า หรือเสียความมั่นใจหรือไม่ ?
ขวัญชัย : สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองเป็นมาเฟียคงจะเดือดร้อน ผมเป็นนักธุรกิจ สิ่งที่ผมนำเสนอต้องเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เหมือนเราเอาพื้นที่งาน "มหกรรมยานยนต์" ไปขาย พื้นที่นั้นต้องมีอะไรดี ใครที่ไม่ร่วมมือไม่ออกงาน ผมไม่โกรธ มีอยู่ปีหนึ่ง สองบริษัท ยักษ์ใหญ่ไม่มางานเรา ใหม่ๆ ก็ขาสั่น เมื่อคิดอีกที ทำไมเราต้องขาสั่น ในเมื่อเขาไม่รับผลประโยชน์ดีๆ จากเรา เขาไม่มา บริษัทอื่นก็ขายได้ หลังจากนั้นเขาก็ให้ความร่วมมือเรื่อยมา เราไปบังคับใครไม่ได้ แต่ความที่เราเป็นมนุษย์ก็คงมีน้อยใจอยู่บ้าง
"ฟอร์มูลา" : "มหกรรมยานยนต์" ปีนี้มีจำนวนรถที่มาแสดงเท่ากับปีก่อนหรือไม่ ?
ขวัญชัย : ถ้านับจำนวนคงน้อยกว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจ ผมก็เข้าใจที่บางบริษัทมาไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณ
"ฟอร์มูลา" : หลายปีก่อน คุณอ้างว่าการที่ "มหกรรมยานยนต์" ไม่ค่อยมีรถต้นแบบมาแสดงเพราะสถานที่หรูหราสู้ไบเทคไม่ได้ แต่ปัจจุบันรถต้นแบบก็ยังน้อยอยู่ ทั้งๆ ที่สถานที่จัดงานหรูกว่า แถมมีรางวัลล่อใจบริษัทรถยนต์ให้นำรถต้นแบบมาแสดง คุณจะชี้แจงอย่างไร ?
ขวัญชัย : ความหรูกว่า เริ่มต้นตั้งแต่การวางตำแหน่งสินค้า ก่อนที่เราจะมาจัดที่ อิมแพคท์ งานเรา คือสินค้าขึ้นห้าง ส่วนอีกงานจะมีสาวน้อยตกน้ำ มอเตอร์ไซค์ไต่ถัง มองเห็นชัดว่าคนละระดับ แต่การที่เขาไปจัดที่ไบเทค แล้วเลือกสินค้าหรูก่อนเรา ทำให้เราเหมือนเสียรังวัดไป เมื่อเราย้ายมาที่ อิมแพคท์ เราก็ไม่จำเป็นต้องไปแข่งขัน ไม่ว่าสินค้าจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าผมขายได้ ทำไมต้องรังเกียจการขายรถในงาน ซึ่งทั่วไปในโลกเขาไม่ทำกัน แต่คนไทยเราชอบซื้อรถ แล้วทำไมเราต้องจำกัดให้เหมือนฝรั่ง เราเอาจุดขายที่คนไทยชอบ อาจจะเรียกเราว่า งานมอเตอร์เซลส์ งานเทกระจาด ผมไม่รังเกียจ เพราะงานเรามีผู้ชมเพิ่มขึ้นทุกครั้ง แล้วคนก็นิยมซื้อรถในงานเรา
เราวางตำแหน่งสินค้าของเราไว้ว่าเป็นงานขาย พอวางว่าเป็นงานขาย งานโชว์ก็ไม่จำเป็น เหมือนสมัยก่อนเราต้องค่อยไต่ความหรูขึ้นมา ปีแรกที่ย้ายมา เราก็ยังสู้ไบเทคไม่ได้ ปีถัดมาเราดีขึ้นเรื่อยๆ บางปีเราแซงหน้า จนกระทั่งปีนี้มาจัดที่ชาลเลนเจอร์ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ถ้าบริษัทรถยนต์เห็นศักยภาพเราหรือยัง เมื่อเขาเห็นแล้วก็จะเปลี่ยนใจมาเอง ปีนี้มีรถต้นแบบ 5-6 คัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง
"ฟอร์มูลา" : หมายความว่าปีต่อไปจะมีรถต้นแบบมามากกว่าอีกงานหรือไม่ ?
ขวัญชัย : ผมคงบอกไม่ได้เดี๋ยวเป็นมาเฟีย แต่ศักยภาพหลายๆ อย่างเริ่มดีแล้ว ใครก็ตามที่มองเห็นศักยภาพของเราก็จะมาใช้ประโยชน์ แล้วนำรถต้นแบบมาแสดงเอง
"ฟอร์มูลา" : เมร์เซเดส-เบนซ์ มักไม่มาร่วมงาน คุณมีปัญหาอะไรกับผู้บริหารบริษัทนี้หรือไม่ อย่างไร ?
