มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
(ต่อจากฉบับเดือนมีนาคม 2550)
ผู้จัดงานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์เป็นองค์กรอิสระ มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า THE DEDROIT
AUTO DEALERS ASSOCIATION และเรียกกันย่อๆ ว่า DADA ชื่อนี้น่าจะแปลเป็นภาษา
ไทยได้ว่า สมาคมผู้จำหน่ายรถยนต์แห่งเมืองดีทรอยท์
DADA จัดงานแสดงรถยนต์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 1907 ปี 2007 จึงเป็นปีที่งาน
แสดงรถยนต์รายการนี้มีอายุครบ 100 ปี ยังค้นไม่พบว่า ในระยะแรกงานแสดงรถยนต์รายการ
นี้มีชื่อว่าอะไร ทราบก็แต่เพียงว่า ชื่ออย่างเป็นทางการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ NORTH
AMERICAN INTERNATIONAL AUTO SHOW ซึ่งเรียกกันย่อๆ ว่า NAIAS เริ่มใช้
เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1989 หากยึดชื่อนี้เป็นหลัก งานครั้งล่าสุดซึ่งมีขึ้นในปี 2007 นี้ ก็
นับได้ว่าเป็นงานครั้งที่ 19
เอกสารที่ DADA แจกให้แก่ผู้สื่อข่าวที่ไปร่วมงานระบุว่า NORTH AMERICAN
INTERNATIONAL AUTO SHOW หรือที่เรียกตามภาษา "ฟอร์มูลา" ว่า มหกรรม
ยานยนต์ดีทรอยท์ เป็นงานแสดงรถยนต์รายการเดียวของสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการ
รับรองจากองค์กรนานาชาติ ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า ORGANISATION
INTERNATIONALE DES CONSTRUCTEUR D'AUTOMOBILES (OICA) หรือ
องค์การผู้ผลิตรถยนต์นานาชาติ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปารีส องค์การนี้มี
กิจกรรมหลายอย่าง รวมทั้งการดูแลและให้การรับรองงานแสดงรถยนต์ในประเทศ
ต่างๆ ทั่วโลก
DADA ยังระบุด้วยว่า การจัดงานนี้ครั้งก่อน คือ เมื่อเดือนมกราคม 2006 ในวันที่จัด
ไว้โดยเฉพาะสำหรับสื่อมวลชน ซึ่งมีอยู่รวม 3 วัน มีผู้สื่อข่าว 6,600 คน จาก 62 ประเทศ และ
จาก 42 รัฐของสหรัฐอเมริกา ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน จำนวนที่ว่านี้ รวมเครือข่ายโทรทัศน์
จำนวน 279 เครือข่ายอยู่ด้วย และเมื่อแยกตามสัญชาติก็พบว่า มากกว่าร้อยละ 30
เป็นผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศ
เพื่อให้ตระหนักในความยิ่งใหญ่ของงาน เอกสารของ DADA ให้รายละเอียดว่า
การจัดงาน NAIAS แต่ละครั้งจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่รัฐมิชิแกน เป็นมูลค่ามากกว่า
500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 18,000 ล้านบาท การจัดงานแต่ละครั้งต้องใช้รถเซมิ-
ทเรเลอร์ 14 คัน บรรทุกพรมยาว 75,000 หลา หรือประมาณ 67,500 เมตร เพื่อใช้ปูในงาน
เป็นปริมาณเพียงพอที่จะใช้ปูสนามฟุตบอลจำนวน 750 สนาม พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ใน
