ชีวิตอิสระ
สุดขีด "ปิเต็ง"
ในบรรดาผู้ใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก "ปิเต็ง" หลายคนที่เคยสัมผัสแต่ใจไม่ถึง เลิกเที่ยว หรือเลิกเล่นรถขับเคลื่อน 4 ล้อไปเลย และมีอีกจำนวนไม่น้อย ใจถึง แถมยังหลงใหลกับเส้นทางหฤโหดสายนี้ และอยากกลับมาเยือนเมื่อมีโอกาส นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนอีกมากที่อยากมา แม้จะรู้ว่า ถ้าพลาด รถอาจต้องพังกลับบ้านก็ตาม...
ปิเต็ง ในอดีตเคยเป็นสถานที่พักของกะเหรี่ยง ที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากพม่า อยู่ริมสายน้ำที่ไหลทอดยาวมาจากน้ำตกที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในขุนเขาป่าใหญ่ ห่างจากหมู่บ้านอีต่องประมาณ 12 กม. ติดพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ตามทางหลวงหมายเลข 3272
อดีตมีการทำเหมืองแร่ดีบุก และวุลแฟรม กันมาก โดยจะขนส่งแร่ผ่านชายแดนเข้าสู่ "เมืองกัมบ๊อค"สหภาพพม่า หมู่บ้านอีต่องในยุคนั้น จึงมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เกิดจากการค้าแร่ เมื่อเหมืองแหล่งสุดท้ายได้ปิดตัวลง ประมาณปี 2524 บ้านอีต่องจึงกลายสภาพเป็นเพียงหมู่บ้านชายแดนเล็กๆที่สงบเงียบ อยู่ท่ามกลางผืนป่าใหญ่ เส้นทางในอดีตที่เคยใช้เป็นทางลำเลียงแร่ เมื่อไม่ได้ใช้สัญจร
เป็นเวลานาน เริ่มทรุดโทรม ประกอบกับภูมิประเทศแถบนี้มีฝนตกชุก จากปริมาณน้ำฝน ที่ชะล้างหน้าดินออกไปทุกปี กัดเซาะเป็นร่องลึก ถนนขาด ดินถล่ม ต้นไม้ล้ม ฯลฯ อุปสรรคเหล่านี้กลายเป็นฉนวนกำแพงกั้นกลางระหว่างคนกับผืนป่า
เมื่อต้นเดือนตุลาคม ผมมีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปกับกลุ่มของ ป๋าสาน หรือที่รู้จักกันดีในนาม"ออฟโรดหน้าย่น" ผู้ที่โลดแล่นอยู่ในยุทธจักรรถขับเคลื่อน 4 ล้อ มากว่า 20 ปี และ ป้าแจม ที่มาพร้อมกับฉายานาม "ป้าแจมร้อยชมรม" เนื่องจากเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี ไม่เรื่องมาก ถึงไหนถึงกัน จึงสามารถท่องเที่ยวได้ทุกชมรม และทีมงานเรากล้าพูดได้ว่าเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในประเทศไทย ที่สามารถขับรถเข้าไปเยือน ปิเต็ง มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แม้ผู้ชายอกสามศอกยังต้องยอมซูฮกจึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่เพื่อนๆ ในกลุ่มจะขนานนามว่า "ผู้หญิงสุดขีด" นอกจากนี้ยังมีรถของพี่ศักดิ์และพี่วิน ร่วมเดินทางด้วย รวม 4 คัน
คืนแรก เราแวะพักกันที่บ้านอีต่อง เพื่อรอรถที่จะมาสบทบ นัดหมายไว้อีกกว่า 10 คัน เมื่อยามฟ้าสางรถที่ร่วมเดินทางทริพนี้ มากันพร้อมหน้าพร้อมตา จอดเรียงรายอยู่ในสนามกีฬา โรงเรียนเหมืองแร่บ้านอีต่อง นับแล้วรวมทั้งหมด 21 คัน เมื่อจัดรูปขบวนเสร็จสรรพ จึงเริ่มออกเดินทาง โดยมีชุดของป๋าสาน เป็นหัวหอกเปิดทาง
