ชีวิตคือความรื่นรมย์
สวัสดีปีใหม่
กล่าวกันว่าก่อนที่คนไทยในแหลมทอง จะใช้คำทักทายกันว่า "สวัสดี" นั้น เรามีคำทักทายกันว่า
"จะไปไหน"-"ไปไหนมา" (แสดงถึงความเอาใจใส่กันและกัน)-"กินข้าวหรือยัง"-(เป็นห่วงเป็นใย
เรื่องปากเรื่องท้อง ตามประสาคนไทยใจดีมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่) หรือ "สบายดีไหม" (เป็นห่วง
เป็นใยเรื่องสุขภาพ) มีบ้างเหมือนกันที่ยกลมฟ้าอากาศมานำสนทนา เช่น "วันนี้แดดดีนะ"
"วันนี้เมฆครึ้มเหมือนฝนจะตกนะ" หรือ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงเป็นว่า "วันนี้รถติดบรรลัยอีกสิท่า"
แต่หลังจากพระยาอุปกิตศิลปสาร (ผู้แต่งตำราหลักภาษาไทย แบ่งหมวดการใช้อักษรเป็น
อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์และฉันทลักษณ์) คิดปรับเอาคำบาลี "โสตถิ" หรือสันสกฤต
"สวัสติ" มาปรับเป็นไทยว่า "สวัสดี" มาลองให้นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ลองใช้ประมาณปีพุทธศักราช 2468 มาแล้ว คนไทยก็ถือเอา "สวัสดี" เป็นคำที่ทักทายกัน
ด้วยความสนิทปากสนิทใจด้วยดีตลอดมา
นอกจากนั้น หลังกระแสจากลมตะวันตกพัดกระพือเข้ามา หรืออารยธรรมตะวันตกไหลบ่าเข้า
มาในเมืองไทยมากขึ้น นักเรียนนอก หรือพวกที่อ่านหนังสือฝรั่งแตก ก็ปรับคำ GOOD MORNING-
GOOD AFTERNOON-GOOD EVENING-GOOD NIGHT มาปรับ หรือแปลเป็น อรุณสวัสดิ์
สายัณห์สวัสดิ์ ราตรีสวัสดิ์ ตามรอยฝรั่งมาใช้ในเรื่องแปล เรื่องแต่ง มากขึ้น
แต่อาจจะดูเก๋ไก๋ หรือฟังพิลึกเกินไป หรือคนไทยขี้เกียจแยกเวลาเหมือนสมัยเก่าที่เป็นเช้า-สาย-บ่าย-
เย็น-ค่ำ-ดึก-ค่อนรุ่ง-สาง-ทุ่ม-ยาม-ฯลฯ หรืออย่างไรไม่แน่ การแบ่งเวลาการทักทายแบบฝรั่ง จึงไม่
เป็นที่นิยมในสังคมไทย (อย่างที่นักวิชาการผู้ติดคราบตะวันตกใช้ว่า "ไม่เวิร์ค") สังคมไทยจึงเหลือแต่
"สวัสดี" คำเดียว ถูกใจคนไทยแท้ๆ เทียว
คำ "สวัสดี" จึงแพร่หลายเป็นที่นิยม ตั้งแต่คุณหนูที่ถูกสอนให้ร้องว่า "สวัสดีเธอจ๋า เรามาพบกัน
เธอกับฉันสวัสดี" จนกระทั่งเพลงที่ครูแก้ว อัจฉริยะกุล กวีคู่ใจครูเอื้อ สุนทรสนาน "ทำนองเอื้อ
เนื้อแก้ว" ช่วยกันแต่งให้ร้องกันสดๆ ในตอนเถลิงศก ปีหนึ่ง ทั้งเนื้อร้องและทำนอง ตลอดจังหวะ
รำวง ทำให้ผู้ที่ได้ยินอยากลุกออกมารำวงยิ่งนัก ที่ว่า
วันนี้วันดีปีใหม่ ท้องฟ้าแจ่มใสพาใจสุขสันต์ ยิ้มให้กันในวันปีใหม่ โกรธเคืองเรื่องอะไรจงอภัยให้กัน/