งานแต่ละครั้ง เป็นปริมาณพลังไฟฟ้าที่บ้านเรือน 180 หลัง สามารถใช้ได้นาน 1 ปี
การเตรียมงานแต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณ 10 สัปดาห์ หรือเท่ากับหนึ่งภาคเรียน
ในวิทยาลัย (เทียบกับเมื่อสิบห้าก่อนที่ใช้เวลาแค่ 4 วัน) ต้องว่าจ้างช่างไม้ ช่างไฟฟ้า
ช่างเหล็ก ฯลฯ มากกว่า 1,500 คน ทำงานวันละ 12-14 ชม. ในการก่อสร้างและรื้อ
ถอนบูธจัดงานต่างๆ
ถึงวันงาน สถานที่จัดงานคือ COBO CENTER ซึ่งใช้เป็นที่จัดงานมาตั้งแต่ปี 1965 ก็ต้องใช้คนมาก
กว่า 1,700 คน ในการดูแลจัดการให้งานดำเนินไปโดยไม่ขาดตกบกพร่อง ในจำนวนนี้รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ดู
แลความเรียบร้อยทั่วๆไปจำนวน 200 คน เจ้าหน้าที่จัดอาหารและเครื่องดื่มจำนวน 500-700 คน เจ้าหน้า
ที่รักษาความปลอดภัยจำนวน 450 คน และเจ้าหน้าที่เช็ดถูทำความสะอาดรถจำนวน 65 คน รวมอยู่
ด้วย
ในฉบับเดือนมีนาคม 2550 ได้บอกไปแล้วว่าผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรายนำผลงานใหม่อะไรบ้างออกอวด
ตัวในงานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ครั้งนี้ แต่ลืมบอกไปว่า สินค้าต่างๆ ที่บรรดาผู้ผลิตนำออกแสดงในงาน
นี้ รวมทั้งรถยนต์จำนวนประมาณ 700 คัน DADA บอกว่า มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นมากกว่า 200 ล้านเหรียญ
สหรัฐ หรือเท่ากับประมาณ 7,200 ล้านบาทไทย ในเดือนนี้จะทำตามที่ทิ้งท้ายไว้เมื่อเดือนก่อน โดยนำเสนอ
รายละเอียดของบรรดารถแนวคิด ซึ่งปรากฏตัวในงานนี้มากมาย
เชฟโรเลต์ โวลท์ คอนเซพท์
เชฟโรเลต์ โวลท์ คอนเซพท์ (CHEVROLET VOLT CONCEPT)
ดาวดวงเด่นในบูธของค่าย จีเอม เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ
รถ 4 ประตูซีดาน 4 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าจากหม้อแบทเตอรี
ลิเธียม-อีออน (LITHIUM-ION) ขนาดใหญ่ มีน้ำหนักประมาณ
181 กก. และมีเครื่องยนต์เทอร์โบ 3 สูบเรียง ความจุ 1.0 ลิตร
ทำหน้าที่เป็นเครื่องประจุไฟเข้าแบทเตอรีกรณีไฟหมดขณะใช้งาน
เครื่องยนต์ที่ว่านี้ใช้เชื้อเพลิงเหลวแบบพิเศษ คือ เชื้อเพลิงที่ผสม
ขึ้นจาก เอธานอลร้อยละ 85 และเบนซินร้อยละ 15
อธิบายการทำงานได้อย่างสั้นๆ ว่า รถแนวคิดขนาดตัวถัง 4.318x
1.790x1.336 ม. คันนี้ เป็นรถที่วิ่งด้วยพลังไฟฟ้าจากแบทเตอรี
ล้วนๆ เป็นแบทเตอรีที่สามารถประจุไฟด้วยไฟบ้านขนาด 110 โวลท์
โดยใช้เวลาประมาณ 6-6.5 ชม. และมีพลังเพียงพอสำหรับการ
เดินทางไกล 40 ไมล์ หรือ ประมาณ 64 กม. โดยมีอัตราเร่ง
0-96 กม./ชม. ใน 8.5 วินาที และความเร็วสูงสุด 190 กม./ชม.
กรณีไฟหมด เพราะลืมประจุไฟ หรือเมื่อเดินทางไกล และไม่สามารถ
ประจุไฟจากไฟบ้าน ก็สามารถให้เครื่องยนต์ทำงานประจุไฟเข้า
แบทเตอรี ซึ่งจะทำให้เดินทางได้อีกประมาณ 960 กม.