ระยะทางจากบ้านอีต่องถึงปิเต็งประมาณ 12 กม. ทางกลุ่มได้วางเป้าหมายการเดินทางขาเข้าไว้ 2 วันออก 3 วัน พักข้างใน 1 วัน ทริพนี้ใช้เวลา 6 วัน เป็นอย่างน้อย เช้านี้ อากาศดี ท้องฟ้าสดใสช่างเป็นใจให้กับคณะของเราอย่างยิ่ง หากไม่มีเมฆฝน คาดว่าคงถึงเร็วกว่ากำหนดเดิมที่วางไว้
เมื่อออกเดินทาง เส้นทางลัดเลาะตามไหล่เขาสูงชัน โอบล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ได้ประมาณ 2 กม. ต้องเผชิญกับบททดสอบด่านแรก ซึ่งเป็นร่องตัววี ที่มีความลึก หรือที่เรียกกันจนติดปากว่าวีแรก เส้นทางสายนี้ส่วนใหญ่จะเป็นร่องตัววีตลอด มีความลึกตั้งแต่ 1-2 เมตรกว่าๆและนี่คือ เอกลักษณ์ของ "ปิเต็ง"
ขณะที่บรรดาเพื่อนร่วมทีม กำลังผ่านร่องตัววีไปทีละคัน ด่านแรกก็เจอสิ่งที่ไม่อยากเจอะเจอจนได้เมฆหมอกเริ่มปกคลุม เหมือนเป็นสัญญาณเตือนจากเจ้าถิ่น ว่าเราเริ่มลุกล้ำอาณาเขต และเพียงไม่กี่อึดใจ สายฝนก็เริ่มโปรยปรายมาอย่างต่อเนื่อง เส้นทางที่ว่ายากอยู่แล้ว เมื่อผนวกกับน้ำฝนยิ่งทำให้ยากขึ้นอีก กว่าจะผ่านวีแรก ต้องเสียเวลาอยู่นานพอสมควร จุดนี้มีรถในขบวนถอนตัวกลับ 2 คัน
เนื่องจากรถไม่พร้อม
เดินทางต่อมาได้อีกประมาณ 1 กม. ต้องเจอกับบททดสอบจากธรรมชาติอีก เมื่อมีต้นไม้ล้มปิดทางขวางอยู่ข้างหน้า เราเสียเวลาร่วม 2 ชม. กว่าจะช่วยกันนำต้นไม้ออกได้ จุดนี้มีรถถอนตัวกลับบ้านอีก 2 คัน และเส้นทางจากนี้ไปจะเป็นเนินยาวกว่า 1 กม. ค่อนข้างลื่น รถทุกคันต้องเร่งเครื่องส่งกำลังมาจากด้านล่าง ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะด้านซ้ายเป็นหน้าผา ด้านขวาเป็นเหวลึกสุดๆ และที่เนินนี้เอง รถคันนำ พลาดท่าต้องสังเวยเพลาหน้าให้กับธรรมชาติไป 1 เส้น
หลังจากตัดเชื่อมเพลาเสร็จ จึงออกเดินทางต่อ ผมดูนาฬิกาดิจิทอลบนข้อมือที่ยังคงทำหน้าที่อย่างไม่อิดออด บอกเวลาบ่าย 4 โมง แต่บรรยากาศโดยรอบเหมือนประมาณ 6 โมงเย็น ซะงั้นหมอกที่ปกคลุมมาตั้งแต่ก่อนเที่ยงไม่มีทีท่าว่าจะจางลง แต่กลับหนาขึ้นกว่าเดิมเป็นทวีคูณ ผนวกกับเม็ดฝนที่ยังคงโปรยปรายมาเป็นระยะๆ แสงแดดสุดท้ายที่โดนใบหน้าจำไม่ได้แล้วว่าเป็นเวลาไหนข้าวมื้อสุดท้ายที่ตกถึงท้องร่วงมาจนถึงป่านนี้รวมแล้ว 9 ชม. ยังว่างอยู่เหมือนเคย จนมีแวบหนึ่งที่นึกถึงน้ำอุ่นๆ และเตียงนอนนุ่มๆ วิ่งผ่านเข้ามาในสมองอย่างไม่ได้ตั้งใจ
เมื่อรถคันแรกขึ้นไปสู่เนินกลาง หรือบางกลุ่มอาจเรียกเนินพม่า บ่งบอกให้รู้ว่าเราเดินทางมาได้ครึ่งทางแล้ว มองไปทางฝั่งซ้ายมือเป็นเขตแดนของสหภาพพม่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ส่วนฝั่งขวามือเป็นเขตแดนประเทศไทย ที่เต็มไปด้วยทุ่งหญ้ามีต้นไม้พอนับต้นได้ และผู้ที่เคยไปสัมผัสมาแล้ว ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า "เขาหัวโล้น" ใครคนหนึ่งบอกกับผมว่า "เส้นทางที่ผ่านมามีความยากเพียง 30 เปอร์เซนต์เท่านั้นเอง เมื่อลงเขาหัวโล้น ไปจะเจอกับบททดสอบจากธรรมชาติทั้ง ร่างกายและจิตใจ รถน้อยคันนักจะผ่านไปได้"