ขวัญชัย : ในสมัยแรกๆ ที่เขาเคยเข้ามาร่วมงาน มีบริษัท เอสอีซี ฯ ซึ่งนำเข้ารถ เมร์เซเดส-เบนซ์ มาแสดงด้วย แต่ด้วยมารยาท ผมก็บอก เอสอีซี ฯ ว่าคุณต้องทำไม่ให้เห็นยี่ห้อ เบนซ์ อย่างเด่นชัด เขาก็ขอเอารถ บราบัส เข้ามา ผมอนุญาตเพราะเมืองนอกเขาก็ทำกัน ปรากฏว่าผู้บริหารที่นี่ไม่พอใจ ผมถามกลับว่าทำไมในงานมหกรรมยานยนต์ที่ปารีส เยอรมนี ญี่ปุ่นเขาโชว์ได้ เขาให้คำตอบไม่ได้ ขอเพียงอย่าให้เห็นโลโก เบนซ์
เขาอยากให้ผมบีบ เอสอีซี ฯ ออกไป แต่ผมมองว่า เอสอีซี ฯ เป็นธุรกิจของคนไทย ผมไม่ยอมให้ฝรั่งมากดหัวเป็นอันขาด ผมเลือกไม่เป็นมิตรกับคนที่มีนโยบายไม่ถูกต้อง ดีกว่าที่จะไปบีบคนไทยกันเองระยะหลัง เบนซ์ จึงให้ความร่วมมือกับเราน้อยลง อาจจะไม่มา หรือส่งดีเลอร์มาขายรถเก่า ให้คนทั่วไปเห็นว่างานเราเป็นงานขายรถเก่า ผมเลยบอก เอสอีซี ฯ ว่าสั่งเบนซ์ มาเปิดตัวเลย เมื่อบริษัทแม่ไม่มาผมไม่ได้ทำผิดอะไร นี่ถือเป็นการตอบโต้ทางธุรกิจเล็กน้อย คนอื่นมาก็ได้รับเงินกลับไป เขาไม่มาก็ไม่ได้ยอดขาย ผมว่ายุติธรรมดี
"ฟอร์มูลา" : ฉะนั้นในงานปีหน้าและปีต่อๆ ไปถ้าไม่มี เมร์เซเดส-เบนซ์ ก็ช่างมัน ?
ขวัญชัย : ผมช่างมันมานานแล้ว ทางผู้บริหารเขาบีบบังคับให้เราใช้นโยบายเขา แล้วผมไม่ใช้ เขาก็ไม่มา ใครก็ตามที่คิดไม่ถูกต้องผมไม่เอาด้วย
"ฟอร์มูลา" : การที่คุณสนิทสนมกับ บีเอม ฯ เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่คุณสร้างขึ้นใช่ไหม ?
ขวัญชัย : ถ้ามองความสนิทสนม ต้องย้อนไปมองที่พีอาร์ของ บีเอม ฯ คือ ดร. วิทย์ (สิทธิเวคิน) ซึ่งสนิทกับผมเหมือนเพื่อน โทรคุยกัน นัดทานข้าวกัน ส่วนประชาสัมพันธ์ เบนซ์ เคยโทรหาผมสักครั้งหรือไม่ นอกจากโทรมาให้ช่วยงาน ถ้าเป็นเรื่องสื่อสัมพันธ์จะไม่มีการติดต่อมาเลย ผมถือว่าคุณรังเกียจผมการที่ผมจะไปคบใคร สนิทกับใครมันเป็นเรื่องส่วนตัว มันอาจจะเป็นกลยุทธ์หรือไม่ก็ได้ มันไม่เกี่ยวกับใคร มันขึ้นอยู่กับความคิดของผมอย่างเสรี
"ฟอร์มูลา" : คุณมีนโยบายเกี่ยวกับกลุ่มกเรย์มาร์เกทอย่างไร ?
ขวัญชัย : การเป็นกเรย์มาร์เกทมันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนมอง ในบ้านเราถือว่าไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย เราไม่ได้ห้ามให้นำเข้ามา ถ้ามองกันว่าเขาสั่งรถยี่ห้อนั้นนี้เข้ามาทำลายตลาดรถยี่ห้อนั้นๆผมว่าไม่ถูกต้อง ในเมื่อบริษัทแม่ขายรถให้เขา หรือไม่ห้ามเขาขาย ก็เหมือนเป็นการหลิ่วตาข้างหนึ่งของบริษัทแม่ เงินที่ได้ก็ไปตกอยู่ที่บริษัทแม่ ทำไมผมต้องไปสนใจบริษัทในนี้ ด้วย
"ฟอร์มูลา" : นโยบายนี้จะกระทบความสัมพันธ์ที่มีกับบริษัทอื่น เช่น นิสสัน ฮอนดา โตโยตา ด้วยหรือไม่ ?
ขวัญชัย : เรื่องนี้มันแน่นอน ผมใช้วิธีขอร้อง ถ้าใครเป็นเพื่อนผม ผมก็อยากให้มาอยู่ร่วมกันในที่เดียวกัน ผมพยายามหลีกเลี่ยง พูดด้วยเหตุและผล รถบางรุ่น บริษัทใหญ่จะนำเข้ามา เราก็ขอทาง เอสอีซี ฯ ไว้ เขาก็จะหลีกเลี่ยงเอารุ่นอื่นมาแทน อย่างปีที่แล้วอาจจะผิดพลาด แต่ปีนี้เราคุยกันแล้ว คงจะได้เห็นรถรุ่นดีๆ ในบ้านเรา
"ฟอร์มูลา" : คุณเคยให้สัมภาษณ์เมื่อหลายปีก่อน เมื่อบางบริษัทไม่มาร่วมงาน "มหกรรมยานยนต์" ว่าพอฝรั่งหรือญี่ปุ่นมาดูแลแทนคนไทย การตัดสินใจร่วมงานโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวแบบไทยๆ ก็จะหมดไป แล้วทำไมจึงยังเกิดเรื่องแบบนี้ ?
