รู้ลึกเรื่องรถ
แข่งรถในโอลิมปิค…เป็นไปได้ไงเนี่ย !?!
รู้ลึกเรื่องรถฉบับนี้ ขอเกาะติดควันหลงโอลิมปิค ปารีส 2024 กันอีกสักนิด ซึ่งอย่างที่จั่วหัวเอาไว้ โอลิมปิคกับการแข่งรถ ฟังดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ แต่การแข่งขันรถยนต์เคยเป็นส่วนหนึ่งของโอลิมปิคมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกใน โอลิมปิค ฤดูร้อน 1900 ที่กรุงปารีส ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 1900 และอีกครั้งหนึ่งจัดขึ้นใน โอลิมปิค ฤดูร้อน 1936 ที่กรุงเบร์ลิน แต่เป็นการจัดแบบไม่เป็นทางการ ใช้ชื่อว่า โอลิมปิค แรลลี
การจัดครั้งแรกเกิดขึ้นในยุคที่โอลิมปิคสมัยใหม่กำลังอยู่ในช่วงตั้งไข่ เพราะเพิ่งจะมีการรื้อฟื้นจัดการแข่งขันขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีก ปี 1896 และปี 1900 โอลิมปิคได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของ มหกรรมแสดงความก้าวหน้าของโลก หรือเวิร์ลด์แฟร์ ที่มีชื่อเป็นทางการว่า “1900 EXPOSITION UNIVERSELLE” และปี 1900 คือ หลังจากที่ คาร์ล เบนซ์ เริ่มสร้างรถเครื่องสันดาปภายใน เพียง 15 ปีเท่านั้น
ด้วยความที่โอลิมปิคยังใหม่มาก เราจึงได้เห็นการแข่งขันกีฬาแปลกๆ ในสายตาคนยุคปัจจุบัน อาทิ ตกปลา แข่งบอลลูน แข่งว่ายน้ำผ่านสิ่งกีดขวาง แข่งดำน้ำ แม้กระทั่งแข่งรถ และแน่นอนว่าความประหลาดมันไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะมีบันทึกว่า การแข่งขันเป้าบินครั้งนั้น พวกเขาเลือกใช้นกพิราบจริงในการแข่งขัน เรียกว่า แข่งจบนักกีฬาก็มีอาหารค่ำไว้ฉลองทันที
เหตุผลที่มีการแข่งขันรถยนต์เกิดขึ้น เพราะในงานเวิร์ลด์แฟร์นั้นมีการแสดงความก้าวหน้าทางวิศวกรรม และเครื่องจักร รวมไปถึงจัดแสดงรถยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของงาน จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้จัด จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน
สำหรับการแข่งขันรถยนต์ ปี 1900 ตามบันทึกระบุว่า มีการชิงรางวัลถึง 14 รายการ แบ่งเป็นการแข่งขันทางไกล 2 รายการ, กลุ่มรถทัวริง 4 รายการ, รถขนาดเล็ก 2 รายการ, รถแทกซี 2 รายการ, รถตู้ขนของ 2 รายการ และรถบรรทุก 2 รายการ โดยผู้เข้าแข่งขันส่วนใหญ่ คือ คนฝรั่งเศส
การแข่งขันระยะทางไกลนั้น เรียกว่าไกลเอาเรื่อง โดยเฉพาะถ้ามองว่า รถยนต์ในยุคนั้นยังเป็นสิ่งประดิษฐ์ชนิดใหม่ที่ไม่มีมาตรฐาน โดยแข่งขันเป็นระยะทาง 1,347 กม. แบ่งออกเป็น 3 วัน โดยวันแรกเริ่มต้นที่ปารีส ไปยังตูลูซ รวมระยะทาง 733 กม. วันที่ 2 ให้นักแข่งได้พัก 1 วัน และวันที่ 3 จะขับจากตูลูซ กลับมาปารีส และเป็นการแข่งขันในรูปแบบสเตจเหมือนการแข่งขันแรลลีในปัจจุบัน ส่วนรูปแบบการแข่งขันแบ่งเป็น 2 รายการ ได้แก่ สำหรับรถยนต์ และรถยนต์ขนาดเล็ก ใช้การจับเวลา และหารเฉลี่ยออกมาเป็นความเร็วเฉลี่ยที่ทำได้ ผู้ชนะ คือ คนที่ทำเวลาได้ดีที่สุดเพียงคนเดียวจะได้เหรียญทอง (จริงๆ คือ เหรียญเงินชุบทอง) ส่วนกลุ่มที่จะได้เหรียญเงิน คือ ใครก็ได้ที่ทำความเร็วเฉลี่ยได้ดีกว่า 60 กม./ชม. และเหรียญทองแดง จะมอบให้ผู้ทำความเร็วเฉลี่ยได้ดีกว่า 40 กม./ชม.