ทางลงเขาหัวโล้นเป็นทางชันยาวสุดลูกหูลูกตา ขนาดร่องค่อนข้างลึก บางครั้งรถต้องพิงไปกับผนังดินด้านข้าง ผมยังนึกอยู่ในใจว่าแล้วเวลาขึ้นจะทำยังไง เพราะ 2 ข้างทาง หาต้นไม้สำหรับวินช์รถยากมากลงจากเขาประมาณ 5โมงเย็นจนถึง 2 ทุ่มได้ระยะทางไม่เกิน 2 กม. ช่วงนี้รถในกลุ่มเริ่มทิ้งห่างกันมากชุดแรกประมาณ 7 คัน ลงจากเขาหัวโล้นแล้ว ส่วนที่เหลือยังไม่ขึ้นเขาหัวโล้นเลย
ลงจากเขาหัวโล้นได้ราว 2 กม. รถชุดแรกเริ่มงอแง มีทั้งล้อขอบยางหลุด ไดชาร์จพัง ต้องเสียเวลาแก้ไข ทุลักทุเลกันมาก เนื่องจากขณะนี้ม่านแห่งราตรีกาลได้ปกคลุมไปทั่วบริเวณ ยิ่งในป่าลึกแบบนี้ยิ่งทำให้มืดสนิท มองไปโดยรอบตัวได้ไม่เกิน 2 ศอก และกว่าจะผ่านไปได้แต่ละเมตรมันช่างลำบากเสียจริงๆ
จนเวลาล่วงเลยไปถึงตี 2 รถชุดแรกยังคงเดินทางต่อ จุดหมาย คือ หมู่บ้านกะเหรี่ยง หากไปไม่ถึงก็ไม่มีน้ำอาบ ทุกคนต่างเปรอะเปื้อนโคลนตั้งแต่หัวถึงเท้า สถานที่นอนพักก็แทบจะไม่มี เพราะทางส่วนใหญ่เป็นร่องวี เหลือเพียงขึ้นเนินยาวประมาณ 800 เมตร ก็จะถึงบ้านกะเหรี่ยง เมื่อรถคันแรกเริ่มกดคันเร่ง ตะแคงซ้ายทีขวาทีไปตามร่อง ได้ไม่ถึง 50 เมตร เพลาหลังก็ขาดกระเด็น จึงต้องทิ้งรถไว้กลางเนิน แล้วหันมาช่วยคันที่ 2 เพื่อนำไปวินช์ลงมา
หลังจากเปลี่ยนไดชาร์จให้อีกคันเสร็จ เดินทางต่อได้อีกไม่เกิน 20 เมตร รถตะแคงจมในร่องวีที่ลึกท่วมหัว จึงเป็นเรื่องยากที่จะกู้คืนนี้ สรุปแล้วทั้ง 7 คัน จึงต้องนอนข้างทาง ทั้งที่เสื้อผ้าเต็มไปด้วยโคลนส่วนรถคันที่ยังมาไม่ถึง ยอมจำนนหยุดพักบนเขาหัวโล้น ซึ่งห่างกันประมาณ 2 กม. เพื่อเก็บเรี่ยวแรงไว้ลุยต่อวันพรุ่งนี้
เมื่อฟ้าสาง หลังจากจัดการกับอาหารเช้าเสร็จ ชุดแรกเริ่มกู้รถ และซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ส่วนชุดหลังเริ่มทยอยลงจากเขาหัวโล้นตามมาสมทบ ถึงตรงนี้เพื่อนในกลุ่มอีก 2 คันยอมยกธงขาว ที่เหลือเดินทางต่อ ก่อนถึงบ้านกะเหรี่ยงอีกไม่กี่ 100 เมตร ต้องออกแรงกันอีกพักใหญ่เมื่อเจอกับดินถล่มปิดทาง ต้องช่วยกันเปิดทางใหม่ จุดนี้รถของสมาชิกในกลุ่มยอมแพ้ต่อธรรมชาติ
อีก 7 คัน เหลือเพียง 8 คัน จากทั้งหมด 21 คัน โดยมีกลุ่มหน้า คือ กลุ่มป๋าสาน 4 คัน และกลุ่มของเฮียเสง อีก 4 คัน ที่ยังคงเดินหน้าต่อ ซึ่งเหลือระยะทางประมาณ 2 กม. ถึงปิเต็ง
คืนที่ 2 เราหยุดเดินทาง เมื่อเส้นทางหมดลง ตรงสถานที่ที่เรียกกันว่า "ปิเต็ง" ผมก้มมองนาฬิกา บอกเวลาเที่ยงคืนกว่าๆ ระยะทางห่างจากจุดที่พักเมื่อคืนประมาณ 4 กม. ซึ่งเริ่มต้นออกเดินทางประมาณ9 โมงกว่าๆ จนถึงเวลานี้ ช่างเป็น 4 กม. ที่ยาวนาน และโหดร้ายที่สุดเท่าที่เคยเจอมา