ขวัญชัย : พูดกันตรงๆ ว่ามันหมดไปเยอะ เกือบสูญพันธุ์แล้ว แต่ฝรั่งก็ไม่ใช่เทวดา ฝรั่งรับเงินก็มี ผมยืนยัน มันหายไปเยอะก็จริง แต่ก็มีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นเหมือนกัน ผมไม่ได้พาดพิงถึงใคร แต่มันเกิดขึ้นจริง
"ฟอร์มูลา" : เขารับเงินไปเท่าไร และผู้ให้ต้องการอะไรตอบแทน ?
ขวัญชัย : เท่าไรผมคงไม่หยั่งรู้ และ ไม่อยากรู้ จะรับไปทำอะไร ผมก็ไม่รู้ เขารับเงินจากคนอื่น เหมือนเขาเป็นทาสเงินของคนอื่น เราไม่เคยใช้นโยบายโปรยเงิน เพื่อให้เขามาช่วยอะไร เรามีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันตลอด
"ฟอร์มูลา" : คุณได้บทเรียนอะไรจากการจัดงานมหกรรมยานยนต์ในส่วนภูมิภาค ?
ขวัญชัย : พอเราเริ่มอยู่ตัวในกรุงเทพ ฯ แล้ว ความฝันของผม คือ อยากนำไอเดียการจัดงานไปแพร่ขยายในภูมิภาค ถ้าสังเกตจากรีเสิร์ช จะเห็นว่าผู้ชมงานจากต่างจังหวัดยังน้อยอยู่ เราในฐานะผู้จัดก็น่านำสิ่งดีไปให้เขาเห็นด้วย
ครั้งแรกที่เชียงใหม่ ต้องลองผิดลองถูก ในด้านการจัดงาน การซื้อขาย ถือว่าประสบความสำเร็จ มีผู้เข้าชม กว่า 200,000 คน รถขายได้ เกือบ 1,000 คัน แต่เราพลาดในด้านการลงทุน เนื่องจากฮอลล์เสร็จไม่ทัน เราต้องลงทุนไปกับเทนท์มาก ปีนี้เลยต้องขอเว้นวรรค บางคนเขาอยากให้เว้นวรรคก็ไม่ยอมเว้น ส่วนเราเขาอยากให้จัด เราขอเว้นวรรคเอง แต่สัญญาว่าเมื่อไรที่ฮอลล์เสร็จ เราจะไปจัดแน่นอน
ส่วนธงที่ 2 เราจะไปปักที่ขอนแก่น ที่หอประชุมกาญจนาภิเษก ประมาณเดือนตุลาคม 2550 หลังจากที่เราได้บทเรียนแล้ว การไปจัดที่ขอนแก่น คงไม่เข้าเนื้อ แล้วเราก็จะไปปักธงทางใต้ ตะวันออก ตะวันตก ต่อไป
"ฟอร์มูลา" : คุณคิดว่างานมหกรรมยานยนต์ ให้อะไรกับภูมิภาคต่างๆ แล้วจำเป็นหรือไม่ ที่ต้องมีปีละครั้ง หรือ 2 ปีครั้ง เมื่อเทียบกับวิถีชีวิต และสภาพเศรษฐกิจบ้านเรา ?
ขวัญชัย : ในประเทศใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกา เขาจัดหลายครั้ง แล้วไม่ได้จัดที่เดียว มีหลายเมืองประเทศไหนก็ตามที่เป็นสังคมยานยนต์ เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น คือ ต้องเอาของที่เขาผลิตมาแสดง เมื่อผลิตรถยนต์ออกมาใหม่ ก็อยากนำไปวางใกล้ที่สุดให้คนที่อยู่ละแวกนั้นรับรู้ การที่เราไปจับตลาดต่างจังหวัด น่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง ที่สำคัญ ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในจังหวัดนั้น เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ทุกอย่างก็ดีขึ้น น่าจะเป็นคุณมากกว่าให้โทษ โดยเฉพาะรถยนต์ เป็นสินค้าที่รัฐบาลได้ภาษีมาก การที่ประชาชนซื้อรถ รัฐก็ได้ ประชาชนก็ได้ ผู้ผลิตสินค้าก็ได้ ทุกคนได้หมด
"ฟอร์มูลา" : บางคนบอกว่างานแบบนี้จะไปกระตุ้นให้สังคมบริโภคเกินจำเป็น คุณมีความเห็นอย่างไร ?
ขวัญชัย : คนที่จับจ่ายเงินตั้งแต่สามแสนบาทขึ้นไป อะไรที่ไม่จำเป็น ผมเชื่อว่าเขาคงต้องชะลอ ผมมองว่าการซื้อรถยนต์เกิดจากความจำเป็น ต้องมีความต้องการจริงๆ เขามีโอกาสเลือก อาจจะซื้อรถใหม่ หรือรถใช้แล้ว งานของเราอาจไปกระตุ้นความต้องการมากขึ้น แต่การตัดสินใจคงไม่น่าเกินขอบเขต
"ฟอร์มูลา" : คุณเห็นด้วยหรือไม่ กับการที่เราตั้งเป้าจะเป็นดีทรอยท์ ออฟ เอเชียให้ได้ ?
