มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ มหกรรมยานยนต์เจนีวา
มีรถรุ่นใหม่ๆ ให้ชมเป็นพันคัน ต่างสีต่างสัน สีแดง สีขาว สีเหลือง สีฟ้า สีดำ สีเงิน สีครีม สีชมพู สีน้ำเงิน ดูลานตาไปหมด แต่สรุปได้อย่างง่ายๆ ว่า มีอยู่เพียงสีเดียวที่มีความหมาย และทรงความสำคัญที่สุดในมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งนี้ จะเป็นสีใดเล่าหากไม่ใช่ GREEN หรือ สีเขียว เป็น "สีเขียว" ซึ่งมีนัยยะว่า สะอาด และไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มนุษยชาติกำลังผจญอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะปัญหา "โลกร้อน" บีบบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญๆ ทุกรายต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ และอย่างรวดเร็วฉับพลัน ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายที่เคยหากินกับรถขนาดใหญ่ และบริโภคเชื้อเพลิงจุกว่าอูฐกินน้ำ ต้องหันมาใส่ใจกับรถที่มีขนาดเล็กลงเบาลง และติดตั้งเครื่องยนต์ที่กินเชื้อเพลิงน้อยลง และปล่อยไอเสียน้อยลง เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเร่งรีบ ศัพท์แสงใหม่ๆ ที่ไม่เคยกล่าวขานกันมาก่อนในวงการรถยนต์ กลายเป็นถ้อยคำที่ได้ยินกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน ตัวอย่าง คือ ระบบขับเคลื่อนแบบพันทาง หรือ HYBRID DRIVE เซลล์เชื้อเพลิง หรือ FUEL CELL และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน
แนวโน้มนี้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 77 เมื่อต้นปี 2007 และตอกย้ำอย่างหนักแน่นในงานแสดงรถยนต์ระดับ "อินเตอร์" 2 ครั้งถัดมา คือ มหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งที่ 62 เมื่อเดือนกันยายน 2007 และมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2008
ปีนี้เราเดินทางไปเยือนนครเจนีวาเป็นคณะใหญ่ เพราะนอกจากทีมงาน "ฮาร์ดคอร์" จำนวนครึ่งโหลคนที่ต้องเดินทางไปทำข่าวตามหน้าที่ที่ขาดไม่ได้แล้ว เรายังมี "ซอฟท์คอร์" อีกเกือบ 10 คนร่วมเดินทางไปด้วย กลุ่มหลังนี้ คือ บรรดาผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของ "สื่อสากล" ซึ่งไม่มีหน้าที่โดยตรง รวมทั้งคนพิเศษอีก 2 คน ที่ร่วมกิจกรรมสำคัญในงาน THAILAND INTERNATIONAL MOTOR EXPO หรือ มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 24 และได้รับเชิญให้ร่วมขบวนไปกับคณะเราด้วย คือ จตุพร เจริญจิตร หรือ "น้องแป้ง" ของค่าย มิตซูบิชิ ผู้ได้รับเสียงโหวทจากผู้ชมงานให้เป็น POPULAR PRETTY หรือ "พริททียอดนิยม" และ เมธี โตสมบุญ 1 ในบรรดาผู้ออกเสียงโหวทจำนวนพันจำนวนหมื่น และเป็นผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลใหญ่ คณะของเราไปพบไปเห็นอะไรกันมาที่เจนีวา พลิกไปอ่านได้เลยครับใน 14 หน้าถัดจากนี้
ฮอลล์ 1
เอาดี เอ 4 อาวันท์
