สคส. ปีใหม่จากรัฐบาลหนูอิ๊งค์ถึงชาวกทม. คือ ข่าวการเตรียมพิจารณาเก็บค่าธรรมเนียมรถติด จากรถที่จะวิ่งเข้าไปในเขตใจกลางเมืองที่กำหนด เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร และปัญหามลพิษ
หลายคนถามผมว่า เห็นด้วยกับมาตรการแก้ปัญหานี้หรือไม่ ?
คำตอบของผม คือ ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย…
เหตุผลที่เห็นด้วย เพราะการเก็บค่าธรรมรถติด หรือภาษีรถติด เป็นมาตรการที่หลายเมืองทั่วโลกใช้ในการลดปัญหาจราจรติดขัด และมลพิษในเขตเมือง อย่างได้ผล ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ เป็นประเทศแรกในโลกที่นำระบบเก็บค่าธรรมเนียมรถติดมาใช้ในปี 1975 โดยมีการคำนวณ และเก็บค่าธรรมเนียมตามเวลาจริง ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มใช้มาตรการนี้ตั้งแต่ปี 2003 โดยเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่เข้าเขตใจกลางเมืองในช่วงเวลาที่กำหนด ช่วยลดจำนวนรถยนต์ในเมืองลงได้อย่างชัดเจน และยังส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น
ในสวีเดน เมืองสตอคโฮล์มได้ใช้ระบบเก็บค่าธรรมเนียมตั้งแต่ปี 2006 และประสบความสำเร็จในการลดปริมาณรถยนต์ และมลพิษ ส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมก็นำไปใช้พัฒนาระบบขนส่งมวลชน
ส่วนที่ไม่เห็นด้วย คือ ไม่เห็นด้วยว่าจะต้องเร่งรีบทำให้เสร็จภายในปีสองปีนี้ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพฯ ยังไม่เพียงพอรองรับการเปลี่ยนแปลงจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวไปใช้ขนส่งสาธารณะ แม้ว่าระบบรถไฟฟ้าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงในบางพื้นที่ ครั้นจะพึ่งบริการรถเมล์ ปริมาณ และคุณภาพก็ยังไม่ได้มาตรฐาน
นอกจากนี้ ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ยังเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ใช่เรื่องรถเยอะเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น พฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจร
ในขณะที่เมืองอย่างสิงคโปร์ ลอนดอน และสตอคโฮล์ม ล้วนมีระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ การนำระบบเก็บค่าธรรมเนียมรถติดมาใช้จึงสามารถดำเนินการได้อย่างดี เพราะประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางหลากหลาย และสะดวกสบาย
ดังนั้น ถ้าจะนำมาตรการนี้มาใช้ อย่างน้อย กทม. ต้องแก้ปัญหาเรื่องระบบขนส่งมวลชนให้เรียบร้อยเสียก่อน รวมทั้งต้องวางแผนรองรับจำนวนรถที่จะเพิ่มมากขึ้นในเส้นทางรอบนอกด้วย เพราะถ้าเกิดติดขัดพัวพันเป็นวงแหวน การจราจรในเขตเก็บค่าธรรมเนียมก็จะพลอยเป็นอัมพาตไปด้วย
เรื่องอัตราค่าผ่านทาง (ที่ดำริว่าจะเก็บคันละ 50 บาท) ก็เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าน้อยไป หรือใกล้เคียงกับค่าบริการขนส่งสาธารณะ จนคนยินดีจ่ายเพื่อซื้อความสะดวก (เหมือนจ่ายค่าทางด่วน) ก็จะไม่สามารถลดจำนวนรถได้มากเท่าที่ต้องการ
ที่สำคัญกว่านั้น คือ ท่านจะเอาเงินไปทำอะไร มีระบบชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้หรือไม่
สรุปแล้วเป็นไอเดียที่ดี มีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็น แต่ถ้าทำอย่างเร่งรีบให้ทันอายุรัฐบาล โดยไม่บริหารจัดการให้รอบคอบ และรอบด้าน ความโกลาหลก็รออยู่เห็นๆ เหมือนกัน !
บทความแนะนำ