ขวัญชัย : ผมรู้สึกอาย ไม่รู้ใครเป็นเจ้าของความคิดนี้ ดีทรอยท์ เป็นที่อยู่ของยักษ์ใหญ่อเมริกัน 3 ยี่ห้อซึ่งเป็นผู้ผลิตรถ บ้านเราเป็นเพียงผู้ประกอบรถ สังคมยานยนต์บ้านเรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น
ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย อาจเกิดจากนักการเมืองที่พยายามหาจุดขาย ให้ทุกคนมาช่วยกันลงทุนที่นี่มากกว่า ซึ่งไม่ต้องใช้คำนี้เขาก็มาลงทุนกันอยู่แล้ว เราเป็นประเทศที่ได้เปรียบ ทั้งแรงงาน วัสดุอุปกรณ์ นี่เมืองไทยไม่เห็นต้องไปบอกว่าเป็นเหมือนใคร
มันจะน่าอายตรงไหน ถ้าเราเรียกตัวเองว่าประเทศไทย หรือประเทศส่งรถเป็นที่หนึ่งของโลก ทำไมต้องไปเปรียบกับต่างประเทศ
"ฟอร์มูลา" : ถ้ามองในแง่ผู้ประกอบรถส่งออก เรามีโอกาส และศักยภาพพอหรือไม่ ที่จะเป็นยักษ์ใหญ่ของโลก ?
ขวัญชัย : ตอนนี้เราเป็นที่ 15 ของโลก เขามองกันว่าอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะผลิตรถส่งออกได้ล้านกว่าคัน อาจจะทำให้เราเลื่อนมาเป็นอันดับที่ 10 มันน่าภูมิใจเช่นกัน คงไม่ได้หวังว่าเราจะไปอยู่อันดับต้นเพราะสังคมยานยนต์เขาเจริญกว่าบ้านเราเยอะ เราไล่ตามเขาลำบาก เพราะเราไม่มีการคิดค้น เขาคิดมาแล้ว เพียงแต่มาประกอบที่นี่ เว้นแต่รถกระบะบ้านเรา ที่กำลังเนื้อหอม แต่ก็เป็นส่วนเล็กๆ ถ้าเทียบกับตลาดโลก
"ฟอร์มูลา" : เป็นความจริงหรือไม่ ที่ผลประโยชน์จากการมีโรงงานประกอบรถยนต์มากมาย ตกอยู่กับคนไทยเพียงส่วนน้อย ?
ขวัญชัย : ในอดีต ที่ยังมีการบังคับใช้ชิ้นส่วนในเมืองไทย ตอนนั้นผลประโยชน์ตกอยู่กับคนไทย แต่เดี๋ยวนี้ไทยถือเป็นประเทศสุภาพบุรุษ เราไปเจรจากับกลุ่มอาเซียน และยอมยกเลิกกำแพงภาษีก่อนในขณะที่มาเลเซียไม่ยอม มองเห็นได้ชัดเจนว่านโยบายของรัฐต่างกัน
การที่ต่างชาติมาลงทุน ถือว่าเราได้ในแง่ของเงินทอง ซึ่งอาจจะไม่เต็มที่นัก เพราะเราเปิดแล้ว ต้องยอมรับว่าเราได้ภาษีจากสิ่งที่ผลิตมา และส่งออกจากบ้านเรา วิศวกรเขาก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ให้คิดว่าดีกว่าที่เราไม่มีอะไรอยู่ในมือเลย แล้วไม่มีใครมาลงทุนเลย
"ฟอร์มูลา" : คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับโครงการ อีโคคาร์ หรือ เอศคาร์ ?
ขวัญชัย : ผมเสียดายโครงการนี้ เรามีส่วนเล็กๆ ในการเห็นชอบด้วย ตั้งแต่ตอนต้น ซึ่งผู้ช่วยรัฐมนตรีดร. วัชระ (พรรณเชษฐ์) ได้มาขอความเห็นของสื่อมวลชนมากพอสมควร มันมีเหตุผลสนับสนุนกัน เรายืนขาเดียวประกอบรถพิคอัพ ถ้าวันหนึ่ง จีน อินเดีย เกิดเอาจริงเรื่องรถกระบะ เราก็ขาสั่น เราต้องเตรียมตัวหาอีกขามายืน จึงหันไปมองรถเล็ก เช่น แจซซ์ ยารีส นั่นคือ แนวโน้มว่าไม่นานคนไทยต้องใช้รถเล็ก นี่คือ เหตุผลที่เราควรเปิดประตูให้บริษัทต่างๆ ทำรถเล็ก ขายคนไทย และส่งออกได้ด้วย
บ้านเราไม่มีความเป็นธรรมในเรื่องภาษี คุณตั้งภาษีรถเก๋งสูง ขณะที่ภาษีรถพิคอัพต่ำมาก มันก็ขายดีพอจะโพรโมทรถประเภทอื่นขึ้นมาคู่พิคอัพ ก็ต้องตั้งราคาสูงเหมือนรถเก๋ง มันก็ขายไม่ได้ อีโคคาร์สมัยนั้น เคาะออกมาคันละ 3 แสนกว่าบาท มันก็ขายได้ แต่หลายคนไม่ยอมรับ มันมีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง เพราะ เขามีรถเล็กอยู่แล้ว ก็ไม่อยากออกรถอีโคคาร์มาแข่งกับตัวเอง มีการลอบบีกัน ดึงจนกระทั่งเรื่องมันหายไป รัฐมนตรีล่าสุดเข้ามาบอกว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ผมว่าน่าเสียดาย ความจริงเราน่าจะยืน 2 ขา ดันไปนิยมชมชอบยืนขาเดียวกัน
"ฟอร์มูลา" : ถ้ายังยืนขาเดียวอย่างนี้ คุณทำนายอนาคตอุตสาหกรรมรถยนต์ของเราไว้อย่างไร ?
