วิถีตลาดรถยนต์
ไปกันใหญ่ !
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนกันยายน 2024/2023
ตลาดโดยรวม -37.1 %
รถยนต์นั่ง -38.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) -31.0 %
กระบะ 1 ตัน -40.1 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -24.7 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-กันยายน 2024/2023
ตลาดโดยรวม -25.3 %
รถยนต์นั่ง -22.7 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +9.4 %
กระบะ 1 ตัน -40.0 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -10.7 %
กันยายน...เดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ปิดฉากไปด้วยความผิดหวังในตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ ที่ปรับตัวลดลงแล้วลดลงอีก จนทำให้เกิดสถิติใหม่อีกครั้ง นับตั้งแต่เจ้า COVID-19 เข้ามาบ่อนทำลายทะลุทะลวงทำความเสียหายกับเศรษฐกิจประเทศ เศรษฐกิจโลก เมื่อเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนปรับตัวลดลงต่ำกว่า 40,000 คัน/เดือน แถมยังอาจจะทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งปีของปี 2567 ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ก่อนหน้านี้ ที่ตัวเลขประมาณ 650,000 คัน ซึ่งที่มาของตัวเลขยอดจำหน่ายเดือนกันยายน และเดือนก่อนหน้านี้ ที่ลดต่ำลงอย่างมาก ไม่ได้มาจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดร้ายแรงดังกล่าวแต่อย่างใด แต่มาจากปัญหาเดิมๆ ที่เผชิญมาก่อนหน้านี้ คือ เรื่องของความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อยานยนต์ของสถาบันการเงินต่างๆ การที่สภาวะเศรษฐกิจไม่เติบโตอย่างที่คาดไว้ รวมไปถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 3 เดือนที่เหลืออยู่ของปี 2567 ยังมีความคาดหวังเล็กๆ อยู่บ้างจากความเชื่อที่ว่า 3 เดือนสุดท้ายของปีจะเป็นช่วงไฮซีซันของการจับจ่ายซื้อของต่างๆ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จากทางภาครัฐ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ ที่เข้าสู่ปีงบประมาณใหม่ และการกระตุ้นยอดจำหน่ายรถยนต์จากการจัดงานแสดงรถยนต์งานใหญ่ส่งท้ายปี ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และส่งผลบวกต่อตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ส่งท้ายปีอย่างต่อเนื่อง ทั้งหลายทั้งปวงนี้ อาจส่งผลให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ปี 2567 กระเตื้องขึ้นได้บ้าง ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ก็ตาม
สำหรับเดือนกันยายน 2567 ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่รวมทั้งหมด 39,048 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2566 ถึง 37.1 % เดือนนี้ไม่มีรถยนต์จากประเทศจีน หลุดเข้ามาติดอันดับ TOP 5 ส่วนใหญ่เป็นรถบแรนด์ญี่ปุ่นที่คุ้นเคยกันดี ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA (โตโยตา) 15,311 คัน ลดลงจากเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา 5,830 คัน หรือ 27.6 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 39.2 % อันดับ 2 ISUZU (อีซูซุ) 6,080 คัน ลดลง 4,818 คัน หรือ 44.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 15.6 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) 4,365 คัน ลดลง 4,748 คัน หรือ 52.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.2 % อันดับ 4 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) 2,093 คัน ลดลง 16 คัน หรือ 0.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.4 % และอันดับ 5 FORD (ฟอร์ด) 1,374 คัน ลดลง 1,574 คัน หรือ 53.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.5 %
ขณะที่ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวม ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน อยู่ที่ 438,659 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ถึง 148,180 คัน หรือ 25.3 % ซึ่งหากจะทำให้ได้ถึงยอดรวมที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ประมาณ 650,000 คัน ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 3 เดือน ตัวเลขยอดจำหน่ายในแต่ละเดือนที่เหลือต้องขยับขึ้นไปแตะเดือนละกว่า 70,000 คัน !
