วิถีตลาดรถยนต์
ยังโงหัวไม่ขึ้น
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนพฤษภาคม 2024/2023
ตลาดโดยรวม -23.4 %
รถยนต์นั่ง -28.1 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +19.5 %
กระบะ 1 ตัน -35.4 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +3.4 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2024/2023
ตลาดโดยรวม -23.8 %
รถยนต์นั่ง -17.9 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +12.3 %
กระบะ 1 ตัน -41.0 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -5.3 %
ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนที่ผ่านๆ มา นั่นคือ ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ที่เคยทำได้ในปีที่ผ่านมา สาเหตุใหญ่ๆ ก็ยังคงเหมือนเดิม เศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวช้า ความเชื่อมั่นของดัชนีผู้บริโภค ที่ยังไม่กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร และการไม่อนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน ถึงแม้ว่าตลาดรถยนต์ในบ้านเรา จะมีผู้เล่นหน้าใหม่เปิดตัวเข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าโดยมีที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นหลัก ทั้งในรูปแบบของรถนั่ง รถกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งไซซ์ใหญ่ ไซซ์เล็ก และรถสปอร์ทเอสยูวี รูปทรงโฉบเฉี่ยว ถึงแม้จะมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี แต่ปริมาณการซื้อขายก็ยังไม่เพียงพอ ที่จะผลักดันตลาดโดยรวมให้กลับมาอู้ฟู่เหมือนช่วงเวลา 3-4 ปีก่อนหน้านี้ได้ ถึงกับมีการคาดการณ์กันบ้างแล้วว่าปี 2567 ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งปีได้ถึง 650,000 คัน ก็เก่งแล้ว นี่ก็ปาเข้าไป 5 เดือน เกือบจะครึ่งปีแล้ว ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวมทั้งหมด ยังได้ไม่ถึง 300,000 คันเลย เผลอๆ รวมทั้งปีจะไม่ถึง 650,000 คัน เสียด้วยซ้ำ
สำหรับเดือนพฤษภาคม 2567 ตัวเลขยอดจำหน่ายรถใหม่รวมทั้งตลาดอยู่ที่ 49,871 คัน เทียบกับเดือนพฤษภาคมปี 2566 แล้วตัวเลขยอดจำหน่ายรถหดหายถึง 15,217 คัน หรือลดลง 23.4 % รถที่ได้รับความนิยมสูงสุดไม่ว่าจะเป็นเจ้าเก่าแก่ที่ครองตลาดมานาน หรือน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดไม่นาน แต่มีตัวเลือกที่โดนอกโดนใจผู้ใช้รถ ล้วนแล้วแต่ปิดยอดการขายในเดือนนี้ ด้วยตัวเลขยอดจำหน่ายที่ลดน้อยลง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายสูงสุดอันดับ 1 TOYOTA (โตโยตา) จำหน่ายได้ 19,504 คัน เทียบกับเดือนพฤษภาคมปี 2566 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ลดน้อยลง 1,792 คัน หรือลดลง 8.4 % คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเท่ากับ 39.1 % อันดับ 2 ISUZU (อีซูซู) จำหน่ายได้ 7,883 คัน เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ลดลง 5,398 คัน หรือลดลง 40.6 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 15.8 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) จำหน่ายได้ 6,527 คัน ลดลง 170 คัน หรือลดลง 2.5 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 13.1 % อันดับ 4 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) จำหน่ายได้ 2,383 คัน ลดลง 622 คัน หรือลดลง 20.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.8 % และอันดับ 5 BYD (บีวายดี) จำหน่ายได้ 1,958 คัน ลดลง 67 คัน หรือลดลง 3.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.9 %
5 เดือนแรกของปี 2567 ผ่านไป ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวมทั้งหมดอยู่ที่ 260,365 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 แล้วหายไปถึง 81,326 คัน หรือลดลง 23.8 % รถที่มียอดจำหน่ายสะสมมากที่สุดประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายรวม 97,736 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 แล้วเป็นตัวเลขที่หายไปถึง 18,246 คัน หรือลดลง 15.7 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 37.5 % อันดับ 2 ISUZU จำหน่ายรวม 39,183 คัน ลดลงถึง 34,593 คัน หรือลดลง 46.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 15.0 % อันดับ 3 HONDA จำหน่ายรวม 37,374 คัน ลดลง 1,693 คัน หรือลดลง 4.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.4 % อันดับ 4 BYD จำหน่ายรวม 12,902 คัน เพิ่มขึ้น 3,592 คัน หรือเพิ่มขึ้น 38.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.0 % และอันดับ 5 MITSUBISHI จำหน่ายรวม 12,187 คัน ลดลง 4,638 คัน หรือลดลง 27.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 %
เมื่อย่อยออกมาเฉพาะตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน ที่กลายเป็นอดีตที่เคยเฟื่องฟูไปแล้ว เดือนพฤษภาคม 2567 ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมอยู่ที่ 17,651 คัน เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ทำได้น้อยลงถึง 9,672 คัน หรือลดลง 35.4 %
ตลาดนี้ ผู้นำตลาดยังคงเป็นรถพิคอัพค่าย TOYOTA เดือนพฤษภาคม 2567 จำหน่ายได้ 7,855 คัน ลดลง 2,350 คัน หรือลดลง 23.0 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 ส่วนแบ่งการตลาด 44.5 % ตามด้วย ISUZU 6,873 คัน ติดลบไป 5,258 คัน หรือลดลง 43.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 38.9 % FORD (ฟอร์ด) 1,699 คัน ลดลง 1,294 คัน หรือลดลง 43.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 9.6 % ต่อด้วย MITSUBISHI 795 คัน ลดลง 687 คัน หรือลดลง 46.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.5 % และ NISSAN (นิสสัน) 279 คัน ลดลง 36 คัน หรือลดลง 11.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.6 %
ผ่านไป 5 เดือน รถพิคอัพ 1 ตัน มีตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวม 91,765 คัน เทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปี 2566 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลงถึง 63,848 คัน หรือลดลง 41.0 % ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมมากที่สุดอันดับ 1-5 ประกอบด้วย TOYOTA 41,750 คันลดลง 17,991 คัน หรือลดลง 30.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 45.5 % ISUZU 34,445 คัน ลดลง 33,088 คัน หรือลดลง 49.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.5 % FORD 9,645 คัน ลดลง 7,257 คัน หรือลดลง 42.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.5 % MITSUBISHI 3,961 คัน ลดลง 4,580 คัน หรือลดลง 53.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.3 % และ NISSAN 1,401 คัน ลดลง 550 คัน หรือลดลง 28.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 %
สำหรับตลาดรถเอสยูวี เดือนพฤษภาคม 2567 จำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 10,052 คัน กลับมามีตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 แล้วเป็นตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้น 1,641 คัน หรือเพิ่มขึ้น 19.5 % จำหน่ายได้มากสุดในตลาดนี้เป็นค่าย TOYOTA 4,922 คัน เพิ่มขึ้นถึง 2,984 คัน หรือเพิ่มขึ้น 154.0 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 49.0 % รองลงมาเป็น HONDA 2,917 คัน เพิ่มขึ้น 635 คัน หรือเพิ่มขึ้น 27.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 29.0 % BYD 857 คัน ลดลง 1,168 คัน หรือลดลง 57.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.5 % MAZDA (มาซดา) 313 คัน ลดลง 218 คัน หรือลดลง 41.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.1 % และ NISSAN 299 คัน เพิ่มขึ้น 80 คัน หรือเพิ่มขึ้น 36.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.0 %
ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวมทั้งตลาด เมื่อผ่านพ้นเดือนพฤษภาคมของรถเอสยูวีอยู่ที่ 51,070 คัน เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2566 แล้วเป็นตัวเลขที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5,580 คัน หรือเพิ่มขึ้น 12.3 % อันดับ 1 เป็นของ TOYOTA จำหน่ายแล้ว 24,256 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 เพิ่มขึ้น 15,397 คัน หรือเพิ่มขึ้น 173.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 47.5 % HONDA 16,124 คัน เพิ่มขึ้น 3,041 คัน หรือเพิ่มขึ้น 23.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 31.6 % BYD 3,146 คัน ลดลงถึง 6,164 คัน หรือลดลง 66.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.2 % GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) 2,027 คัน จำหน่ายได้น้อยลง 1,177 คัน หรือลดลง 36.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.0 % และ MAZDA 1,692 คัน ลดลง 1,984 คัน หรือลดลง 54.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.3 %
เดือนพฤษภาคม 2567 รถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ จำหน่ายได้รวมกันทั้งสิ้น 3,482 คัน เพิ่มขึ้น 113 คัน หรือเพิ่มขึ้น 3.4 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 เฉพาะเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 จำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 15,941 คัน ลดลง 893 คัน หรือลดลง 5.3 % เมื่อเที่ยบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 มีการนำรถไปจดทะเบียบกับกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งสิ้น 33,321 คัน ลดลง 14,400 คัน หรือลดลง 30.2 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566