ขวัญชัย : เราต้องยืนขาเดียว ด้วยความรู้สึกหวั่นไหวตลอดเวลา ผมมองตลาดเวียดนาม กัมพูชา ไว้ถ้าเขาคิดทำกระบะแข่งกับเรา ขาเราสั่นแน่ เขาจะมาตีตลาด ด้วยราคาที่ถูกกว่าเราเยอะ ก็ได้แต่ภาวนาว่า อย่าให้ใครมาทำตลาดเดียวกับเราเลย
"ฟอร์มูลา" : ภาวนาอย่างเดียวพอไหม ?
ขวัญชัย : ไม่พอ มันต้องการวิสัยทัศน์ของผู้บริหารด้วย ถ้าผู้บริหารยังเห็นแก่บริษัทรถยนต์บางแห่งอยู่แล้วยังใช้นโยบายเช่นนี้ ก็เตรียมรับความผิดหวังในอีกไม่นาน
"ฟอร์มูลา" : อยากให้รัฐบาลในฝันของคุณ ทำอะไรให้อุตสาหกรรมยานยนต์บ้าง ?
ขวัญชัย : สิ่งแรกที่อยากให้ทำ คือ อย่ายุ่งการคิดกฎเกณฑ์อะไรก็ตาม ขอให้อยู่นานๆ อย่าเปลี่ยนตามรัฐมนตรีที่เปลี่ยนเข้ามา สิ่งเหล่านี้บริษัทรถยนต์รับลำบาก จะเดินไปทางไหนควรวางแผน มองล่วงหน้าไป 5-10 ปี
ยกตัวอย่าง เรื่องแกสโซฮอล ให้ผสมแอลกอฮอล์ 10 % ทำไมไม่ใช้เพียง 3-7 เพราะ 10 % เมื่อคำนวณถึงการใช้ภายในประเทศแล้ว ไม่เพียงพอ ต้องนำเข้า แล้วการนำเข้าแอลกอฮอล์ มันต่างอะไรกับการนำสารเคมีมาผสม
ใครก็ตามที่คิดเรื่องนี้ น่าจะกลับไปศึกษา สิ่งที่ในหลวงท่านทรงเคยดำริไว้ ผมไม่เคยได้ยินท่านให้บังคับใช้ หรือใส่กี่เปอร์เซนต์ เพียงแต่อยากให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เมื่อคำนวณแล้ว หากปริมาณแอลกอฮอล์ที่เราทำได้ ควรผสมแค่ 3 % รถก็พังน้อยลง แถมคุณยังได้ใช้ของภายในประเทศอีกด้วย
การบังคับใช้แกสโซฮอล เป็นการกำหนด ดีมานด์ เขารู้อยู่แล้วว่าซัพพลายไม่พอ ดังนั้นต้องนำเข้า เขาก็บินไปติดต่อล่วงหน้า ว่าขายให้ฉันเท่านี้ แล้วมาขายให้เราในราคาแพงกว่า ผมเชื่อว่าเป็นการวางแผนไว้แล้ว จะว่ากล่าวหาก็ได้ แต่ไม่ได้ระบุชื่อใคร
ขณะนี้ยังไม่ทันบังคับใช้แกสโซฮอล ก็มีการรณรงค์ให้ใช้ CNG อีก ทั้งที่ยังไม่มีการตั้งสถานี แล้วไม่มีใครรับประกันได้ว่าอนาคตมันจะแพงหรือไม่ ผมว่าถ้าจะสนับสนุนอะไร เอากันให้แน่สักอย่าง
ผมยกตัวอย่าง ประเทศบราซิล ก่อนที่ประเทศเขาจะผสมแอลกอฮอล์ในน้ำมัน รัฐบาลให้เวลากับบริษัทรถยนต์ 5 ปี ไปทำเครื่องยนต์รองรับให้ได้ ผิดกับของไทย ที่อยู่มาวันหนึ่งก็ออกมาประกาศรณรงค์ให้ใช้ บริษัทรถยนต์ก็ขาสั่น จะบอกว่าใช้ไม่ได้ก็ลำบาก เหมือนมีมีดมาจ่อคอ ท่านประธานบริษัทรถต่างๆ ก็ออกมาพูดว่ารถตั้งแต่ปี 1997 ขึ้นไปใช้แกสโซฮอลได้ แต่ตรงคำว่า 1997 นั้นพูดเสียงเบาทีเดียว กลับกลายเป็นรถของเราใช้ได้หมด ต่อไปรถที่ใช้ไม่ได้จริงๆ มันก็พัง แต่ไม่มีใครสนใจ ยังเก็บภาษีเหมือนเดิม
"ฟอร์มูลา" : บางคนบอกว่าเป็นเรื่องของการเสียสละ คุณคิดเห็นอย่างไร ?
ขวัญชัย : มันไม่ใช่เรื่องการเสียสละ เรื่องการเสียภาษี หรือเรื่องระหว่างประชาชนกับรัฐบาล มันเป็นเรื่องการปกครองกับคนใต้การปกครอง ผมไม่เคยเห็นประเทศไหนบังคับใช้
"ฟอร์มูลา" : คุณวิตกเกินไปหรือไม่ ในเมื่อเราเคยเปลี่ยนสู่ยุคน้ำมันไร้สารตะกั่วด้วยวิธีการเดียวกันและผ่านพ้นมาได้ ?
