มาตรวัดตลาดรถ
ค่อยๆ ฟื้น
[table]
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์,
เดือนเมษายน ปี '50 กับ '49,
ตลาดรวม ,ลด,7.3 %
รถยนต์นั่ง ,ลด,16.2 %
กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ,ลด,1.6 %
รถอเนกประสงค์ (MPV),ลด,24.6 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV),ลด,7.2 %
[/table]
เริ่มต้นไตรมาส 2 กันอย่างค่อยยังชั่ว ค่อยหายใจโล่งอกกันได้หน่อยหนึ่ง เมื่อตัวเลขการขายค่อย
กระเตื้องขึ้นมา ที่จริงก็ยังลดลงอยู่นั่นแหละ เพียงแต่ลดลงไปไม่เยอะให้ต้องถอนหายใจกัน ลดลงไปแค่ 7.3 % ขายได้ทั้งตลาด 49,658 คัน น้อยกว่าเก่าราว 4,000 คัน เท่านั้นเอง
จะว่าไปแล้ว รถทางด้านการพาณิชย์ขายลดลงไปไม่เยอะเท่าไร แต่ที่หดตัวมากก็เป็นทางด้านรถยนต์นั่ง จะว่าตลาดอิ่มตัวก็ไม่เชิง เพราะบรรดารถใหญ่ก็ยังขายได้สม่ำเสมอ โดยเฉพาะเจ้าตัว แคมรี ที่ใส่เครื่อง 2,000 บนตัวถังเดิมที่เคยใส่เครื่อง 2,400 ยอดขายก็ยังไปฉิว คนซื้อคงยังไม่ประสีประสาเรื่องอัตราการบริโภคน้ำมัน ประเภทรถใหญ่ ตัวหนัก แต่เครื่องนิดเดียว รับรองคุณภาพว่า รับทานจุแน่
เมื่อไรที่น้ำมันขึ้นไปเกินลิตรละ 30 บาท เมื่อนั่นแหละ ยอดถึงจะค่อยอยู่ตัว
และที่บอกได้ว่าตลาดยังไม่อิ่มตัว ก็เพราะยอดขายของกบตัวใหญ่ จากค่ายศรีอยุธยา พอเริ่มมีรถส่งลูกค้าได้ ยอดก็ไปลิ่ว หลังจากลูกค้ารออยู่นาน
หันไปมองทางด้านรถเล็ก ที่ตลาดโดยรวมหดตัวไปเยอะ เกือบ 20 % ขณะที่เจ้าตลาดอย่าง โตโยตา กับ ฮอนดา ไม่ค่อยสะเทือนเท่าไร แต่ค่ายอื่นนี่สิ อย่าพูดถึงดีกว่า เรื่องมันเศร้า
มาดูเรื่องรอบตัวกันบ้าง เอาเรื่องการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เดิมกำหนดเป็นอัตราร้อยละ 10รวมภาษีท้องถิ่น ให้คงเหลือจัดเก็บในอัตราร้อยละ 7 รวมภาษีท้องถิ่น โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2548 แล้วก็ออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550
แต่นี่ก็ใกล้จะถึงเส้นที่ขีดเอาไว้แล้ว ดูจากสภาพรอบตัว ราคาน้ำมัน ภัยธรรมชาติต่างๆ แถมยังมีการก่อการร้าย ชิงอ่าวน้ำมัน ชิงบ่อขุดเจาะน้ำมัน ภัยธรรมชาติต่างๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซายังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ทำให้เป็นปัจจัยที่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ก็เลยต้องมีการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้มีการจัดเก็บในอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2551
พอใกล้ๆ จะถึงปีหน้า เดี๋ยวก็ต้องออกพระราชกฤษฎีกา เลื่อนกันไปอีกรอบ เชื่อขนมโก๋กินไว้ก่อนได้เลย
ปัจจุบัน มุมมองจากสภาวะเศรษฐกิจรอบตัว ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน นักการตลาดทั้งหลายก็ยังคงมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จนกว่าจะกำหนดการเลือกตั้ง หรือได้รัฐบาลชุดใหม่ ถึงจะค่อยถอนหายใจโล่งอกกันได้หน่อย
ขนาดเรื่องปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้กับรถยนต์ประหยัดพลังงาน หรือ อีโคคาร์ กว่าจะคุยกันจบว่าให้กำหนดขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี มาตรฐาน ยูโร 4 และใช้น้ำมัน 1 ลิตร ให้สามารถวิ่งได้ระยะทาง 20 กม. สรุปให้จัดเก็บอัตราภาษีสรรพสามิตไม่เกิน 20 % และไม่ต่ำกว่า 15 % เรื่องง่ายๆเรื่องเดียว รัฐบาลขิงแก่ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง แล้วมันจะทันอนุมัติใน ครม. ชุดนี้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้