สุดสิ้นกันทีปีเก่า เรื่องทุกข์เรื่องเศร้าอย่าเขลาคิดมัน ตั้งต้นชีวิตกันใหม่ ให้มันสดใสสุขใหม่ทั่วกัน
(เฮๆๆๆๆ...) สุขใหม่ทั่วกัน
รื่นเริงเถลิงศกใหม่ (ซ้ำ) สุขจิตสุขใจทำบุญร่วมกัน ทำบุญกันตามประเพณี กุศลราศีบรรเจิดเฉิดฉัน พี่น้องร่วมชาติเดียวกัน (ซ้ำ) ขอให้สุขสันต์ร่วมกันเอย (น็อย ทิงน็องน็อย น้อย หน่อย หน็อย หน่อย ทิง น็อง หน่อย)
รวมทั้งอีกหลายเพลง ทั้งคณะสุนทราภรณ์ และครูเพลงอื่นๆ เช่น ครูสง่า อารัมภีร ศิลปินแห่งชาติ
แต่งไว้ สมบัติชาติอีกหลายเพลง
แต่ถึงกระนั้น ประชาชนชาวไทยยังรู้สึกว่า มีเพลงปีใหม่ที่แสนชื่นเย็นเป็นพิเศษ เป็นเพลงที่วิเศษ
และเป็นสิริมงคลที่ได้ฟังเสมือนได้รับพระราชทานพรปีใหม่จากพระโอษฐ์ ทุกปีที่ได้ฟังเพลง
พระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าล้นกระหม่อม ที่คนไทยจงรักเทิดทูนยิ่งใคร และสิ่งใดในโลก เมื่อ
เทศกาลปีใหม่เวียนมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคมมาถึง หลังเสียงพระสวดชยันโต...
เสียงประทัดและพลุดังลั่น แสงไฟจากพลุ และดอกไม้ไฟสว่างโพลง ทั่วท้องฟ้างามตาให้คน
ชะเง้อชม ที่โน่น ที่นี่ เสียงไชโยลั่นในงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ กังวานมาจากทุกทิศทุกทาง
เราจะได้ยินเสียงเพลงอันไพเราะเยือกเย็นลอยมากับลมหนาว พร้อมดนตรีอันไพเราะดังนี้...
"สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์ สวัสดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี/ข้าวิง
วอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี โปรดประทานพรโดยปรานี ขอชาวไทยล้วนมีโชคชัย...
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมสุขสมฤทัย ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ขอชาวไทยจง
สวัสดี/สวัสดีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้ ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่
เทอญ"
ฟังแล้วแสนจะสดชื่นรื่นรมย์ใจ เยือกเย็นเหมือนเพลงร้องอวยพรเก่าๆ ที่คุณหลวงวิจิตรวาทการ
แต่งไว้ใช้กันได้ในทุกๆ กาล
"ให้สุขใจเยือกเย็น เหมือนดังน้ำในคงคา ให้สุขกายสุขตา เหมือนดังดวงจันทร์วันเพ็ญ ให้สดชื่น
ดังดอกไม้ เมื่อยามน้ำค้างพร่างพรม ให้ทรัพย์สินอุดม และได้รับแต่ความร่มเย็น"
นับเป็นเพลงอมตะที่เข้ากับบรรยากาศไทยๆ แท้ๆ ไม่ว่าผู้ใหญ่ หรือผู้เยาว์ ซึ่งเมื่อได้ยินใครๆ ที่ร้อง
ซ้ำไปมาสัก 2-3 เที่ยว ก็ร้อง และจำได้ ไม่แพ้เพลง HAPPY BIRTHDAY ของฝรั่งเลย
ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ เป็นช่วงที่ชาวไทยพร้อมใจกันสวมเสื้อเหลืองน้อมใจจงรักภักดี ขอพร และ
ชักชวนกันทำความดี ถวายเป็นราชพลี แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน 2 ปีมหามงคล ทรง
ครองสิริราชย์ 60 ปี และเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยเฉพาะวาระที่เสด็จเข้ารับถวาย
การรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อหายจากอาการพระประชวร และทรงสวมฉลองพระองค์สีชมพู
ทรงพระดำเนินด้วยพระองค์เองได้ ประชาชนต่างปลาบปลื้มเฝ้ารับและส่งเสด็จกลับพระราชวัง
จิตรลดา นอกจากเสียงร้อง "ทรงพระเจริญ" ๆๆๆๆ พร้อมน้ำตาแห่งความตื้นตัน ผู้เขียนอยาก
เขียนบทกวีบรรยายความรู้สึกต่างๆ เหล่านั้น
แต่เมื่อได้อ่าน "แทบธุลีบาท" ของ อัคนี หฤทัย กวีเจ้าของรางวัลกองทุนอายุมงคลปี 2548 แล้ว
ก็เลยขออนุญาตนำมาแทนความรู้สึกชาวไทยทั้งหลาย ดังนี้
(1) ได้เวลาที่จะส่งเสด็จกลับ/เมื่อคืนนี้นอนไม่หลับจนรุ่งสาง/วางขอ
จองที่อยู่ริมทาง/คอยพระบาทยาตรย่างมากลางตา/แต่ละคนแรมคืนมาเฝ้าไข้/แต่ละใจห่วงรัก
เป็นหนักหนา/เพียงรู้ว่าได้มาใกล้ใจก็มา/รู้เพียงว่า-ประสาซื่อนี่คือใจ/ใจซึ่งจงรักจนนิรันดร์/และ
จะเป็นเช่นนั้นชั่วกาลสมัย/แต่ละคน-แต่ละคนถามใคร/ก็จะได้คำตอบจากดวงตา/จนฉลอง
พระองค์สีชมพูใส/ค่อยเคลื่อนค่อยไหวอยู่เบื้องหน้า/เพียงหัตถ์ยกโบกเบาก็ปรีดา/ด้วยรู้ว่า
ทรงคลายคืนพระอาการ
(2) พระทูลกระหม่อมแก้ว/ปีต่อปีแล้วทรงกรำกร้าน/อีกกี่ปีที่พระองค์จะทรงงาน/รินหยาดสายธารน้ำ
พระทัย/ห่วงใยไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน/มิรู้สิ้นกระแสที่ฉ่ำใส/รินผ่านแผ่นดิน ณ ย่านใด/ก็ซึมซับได้ตลอดมา/
ครองแผ่นดินโดยธรรมอันล้ำลึก/ให้รู้สึกและให้โสมนัสา/จากศิริราช-เสื้อเหลืองเต็มลานตา/ให้รู้ว่าล้วนผู้รักภูบาล/...ส่งเสด็จด้วยใจอันจงรัก/ถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน/ขอทรงพระเกษมสำราญ/ด้วยบุญญาธิการพระจักรี
ในโอกาสขึ้นปีใหม่ ผู้เขียนขอส่งใจมาถึงท่านผู้อ่านดังนี้
สวัสดีปีใหม่ให้ทุกท่าน ณ ปีกาลอันมงคลดลสุขศรี ครบแปดสิบพรรษาพระ
ภูบดี กราบพระศรีรัตนตรัยได้บันดล ให้พระราชจักรีวงศ์ทรงสวัสดิ์ เทพพิพัฒน์ชาติไทยไพบูลย์ผล คนทั้งโลกโชคดีมีมงคล ทุกชาติชนสุขสันต์นิรันดร์เทอญ @
ABOUT THE AUTHOR
ป
ประยอม
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : ชีวิตคือความรื่นรมย์