ขวัญชัย : รถมันไม่ได้พังทันตาเห็น แต่จะค่อยๆ พัง เคยลองไปดูรถที่มีปัญหา จริงๆ หรือไม่ คนไทยโยนบาปเก่ง เช่น รถมันเก่าแล้ว มันต้องมีทางเลือก อย่างที่เยอรมนีก่อนที่จะบังคับให้ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วเขาค่อยๆ ปรับ จนเหลือคนใช้น้อย และเลิกใช้ในที่สุด แล้วค่อยบังคับใช้ สังคมรถก็เป็นสังคมประชาธิปไตย น่าจะมีสิทธิ์เลือก
"ฟอร์มูลา" : คุณคิดว่าเรามีความจำเป็นต้องมีแผนแม่บทด้านพลังงาน และอุตสาหกรรมยานยนต์หรือไม่ ?
ขวัญชัย : มันต้องมี การที่ไม่มีเหมือนคุณเดินไปในอุโมงค์มืด เรามองไม่เห็น ไม่รู้ว่าข้างหน้าคืออะไรเป็นอย่างไร ต้องคิดให้ดีสักครั้ง แล้วเดินตามแผนแม่บท อย่าไปเปลี่ยนทุกปี
"ฟอร์มูลา" : ตอนนี้มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งหาเสียงประกาศจะลดราคาน้ำมันให้ประชาชน โดยลดเงินนำเข้ากองทุนน้ำมัน คุณคิดเห็นอย่างไร ?
ขวัญชัย : กองทุนน้ำมัน คือ ตัวแปร ก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนเรื่องพลังงาน เราไม่ควรมีเงินกองทุนนี้มาสนับสนุน ถ้าน้ำมันในตลาดโลกขึ้น เราก็ต้องขึ้นราคา เพื่อทำให้คนเห็นว่าขณะนี้มันแพง ความจริงเท่านั้น ที่จะทำให้เราอยู่ได้อย่างแข็งแรง
สิ่งที่พรรคนี้พูดมันมีมากกว่านั้น เป็นการเอากำไรจากบริษัทน้ำมันมาชดเชย ซึ่งตอนนี้เขาเป็น มหาชนไม่ได้เป็นของรัฐ ที่เขาไปซื้อหุ้นกันส่วนใหญ่ก็เป็นญาติของนักการเมือง ถ้าพวกเขาเสียสละเพื่อชาติบ้างก็น่าจะเหมาะสม เพราะเขาก็ได้หุ้นเหล่านั้นไปโดยไม่ค่อยสุจริตสักเท่าไร ถ้าพรรคนี้ทำได้ ผมก็สะใจดี
"ฟอร์มูลา" : คณะกรรมการวินิจฉัยคุณภาพยานยนต์ ยังมีอยู่หรือไม่ ที่ผ่านมามีผลงานอะไรบ้าง ?
ขวัญชัย : หน่วยงานนี้ที่ได้รับแต่งตั้งจาก คุณพงษ์ศักดิ์ (รักตพงษ์ไพศาล) รัฐมนตรีอุตสาหกรรมสมัยนั้น หลังกรณีทุบรถ เขาต้องการหาคนกลางเข้าไปช่วยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งไม่ค่อยมีผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ ผลงานที่ผ่านมา เราทำหน้าที่ช่วยไกล่เกลี่ยหลายเรื่อง ถ้าผู้บริโภคแรงไป หรือบริษัทรถแย่ ก็ให้ต่างฝ่ายลดลงหน่อย ถือว่าช่วยได้เยอะ ก่อนที่เราจะถูกยกเลิก ปัญหาก็เหลือน้อยแล้วท่านรัฐมนตรีคนปัจจุบันไม่เห็นประโยชน์ เราก็ไม่ว่าอะไร
"ฟอร์มูลา" : อะไรคือความยุติธรรมระหว่าง สิทธิของผู้บริโภค กับความรับผิดชอบของผู้ผลิตรถยนต์ ?
ขวัญชัย : ผู้ผลิตรถยนต์มีหน้าที่ ผลิตสินค้าดี มีคุณภาพ สมตามคำโฆษณา ส่วนผู้บริโภค มีหน้าที่ต้องรับรู้ว่าเมื่อซื้อรถมาตั้งแต่วินาทีแรก แล้วเกิดความไม่พึงพอใจ เช่น ไม่ชอบสี รูปทรง คุณต้องรับผิดชอบเอง แต่ถ้าขับไปแล้วเบรคไม่อยู่ ต้องมาดูที่ต้นเหตุว่าเกิดจากข้อบกพร่องของบริษัทรถยนต์หรือไม่ ถ้าใช่ต้องเปลี่ยนให้ทันที ต้องทำอย่างเมืองนอกให้ได้ คือ ถ้ารถรุ่นไหนบกพร่อง ต้องเรียกรถทั้งลอทกลับคืนมา แล้วประกาศให้คนรู้ จัดการเปลี่ยนอะไหล่ และส่งคืนให้ ถึงจะเป็นธรรม อย่างบ้านเรา บางทีผู้บริโภคก็มากเกินไป บางทีผู้ผลิตก็ไม่ยอม
"ฟอร์มูลา" : กรณีไหนที่คุณเห็นว่าผู้บริโภคควรได้รับการชดเชยด้วยการเปลี่ยนรถคันใหม่ ?
