วิถีตลาดรถยนต์
แดงทั้งกระดาน
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนเมษายน 2024/2023
ตลาดโดยรวม -21.5 %
รถยนต์นั่ง -14.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) -4.8 %
กระบะ 1 ตัน -34.0 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -9.2 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2024/2023
ตลาดโดยรวม -23.9 %
รถยนต์นั่ง -15.2 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +10.6 %
กระบะ 1 ตัน -42.2 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -7.5 %
สงกรานต์ที่ผ่านมา คงจะมีคนที่ผิดหวังไม่ใช่น้อย ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะขับรถป้ายแดงคันใหม่ กลับไปโชว์ให้พ่อแม่พี่น้องพี่ป้าน้าอาได้อิจฉาตาร้อนในความมุมานะ เก็บหอมรอบริบสร้างเนื้อสร้างตัวจนได้มีรถป้ายแดงขับกับเขาบ้าง เหตุก็มาจากความเข้มงวดกวดขัน เชคกันละเอียดยิบทุกขุมขนของสถาบันการเงินต่างๆ ที่ยังคงเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำมาค้าขายรถใหม่ป้ายแดง ไม่ไหลลื่นอย่างที่ควรจะเป็น หลายๆ คนจ่ายเงินจองแล้ว เอกสารครบทุกอย่าง รออย่างเดียวว่า พนักงานขายจะติดต่อมาว่าจะมารับรถเมื่อไหร่ ? แต่สุดท้ายเสียงที่รอคอยกลับกลายเป็นว่า ไฟแนนศ์ไม่ผ่านนะคะ...นี่แหละครับ ! สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลอยู่ดีกินดีไปด้วยกัน ยังไม่รวมถึงปัจจัยลบอื่นๆ เช่น หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น, เศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น, ข้าวของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
เดือนเมษายน 2567 ตลาดซื้อขายรถใหม่ป้ายแดงติดลบแดงเทือกทั้งกระดาน ! ติดลบทุกตลาด ไม่เว้นแม้แต่ตลาดรถเอสยูวี ที่ในเดือนที่ผ่านๆ มา สามารถยืนหยัดว่าเป็นตลาดรถตลาดเดียวที่มียอดจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา มาเดือนเดียวฝืนกระแสไม่ไหว มีตัวเลขยอดจำหน่ายปรับตัวลดลงไม่น้อยหน้าตลาดรถประเภทอื่นๆ โดยรวมแล้ว ตลาดรถเดือนเมษายน 2567 มียอดจำหน่ายรวมกันทุกตลาดที่ 46,738 คัน เทียบกับเดือนเมษายน 2566 เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ลดลงถึง 12,792 คัน หรือติดลบ 21.5 % รถที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 5 อันดับแรกก็ล้วนแล้วแต่ทำยอดจำหน่ายได้น้อยลงกว่าในเดือนเมษายน 2566
อันดับ 1 TOYOTA (โตโยตา) จำหน่ายได้ 19,422 คัน ลดลง 143 คัน หรือลดลง 0.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 41.6 % อันดับ 2 ISUZU (อีซูซุ) จำหน่ายได้ 6,856 คัน ลดลงถึง 6,480 คัน หรือลดลง 48.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.7 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) จำหน่ายได้ 5,743 คัน ลดลง 666 คัน หรือลดลง 10.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 12.3 % อันดับ 4 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) จำหน่ายได้ 2,217 คัน ลดลง 641 คัน หรือลดลง 22.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 % และอันดับ 5 FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้ 2,016 คัน ลดลง 855 คัน หรือลดลง 29.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.3 % ขายได้น้อยกว่าเดิมกันถ้วนหน้า
4 เดือนแรกปี 2567 ผ่านไป มีการซื้อขายรถใหม่ป้ายแดงอย่างเป็นทางการ รวมทั้งสิ้น 210,494 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 66,109 คัน หรือลดลงจากปีที่ผ่านมา 23.9 % โดย 5 อันดับแรกของรถที่ขายดีที่สุด มีรถ EV จากแดนมังกร สอดแทรกเข้ามาได้ 1 ยี่ห้อ อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายไปแล้ว 78,232 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 16,454 คัน หรือลดลง 17.4 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 37.2 % อันดับ 2 ISUZU 31,300 คัน ลดลง 29,195 คัน หรือลดลง 48.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.9 % อันดับ 3 HONDA 30,847 คัน ลดลง 1,523 คัน หรือลดลง 4.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.7 % อันดับ 4 BYD (บีวายดี) จากแดนมังกร 10,944 คัน จำหน่ายได้เพิ่มขึ้น 3,659 คัน หรือเพิ่มขึ้น 50.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.2 % และอันดับ 5 MITSUBISHI 9,804 คัน ลดลง 4,016 คัน หรือลดลง 29.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 %