หากการแข่งขันอยู่ในช่วงวิ่งผ่านเขตชุมชนจะต้องมีจักรยานขี่นำ เพื่อจำกัดความเร็วไม่ให้สูงเกินไปจนน่าหวาดเสียว ต้องอย่าลืมว่า เวลานั้นในบางประเทศ อาทิ ประเทศอังกฤษ ยังมีกฎหมายธงแดงใช้อยู่ (กฎหมายธงแดง กำหนดให้ต้องมีคนถือธงแดงวิ่งนำหน้ารถยนต์เสมอ เพื่อความปลอดภัย)
ผู้ชนะในกลุ่มรถยนต์ขนาดใหญ่ มีชื่อว่า ALFRED VELGHE (อัลเฟรด เวลก์ห์) ที่ในการแข่งขันใช้นามแฝงว่า LEVEGH (เลเวกห์) ขับรถยี่ห้อ MORS (มอร์ส) แบบ 2 ที่นั่ง 24 แรงม้า โดยทำเวลา 20 ชม. 50 นาที 09 วินาที ความเร็วเฉลี่ย 68.18 กม./ชม.
ผู้ชนะในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก คือ LOUIS RENAULT (หลุยส์ เรอโนลต์) แห่งบริษัท RENAULT ซึ่งใช้รถยนต์ที่มีพละกำลังเพียง 3 แรงม้า แต่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย เพราะแทนที่จะใช้โซ่ขับเคลื่อนแบบรถในยุคนั้น เขากลับใช้ระบบเกียร์ แล้วแทนที่จะใช้ล้อที่ผลิตจากไม้ เขากลับเลือกใช้ล้อที่ผลิตจากโลหะ และตัวรถมีน้ำหนักน้อยมาก โดยทำเวลา 34 ชม. 13 นาที 38 วินาที ความเร็วเฉลี่ย 36.42 กม./ชม.
สำหรับการแข่งขันของกลุ่มรถทัวริง ตามนิยาม คือ รถที่มีน้ำหนักมากกว่า 400 กก. การแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 4 รุ่น ได้แก่ รุ่น 2 ที่นั่ง, รุ่น 4 ที่นั่ง, รุ่น 6 ที่นั่ง และรุ่นมากกว่า 6 ที่นั่ง โดยแข่งขันระยะทาง 50 กม. จำนวน 3 รอบ ในช่วงเวลาต่างกัน แถมมีการจำกัดความเร็ว โดยห้ามขับเร็วเกิน 30 กม./ชม. และในเขตชุมชนต้องไม่เกิน 20 กม./ชม. ผู้ชนะเลิศจะได้รางวัลเป็นงานศิลปะ ส่วนรองชนะเลิศเป็นเหรียญเงินเคลือบทอง อันดับ 3 เหรียญเงิน และอันดับ 4 เหรียญทองแดง
ต่อมา คือ กลุ่มรถเล็ก หรือที่ประเทศฝรั่งเศสเรียกว่า VOITURETTE (วัวตือแรตต์) มี 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นไม่เกิน 250 กก. กับรุ่นไม่เกิน 400 กก. และใช้เส้นทางการแข่งขันเดียวกันกับของกลุ่มรถทัวริง
ส่วนการแข่งขันของกลุ่มรถรับจ้าง หรือแทกซี และรถตู้ หลักเกณฑ์ คือ รถแข่งจะต้องบรรทุกน้ำหนัก 1,200 กก. และจะต้องวิ่งเป็นระยะทาง 30 กม. 2 รอบใน 1 วัน (รวม 60 กม.) โดยแบ่งเป็นรุ่นแทกซีเครื่องยนต์สันดาปภายใน กับรถแทกซีพลังไฟฟ้า ส่วนรถตู้บรรทุกก็มีทั้งรุ่นเครื่องยนต์สันดาปภายใน และรุ่นพลังไฟฟ้า เช่นกัน เรียกได้ว่า ในยุคนั้นการใช้งานในเขตชุมชน รถไฟฟ้าก็ได้รับความนิยมไม่น้อย