ค่าย "สี่ห่วง" ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว เอาดี เอ 4 อาวันท์ (AUDI A4 AVANT) รถตรวจการณ์ขนาดเล็ก
กะทัดรัด ที่ตกแต่งสุดหรู และเพียบไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และความปลอดภัย รวมทั้งระบบเตือนเมื่อรถทำท่าว่าจะวิ่งหลุดเลน แบ่งการตกแต่ง และอุปกรณ์เป็น 3 ระดับ กำกับด้วยรหัส ATTRACTION AMBITION และ AMBIANTE
เชฟโรเลต์ อาวีโอ 3 ประตู
ครึ่งปีเต็มหลังจากเปิดตัวรถ เชฟโรเลต์ อาวีโอ (CHEVROLET AVEO) รุ่นใหม่ ในตัวถัง 5 ประตูแฮทช์
แบค ที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนปีกลาย ยักษ์ใหญ่ของเมืองมะกันก็เพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้าของรถอนุกรมนี้ โดยใช้งานที่เจนีวาเป็นที่เปิดตัว เชฟโรเลต์ อาวีโอ ตัวถัง 3 ประตูแฮทช์แบค ที่เห็นในภาพซ้ายมือ เชฟโรเลต์ จะใช้โรงงานในกรุงวอร์ซอร์ประเทศโปแลนด์เป็นที่ผลิตรถอนุกรมนี้ โดยตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ระดับ 100,000 คัน/ปี
ซาบ 9-เอกซ์ ไบโอ ไฮบริด
ซาบ 9-เอกซ์ ไบโอ ไฮบริด (SAAB 9-X BIO HYBRID) ผลงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ผลิตรถยนต์เมืองฟรีเซกซ์รายนี้ไม่ยอมน้อยหน้าใคร เมื่อพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ระดับพรีเมียม ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดในปี 2010 ในชื่อ ซาบ 9-1 (SAAB 9-1) เพื่อสู้กับรถระดับเดียวกันอย่าง บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-1 (BMW 1-SERIES) และ โวลโว ซี 30 (VOLVO C30) ตัวถัง 3 ประตูแฮทช์แบค ขนาด 4.424x1.826x1.382 ม. ใช้ระบบขับล้อหน้าแบบพันทาง โดยให้เครื่องยนต์เทอร์โบ DOHC 4 สูบเรียง 1,398 ซีซี 200 แรงม้า ที่สามารถใช้ E85 เป็นเชื้อเพลิง ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ความเร็วสูงสุดที่ทำได้ คือ 216 กม./ชม.
ฮันเด ไอ-โมด
ฮันเด ไอ-โมด (HYUNDAI I-MODE) จุดโฟคัสสายตาในบูธของยักษ์ใหญ่เมืองโสม เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถอเนกประสงค์ขนาด 6 ที่นั่ง ผลิตจากวัสดุมวลเบาและติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล 2.2 ลิตร 215 แรงม้า ที่ให้ไอพิษต่ำ สามารถลดปริมาณแกสคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 29
ฮันเด ไอ 30 บลู
ฮันเด ไอ 30 บลู (HYUNDAI I30 BLUE) รถแนวคิดที่ยักษ์ใหญ่เมืองโสมทำขึ้นเพื่ออวดเทคโนโลยีลดไอพิษ I-BLUE PACKAGE พัฒนาจากรถตลาด ฮันเด ไอ 30 (HYUNDAI I30) โดยเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นเครื่องดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 4 สูบเรียง 1.6 ลิตร 90 แรงม้า ที่ปรับแต่งเป็นพิเศษ และเปลี่ยนระบบเกียร์จากธรรมดา 5 จังหวะเป็น 6 จังหวะ ทำให้มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำแค่ 4.1 ลิตร/100 กม.และปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 106 กรัม/กม.