จบไตรมาส 3 ค่ายรถที่มียอดจำหน่ายสูงสุด ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA 167,218 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 รวม 32,074 คัน หรือ 16.1 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 38.1 % อันดับ 2 ISUZU 65,269 คัน ลดลง 55,025 คัน หรือ 45.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.9 % อันดับ 3 HONDA 58,311 คัน ลดลง 11,571 คัน หรือลดลง 16.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.3 % อันดับ 4 BYD (บีวายดี) 22,237 คัน เพิ่มขึ้น 4,212 คัน หรือเพิ่มขึ้น 23.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.1 % และอันดับ 5 MITSUBISHI 20,356 คัน ลดลง 6,196 คัน หรือ 23.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.6 %
รถพิคอัพ 1 ตัน เดือนตุลาคมถึงจะมีผู้เล่นหน้าใหม่จากประเทศจีน เข้ามาร่วมวงไพบูลย์ด้วย เดือนกันยายนนี้ ปิดยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาดที่ 13,972 คัน ลดลง 9,371 คัน หรือ 40.1 % เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 ยอดจำหน่ายสูงสุดประกอบด้วย TOYOTA 6,488 คัน ลดลง 3,059 คัน หรือ 32.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 46.4 % อันดับ 2 ISUZU 5,101 คัน ลดลง 4,197 คัน หรือ 45.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 36.5 % อันดับ 3 FORD 1,374 คัน ลดลง 1,572 คัน หรือ 53.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 9.8 % อันดับ 4 MITSUBISHI 698 คัน ลดลง 314 คัน หรือ 31.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.0 % และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) 201 คัน ลดลง 198 คัน หรือ 49.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.4 %
ปิดไตรมาส 3 ตลาดรถพิคอัพ มีตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวมทั้งสิ้น 153,504 คัน ลดลง 102,395 คัน หรือ 40.0 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 ที่มียอดจำหน่ายสะสมมากที่สุด อันดับ 1 TOYOTA 70,632 คัน ลดลง 29,561 คัน หรือ 29.5 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 46.0 % อันดับ 2 ISUZU 56,812 คัน ลดลง 51,346 คัน หรือ 47.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.0 % อันดับ 3 FORD 16,104 คัน ลดลง 12,669 คัน หรือ 44.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.5 % อันดับ 4 MITSUBISHI 6,567 คัน ลดลง 7,223 คัน หรือ 52.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.3 % และอันดับ 5 NISSAN 2,282 คัน ลดลง 1,223 คัน หรือ 34.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 %
มาถึงรถเอสยูวี ตลาดนี้มีขึ้น-ลงตลอด เดือนกันยายนอยู่ในโหมดขาลงอีกครั้ง ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมอยู่ที่ 6,576 คัน ลดง 2,952 คัน หรือ 31.0 % เป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีรถสัญชาติจีนเน้นพลังงานขับเคลื่อนยุคใหม่ และราคาค่าตัวที่ล่อใจเปิดตัวเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายสูงสุดของตลาดนี้ ยังคงเป็นผู้เล่นหน้าเก่า อันดับ 1 TOYOTA 3,117 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนปีก่อน 2,155 คัน หรือเพิ่มขึ้น 224.0 % ส่วนแบ่งการตลาดรับไปเต็มๆ 47.4 % ตามมาห่างๆ ด้วย HONDA 939 คัน ลดลงถึง 3,962 คัน หรือ 80.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.3 % ต่อด้วยค่าย BYD 886 คัน ลดลง 724 คัน หรือ 45.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.5 % อันดับ 4 รถเอสยูวีไฟฟ้าน้องใหม่ NETA (เนทา) 329 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 5.0 % และอันดับ 5 MG (เอมจี) 304 คัน ลดลง 184 คัน หรือ 37.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.6 %
ผ่านไตรมาสที่ 3 ของปี ตลาดรถเอสยูวียังคงเป็นตลาดเดียวที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาดอยู่ที่ 86,689 คัน เพิ่มขึ้น 7,457 คัน หรือ 9.4 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 รถเอสยูวีที่มียอดจำหน่ายสูงสุดประกอบด้วย TOYOTA 39,813 คัน เพิ่มขึ้น 24,877 คัน หรือเพิ่มขึ้น 166.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 45.9 % HONDA 24,330 คัน ลดลงเล็กน้อย 1,645 คัน หรือ 6.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 28.1 % ค่าย BYD 6,838 คัน ลดลง 9,085 คัน หรือลดลง 57.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.9 % ค่าย GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) 2,886 คัน ลดลง 1,894 คัน หรือ 39.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.3 % และ MAZDA (มาซดา) 2,742 คัน ลดลง 3,105 คัน หรือ 53.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.2 %
เดือนกันยายน 2567 รถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ จำหน่ายได้รวม 2,832 คัน ลดลง 927 คัน หรือ 24.7 % ปิดไตรมาส 3 จำหน่ายได้รวม 28,604 คัน ลดลง 3,436 คัน หรือลดลง 10.7 % เดือนกันยายน 2567 มีการจดทะเบียนรถเอสยูวี และรถพิคอัพรวมทั้งสิ้น 27,012 คัน ลดลง 8,487 คัน หรือลดลง 23.9 % เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566