โค้งอันตราย
คมนาคม ล้วนๆ
จั่วหัวเอาไว้อย่างนั้น หนนี้เราจะคุยกันแค่เรื่องของ คมนาคม อย่างเดียว เนื้อที่ก็แทบจะไม่พอแล้ว
เพราะแค่กรมขนส่งทางบกอย่างเดียว ก็เขียนคอลัมน์นี้ได้สบายๆ ทั้งคอลัมน์
เอาเป็นว่าหนนี้ที่เกิดความสนใจขึ้นมา ก็เพราะจดหมายเปิดผนึกของกระทรวงคมนาคมเองนั่นแหละ
เรื่องของ การบริหารการแก้ไขปัญหาของกระทรวงคมนาคม ที่เอามาซ่อนอยู่ในเวบไซท์ แบบเหนียม
อายอย่างไรพิกล
ที่จริงก็เหมือนกับการออกสมุดปกขาว ชี้แจงปัญหา และการดำเนินงานในเรื่องที่เป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง
กันทุกบ่อย แบบว่าประมาณห้าร้อยเรื่องเห็นจะได้ แต่ที่นี่ไม่ตั้งใจจะหยิกยกเอามาเขียนทุกอย่าง ว่ากัน
เป็นเรื่องๆ ก็แล้วกัน
เรื่องแรก ก็ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ อันนี้ การรถไฟฟ้าเป็นเจ้าภาพ ตกลงว่า
จะรับงานการก่อสร้างงานโยธา มูลค่าแค่ 31,217 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนการเดินรถ จัดหาตัวรถไฟฟ้า
และการบริหารจัดการ จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน เพื่อหลวงจะได้ลดภาระการลงทุน
ส่วนว่าเรื่องที่จะได้ลงมือก่อสร้างเมื่อไรนั้น ตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ แค่
9,314 ล้านบาท ที่ชาวบ้านยังดื้อแพ่งกันอยู่ แถมยังไม่ลงมือคุยเรื่องการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน และ
อีกสารพัดเรื่อง เชื่อได้ว่ากว่าจะหยิบปากกามาเซ็นกันได้ เป็นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แน่นอน
ส่วนอีกสายหนึ่ง เป็นโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต การรถไฟ เป็นเจ้า
ภาพ ภายในวงเงิน 59,888 ล้านบาท อันนี้เห็นเป็นรูปร่างแล้ว เพราะหลวงรับปากจะควักกระเป๋าแต่ผู้
เดียว ถ้ารายงานต่างๆ เสร็จแล้ว การรถไฟ สามารถประกวดราคาได้ทันที
ส่วนช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 10 กิโลเมตร อันนั้นต้องคอยวงเงินงบ
ประมาณของสายสีแดงก่อน ว่าจะเหลือมากน้อยขนาดไหน เพราะรายการนี้ต้องใช้เงินอีก 3,886 ล้านบาท
แล้วอยู่ๆ การรถไฟ ก็ถูกทุเรียนหล่นทับเท้า ในเมื่อ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ยินดีให้ใช้
เงินจาก กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้ในการก่อสร้างระบบขนส่งทางราง อันจะทำให้สามารถก่อสร้างได้ทันทีที่ออกแบบเสร็จ โดยไม่ต้องรอเงินกู้
เอ แล้วมันจะถูกหรือครับ พี่เอาเงินจากค่าน้ำมันที่พวกกระผมเติมจากปั๊ม แล้วเอาไปสร้างรถไฟฟ้า แทนที่จะรีบเอาเงินก้อนนี้ ไปสร้างถนนหนทางเพิ่มเติม หรือเพิ่มทางลดจุดตัดต่าง เพื่อให้การจราจรคล่องตัวมากกว่านี้ แต่พูดไปก็เท่านั้น เพราะท่านอนุมัติไปเรียบร้อยโรงเรียนพลังงานแล้ว
งานนี้ประมาณการว่า หลังจากทำเสร็จในปี 2555 จะมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการ ประมาณ 661,700 คน/วัน เพราะแถบนั้นมีทั้ง ม. ธรรมศาสตร์ ม. กรุงเทพ แถม เอไอที อีก
อันการมองโลกในแง่ดีนั้น มันก็ดีอยู่หรอกนะครับ ท่านข้ารัฐการทั้งหลาย แต่ลองดูตอนนี้ก่อนก็ได้ ว่า
บริเวณสถานีชุมทางบางซื่อน่ะ มันมีทางเข้า/ออกได้อยู่ 3 ทาง ทางหนึ่งมาทางถนนเทอดดำริ เป็นถนน
เลนเดียว ผ่านหน้าสถานีบางซื่อเก่า อีกทางหนึ่งมาทางเลียบคลองเปรม ผ่านหน้าตลาดบางซื่อ 2 เลน
ลอดสะพานสูง เข้ามา อีกทางหนึ่งมาจากบางโพธิ์ ข้ามสะพานสูงเข้ามา เลนเดียว เรียกว่าทั้ง 3 ทางนี้ มุ่งมาที่สถานีชุมทางบางซื่อโดยตรง