ลัมโบร์กินี กัลญาร์โด แอลพี 560-4
ลัมโบร์กินี กัลญาร์โด แอลพี 560-4 (LAMBORGHINI GALLARDO LP560-4) ผลงานชิ้นใหม่เอี่ยมแกะกล่องของผู้ผลิตรถสปอร์ทกระทิงดุ ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ พัฒนาจากรถ ลัมโบร์กินี กัลญาร์โด รุ่นสามัญซึ่งอยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี 2003 โดยปรับปรุงรายละเอียดในหลายๆ จุด รวมทั้งเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเครื่อง DOHC วี 10 สูบ 4,961 ซีซี 520 แรงม้า เป็นเครื่องแบบเดียวกันแต่ขยายความจุเป็น 5,204 ซีซี และกำลังสูงสุดพุ่งขึ้นเป็น 560 แรงม้า สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิต คือ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 3.7 วินาที ความเร็วสูงสุด 325 กม./ชม. ออกจำหน่ายแล้วในอิตาลี ด้วยค่าตัว 180,000 ยูโร หรือประมาณ 9.0 ล้านบาทไทย
ฮอลล์ 2
โฟล์คสวาเกน ชิรคโค
โฟล์คสวาเกน ชิรคโค (VOLKSWAGEN SCIROCCO) รถอนุกรมใหม่ล่าสุดของยักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ แต่ใช้ชื่อเก่า ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้เช่นกัน จะเริ่มจำหน่ายในยุโรปเดือนมิถุนายนนี้ โดยใช้โรงงานในโปรตุเกสเป็นที่ผลิต และตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ระดับ 28,000 คัน/ปี
สโกดา ซูเพิร์บ
ผู้ผลิตรถยนต์ของสาธารณรัฐเชค ซึ่งอยู่ในร่มเงาของ โฟล์คสวาเกน กรุพ ใช้เวทีหมุนขนาดยักษ์ในงานนี้เป็นที่เปิดตัวรถธง สโกดา ซูเพิร์บ (SKODA SUPERB) รุ่นที่สอง ซึ่งมีจุดแตกต่างอย่างสำคัญจากรถรุ่นแรกที่เริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2002 คือ เปลี่ยนตัวถังจาก 4 ประตูซาลูน เป็น 5 ประตูแฮทช์แบค นับเป็นรถยนต์แบบแรกของค่าย โฟล์คสวาเกน กรุพ ที่ติดตั้งชุดไฟหน้าอย่างที่เรียกในภาษาฝรั่งว่า ADAPTIVE FRONT LIGHTING SYSTEM ซึ่งสามารถปรับมุมของลำแสงให้สอดรับกับสภาพการขับขี่ที่เปลี่ยนแปลงไปได้โดยอัตโนมัติ
เซอัต โบกาเนกรา
ผู้ผลิตรถยนต์อีกรายหนึ่งซึ่งอยู่ในร่มเงาของ โฟล์คสวาเกน กรุพ ใช้เวทีหมุนขนาดยักษ์ในงานนี้เป็นที่เปิดตัว เซอัต โบกาเนกรา (SEAT BOCANEGRA) ที่เห็นในภาพขวามือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทคูเป ซึ่งเป็นต้นแบบของรถตลาด เซอัต อีบิซา (SEAT IBIZA) รุ่นที่ 4 ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดในปี 2009 แทนที่รถรุ่นปัจจุบันซึ่งอยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี 2002 ชื่อ BOCANEGRA เป็นภาษาสเปน แปลว่า BLACK MOUTH หรือ ปากดำ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของรถแนวคิดคันนี้ หากอยากเห็นว่าเมื่อกลายสภาพเป็นรถตลาดที่สมบูรณ์แล้วหน้าตาจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ก็ต้องอดใจรออีกครึ่งปี เพราะค่ายนี้ยืนยันแล้วว่าจะนำตัวจริงออกแสดงเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์ปารีสในเดือนตุลาคม