ฟอร์ด แอร์สตรีม คอนเซพท์
ฟอร์ด แอร์สตรีม คอนเซพท์ (FORD AIRSTREAM CONCEPT)
หนึ่งในรถแนวคิดจำนวน 2 คัน ที่ค่าย ฟอร์ด นำออกอวดตัวเป็นครั้ง
แรกในงานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ CROSSOVER VEHICLE
หรือ "รถผสานพันธุ์" ขับเคลื่อนด้วยระบบพันทาง (HYBRID DRIVE)
ที่ ฟอร์ด พัฒนาขึ้นเอง และตั้งชื่อว่า HYSERIES DRIVE
เป็นรถที่ออกแบบสำหรับ MALE EMPTY NESTER หรือ ผู้ชายวัย 50 ปี
ซึ่งมีเวลาเหลือเฟือพอสำหรับการท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ตัวถังทรงกล่อง
เดียว ขนาด 4.700x2.004x1.793 ม. มีประตูข้างไม่เหมือนกัน
คือ ด้านผู้ขับมีประตูเดียว เป็นประตูติดบานพับแบบธรรมดา แต่ด้านตรง
ข้าม เป็นประตูขนาดใหญ่ กว้างถึง 2 ใน 3 ของตัวรถ และเปิด
โดยพลิกขึ้นข้างบน ภายในห้องโดยสารซึ่งออกแบบให้นั่งเพียง 2 คน
ฟอร์ด บอกว่า ออกแบบในสไตล์ที่ได้แรงบันดาลใจจากยานอวกาศ
ของภาพยนตร์ที่เคยโด่งดังในอดีต คือ 2001: A SPACE ODYSSEY
ของ สแตนลีย์ คูบริค (STANLEY KUBRICK)
ระบบขับเคลื่อน HYSERIES DRIVE ที่กล่าวข้างต้น รถจะวิ่งด้วย
พลังไฟจากหม้อแบทเตอรี ลิเธียม-อีออน(LITHIUM-ION) ตลอด
เวลา โดยมีเซลล์เชื้อเพลิง (FUEL CELL) เป็นตัวป้อนประจุไฟฟ้า
ฟอร์ด อินเตอร์เซพเตอร์ คอนเซพท์
ฟอร์ด อินเตอร์เซพเตอร์ คอนเซพท์ (FORD INTERCEPTOR CON
CEPT) รถแนวคิดอีกคันหนึ่งที่ยักษ์รองของสหรัฐอเมริกา นำออกเปิด
ตัวที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถซีดาน 4 ประตู 4 ที่นั่งขนาด
FULL-SIZE ออกแบบสำหรับผู้พิสมัยรถแรง และเร็ว อย่างที่เรียกกัน
ในเมืองมะกันว่า MUSCLE CAR โดยขอหยิบขอยืมพแลทฟอร์มจากรถ
ตลาดซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือ ฟอร์ด มัสแตง จีที (FORD MUSTANG GT)
ตัวถังทรง 3 กล่อง ขนาด 5.120x1.940x1.392 ม. มีลักษณะ
เด่นตรงแผงกระจังหน้าขนาดโตที่รวมดวงโคมไฟหน้าทั้งด้านซ้ายและ
ด้านขวาเข้าไว้ด้วย มี BELTLINE หรือ "เส้นสะเอว" ค่อนข้างสูง
และติดตั้งกระทะล้อขนาดโตถึง 22 นิ้ว รูปทรงองค์เอวของตัวถังโดย
รวม ฟอร์ด บอกว่า ออกแบบในสไตล์ของรถซีดานยุคปี 1960
เป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ วี 8 สูบ 5.0
ลิตร 400 แรงม้า ซึ่งพัฒนามาจากเครื่อง วี 8 สูบ 4.6 ลิตร
ที่ใช้อยู่ในขณะนี้กับรถตลาด ฟอร์ด มัสแตง จีที รวมทั้งเปลี่ยนเชื้อ
เพลิงจากที่ใช้น้ำมันเบนซินล้วนๆ เป็นเชื้อเพลิง E85 ซึ่งมีส่วนผสม
เอธานอลร้อยละ 85 และเบนซินร้อยละ 15 ส่วนระบบเกียร์ เป็น
เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ
ไครสเลอร์ นาสเซา
ค่าย ไดมเลร์ ไครสเลอร์ นำรถแนวคิดออกอวดตัวในงานนี้หลาย
คัน คันแรกที่นำมาให้ชมกันนี้คือ ไครสเลอร์ นาสเซา (CHRYSLER
NASSAU) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถคูเป 4 ประตู 4 ที่นั่งระดับ
หรู ออกแบบสำหรับผู้ใช้รถวัยหนุ่มวัยสาวที่ต้องการความแปลกใหม่
ตัวถังขนาด 4.981x1.885x1.496 ม. วางตัวอยู่บนพแลทฟอร์มที่
มีช่วงฐานล้อยาวถึง 3.050 ม. ทั้งนี้เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบ
เพื่อให้มีช่วงยื่นหน้ายื่นหลัง (0.940/0991 ม.) สั้นที่สุดเท่าที่จะ
เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ตัวถังภายนอกมีรายละเอียดที่น่าสนใจอยู่
มากมาย รวมทั้งกระจกบานท้ายที่โอบรวมตัวถัง และหลังคาซึ่งทำ
เป็นช่องกระจกรูปสี่หลี่ยมผืนผ้า 2 ช่องขนานกันไปตามยาวของตัว
รถ วิจารณ์กันในเมืองมะกันว่า รูปทรงองค์เอวของตัวถังภายนอก
ทำให้แลดูเหมือนรถมีขนาดเล็กกะทัดรัดกว่าที่เป็นจริง
ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ OHV วี 8 สูบ
6.1 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 425 แรงม้า ที่ 6,200 รตน. ถ่ายทอด
กำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ สมรรถนะความเร็วตาม
ตัวเลขของผู้ผลิต อัตราเร่ง 0-96 กม./ชม. ทำได้ใน 5.0 วินาที ควอร์
เตอร์ไมล์ทำได้ใน 13.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 265 กม./ชม.