สำหรับการแข่งขันรุ่นสุดท้าย คือ กลุ่มรถบรรทุก แบ่งเป็น 2 รุ่น ได้แก่ รถบรรทุกเล็ก และรถบรรทุกทั่วไป โดยรถบรรทุกเล็กจะต้องบรรทุกอย่างน้อย 100 กก. และใช้เส้นทางเดียวกับกลุ่มแทกซี ส่วนรถบรรทุกทั่วไป ต้องบรรทุกอย่างน้อย 1,250 กก. และจะต้องวิ่งไกลกว่า คือ 50 กม.
หลังการแข่งขันครั้งนั้นก็ไม่ได้จัดอีก จนกระทั่ง โอลิมปิค เบร์ลิน ปี 1936 แต่เป็นรูปแบบแรลลีทางไกล โดยเป็นการแข่งขันบนถนนที่สวยงามของเยอรมนี ไม่มีการจำกัดพละกำลัง แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องมี 2 ที่นั่ง เพื่อให้สามารถสลับกันขับได้ในช่วงเวลาถึง 9 วัน เส้นชัยอยู่ที่สนาม AVUS (อาวุส) ในกรุงเบร์ลิน การตัดสินใช้ระบบนับแต้ม นักแข่งที่ทำคะแนนได้เกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้จะได้รับเหรียญทอง ซึ่งทำให้มีตำแหน่งชนะเลิศ 2 คน โดยคนแรกเป็นสุภาพสตรีชาวอังกฤษ “BETTY HAIG” (เบทที เฮก) สตรีที่เร็วที่สุดในเกาะบริเทนใหญ่ รถยี่ห้อ SINGER LE MANS (ซิงเกอร์ เลอ มองส์) กับสุภาพบุรุษชาวสวิสส์ PAUL ABT (พอล แอบท์) รถยี่ห้อ RILEY FALCON (ไรลีย์ ฟอลคอน)
น่าเสียดายที่เมื่อจบการแข่งขันครั้งนั้นไปก็ไม่ได้จัดขึ้นอีกเลย และคณะกรรมการโอลิมปิค หรือ IOC ก็ไม่ได้มองว่า มันเป็นการแข่งขันที่ดีแต่อย่างใด โดยเฉพาะเมื่อปี 2001 คณะกรรมการโอลิมปิคประกาศว่า “กีฬาที่ใช้เครื่องจักรจะไม่ได้รับการรับรอง” เป็นเหมือนการตอกตะปูปิดฝาโลงมอเตอร์สปอร์ทในมหกรรมกีฬาโอลิมปิคไปโดยปริยาย
แต่ความคิดเรื่องการจัดมอเตอร์สปอร์ท หรือแข่งขันรถในโอลิมปิค ได้กลับมาอีกครั้งในปี 2016 เพราะคณะกรรมการโอลิมปิคตัดสินใจยกประเด็น “กีฬาที่ใช้เครื่องจักรจะไม่ได้รับการรับรอง” ออกไป เป็นอันว่า กีฬาที่ใช้เครื่องจักรสามารถเกิดขึ้นได้ แน่นอนว่า ตัดการแข่งขันที่มีต้นทุนมหาศาลอย่าง รถสูตรหนึ่ง ไปได้เลย เพราะคงไม่มีใครมีปัญญาจัดการแข่งขันในโอลิมปิคได้ แต่ถ้าเป็นรถแข่งไซซ์จิ๋วอย่าง “GO-KART” (โกคาร์ท) ล่ะ ?