โอเพล เมอรีวา คอนเซพท์
เจ้าของเครื่องหมาย "สายฟ้า" ผู้ผลิตรถยนต์ในร่มเงาของยักษ์ใหญ่ จีเอม ใช้เวทีหมุนขนาดยักษ์ในงานนี้เป็นที่เปิดตัว โอเพล เมอรีวา คอนเซพท์ (OPEL MERIVA CONCEPT) รถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถตลาด โอเพล เมอรีวา รุ่นที่ 2 ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดในปี 2009 แทนที่รถรุ่นแรกที่อยู่ในตลาดมาตั้งแต่กลางปี 2003 วิจารณ์กันในยุโรปว่า จุดที่น่าสงสัยว่าจะคงอยู่หรือไม่ในรถตลาดก็คือประตูข้าง เป็นประตูที่เปิดแยกออกจากกันโดยมีเสาค้ำยันกลาง อย่างที่เรียกกันว่า ประตูตู้กับข้าว หรือประตูฆ่าตัวตาย และจะเปิดประตูบานหลังไม่ได้หากไม่เปิดบานหน้าเสียก่อน
มิตซูบิชิ พโรโทไทพ์-เอส
มิตซูบิชิ พโรโทไทพ์-เอส (MITSUBISHI PROTOTYPE-S) จุดดึงดูดสายตาในบูธของค่าย "สามเพชร" เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ (MITSUBISHI LANCER) ในตัวถัง 5 ประตูแฮทช์แบค ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดในยุโรปตอนปลายปี 2008 นี้ ตามหลังรถชื่อเดียวกันในตัวถัง 4 ประตูซีดาน ที่เริ่มจำหน่ายเมื่อปลายปี 2007 ในเอกสารประชาสัมพันธ์ที่แจกจ่ายให้แก่สื่อมวลชนที่ไปร่วมงาน ค่าย "สามเพชร" บอกว่า ในรอบปี 2007 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป สามารถจำหน่ายรถติดตรา "สามเพชร" ในตลาดยุโรปได้รวมทั้งสิ้น 227,630 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9 จากยอดขาย 208,896 คันในรอบปี 2006 โดยที่ตลาดใหญ่ที่สุด คือ เยอรมนี รองลงไป คือ อังกฤษ ยูเครน และอิตาลี
ปินินฟารีนา ซินเตซี
ปินินฟารีนา ซินเตซี (PININFARINA SINTESI) ผลงานชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งของยอดสำนักออกแบบเมืองมะกะโรนี ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทคูเปประตูปีกนก 4 ที่นั่ง ขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 4 ชุด ที่ติดตั้งอยู่กับล้อแต่ละล้อ โดยรับพลังไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิง 4 ชุด ตัวถังขนาด 4.794x1.988x1.298 ม. ซึ่งออกแบบได้อย่างยอดเยี่ยม และชวนมอง มีช่วงฐานล้อที่ยาวถึง 2.990 ม. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศแค่ 0.272
อีตัล ดีไซจ์น จูจาโร กัวรันตา