จีพ ทเรลฮอว์ค
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของค่าย ไดมเลอร์ ไครสเลอร์ ที่เลือกมาให้ชม
กัน คือ จีพ ทเรลฮอว์ค (JEEP TRAILHAWK) เป็นรถแนวคิดใน
รูปลักษณ์ของ SPORT-UTILITY VEHICLE (SUV) หรือ รถกิจกรรม
กลางแจ้ง 4 ที่นั่ง ซึ่งมีกระบะเปิดท้ายเหมือนรถพิคอัพ
ตัวถังทรง 2 กล่อง ขนาด 4.858x1.968x1.761 ม. วางตัวอยู่
บนพแลทฟอร์มที่ขอหยิบขอยืมมาจากรถตลาด จีพ แรงเลอร์ (JEEP
WRANGLER) ซึ่งมีช่วงฐานล้อยาว 2.946 ม. รูปทรงองค์เอวของ
ตัวถังซึ่งมี BELTLINE หรือ "เส้นสะเอว" ค่อนข้างสูง ให้ความรู้สึก
ในพละกำลัง และความบึกบึนทนทาน เอกสารประชาสัมพันธ์ของค่าย
ไครสเลอร์ ระบุว่า เมื่อมองจากด้านข้าง จะให้จินตนาการเหมือน
ลูกศรที่กำลังถูกง้าง ด้วยลำแขน และไหล่อันทรงพลังของนักธนู ลอง
ดูกันเองก็แล้วกันในภาพประกอบ ว่าเห็นจินตภาพอย่างที่ว่านี้หรือไม่
เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อด้วยพลังจากเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อ
เพลิงโดยตรง BLUETEC วี 6 สูบ 3.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 215
แรงม้า ที่ 4,000 รตน. ถ่ายทอดกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 5
จังหวะ สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิต อัตราเร่ง 0-96
กม./ชม. ทำได้ใน 9.0 วินาที ความเร็วสูงสุด 200 กม./ชม.
