เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนตุลาคม 2024/2023
ตลาดโดยรวม -36.1 %
รถยนต์นั่ง -29.7 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) -44.3 %
กระบะ 1 ตัน -42.0 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -11.8 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-ตุลาคม 2024/2023
ตลาดโดยรวม -26.2 %
รถยนต์นั่ง -23.3 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +3.0 %
กระบะ 1 ตัน -40.2 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -10.6 %
ต้นปีแล้วยังไม่มีอะไรตื่นเต้นมากมาย แต่ผมอดไม่ได้ที่จะพูดถึงสถานการณ์ที่กำลังจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้รถยนต์ของเรา
หากมองตลาดรถยนต์ในประเทศไทยเสมือนสนามรบ ปี 2568 กำลังเป็นช่วงที่การต่อสู้เข้มข้นที่สุด คล้ายกับศึกชิงบัลลังก์ในยุคสมัยเจ้านคร บริษัทรถยนต์ดั้งเดิมที่เคยครองตลาดมายาวนานกำลังเผชิญหน้ากับ “บริษัทรถยนต์พลังงานใหม่” ที่เปรียบเสมือนดาวรุ่งซึ่งใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย และราคาที่ดึงดูดใจเป็นอาวุธหลัก
การเข้ามาของรถยนต์พลังงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฮบริด ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างชัดเจน ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และที่สำคัญที่สุด คือ “ราคา” ซึ่งเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากเดิม เพราะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างราคาครั้งใหญ่ในตลาดไทย
ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา และในปีที่ 3 นี้ การเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากขึ้น รถยนต์พลังงานใหม่จากจีนที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในราคาที่เอื้อมถึงได้ กลายเป็นตัวเลือกหลักที่ทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันหลังให้แก่รถยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิม
การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่ยังเป็นการเปลี่ยนฐานราคาของตลาดรถยนต์ทั้งหมดอีกด้วย เดิมที ราคารถยนต์สันดาปภายใน ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูง แต่ปัจจุบันราคารถยนต์ไฟฟ้ากลับต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด ราคาที่เปลี่ยนแปลงนี้มีผลต่อผู้บริโภคหลายแง่มุมเลยทีเดียว ในอดีต เรามักเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีราคาสูงกว่ารถยนต์สันดาปภายใน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ และยังไม่ถึงจุดประหยัดต่อขนาด (ECONOMY OF SCALE) แต่ผู้ผลิตรถยนต์จากจีนที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องตลาดภายในประเทศ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้สามารถเสนอราคาที่ต่ำกว่ารถยนต์สันดาปภายในได้อย่างน่าประหลาดใจ
การแข่งขันที่ดุเดือดในด้านราคา เกิดขึ้นในจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และทุกที่ที่จีนส่งรถไปทำตลาด ราคารถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ความเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงเพดานราคา ที่ราคารถยนต์ไฟฟ้าได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่ผู้บริโภคเริ่มยอมรับ
ในช่วงแรกของการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า หลายคนอาจรู้สึกว่า “รถน้ำมันแพงเกินไป” หรือ “รถยนต์ไฟฟ้าถล่มราคา” แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้บริโภคเริ่มปรับตัว และแยกความแตกต่างระหว่างราคารถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์สันดาปภายในได้อย่างชัดเจน ในปี 2568 ผู้บริโภคถือว่าอยู่ในจุดที่ดีที่สุดที่จะตัดสินใจซื้อรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์สันดาปภายใน ทั้ง 2 กลุ่มมีจุดเด่น และจุดด้อยแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญ คือ การที่ผู้บริโภคมีโอกาสได้เลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง รถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการเทคโนโลยีที่ทันสมัย ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำ และช่วยลดมลพิษ ส่วนรถยนต์สันดาปภายใน เป็นตัวเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการความมั่นใจในระบบที่คุ้นเคย และยังเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ที่โครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่พร้อม ปี 2568 ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการต่อสู้ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ในตลาดรถยนต์ การแข่งขันระหว่างบริษัทรถยนต์ดั้งเดิม และบริษัทรถยนต์พลังงานใหม่ จะยังคงดำเนินต่อไป แต่ผลลัพธ์ที่แท้จริงจะขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดีที่สุด
ในมุมมองของผม ตลาดรถยนต์ไทยกำลังเข้าสู่ยุคที่น่าตื่นเต้นที่สุด ผู้บริโภคจะพบกับเพดานราคารถยุคใหม่ท่ามกลางตัวเลือกมากขึ้น และที่สำคัญ คือ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เราสามารถเป็นเจ้าของได้ กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราอย่างแท้จริง...สวัสดี