บรรดาผู้สื่อข่าวทั้งหลายต่างก็พากันถามข่าวจากค่ายรถยนต์กันให้ขวักไขว่ ข่าวล่าสุดก็ยังมีคนสนใจอยู่ 2 เจ้า ฮอนดา กับ ซูซูกิ ส่วนค่ายอื่นก็ยังทำเป็นกั๊กกันอยู่ เพราะภาครัฐไม่เปิดไต๋ออกมาเสียที พวกนักข่าวรุ่นใหญ่ก็พากันพูดไม่ออกบอกไม่ถูก เพราะเจอข่าวต่างประเทศ เรื่องราวของด้านอุตสาหกรรมยานยนต์จากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ได้แต่อึ้ง
กลับมาคุยเรื่องตัวเลขของเราดีกว่า ค่อยดูโล่งใจหน่อย
ตัวเลขการขายประจำเดือนเมษายน ที่ผ่านมา แม้ว่ายอดจะลดลงไปถึง 7.3 % ขายได้เพียง 49,658 คัน แต่เมื่อมองจากภาพรวมสี่เดือนที่ผ่านมา นับว่าเดือนนี้ลดลงน้อยที่สุด ส่งผลให้ยอดรวมมีอัตราทรงตัว ไม่ลดลงไปมากกว่าที่เคยเป็น ลดลง 15.9 % เท่านั้น
มาดูตำแหน่งแชมพ์ประจำเดือน โตโยตา ขาย 20,331 คัน ส่วนแบ่ง 40.9 % อันดับสอง อีซูซุ ขาย 12,272 คัน ขายลดลง 10.7 % ส่วนแบ่ง 24.7 % อันดับสาม ฮอนดา ขาย 4,203 คัน ลดเยอะ 30.0 % ส่วนแบ่ง 8.5 % อันดับสี่ นิสสัน ขายดิบขายดี 3,858 คัน เพิ่มเยอะ 53.8 % ส่วนแบ่ง 7.8 % และอันดับห้า มิตซูบิชิ ขาย 2,340 คัน ลดลง 17.2 % ส่วนแบ่ง 4.7 %
ยอดรวม 4 เดือน โตโยตา ขาย 77,577 คัน, อีซูซุ ขาย 45,766 คัน ฮอนดา ขาย 19.540 คัน นิสสัน ขาย 12,700 คัน และ มิตซูบิชิ ขาย 8,883 คัน
แยกประเภทรถยนต์นั่ง ยอดขายลดลง 18.0 % ขายกันทั้งตลาดได้เพียง 12,547 คัน โดยมีเจ้าตลาดโตโยตา ขาย 6,445 คัน ลดเล็กน้อย 1.6 % ส่วนแบ่ง 51.4 % ที่สอง ฮอนดา ขาย 3,416 คัน ลดเยอะ 42.5 % ส่วนแบ่ง 27.2 % ที่สาม เชฟโรเลต์ ขายแคมเปญได้ 810 คัน เพิ่มขึ้น 48.4 % ส่วนแบ่ง 6.5 % ที่สี่ นิสสัน ขายเพิ่มเหมือนกัน 448 คัน เพิ่ม 38.7 % ส่วนแบ่ง 3.6 % และที่ห้า ฟอร์ด ขาย 378 คันเพิ่มขึ้น 10.5 % ส่วนแบ่ง 3.0 %
รถเสียภาษียอดเยี่ยม เดือนนี้ส่งรถน้อย ทั้ง โพร์เช และ แจกวาร์ ขายได้เจ้าละ 4 คัน เท่านั้นเอง
รถกระบะ 1 ตัน อันดับแชมพ์ประจำเดือน คือ อีซูซุ ขายเมืองไทย 10,611 คัน ลดลง 12.0 % ส่วนแบ่ง 37.4 % อันดับสอง โตโยตา ขาย 9,785 คัน ลดลง 14.8 % ส่วนแบ่ง 34.5 % อันดับสาม นิสสัน ขาย 2,837 คัน ลด 14.8 % ส่วนแบ่ง 10.0 %
รถเพื่อการพาณิชย์ ภาพรวมไม่เลวร้ายนัก ลดลงเพียง 4.2 % ขาย 1,902 คัน แชมพ์ประจำรุ่น อีซูซุขาย 852 คัน ลดลง 12.6 % ส่วนแบ่ง 44.8 % ที่สอง ฮีโน ขาย 666 คัน เพิ่ม 5.4 % ส่วนแบ่ง 35.0 % ที่สาม มิตซูบิชิ ขาย 172 คัน ลดลง 9.5 % ส่วนแบ่ง 9.0 %
รถอเนกประสงค์อื่น หรือแวนนั่นแหละ ขายเพิ่มขึ้น 41.6 % ขายได้ 1,466 คัน มี โตโยตา ขาย 1,337 คัน เพิ่มเยอะ 48.9 % เป็นเจ้าตลาดแต่ผู้เดียว
นั่นคือ สภาพตลาดโดยรวม ท่ามกลางกระแสการเมืองที่เริ่มเชี่ยวกราก แย่งชิงกันออกข่าวเป็นรายวันทำเหมือนกับตอนนี้มีพรรคฝ่ายค้าน คอยปล่อยข่าวกระทบกระแทกภาครัฐอยู่เป็นรายวัน พวกนักข่าวอย่างพวกกระผมเนี่ย ไม่ค่อยรู้สึกรู้สาอะไรเท่าไร เป็นห่วงก็แต่รัฐบาลชุดขิงแก่นี่แหละ ออกข่าวมาแต่ละที นักข่าวเองยังร้องยี้กันทั้งนั้น น่าจะหาทีมงานประชาสัมพันธ์รุ่นใหม่ๆ ออกมาคิดงานให้เป็นกิจจะลักษณะกันบ้าง
ทีชุดก่อนเขายังทำกันเลย แถมคว้าตัวเบิ้มๆ ไปเข้าเป็นพวกเสียด้วย เลยไม่ค่อยจะโดนสักเท่าไร
บอกก่อนว่า ไม่ได้ว่าใครน้า อย่าร้อนตัว
ABOUT THE AUTHOR
ม
มือบ๊วย
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : มาตรวัดตลาดรถ