แยกย่อยลงมาเป็นตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน แต่ก่อนเคยเปรียบเปรยกันว่า เศรษฐกิจจะดีไม่ดี ดูที่ตลาดรถพิคอัพได้เหมือนกัน แต่ถ้าดูกันตามหน้าเสื่อในนาทีนี้ คงต้องบอกว่า เศรษฐกิจดีมากเลย ยอดจำหน่ายของรถพิคอัพมีแต่ลดลงๆ เดือนเมษายนที่ผ่านมา จำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 17,689 คัน ลดลงจากเดือนเมษายนปีที่แล้ว 9,129 คัน หรือลดลง 34.0 % อันดับ 1 ของตลาดปีนี้ TOYOTA จำหน่ายได้ 8,647 คัน ลดลง 1,602 คัน หรือลดลง 15.6 % เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปี 2566 ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 48.9 % อันดับ 2 หรือเบอร์หนึ่งในปีที่แล้ว ISUZU จำหน่ายได้ 6,091 คัน ลดลง 5,789 คัน หรือลดลง 48.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 34.4 % อันดับ 3 แบบถาวร FORD จำหน่ายได้ 2,015 คัน ลดลง 854 คัน หรือลดลง 29.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.4 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 542 คัน ลดลงถึง 800 คัน หรือลดลง 59.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.1 % และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) จำหน่ายได้ 250 คัน ลดลง 50 คัน หรือลดลง 16.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.4 %
จากเดือนมกราคม-เมษายน 2567 รถพิคอัพ 1 ตัน จำหน่ายรวมทั้งสิ้น 74,114 คัน เทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปี 2566 รถพิคอัพ 1 ตัน จำหน่ายรวมกันได้น้อยลงถึง 54,176 คัน หรือจำหน่ายได้น้อยลงถึง 42.2 % ยอดจำหน่ายสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย TOYOTA 33,895 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ถึง 15,641 คัน หรือลดลง 31.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 45.7 % ISUZU 27,572 คัน ลดลง 27,830 คัน หรือลดลง 50.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.2 % FORD 7,946 คัน ลดลง 5,963 คัน หรือลดลง 42.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.7 % MITSUBISHI 3,166 คัน ลดลงถึง 3,893 คัน หรือลดลง 55.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.3 % และ NISSAN 1,122 คัน ลดลง 514 คัน หรือลดลง 31.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 %
รถเอสยูวี เดือนนี้ทนกระแสติดลบไม่ไหว เอากับเขาบ้างเหมือนกัน ทั้งตลาดจำหน่ายได้รวมกัน 8,735 คัน ลดลง 440 คัน หรือลดลง 4.8 % จากเดือนเมษายน 2566 โดย 5 อันดับแรกที่จำหน่ายได้มากที่สุด มีดังนี้ อันดับ 1 TOYOTA 4,578 คัน เพิ่มขึ้น 3,169 คัน หรือเพิ่มขึ้น 224.9 % ส่วนแบ่งการตลาดเกินครึ่ง 52.4 % อันดับ 2 HONDA 2,301 คัน ลดลง 325 คัน หรือลดลง 12.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 26.3 % อันดับ 3 GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) 484 คัน ลดลง 330 คัน หรือลดลง 40.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.5 % อันดับ 4 MAZDA (มาซดา) 365 คัน ลดลง 661 คัน หรือลดลง 64.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.2 % และอันดับ 5 NISSAN 280 คัน ลดลง 310 คัน หรือลดลง 52.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.2 %
4 เดือนแรกของปี 2567 รถเอสยูวีจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 41,018 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 3,939 คัน หรือเพิ่มขึ้น 10.6 % ยี่ห้อที่จำหน่ายมากที่สุดเป็น TOYOTA 19,334 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ถึง 12,413 คัน หรือเพิ่มขึ้น 179.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 47.1 % ตามด้วย HONDA 13,207 คัน เพิ่มขึ้น 2,406 คัน หรือเพิ่มขึ้น 22.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 32.2 % BYD 2,289 คัน ลดลง 4,996 คัน หรือลดลง 68.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.6 % ต่อด้วย GWM 1,750 คัน ลดลง 903 คัน หรือลดลง 34.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.3 % และ MAZDA 1,379 คัน ลดลง 1,766 คัน หรือลดลง 56.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.4 %
รถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เดือนเมษายน 2567 จำหน่ายรวมทั้งสิ้น 3,026 คัน ลดลง 308 คัน หรือลดลง 9.2 % เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 เดือนมกราคม-เมษายน 2567 จำหน่ายรวมทั้งสิ้น 12,459 คัน ลดลง 1,006 คัน หรือลดลง 7.5 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 เดือนเมษายน 2567 มีการจดทะเบียนรถเอสยูวี และรถพิคอัพรวมกัน 29,308 คัน ลดลง 9,745 คัน หรือลดลง 25 % รถที่มีการจดทะเบียนใช้งานมากที่สุดเป็นรถ TOYOTA 12,512 คัน