ยอดสำนักออกแบบอีกเจ้าหนึ่งของเมืองมะกะโรนี คือ อิตัล ดีไซจ์น จูจาโร ของพระอาจารย์ โจร์เกตโต จูจาโร (GIORGETTO GIUGIARO) หรือจะยอมน้อยหน้า คนรักรถจึงมีโอกาสได้ยลโฉม อีตัล ดีไซจ์น จูจาโร กัวรันตา (ITAL DESIGN GIUGIARO QUARANTA) ที่งานนี้เป็นครั้งแรกเช่นกัน เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ท 3+1 ที่นั่ง ที่ผสมผสานสมรรถนะความเร็วของรถสปอร์ทเข้ากับระบบขับแบบพันทางที่ใช้เชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ ระบบขับพันทางที่ว่านี้ ยอดสำนักออกแบบเมืองมะกะโรนีขอหยิบขอยืมมาจากยักษ์ใหญ่ของเมืองยุ่น คือ โตโยตา ชื่อ QUARANTA เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า 40 ที่เลือกใช้ชื่อนี้ก็เนื่องจากว่าปี 2008 เป็นปีที่สำนักออกแบบนี้มีอายุครบ 40 ปีพอดิบพอดี
ฮอลล์ 4
เรอโนลต์ เมกาน คูเป คอนเซพท์
เรอโนลต์ เมกาน คูเป คอนเซพท์ (RENAULT MEGANE COUPE CONCEPT) รถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถคูเป 4 ที่นั่ง ประตูปีกนก เป็นต้นแบบของรถคูเปแบบใหม่ที่ยักษ์ใหญ่ของเมืองน้ำหอมจะนำออกสู่ตลาดในปีหน้า แทนที่รถ เรอโนลต์ เมกาน 3 ประตูแฮทช์แบค ที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน และไม่ค่อยเป็นที่นิยมกันนัก
เรอโนลต์ โคเลโอส
ปรากฏตัวในลักษณะรถแนวคิดมาแล้วหลายงาน แต่ที่งานนี้ นับเป็นครั้งแรกที่คนรักรถในยุโรปได้มีโอกาสสัมผัส เรอโนลต์ โคเลโอส (RENAULT KOLEOS) ในฐานะรถตลาดอย่างสมบูรณ์ เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งแบบแรกในประวัติศาสตร์ของผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ จะออกตลาดในเดือนมิถุนายน โดยใช้โรงงานของ ซัมซุง (SAMSUNG) ในเกาหลีใต้เป็นที่ผลิต จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้ 2 ขนาด คือเครื่องดีเซล 2.0 ลิตร 175 แรงม้า และเครื่องเบนซิน 2.5 ลิตร 170 แรงม้า ของ นิสสัน
ฮอนดา แอคคอร์ด
รอกันมานาน ในที่สุดคนในยุโรปก็ได้สัมผัสตัวจริงของ ฮอนดา แอคคอร์ด (HONDA ACCORD) รุ่นใหม่ที่งานนี้ มีหน้าตาและรายละเอียดต่างไปจากรถชื่อเดียวกันในตลาดญี่ปุ่น และอเมริกาเหนือ มีตัวถังให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ 4 ประตูซีดาน ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายเดือนมิถุนายน และ 5 ประตูตรวจการณ์ ซึ่งจะตามมา 3 เดือนหลังจากนั้น ทั้งสองตัวถังจะมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้ 3 ขนาด คือ เครื่อง 2.0 ลิตร 156 แรงม้า เครื่อง 2.4 ลิตร 200 แรงม้า และเครื่องดีเซล 2.2 ลิตร 150 แรงม้า เทคโนโลยีใหม่อย่างหนึ่งที่ยักษ์รองเมืองยุ่นนำมาใช้ในรถรุ่นนี้ คือ ระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบควบคุมการทรงตัว ซึ่งทำให้ผู้ขับสามารถบังคับเลี้ยวได้อย่างแม่นยำในทุกสภาพการขับขี่
โตโยตา เออร์เบิน ครูเซอร์
โตโยตา เออร์บัน ครูเซอร์ (TOYOTA URBAN CRUISER) หนึ่งในบรรดารถตลาดรวม 2 อนุกรม ที่ยักษ์ใหญ่ของเมืองยุ่นนำออกแสดงในลักษณะ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดเล็ก ที่พัฒนาจากรถเก๋ง โตโยตา ยารีส (TOYOTA YARIS) และเป็นคู่ฝาคู่แฝดกับรถที่จำหน่ายในญี่ปุ่นในชื่อ โตโยตา อิสต์ (TOYOTA IST) จะเริ่มจำหน่ายในยุโรปในไตรมาสที่ 2 ของปี 2009