สรุปการเดินทางขาเข้าระยะทาง 12 กม. ใช้เวลา 2 วัน 2 คืนเต็มๆ ช่วงขากลับใช้เวลารวมทั้งหมด3 วัน 3 คืน โดยเสียเวลารออะไหล่รถอยู่บนเขาหัวโล้น 1 วัน รวมการเดินทางทั้งหมดของทริพนี้ใช้เวลา 8 วัน ความเสียหายที่ประเมินได้ มีตั้งแต่ ฝาสูบแตก เทอร์โบพัง เพลาขาด ไดชาร์จเสีย วินช์พังลูกปืนแตก รอยแผลอีกรอบคัน รวมถึงกล้องดิจิทอลของช่างภาพเสียหายอีก 1 ตัว แต่ประสบการณ์
ที่ได้รับจากบททดสอบบทนี้ กลับมากมายมหาศาล สำหรับคนหัวใจโฟร์วีลตัวจริงเท่านั้น
เตรียมตัวก่อนเข้าปิเต็ง
- ก่อนเข้าควรขออนุญาต และแจ้งความจำนงต่อกำนันบ้านอีต่อง เพื่อความปลอดภัยเพราะพื้นที่นี้เป็นเขตตะเข็บชายแดนระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า
- จิตใจ ร่างกาย และรถ 3 สิ่งนี้ต้องพร้อม
- น้ำ และอาหาร ควรเตรียมไปให้พอ
- รับประทานวินตามินซีล่วงหน้าประมาณ 2 วัน และตลอดการเดินทาง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไข้หวัด
- เปลสนาม หรือเทนท์สปริง เพื่อความสะดวก
- เสื้อผ้าควรใช้แบบไม่อมน้ำ แห้งเร็ว เพราะฝนค่อนข้างชุก
- อะไหล่สำรองของรถ
- เครื่องมือซ่อมบำรุง
- จอบ เสียม เลื่อย ขวาน มีด ควรมีติดรถ
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง
- น้ำตกเขาใหญ่ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีอยู่ 3 ชั้น มีแอ่งน้ำใหญ่มากมายตลอดธารน้ำ
- น้ำตกน้ำดิบใหญ่ อยู่ทางตอนล่างของน้ำตกเขาใหญ่ สภาพป่าในบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก
- น้ำตกจ๊อกกระดิ่น มีน้ำไหลตลอดปี มีชั้นเดียวสูงประมาณ 30 เมตร
- น้ำตกปิเต็ง มีน้ำไหลตลอดปี มีแอ่งน้ำน้อยใหญ่จำนวนมาก อากาศเย็นสบาย สภาพผืนป่าอุดมสมบูรณ์มาก
- เนินเสาธง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบตัว ทั้งในประเทศไทยและสหภาพพม่า ซึ่งหากวันไหนฟ้าเปิดสามารถมองเห็นท้องทะเลอันดามันในอ่าวเมาะตะมะของสหภาพพม่าได้ด้วยตาเปล่า
- น้ำตกหวยเหมือง มีน้ำไหลตลอดปี พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตสัมปทานทำเหมืองแร่
- จุดชมทิวทัศน์เขาขาด สามารถมองเห็นทิวทัศน์ น้ำตกจ๊อกกระดิ่น หมู่บ้านอีต่อง หมู่บ้านหินกองเนินเสาธง และยามเมื่อท้องฟ้าเปิดจะมองเห็นทะเลอันดามันได้ด้วยตาเปล่า
- จุดชมทิวทัศน์ กม. 15 สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเขื่อนเขาแหลม
ABOUT THE AUTHOR
ธ
ธนกฤต นรพันธุ์พงศ์
ภาพโดย : ธีรวิทย์ โตจันทร์/ธนกฤต นรพันธุ์พงศ์นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2549
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)