เมร์เซเดส-เบนซ์ คอนเซพท์ โอเชียน ดไรฟ
จุดโฟคัสสายตาในบูธของค่าย"ดาวสามแฉก"คือ เมร์เซเดส-เบนซ์
คอนเซพท์ โอเชียน ดไรฟ (MERCEDES-BENZ CONCEPT OCEAN
DRIVE) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเปิดประทุน 4 ประตู 4 ที่นั่ง
ระดับสุดหรู ซึ่งเชื่อกันว่าอีกไม่นานก็คงกลายสภาพเป็นรถตลาด
เป็นต้นแบบของรถเปิดประทุนระดับสุดหรูที่ค่าย "ดาวสามแฉก" จะ
ทำออกขายในตลาด เพื่อสู้กับรถเปิดประทุนของค่าย โรลล์ส-รอยศ์
ซึ่งก็ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวเช่นกัน แต่ที่ยังกังขากันอยู่ ก็คือ เมื่อออก
จำหน่ายจะติดยี่ห้อ เมร์เซเดส-เบนซ์ หรือ มายบัค (MAYBACH)
ตัวถังขนาด 5.293x1.911x1.497 ม. ขอหยิบขอยืมเครื่องยนต์
และกลไกหลายชิ้นจากรถตลาด เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์
(MERCEDES-BENZ S-CLASS) แต่ชิ้นส่วนตัวถังออกแบบขึ้นใหม่ทั้ง
หมดตั้งแต่หัวจรดหาง และทำขึ้นเพียงคันเดียว เพื่ออวดตัวที่งานนี้
ติดตั้งประทุนหลังคาแบบอ่อน เปิด/ปิดด้วยระบบ อีเลคทรอ-ไฮดรอลิค
(ELECTRO-HYDRAULIC) โดยใช้เวลาเพียง 20 วินาที ซึ่งนับว่า
เป็นรถขับล้อหลัง ด้วยพลังจากเครื่องยนต์เทอร์โบ SOHC วี 12
สูบ 36 วาล์ว 5.5 ลิตร 517 แรงม้า ที่ขอหยิบขอยืมมาจากรถ
ตลาด เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส 600 (MERCEDES-BENZ S600)
โวลโว เอกซ์ซี 60
ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลขหนึ่งของเมืองฟรีเซกซ์ ซึ่งอยู่ในร่มเงาของ
ยักษ์รอง ฟอร์ด นำรถใหม่ออกแสดงในงานนี้หลายคัน แต่มีอยู่เพียง
คันเดียวเท่านั้นที่เรียกร้องความสนใจได้อย่างล้นหลาม คือ โวลโว
เอกซ์ซี 60 (VOLVO XC60) ซึ่งเป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ
กิจกรรมกลางแจ้งขนาดเล็ก และเป็นต้นแบบของรถกิจกรรมกลาง
แจ้งอนุกรมใหม่ ที่ค่ายนี้จะนำออกจำหน่ายในปี 2009 และเรียกกัน
ในภาษาอังกฤษว่าเป็น BABY OFF-ROADER
เป็นผลงานรังสรรค์ของทีมงานที่มี สตีฟ แมททิน (STEVE MATTIN)
เป็นผู้อำนวการ และออกแบบโดยมีรถระดับเดียวกันอย่าง บีเอมดับ
เบิลยู เอกซ์ 3 (BMW X3) และ แลนด์ โรเวอร์ ฟรีแลนเดอร์
(LAND ROVER FREELANDER) เป็นคู่ต่อสู้เป้าหมาย มีลักษณะการ
ออกแบบหลายอย่างที่ไม่เคยพบกันมาก่อนในรถยี่ห้อนี้ ตัวอย่างเช่น
เก้าอี้ที่นั่งแบบ FLOATING SEAT ที่เหมือนลอยแขวนอยู่ในอากาศ
เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ 6 สูบเรียง 3.2
ลิตร 265 แรงม้า ที่ใช้ BIO-ETHANOL E85 (เอธานอล ร้อย
ละ 85/เบนซิน ร้อยละ 15) เป็นเชื้อเพลิง สามารถทำอัตราเร่ง
0-96 กม./ชม. ใน 8.2 วินาที ความเร็วสูงสุด 228 กม./ชม.