อีทีนี้อีกฝั่งหนึ่งล่ะ ก็ติดสถานีขนส่งสินค้าพหลโยธิน ไม่สามารถเปิดเป็นทางสาธารณะได้ อีกทางหนึ่งก็ติดชุมชน กม. 11 ยังเป็นโลคัลโรดส่วนต่อไม่ได้
แล้วท่านก็เอาศูนย์กลางของรถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟชานเมืองสายสีแดง มารวมกับสถานีชุมทางบาง
ซื่อ ต้นทางสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน หวังจะให้คนเดินทางต่อกันเป็นทอดไปหรือ ไม่คิดว่าคนที่จะออกจาก
บางซื่อ ออกได้แค่ 3 ทางที่ว่านั่นเอง ไม่มีทางเลือก บังคับให้ต้องใช้สายอื่นต่อกันไป สนุกดีครับ
อีกเรื่องที่อยากเอามาเล่าเห็นจะเป็น AIRPORT LINK ที่ท่านเรียกภาษาไทยว่า สถานีรับส่งผู้โดยสาร
อากาศยานในเมือง แถมมีเวบไซท์ ของตัวเองแล้ว www.airportraillink.com ที่มีแต่ภาษาต่าง
ประเทศ แถมไม่ให้ความรู้เรื่องของสถานีเลย ไม่เป็นไร พวกกระผมมีหน้าที่สืบเสาะ ค้นหา อยู่แล้ว
หาที่นี่ไม่ได้ หาที่อื่นก็ได้
งานนี้ การรถไฟ เป็นเจ้าภาพ ตอนนี้ก็เตรียมกู้เงินเกือบ หมื่นเก้าพันล้าน เอาไปจ่ายค่าก่อสร้าง และ
เตรียมกู้อีกเกือบหมื่นล้าน เตรียมจ่ายส่วนที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ
ส่วนเรื่องจะขยายอายุสัญญาต่อไปอีกนั้น ย่อมเป็นเรื่องแน่นอน เพียงแต่ว่าหลักการ และข้อกฎหมาย
เอื้อได้สักเท่าใด
แต่เก่งนะครับ รัฐวิสาหกิจ ที่ยังไม่เริ่มดำเนินงาน เปิดปีงบประมาณมา คำนวณดูแล้วขาดทุนทันที
เกือบๆ หมื่นล้าน เพราะถือว่าเป็นบริการสาธารณะ ยังสามารถเซ็นสัญญาเงินกู้งานอื่นได้อีกตั้งเยอะ ก็
ไม่ทราบว่าท่านบริหารประเทศไทย กันยังไง
เอาเป็นว่า ตอนนี้งานก่อสร้างยังไปไม่ถึงไหน ปิดถนนกันวุ่นวาย งานฐานรากก็ยังไม่เรียบร้อย บางส่วน
ก็เริ่มขึ้นโครง ยุ่งกันไปหมด ส่วนเส้นทางรถไฟก็ยังเห็นเป็นแนวตอม่อ ที่ยังไม่เสร็จอีกเหมือนกัน มองดู
คร่าวๆ อีกสัก 2 ปี คงจะเรียบร้อย
แต่ท่านผู้ชมที่เคารพ วางทางยังไม่เสร็จ ยังไม่ได้เริ่มวางราง รถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชุด
แรก จำนวน 8 คัน เดินทางมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมานี่เอง
กรุณานึกภาพงานก่อสร้างที่ยังคาราคาซังตามไปด้วยนะครับ
รถไฟฟ้าด่วนที่มานี้ เป็นรถตระกูลเดียวกับรถไฟฟ้าด่วนที่วิ่งเข้าสนามบินฮีธโรว์ ในกรุงลอนดอน
ประเทศอังกฤษ ผลิตโดย ซีเมนส์ เอจี เรียกว่าไม่ใช่ธรรมดาเชียวละ
แต่ท่านผู้ชมที่เคารพ ตอนนี้ก็ยังไม่มีที่เก็บเจ้ารถไฟฟ้าด่วนที่ว่านี่ เพราะโรงรถที่สถานีคลองตัน ยังสร้างไม่เสร็จ ต้องจอดตากแดดตากฝนไปก่อน อีกสัก 6 เดือน
โอ้ ยอดมากทีเดียวครับจอร์จ
รถไฟฟ้าด่วนนี้ วิ่งตรงระหว่างสถานีมักกะสัน/อโศก ถึง สถานีสุวรรณภูมิ ภายในเวลา 15 นาที โดยจะ
นำมาพ่วงต่อกันเป็นแบบ 4 คัน/ชุด ความจุผู้โดยสาร 170 ที่นั่ง ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. แต่จะมี
รถหวานเย็นวิ่งด้วย จอดทุกสถานี ใช้เวลาประมาณ 28 นาที
รถส่วนที่เหลือ ทั้ง EXPRESS และ CITY LINE จะทยอยเดินทางตามมาในเดือนธันวาคม 2550 และ
มกราคม 2551 ซึ่งถึงเวลานั้นก็ยังไม่ทราบว่า สถานที่จอดรถเหล่านี้จะสร้างเสร็จหรือยังก็ไม่ทราบครับ
ท่านผู้ชม
ส่วนเรื่องท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงเหมือนกัน ทั้งเรื่องลู่วิ่งชำรุด หลังคาอาคารผู้โดยสารชำรุด ปัญหาดิวทีฟรี ปัญหาคลังสินค้า ปัญหาเรื่องเสียงรอบสนามบิน ปัญหาการใช้งานระบบ AIMS และ ACCS กับอีกห้าร้อยเรื่องของที่นั่น ฝากไว้ก่อนนะครับ มีโอกาสจะนำเสนอกันอย่างเต็มรูปแบบเชียวละ
ขอแสดงความนับถือ
ABOUT THE AUTHOR
ม
มือบ๊วย
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : โค้งอันตราย