โตโยตา ไอคิว
โตโยตา ไอคิว (TOYOTA IQ) รถใหม่อีกแบบหนึ่งที่ยักษ์ใหญ่ของเมืองยุ่นนำออกอวดตัวเป็นครั้งแรกที่งานนี้ พัฒนาจากรถแนวคิดชื่อเดียวกันซึ่งอวดตัวมาแล้วหลายงาน เป็นรถยาว 2.985 ม. ที่นั่งได้ถึง 3+1 คน แต่มีตำแหน่งนั่งผิดแผกแปลกไปจากรถ 4 ที่นั่ง ทั่วๆ ไป คือ ผู้ใหญ่ 2 คน นั่งคู่กันบนเบาะหน้า อีก 1 คน นั่งบนเบาะหลัง และมีเด็กอีก 1 คน นั่งหลังผู้ขับ จะเริ่มจำหน่ายในยุโรปเดือนมกราคม 2009 โดยตั้งเป้าหมายการขายไว้ที่ระดับ 80,000 คัน/ปี และสนนราคาค่าตัว จะเริ่มต้นที่ระดับ 13,000 ยูโร
ซูซูกิ คอนเซพท์ เอ-สตาร์
ซูซูกิ คอนเซพท์ เอ-สตาร์ (SUZUKI CONCEPT A-STAR) จุดโฟคัสสายตาในบูธของยักษ์เล็กเมืองยุ่น
เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ 5 ประตูแฮทช์แบคขนาดซูเพอร์มีนี ซึ่งเป็นต้นแบบของรถตลาดอนุกรมใหม่ที่ค่ายนี้จะนำออกขายในยุโรปแทนที่รถรุ่นปัจจุบันซึ่งรู้จักกันในชื่อ ซูซูกิ อัลโต (SUZUKI ALTO) ตัวถังทรง 2 กล่อง ขนาด 3.580x1.680x1.400 ม. ไม่มีจุดเด่นสะดุดตาอะไร นอกจากดวงโคมไฟหน้าและแผงกระจังหน้าขนาดโตสะอกสะใจ คาดว่าจะเปลี่ยนฐานะเป็นรถตลาด และเริ่มจำหน่ายในยุโรปปีหน้า โดยติดตั้งเครื่องยนต์ขนาด 1.0 ลิตร ที่ปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่า 109 กรัม/กม. และใช้โรงงานของ MARUTI SUZUKI INDIA ในประเทศอินเดียเป็นที่ผลิต
ฮอลล์ 5
ฟอร์ด ฟิเอสตา
เป็นไปตามความคาดหมาย ยักษ์รอง ฟอร์ด เลือกใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว ฟอร์ด ฟิเอสตา (FORD FIESTA) รุ่นใหม่ ในลักษณะ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" โดยนำออกอวดตัวพร้อมๆ กัน ทั้งตัวถัง 3 ประตูแฮทช์แบค และตัวถัง 5 ประตูแฮทช์แบค หน้าตาและรูปทรงองค์เอว เห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมาก จากรถแนวคิด ฟอร์ด เวิร์ฟ (FORD VERVE) ที่ปรากฏตัวในงานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทเมื่อเดือนกันยายนปีกลาย ฟอร์ด บอกว่าจะมีการรถรถแบบนี้ใน 3 ภูมิภาค คือ ในยุโรป ในจีน และในอเมริกาเหนือ
ฟอร์ด คูกา
หลังจากปรากฏตัวในลักษณะรถแนวคิดมาแล้วหลายงาน ที่งานนี้ คนรักรถในยุโรปก็มีโอกาสสัมผัสตัวจริงของ ฟอร์ด คูกา (FORD KUGA) ในลักษณะของรถตลาดที่สมบูรณ์ นับเป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งติดเครื่องหมาย "วงรีสีฟ้า" แบบแรก ที่ออกแบบ และพัฒนาในยุโรป จะเริ่มจำหน่ายในเดือนมิถุนายนนี้ แทนที่รถกิจกรรมกลางแจ้งผลิตในสหรัฐอเมริกา คือ ฟอร์ด มาเวอริค (FORD MAVERICK) ซึ่งเมื่อปีกลายขายในยุโรปได้เพียง 2,553 คัน โดยใช้โรงงานในเยอรมนีเป็นที่ผลิต และตั้งเป้าการผลิตการขายไว้ที่ระดับ 45,000 คัน/ปี
มาซดา 2 3 ประตู