โตโยตา เอฟที-เอชเอส
ยักษ์ใหญ่ของเมืองยุ่นนำรถออกแสดงในงานนี้เป็นกองทัพ แต่คันที่
เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนได้มากที่สุด คือ โตโยตา เอฟที-
เอชเอส (TOYOTA FT-HS) ที่เห็นอยู่นี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์
ของรถ 2 ประตูคูเป 2+2 ที่นั่ง สมรรถนะสูง ตัวถังขนาด 4.325
x1.860x1.290 ม. มีเปลือกตัวถังเหมือนเอารูปสามเหลี่ยมหลายๆ
รูปมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน และสามารถเปลี่ยนสภาพเป็นรถเปิดประทุน
ประเภท TARGA ในชั่วพริบตา โดยเลื่อนแผงหลังคาไปด้านหลัง
แล้วลดระดับลงเก็บไว้ในห้องโดยสารส่วนท้าย
เป็นผลงานรังสรรค์ของศูนย์ออกแบบ CALTY DESIGN CENTER
ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และเชื่อกันว่า เป็นต้นแบบของรถสปอร์ท
คูเปอนุกรมใหม่ ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดแทนที่รถที่เคยโด่งดังในอดีต
และถูกปลดจากสายการผลิตไปเมื่อปี 2002 คือรถ โตโยตา ซูพรา
(TOYOTA SUPRA)
เป็นรถขับล้อหลัง ด้วยระบบขับเคลื่อนแบบพันทาง (HYBRID DRIVE)
โดยใช้เครื่องยนต์เบนซิน DOHC วี 6 สูบ 3.5 ลิตร 292 แรงม้า
ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 650 โวลท์ 197 แรงม้า ระบายความ
ร้อนด้วยน้ำ ทำให้ได้กำลังสูงสุดถึง 400 แรงม้า
เลกซัส แอลเอฟ-เอ
รถแนวคิดอีกคันหนึ่งที่ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นนำออกอวดตัวเป็นครั้งแรก
แต่ไม่ได้ติดยี่ห้อ โตโยตา คือ เลกซัส แอลเอฟ-เอ (LEXUS LF-A)
ที่เห็นอยู่นี้ พัฒนาจากรถแนวคิดชื่อเดียวกันซึ่งปรากฏตัวเป็นครั้งแรก
ที่งานเดียวกันนี้เมื่อ 2 ปีก่อน หน้าตาและรูปทรงองค์เอวอยู่ในสภาพ
ที่น่าจะเชื่อได้ว่า อีกไม่นานคงเปลี่ยนฐานะเป็นรถตลาด
เป็นรถที่ออกแบบเพื่อให้เป็นรถสปอร์ทซูเพอร์คาร์ ระดับเดียวกับ
ยอดรถสปอร์ทอย่าง โพร์เช 911 เทอร์โบ (PORSCHE 911 TURBO)
และ แฟร์รารี 599 จีทีบี (FERRARI 599 GTB) ตัวถัง 2 ประตู
2 ที่นั่ง ขนาด 4.660x1.815x1.410 ม. มีแนวคิดการออกแบบ
ที่น่าสนใจอยู่มากมาย รวมทั้งการติดตั้งหม้อน้ำไว้ตรงท้ายรถ มีช่อง
ระบายอากาศรวมอยู่ในกรอบเดียวกับดวงโคมไฟท้ายทั้ง 2 ข้าง
และมีท่อไอเสีย 3 ท่อวางเรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยมยอดคว่ำ
คาดหมายว่าน่าจะทำอัตราเร่ง 0-96 กม./ชม. โดยใช้เวลาต่ำ
กว่า 4.9 วินาที และน่าจะทำความเร็วได้สูงกว่า 320 กม./ชม.
เพราะใช้ระบบขับล้อหลัง ด้วยพลังจากเครื่องยนต์วางกลางลำ วี
8 สูบ 5.0 ลิตร ที่ให้กำลังสูงกว่า 400 แรงม้า และให้แรงบิดสูง
กว่า 47 กก.-ม. ส่วนระบบเกียร์เป็นเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ
อคูรา แอดวานศ์ สปอร์ทส์ คาร์ คอนเซพท์
อคูรา แอดวานศ์ สปอร์ทส์ คาร์ คอนเซพท์ (ACURA ADVANCED
SPORTS CAR CONCEPT) ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรม
ยานยนต์ลอสแองเจลิสเมื่อเดือนธันวาคม 2006 และฉายซ้ำให้คน
ในเมืองมะกันได้ชื่นชมอีกครั้งที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ
รถสปอร์ทระดับ "ซูเพอร์คาร์" และเป็นต้นแบบของรถรุ่นใหม่ ที่ค่าย
นี้จะนำออกสู่ตลาดแทนที่รถสปอร์ทพันธุ์ยุ่นยอดดัง ที่อยู่ในสายการ
ผลิตระหว่างปี 1990-2005 คือ ฮอนดา/อคูรา เอนเอสเอกซ์
(HONDA/ACURA NSX) ที่คนรักรถในบ้านเราคงคุ้นเคยกันดี
ตัวถัง 2 ประตู 2+2 ที่นั่ง ขนาด 4.610x1.996x1.222 ม. มี
ช่วงฐานล้อที่ยาวถึง 2.765 ม. เพราะตั้งใจออกแบบให้มีช่วงยื่น
หลัง (REAR OVERHANG) สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รูปทรงองค์
เอวของตัวถังภายนอก นับว่าออกแบบได้ดีเยี่ยม เพราะให้ความรู้
สึกในความปราดเปรียวทรงพลัง และดูงามสะดุดตาในทุกมุมมอง
ติดตั้งเครื่องยนต์วางหน้า วี 10 สูบ ซึ่งยังไม่ระบุขนาดความจุ
และแรงม้าสูงสุด แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ใช้ระบบขับ 4 ล้อ SH-AWD (SUPER
HANDLING ALL WHEEL DRIVE) ซึ่งพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง จากระบบ
ที่ใช้อยู่ในรถหรู ฮอนดา เลเจนด์ (HONDA LEGEND) รุ่นล่าสุด
นิสสัน บีเวล
เช่นเดียวกับรถแนวคิดของค่าย ฟอร์ด นิสสัน บีเวล (NISSAN
BEVEL) ที่เห็นอยู่นี้ เป็นรถแนวคิดที่ออกแบบสำหรับผู้ใช้รถวัย 45-
60 ปี ซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า MALE EMPTY NESTER
นิสสัน อธิบายว่า คนประเภทนี้ชอบทำอะไรอย่างที่เรียกกันว่า
DIY หรือ DO-IT-YOURSELF ไม่ต้องการรถอเนกประสงค์ หรือ
รถพิคอัพขนาด FULL-SIZE เพราะมักจะไปไหนมาไหนคนเดียว
ยักษ์รองของเมืองยุ่นจึงรังสรรค์รถแนวคิดคันนี้ขึ้น และเรียกมันว่า
DYNAMIC MULTI-PURPOSE VEHICLE
ตัวถังทรงกล่องเดียว ขนาด 4.400x1.905x1.620 ม. มีช่วง
ฐานล้อที่ยาวถึง 2.930 ม. เพราะมีช่วงยื่นหน้าและยื่นหลังค่อน
ข้างสั้น รูปทรงองค์เอวตัวถังภายนอก ออกแบบดูเถื่อนๆ ดิบๆ
อย่างที่เรียกในภาษาฝรั่งว่า SPARTAN และมีลักษณะ ASYMMETRY
หรือ อสมมาตร คือ ตัวถัง 2 ด้าน มีรูปลักษณ์ต่างกัน ด้านผู้ขับมี
ประตูบานเดียว เป็นประตูติดบานพับแบบธรรมดา ส่วนด้านตรงข้าม
มีประตู 2 บาน และเปิดแยกออกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง
อย่างที่เรียกกันว่า ประตูฆ่าตัวตาย หรือ ประตูตู้กับข้าว ทำให้มี
ช่องเปิดสำหรับการขึ้นลงรถที่กว้างถึง 170 ซม. นั่นเทียว
มาซดา รียูกะ
ไม่มีแนวคิดที่ยิ่งใหญ่อลังการอะไร แต่นักวิจารณ์หลายคนในเมือง
มะกัน ให้ความเห็นต้องตรงกันว่า รถแนวคิดที่รูปทรงองค์เอวงด
งามชวนมองที่สุดในงานนี้ คือ มาซดา รียูกะ (MAZDA RYUGA)
หนึ่งในบรรดารถแนวคิดจำนวน 4 คัน ที่ผู้ผลิตรถยนต์เมืองยุ่นรายนี้
กำลังขะมักเขม้นรังสรรค์อยู่ในปัจจุบัน
เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทคูเป 4 ที่นั่ง ประตูปีกนก ตัว
ถังขนาด 4.280x1.900x1.260 ม. มีช่วงฐานล้อยาว 2.800 ม.
