ปัญหาเรื่องการต่อทะเบียนรถยนต์โดยที่เจ้าของรถยังค้างชำระค่าปรับจราจร เป็นข้อขัดแย้งระหว่างตำรวจจราจร กับกรมการขนส่งทางบก และประชาชนผู้ใช้รถ ที่มีมาอย่างยาวนาน
ก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางบก กับตำรวจจราจรได้ประกาศจับมือกันออกมาตรการบังคับให้ผู้กระทำผิดกฎจราจร ต้องจ่ายค่าปรับตามใบสั่งให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะสามารถต่อทะเบียนรถได้
มาตรการนี้ดูเหมือนจะดีที่ตำรวจกับขนส่งตกลงจูบปากกันได้เสียที แต่ประชาชนกลับไม่ได้รู้สึกโรแมนทิคไปด้วย ตรงกันข้าม เกิดเสียงคัดค้าน และข้อถกเถียงมากมายถึงความชอบธรรม และความเป็นธรรมในการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีที่ผู้กระทำผิดไม่ได้รับการแจ้งเตือนใบสั่ง หรือใบสั่งที่ออกมามีความคลาดเคลื่อน คลุมเครือ ฯลฯ
กระทั่งเมื่อปลายปี 2567 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำตัดสินในคดีที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งยื่นฟ้องกรมการขนส่งทางบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศาลชี้ว่า การบังคับให้ประชาชนชำระค่าปรับจราจรเพื่อแลกกับการต่อทะเบียนรถนั้นขัดต่อ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พศ. 2522 ซึ่งไม่ได้ระบุให้การชำระค่าปรับจราจรเป็นเงื่อนไขในการต่อทะเบียนรถ และยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า การกระทำดังกล่าวเกินขอบเขตอำนาจของหน่วยงานรัฐ
คำตัดสินของศาลปกครองอ้างอิงถึง พรบ. การขนส่งทางบก พศ. 2522 ซึ่งระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับการจดทะเบียนรถยนต์ไว้อย่างชัดเจน โดยไม่ได้รวมถึงข้อกำหนดเรื่องการชำระค่าปรับจราจร นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึง พรบ. จราจรทางบก พศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการบังคับใช้เกี่ยวกับความผิดจราจร โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกใบสั่ง และเรียกเก็บค่าปรับได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม
ดังนั้น สำหรับฝ่ายที่หวังจะใช้การต่อทะเบียนเป็นเงื่อนไขให้เราต้องจ่ายค่าปรับจราจรแบบมัดมือชก ก็ต้องบอกว่า “มันจบแล้วครับนาย !”
ต่อไปนี้ ถ้าจราจรแจกใบสั่งแล้วเก็บค่าปรับไม่ได้ ก็ต้องไปฟ้องร้องเอาตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่มาจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานในการต่อทะเบียนรถ ซึ่งเป็นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง และการประกอบอาชีพของประชาชน
คำตัดสินของศาลปกครองครั้งนี้เป็นการยืนยันสิทธิของประชาชน และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่หน่วยงานรัฐต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความโปร่งใส และยุติธรรมมากขึ้น โดยการแยกประเด็นเรื่องการบังคับชำระค่าปรับ ออกจากการต่อทะเบียนรถ
ผลกระทบจากคำตัดสินที่ออกมา อาจทำให้ยอดการชำระค่าปรับลดลง ฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาวิธีการจัดการปัญหาการจ่ายค่าปรับจราจรในรูปแบบที่เหมาะสม และถูกกฎหมาย พัฒนาระบบจัดการใบสั่งจราจรที่ทันสมัย เช่น การแจ้งเตือนผ่านช่องทางดิจิทอล การเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลประชาชนอย่างแม่นยำ และการดำเนินการตามกฎหมายแพ่งหากผู้กระทำผิดไม่ยอมชำระค่าปรับ
ในระยะยาว การแก้ปัญหาไม่ควรหยุดเพียงแค่การเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บค่าปรับ แต่ควรเน้นการปลูกฝังจิตสำนึกของประชาชนในการเคารพกฎจราจร พร้อมทำให้กฎหมายมีความโปร่งใส ชัดเจน และเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างสังคมที่ปลอดภัย และลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน
ใครก็ได้ช่วยเอาเรื่องนี้ใส่ไปใน “ไอแพด” ของ “แพทองโพย” ให้ที !
บทความแนะนำ