เป็นที่รู้กันดีว่า บรรดานักแข่งรถสูตรหนึ่งเกือบทั้งหมดต่างมีจุดเริ่มต้นจากสนามโกคาร์ททั้งสิ้น โดยสมาพันธ์แข่งรถนานาชาติ หรือ FIA (FEDERATION INTERNATION DE I’AUTOMOBILE) ได้พยายามผลักดันที่จะนำการแข่งขันโกคาร์ทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ โอลิมปิค 2028 ที่ลอสแองเจลิส แต่น่าเสียดายที่มันโดนปัดตกไป เช่นเดียวกับ เบรคแดนศ์, คิกบอกซิง และคาราเต
แต่ FIA ยังคงมุ่งมั่นต่อไปว่า โอลิมปิค ในอีก 8 ปีข้างหน้า ที่บริสเบน ประเทศออสเตรเลีย พวกเขาจะสามารถจัดการแข่งขันโกคาร์ทได้ โดยกติกาเบื้องต้น คือ ตัวรถจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานที่ทัดเทียมกัน และแต่ละชาติจะต้องมีทีมงานของช่างเครื่อง และวิศวกรของตัวเอง ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับรถแข่งสูตรหนึ่งแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่า รถโกคาร์ทมันเรียบง่าย และมีต้นทุนย่อมเยากว่ามาก และง่ายที่จะสร้างมาตรฐานที่ทัดเทียมกันได้
สถานที่จัดการแข่งขัน ออพชันแรก คือ สนามแข่งโกคาร์ทที่มีมาตรฐานในเมืองนั้นๆ ซึ่งก็จะง่ายมาก แต่มันอาจไม่สนุก ดังนั้นจึงมีออพชันที่ 2 เกิดขึ้น นั่นคือ จัดแข่งขันบนถนนในเมืองไปเลย ซึ่งแม้จะดูยุ่งยากกว่า แต่อะไรก็เป็นไปได้ในนามของโอลิมปิค
สำหรับนักแข่งต้องคัดเลือกจากนักแข่งอายุน้อย และการแข่งขันนี้จะเป็นเวทีที่เราจะได้ค้นพบนักแข่งอัจฉริยะหน้าใหม่ในวงการที่จะก้าวเข้าสู่โลกของมอเตอร์สปอร์ทในอนาคต
นอกจากนี้ หากจะเปิดให้มืออาชีพจากการแข่งรถในสาขาต่างๆ มาร่วมลงแข่งในรถไซซ์จิ๋วนี้บ้างก็คงจะสนุก และท้าทายไม่เบาเช่นกัน โดยคัดมาเฉพาะประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการแข่งขัน ประเทศละ 2 คน 10 ประเทศ รวม 20 คน รับรองสนุกอย่าบอกใคร เพราะมือวางที่คาด ก็น่าจะประกอบด้วย ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, บราซิล, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, เมกซิโก, เนเธอร์แลนด์, สเปน และสหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกัน กระแสของ E-SPORT (อี-สปอร์ท) ก็ยังไม่แผ่ว เพราะดูเหมือนจะมีการจัดแข่ง โอลิมปิค เวอร์ชวล ซีรีส์ (OLYMPIC VIRTUAL SERIES) โดยเกเมอร์ระดับพโรของโลกเข้ามาแข่งขันเกมจำลองการขับชั้นนำอย่าง กรัน ตูริสโม (GRAN TURISMO)
แต่การแข่งขันในจอนั้น ถึงอย่างไรมันก็ไม่เร้าใจเท่าการแข่งขันในสนามจริง งานนี้ก็ได้แต่หวังให้ทำได้ และมีมือวางอันดับต้นๆ ของโลกมาลงแข่งขันกัน รับรองว่า “มันยกร่อง” แน่นอน