มีห้องโดยสารที่กว้างขวางอย่างน่าประหลาดใจ และมีรายละเอียด
ของตัวถังภายนอกที่ได้แรงบันดาลใจจากหลายสิ่งหลายอย่าง ตัว
อย่างเช่น พื้นผิวของตัวถังได้แบบมาจากสวนญี่ปุ่น ที่เรียกกันว่า
KARESANSUI ดวงโคมไฟหน้าได้แนวความคิดจากหยดน้ำค้างที่
กำลังร่วงจากใบไผ่ และผนังด้านข้างกับดวงโคมไฟท้ายได้แบบจาก
LAVA หรือหินละลายของภูเขาไฟ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไม่ได้คิดเอาเอง
แต่ว่ากันตามเอกสารประชาสัมพันธ์ที่แจกจ่ายให้แก่สื่อมวลชน
เป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ขนาด 2.5 ลิตร
ที่ใช้ E85 (เอธานอล ร้อยละ 85/เบนซิน ร้อยละ 15) เป็นเชื้อ
เพลิง ส่วนระบบเกียร์ที่ใช้ เป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ฮันเด เฮลเลียน
ฮันเด เฮลเลียน (HYUNDAI HELLION) ปรากฏตัวครั้งแรกที่งาน
มหกรรมยานยนต์ลอสแองเจลิส เมื่อเดือนธันวาคมปีกลาย และฉาย
ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ที่งานนี้เช่นกัน เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ CUV
(CROSSOVER UTILITY VEHICLE) หรือ รถกิจกรรมกลางแจ้ง
ผสานพันธุ์ 3 ประตู 2+2 ที่นั่ง ออกแบบสำหรับผู้ใช้รถที่ต้องการ
ความแปลกใหม่ ไม่ซ้ำซากจำเจ และไม่ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง
ตัวถังทรง 2 กล่อง ขนาด 4.171x1.890x1.560 ม. ออกแบบ
โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเป้สะพายหลังเปลือกแข็งที่ใช้กันอยู่ทั่วๆ
ไป โดยใช้โครงสร้างน้ำหนักเบาซึ่งมีลักษณะเหมือนซี่โครงของมนุษย์
จำนวน 3 ชิ้น และกระดูกสันหลังซึ่งมีลักษณะเหมือนกระดานโต้คลื่น
ประกอบกันเป็นโครงของตัวรถ ส่วนหลังคาซึ่งเลื่อนและถอดออกได้
เป็นหลังคาแบบอ่อน ทำจากผ้าใบสังเคราะห์ มีสีและลวดลายเหมือน
ชุดพรางของทหาร
เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ดีเซลฉีดตรง (คอม
มอนเรล) วี 6 สูบ 3.0 ลิตร 236 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่
หน้าและคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ และใช้ระบบรอง
รับแบบอิสระทั้งหน้าและหลัง
เกีย กิว คอนเซพท์
เกีย กิว คอนเซพท์ (KIA KUE CONCEPT) ปรากฏตัวต่อสายตา
สาธารณชนเป็นครั้งแรกที่งานนี้ และเป็นผลงานชิ้นแรกของทีมออก
แบบ เกีย ในยุคที่มี พีเทร์ ชเรเยร์ (PETER SCHREYER) เป็น
ผู้นำทีม เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ CUV (CROSSOVER UTILITY
VEHICLE) หรือ รถกิจกรรมกลางแจ้งผสานพันธุ์ ซึ่งว่ากันว่า คงไม่มี
โอกาสเปลี่ยนสภาพเป็นรถตลาด
ตัวถังทรงกลมมน ขนาด 4.724x1.929x1.600 ม. มีช่วงฐานล้อ
ที่ยาวถึง 2.900 ม. และมีช่วงยื่นหน้ายื่นหลังสั้นเป็นพิเศษ ทั้งนี้เป็น
ผลลัพธ์ของการออกแบบ โดยตั้งใจวางตำแหน่งล้อให้อยู่ใกล้ที่สุดเท่า
ที่จะเป็นไปได้กับมุมทั้ง 4 ของตัวรถ รูปทรงองค์เอวของตัวถังภายนอก
มีจุดสะดุดตาอยู่หลายจุด รวมทั้งประตูข้างที่เปิด/ปิดแบบปีกผีเสื้อ และ
BELTLINE หรือ "เส้นสะเอว" ที่ค่อนข้างสูง ทำให้เหลือช่องกระจก
หน้าต่างอยู่แคบนิดเดียว
ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ วี 6 สูบ 4.6 ลิตร
ติดซูเพอร์ชาร์เจอร์ ซึ่งให้กำลังสูงถึง 400 แรงม้า และให้แรงบิดสูง
ถึง 54.1 กก.-ม. ส่วนระบบเกียร์เพื่อส่งทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าและคู่
หลัง เป็นเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ที่เปลี่ยนจังหวะเกียร์ด้วยมือก็ได้
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา/ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์ และบริษัทผู้ผลิตนิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2550
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