ขวัญชัย : รถที่เกิดความเสียหายจากความบกพร่องของชิ้นส่วน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าจริง ต้องเปลี่ยนคันใหม่ให้ทันที อะไรที่ผิดพลาดแล้วไม่ยอมรับ ปล่อยให้คนผิดลอยนวล ผมไม่เห็นด้วย
"ฟอร์มูลา" : มีเสียงวิจารณ์ว่าคุณไม่มีลักษณะของผู้ริเริ่ม แต่เป็นนักต่อยอดมากกว่า ?
ขวัญชัย : คนเราเลือกเวลาเกิดไม่ได้ เราเห็นว่ามีคนทำอยู่ แต่ถ้าเราทำได้ดีกว่า เราก็ทำ จะหาว่าผมเป็นนักต่อยอดก็ได้ แต่วิธีการที่ผมทำหนังสือ หรือจัดงาน ผมไม่เคยเดินตามใคร ถ้าจะเดินตาม ก็คงเอามาจากเมืองนอกบ้าง คงไม่ได้ต่อยอดจากใครคนใดคนหนึ่ง
"ฟอร์มูลา" : คุณคิดจะเปลี่ยนแปลง "สื่อสากล" สู่บริษัท "มหาชน" หรือไม่ ?
ขวัญชัย : ชีวิตคนเราต่างก็มีเป้าหมาย สำหรับเป้าหมายในชีวิตของผม ปัจจุบันอยู่ในจุดที่พอใจแล้วการเป็นบริษัทมหาชน ต้องมีภาระผูกพันกับผู้ถือหุ้น ต้องรับผิดชอบเงินของคนอื่น ทำให้ชีวิตไม่มีอิสระซึ่งผมคงไม่เอาตัวเองเข้าไปเหนื่อยและลำบาก เพราะอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผมจะวางมือ แล้ว ให้มืออาชีพหรือทายาท เข้ามารับผิดชอบงานต่อไป ส่วนในอนาคต นโยบายการเป็นบริษัทมหาชนจะเป็นอย่างไรคงต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ขณะนั้น
"ฟอร์มูลา" : อนาคตของ "ฟอร์มูลา" นิตยสารในเครือ และงานมหกรรมยานยนต์จะเป็นอย่างไร ?
ขวัญชัย : ผมเชื่อว่าพื้นฐานที่สร้างไว้ตอนนี้มั่นคงพอ ที่จะสร้างความเจริญเติบโตให้กับหนังสือได้ ส่วนมืออาชีพ หรือทายาทที่จะเข้ามาสานงานต่อ ถือเป็นส่วนประกอบที่จะประคับประคองให้มีการเติบโตต่อไปเท่านั้น ส่วนจะเติบโตรวดเร็วหรือช้าลง ขึ้นอยู่กับความสามารถของเขา
"ฟอร์มูลา" : เมื่อ 10 ปีก่อนคุณพูดว่าตัวเองเป็นไม้ประดับในวงการ ปัจจุบันยังเป็นอยู่ไหม หรือว่าเติบโตเป็นไม้ใหญ่แล้ว ถ้าใช่ วงการรถยนต์ได้ประโยชน์อะไรจากไม้ใหญ่อย่างคุณ ?
ขวัญชัย : ผมว่าปัจจุบันมันเป็นต้นไม้ใหญ่แล้ว ส่วนคนทั่วไปจะได้ประโยชน์อะไรจากไม้ใหญ่ต้นนี้ ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสามารถให้ได้ ผมยินดี แต่ถ้าให้ทำในสิ่งที่ขัดต่อความรู้สึก ผมไม่ทำ
"ฟอร์มูลา" : ตัวตนที่แท้จริงของคุณคืออะไร ระหว่าง สื่อมวลชน นักธุรกิจ และนักดนตรี ?
ขวัญชัย : ถ้าไม่ได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ทุกวันนี้ผมคงเป็นนักดนตรีอาชีพ การศึกษาต่อในครั้งนั้นได้เปลี่ยนแปลงให้ผมกลายเป็นนักธุรกิจ อย่างไรก็ตามในช่วงเกษียณอายุ ผมคงกลับไปเป็นนักดนตรีอีกครั้ง เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมมีความสุขที่สุดเมื่อได้ทำ
"ฟอร์มูลา" : ถ้าเปรียบชีวิตคุณเป็นดนตรี จะเหมือนดนตรีประเภทใด ?
ขวัญชัย : ชีวิตผมเริ่มต้นด้วยเพลง รอค แต่เมื่อเป็นนักธุรกิจ ชีวิตก็เหมือนกับเพลง แจซซ์ บางครั้งมีการควบคุม มีจังหวะ มีห้องเพลง แต่ยังมีศิลปะในการดำเนินชีวิต ผมคิดว่าผมชอบวิถีของ แจซซ์ และชีวิตต่อไปคงยังอยู่ในจังหวะนี้
"ฟอร์มูลา" : คุณเป็นพวกสนับสนุน หรือต่อต้านทักษิณ ?
ขวัญชัย : ผมเป็นคนต่อต้านผู้ที่ไม่มีศีลธรรม ไม่มีจริยธรรม ดังนั้นใครก็ตามที่ไม่มี 2 สิ่งนี้ ผมไม่ชอบ
"ฟอร์มูลา" : คุณเคยนึกอยากเป็นนักการเมืองบ้างไหม ?