ผู้ผลิตรถยนต์ของเมืองยุ่นซึ่งมียักษ์รอง ฟอร์ด ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 33 เริ่มจำหน่ายรถ มาซดา 2 (MAZDA 2) รุ่นใหม่ในตัวถัง 5 ประตูแฮทช์แบค ในตลาดยุโรปเมื่อเดือนกันยายนปีกลาย และได้การต้อนรับที่น่าพึงพอใจ ที่งานนี้ ยักษ์เล็กของเมืองยุ่นเพิ่มทางเลือกให้แก่คนรักรถขนาดซูเพอร์มีนีอนุกรมนี้ โดยใช้เวทีขนาดยักษ์เปิดตัว มาซดา 2 ในตัวถัง 3 ประตูแฮทช์แบค ซึ่งคาดหมายกันว่าน่าจะขายดีกว่าตัวถังแบบแรก เพราะสนนราคาย่อมเยากว่า และออกลักษณะสปอร์ทมากกว่า จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้ถึง 4 ขนาด คือ เครื่อง DOHC 1,349 ซีซี 75 แรงม้า เครื่อง DOHC 1,349 ซีซี 86 แรงม้า เครื่อง DOHC 1,498 ซีซี 103 แรงม้า และเครื่องดีเซล 1,399 ซีซี 68 แรงม้า
ลันชา เดลตา
หลังจากลบชื่อนี้ออกจากบัญชีสินค้ามาแล้วเกือบหนึ่งทศวรรษ ที่สุด ผู้ผลิตรถยนต์ของเมืองมะกะโรนีก็คืนชีพให้แก่ชื่อนี้อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับนำรถ ลันชา เดลตา (LANCIA DELTA) ยุคใหม่ ออกอวดตัวเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นรถ 5 ประตูแฮทช์แบค ที่ค่ายนี้ออกแบบขึ้นใหม่ โดยขอหยิบขอยืมชิ้นส่วนบางชิ้นจากรถร่วมเครือ คือ เฟียต บราโว (FIAT BRAVO) รวมทั้งต้องบันทึกไว้ด้วยว่า จะมีรถพวงมาลัยขวาด้วย หลังจากที่ผู้ผลิตรถรายนี้เลิกผลิตรถพวงมาลัยขวามาแล้วตั้งแต่ปี 1994
อัลฟา โรเมโอ 8 ซี กมเปติซีโอเน สไปเดอร์
1 ในบรรดารถตลาดที่เรียกความสนใจได้มากที่สุดในงานนี้ คือ อัลฟา โรเมโอ 8 ซี กมเปติซีโอเน สไปเดอร์ (ALFA ROMEO 8C COMPETIZIONE) รถเปิดประทุนหุ่นสวยที่ดึงดูดผู้คนเข้าสู่บูธของผู้ผลิตรถยนต์ตระกูลสูงเมืองมะกะโรนีได้อย่างแน่นขนัดจนแทบไม่มีที่ยืน พัฒนาจากรถชื่อเดียวกันซึ่งเริ่มจำหน่ายในยุโรปเมือเดือนตุลาคมปีกลาย โดยเปลี่ยนจากหลังคาแข็งเป็นหลังคาเปิดประทุนแบบอ่อน จะเริ่มจำหน่ายในปีหน้า โดยจำกัดจำนวนผลิตไว้แค่ 500 คันไม่ขาดไม่เกิน
เฟียต ฟิโอรีโน
นอกจากรถ เฟียต 500 (FIAT 500) ที่ขายดิบขายดีจนผลิตไม่ทันขายแล้ว แม่เหล็กอีกแท่งหนึ่งที่ดึงดูดผู้คนให้หลั่งไหลเข้าสู่บูธของยักษ์ใหญ่เมืองมะกะโรนี คือ เฟียต ฟิโอรีโน (FIAT FIORINO) ในภาพขวามือ เป็นรถเพื่อการพาณิชย์อนุกรมใหม่ ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดเพื่อสู้กับรถประเภทเดียวกันของค่าย เปอโฌต์ ซีตรอง และเรอโนลต์ ตัวถังทรง 2 กล่อง ขนาด 3.960x1.710x1.720 ม. ออกแบบได้สวยงามชวนมองและมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศต่ำเพียง 0.31 กำลังจะออกจำหน่ายในเมืองมะกะโรนี โดยใช้โรงงานในประเทศตุรกีเป็นที่ผลิต และจะมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้อย่างจุใจถึง 4 ขนาด รวมทั้งเครื่องดีเซล 1.3 ลิตร 75 แรงม้า ที่กินน้ำมันแค่ 4.6 ลิตร/100 กม.
