รถสายพันธุ์เยอรมันแบบที่ 2 ของ “ระเบียงรถใหม่” เดือนเมษายน คือ OPEL GRANDLAND ELECTRIC (โอเพล กแรนด์แลนด์ อีเลคทริค) เป็นผลงานของค่าย “สายฟ้า” ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในเครือข่ายของ STELLANTIS BV (สเตลแลนทิส บีวี) กลุ่มบริษัทรถยนต์ “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ซึ่งเพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2021 นี่เอง
OPEL GRANDLAND (โอเพล กแรนด์) เป็นชื่อของ COMPACT CROSSOVER SUV (คอมแพคท์ ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี) หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2017 ในตัวถังทรง 2 กล่อง ซึ่งยาว 4.477 ม. กว้าง 1.906 ม. และสูง 1.609-1.630 ม. เป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า หรือขับเคลื่อนทุกล้อ ซึ่งมีระบบขับให้เลือกรวม 4 แบบ คือ ขับด้วยพลังของเครื่องเบนซิน-ขับด้วยพลังของเครื่องยนต์เบนซินพร้อมระบบ MILD HYBRID (ไมล์ด์ ไฮบริด) หรือไฮบริดแบบอ่อน-ขับด้วยพลังของเครื่องยนต์ดีเซล และขับด้วยระบบ PLUG-IN HYBRID (พลัก-อิน ไฮบริด) หรือไฮบริดชนิดที่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ระบบเกียร์ก็มีให้เลือกถึง 3 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ-เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 6 จังหวะ
ส่วน OPEL GRANDLAND ELECTRIC (โอเพล กแรนด์แลนด์ อีเลคทริค) ที่กำลังอวดโฉมอยู่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของรถ OPEL GRANDLAND (โอเพล กแรนด์แลนด์) รุ่นที่ 2 ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนเมษายน 2024 และเริ่มการจำหน่ายในเยอรมนีเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เป็นรถที่ค่าย “สายฟ้า” ประกาศยืนยันอย่างภูมิอกภูมิใจว่า นี่คือรถเยอรมันพันธุ์แท้ที่ออกแบบพัฒนา และผลิตในเยอรมนี มีขนาดตัวถัง ยาว 4.650 ม. กว้าง 1.905 ม. และสูง 1.665-1.677 ม. คือ ยาวกว่ารถรุ่นแรกถึง 17.3 ซม. เป็นตัวถังที่ออกแบบใหม่หมดตั้งแต่พื้นรถจรดหลังคา
เป็น COMPACT CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ซึ่งมีระบบขับให้เลือกถึง 3 แบบ คือ (1) ขับด้วยระบบ MILD HYRID (ไมล์ด์ ไฮบริด) หรือไฮบริดแบบอ่อน 48 โวลท์ ซึ่งให้กำลังสูงสุด 100 กิโลวัตต์/136 แรงม้า (2) ขับด้วยระบบ PLUG-IN HYBRID หรือไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ (3) ขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ
เฉพาะ OPEL GRANDLAND ELECTRIC ซึ่งเป็นรถขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ มีการตกแต่ง/ติดตั้งอุปกรณ์ (TRIM) 2 ระดับ กำกับด้วยรหัส GRANDLAND EDITION กับ GRANDLAND GS และมีระบบขับให้เลือก 2 แบบ
แบบแรกซึ่งค่าตัวรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19 ของเยอรมนี เริ่มต้นที่ 46,750 ยูโร หรือประมาณ 1.73 ล้านบาทไทย ติดตั้งระบบขับล้อหน้า ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 157 กิโลวัตต์/213 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีขนาดความจุ 73 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถทำความเร็วสูงสุด 170 กม./ชม. และวิ่งได้ไกล 160 กม. เมื่อชาร์จไฟแบบเร่งด่วนด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC) เป็นเวลา 10 นาที กรณีชาร์จไฟเต็ม และวัดตามมาตรฐาน WLTP จะวิ่งได้ไกล 504-523 กม. กับมีอัตราการสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้าเฉลี่ย 16.9-17.6 กิโลวัตต์ชั่วโมง/100 กม. หรือ 5.7-5.9 กม./กิโลวัตต์ชั่วโมง
ส่วนอีกแบบหนึ่งซึ่งราคาค่าตัวรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19 เริ่มต้นที่ 51,950 ยูโร หรือประมาณ 1.92 ล้านบาทไทย ติดตั้งระบบขับล้อหน้า ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 157 กิโลวัตต์/213 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีขนาดความจุ 82.2 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถทำความเร็วสูงสุด 170 กม./ชม. และวิ่งได้ไกล 160 กม. เมื่อชาร์จไฟแบบเร่งด่วนด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC) เป็นเวลา 10 นาที เหมือนแบบแรก ที่ไม่เหมือนก็คือ กรณีชาร์จไฟเต็ม และวัดตามมาตรฐาน WLTP จะวิ่งได้ไกล 564-582 กม. กับมีอัตราสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้าเฉลี่ย 17.8-18.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง/100 กม. หรือ 5.4-5.6 กม./กิโลวัตต์ชั่วโมง