ขวัญชัย : ไม่มี ตอนเรียนที่เยอรมนี ได้อ่านหนังสือด้านการเมืองเยอะ อ่านแล้วรู้สึกว่าการเมือง คือ การกุมอำนาจอย่างหนึ่ง ผมเป็นคนไม่ชอบ และไม่นิยมในอำนาจ ถ้าลงเล่นการเมือง คุณต้องแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ต้องสามารถให้ร้ายคนอื่นได้ ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก ถึงแม้คุณจะไม่ชอบก็ตาม ซึ่งไม่ใช่นิสัยผม ผมชอบทำในสิ่งที่ชอบ และมีความสุขในสิ่งที่ทำมากกว่า
"ฟอร์มูลา" : ถ้าไม่ชอบอำนาจ แล้วเงิน กับเซกซ์ ละ คุณชอบอะไรมากกว่ากัน ?
ขวัญชัย : ทุกอย่างเป็นความต้องการตามธรรมชาติ สิ่งแรกที่ติดมากับตัวคน คือ เซกซ์ ผมไม่ใฝ่หาอำนาจ เพราะผมไม่ใช่พวกบ้าอำนาจ เงินถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมี แต่ผมก็เคยไม่มีมาแล้ว สิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ก็คือเรื่องเซกซ์ ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าผมชอบเซกซ์มากกว่า ก็คงเป็นความจริงตามธรรมชาติของคน
"ฟอร์มูลา" : พูดกันว่าคนรุ่นเบบี บูม อย่างคุณ จะมีแรงขับในการที่จะประสบความสำเร็จ และซื้อทุกสิ่งที่เคยอยากได้ในวัยหนุ่มจริงหรือไม่ ?
ขวัญชัย : จริง สำหรับผมตอนอายุ 10 กว่าปี ครั้งที่ยังเล่นดนตรีอยู่ ผมใฝ่ฝันจะซื้อกีตาร์เป็นของตัวเองแต่กลับหมดเงินไปกับการซื้อรถ และเลี้ยงเพื่อน เมื่อไปขอเงินพ่อแม่เพื่อซื้อกีตาร์ ก็ถูกปฎิเสธ สิ่งนี้เป็นแรงกดดันลึกๆ ที่อยู่ในใจ และเป็นความฝันที่ได้ทำเมื่อตอนอายุมากขึ้น นั่นคือ การสะสมกีตาร์
"ฟอร์มูลา" : ตอนนี้คุณมีกีตาร์ทั้งหมดกี่ตัว และตัวไหนที่รักมากที่สุด
ขวัญชัย : ประมาณ14 ตัว รักมากที่สุด คือ กีตาร์ เฟนเดอร์ สตาร์โทคลัสเตอร์ สีดำ ผมเรียกมันว่า "พิณนิล" ซึ่งคล้องกับชื่อเล่น "พีนิน" ของหลานผม เล่นแล้วถนัดมือ ปรับเสียงคล่อง ซื้อจากฮ่องกง
"ฟอร์มูลา" : การผลิตไวน์มอเตอร์เอกซ์โป เป็นความฝันของคุณด้วยหรือ ?
ขวัญชัย : ผมมีเพื่อนที่เป็นผู้ผลิตไวน์ เมื่อได้คุยกัน จึงมีความรู้สึกว่าตรงกับบุคลิกของผม ซึ่งชอบดื่มไวน์ จึงคิดผลิตไวน์ของตัวเอง ส่วนรสชาติของไวน์ที่ชอบ ขึ้นอยู่กับโอกาส ถ้าดื่มกับอาหาร ต้องเป็นไวน์ที่มีรสชาติเบา เช่น ไวน์ขาว ไวน์แดง ที่มีน้ำหนักไม่มาก ถ้าดื่มเย็นๆ แล้วสูบซิการ์บ้าง ต้องเป็นไวน์แดง รสจัด และแรง
"ฟอร์มูลา" : วางแผนชีวิตหลังเกษียณไว้อย่างไร ?
ขวัญชัย : ท่องเที่ยว และพักผ่อน ตอนนี้ผมซื้อเรือมาลำหนึ่ง กำลังหัดขับอยู่ มีความคิดว่า จะไปเขียนต้นฉบับบนเกาะ พร้อมกับท่องเที่ยว และพักผ่อน และอาจนัดพบเพื่อนฝูงเพื่อสังสรรค์กันบ้าง
"ฟอร์มูลา" : ในวงการรถยนต์จำเป็นต้องมี ขวัญชัย 2, ปราจิน 2 หรือ จรวย 2 ?
ขวัญชัย : คงไม่มีตัวแทนของ ขวัญชัย ปราจิน จรวย เพราะทั้ง 3 คนนี้เกิดขึ้นมาในยุคหนึ่ง ที่บังเอิญทำหนังสือรถยนต์ และประสบความสำเร็จพร้อมกัน แต่สิ่งที่จะอยู่เมื่อเราทั้ง 3 คนจากไป คือ ความประทับใจที่ได้สร้างไว้ให้แก่วงการ
"ฟอร์มูลา" : บนหน้าประวัติศาสตร์ยานยนต์ไทย อยากให้บันทึกชื่อคุณในฐานะอะไร ?
ขวัญชัย : ในฐานะนักทดสอบรถ นักเขียน คนที่พูดตรงไปตรงมา คนที่บริหารงานอย่างซื่อตรง ไม่มีนอกไม่มีใน อยากให้เขาจดจำ ทุกสิ่งที่เราได้ทำ และทุกอย่างที่เราเป็น
ABOUT THE AUTHOR
ส
สายยศ สุวรรณหงษ์
ภาพโดย : ราชวัตร แสงจันทรา/เอกลักษณ์ จุลสุคนธ์นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2549
คอลัมน์ Online : สัมภาษณ์พิเศษ(formula)