เกีย โซล คอนเซพท์
ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลขสองของเมืองโสม มีผลงานใหม่ออกแสดงในงานนี้หลายชิ้น แต่ที่เรียกร้องความสนใจได้มากที่สุด คือ เกีย โซล คอนเซพท์ (KIA SOUL CONCEPT) รถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ CROSSOVER SUV ขนาดเล็กกะทัดรัด ซึ่งทำให้ดูถึง 3 คัน คือ โซล ดีวา (SOUL DIVA) คันกลาง โซล เสอร์เชอร์ (SOUL SEARCHER) คันซ้าย และ โซล เบอร์เนอร์ (SOUL BURNER) คันขวา เพื่อแสดงให้เห็นว่า เมื่อกลายสภาพเป็นรถตลาด จะตกแต่งได้หลายลักษณะตามความต้องการผู้ซื้อ
ทาทา นาโน
เป็นรถยี่ห้อไม่ดังที่ไม่น่าจะได้รับความสนใจมากมายอะไร แต่เรื่องกับตรงกันข้าม ทาทา นาโน (TATA NANO) รถพันธุ์ภารตะในภาพขวามือ ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากสื่อมวลชน เพราะมีการกระพือข่าวก่อนหน้างานนี้ว่าเป็นรถค่าตัวย่อมเยาที่สุดในโลก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นอย่างนั้น เพราะรถตัวถังขนาด 3.10x1.50x1.60 ม. และติดตั้งเครื่องยนต์ 2 สูบเรียง 623 ซีซี 33 แรงม้า คันนี้ มีค่าตัวในอินเดีย แค่ 100,000 รูปี หรือเท่ากับประมาณ 85,000 บาทไทยเท่านั้นเอง
ดาซีอา ซานเดโร
คนรักรถในบ้านเราคงไม่คุ้นเคยกับชื่อ ดาซีอา (DACIA) กันสักเท่าไร จึงขอบอกเป็นเบื้องต้นเสียก่อนว่า เป็นชื่อยี่ห้อของรถผลิตในโรมาเนีย ที่ยักษ์ใหญ่ เรอโนลต์ เริ่มนำเข้าไปจำหน่ายในเมืองน้ำหอมและยุโรปตะวันตกอีกหลายประเทศเมื่อสามสี่ปีก่อน ปรากฏว่าขายดิบขายดีผิดความคาดหมาย เพราะราคาย่อมเยาและมีคุณภาพคุ้มค่าคุ้มราคา สำหรับ ดาซีอา ซานเดโร (DACIA SANDERO) ที่เห็นอยู่นี้ เป็นรถแบบใหม่ ที่ค่าย เรอโนลต์ กำลังจะนำไปขายในเมืองน้ำหอม เป็นรถ 5 ประตูแฮทช์แบค ขนาดเล็กกะทัดรัด ที่มีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้อย่างจุใจถึง 4 ขนาด ทั้งเครื่องเบนซินและดีเซล แถมมีสนนราคาค่าตัวที่ย่อมเยามาก คือ เริ่มต้นที่ระดับ 7,200 ยูโร หรือประมาณ 360,000 บาท
โรลล์ส-รอยศ์ แฟนทอม คูเป
ผู้ผลิตรถยนต์ระดับอัครฐานของเมืองผู้ดี ซึ่งปัจจุบันเจ้าของกำลังนั่งจิบเบียร์อยู่ในเยอรมนี ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว โรลล์ส-รอยศ์ แฟนทอม คูเป (ROLLS-ROYCE PHANTOM COUPE) รถ 2 ประตูคูเป ระดับสุดหรู น้ำหนักตัวรุ่นเฮฟวีเวท ซึ่งพัฒนาจากรถซาลูนชื่อเดียวกันที่เริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2003 นับเป็นรถคูเปแบบแรกของค่ายนี้ในช่วงเวลากว่า 30 ปี
มีนี จอห์น คูเพอร์ เวิร์ค
ยอดผู้ผลิตรถเล็กระดับอภิมหาอมตะของเมืองผู้ดี ซึ่งปัจจุบันเจ้าของก็กำลังนั่งจิบเบียร์อยู่ในเยอรมนีเช่นกัน ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถ มีนี โมเดลใหม่เอี่ยมแกะกล่อง คือ มีนี จอห์น คูเพอร์ เวิร์ค (MINI JOHN COOPER WORKS) ในภาพขวามือ เป็นรถโมเดลพิเศษที่เน้นสมรรถนะความเร็วในลักษณะของรถแข่ง โดยติดตั้งเครื่องยนต์ที่ปรับแต่งเป็นพิเศษโดยสำนัก จอห์น คูเพอร์ ซึ่งหากินกับผู้ผลิตรถยนต์ค่ายนี้มานมนาน เป็นเครื่องทวินเทอร์โบฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 4 สูบเรียง 1,598 ซีซี ที่ให้กำลังสูงถึง 211 แรงม้า
บีเอมดับเบิลยู เอม 3 กาบริโอเลต์
ตามหลัง บีเอมดับเบิลยู เอม 3 คูเป (BMW M3 COUPE) รุ่นใหม่ล่าสุด ที่เริ่มจำหน่ายในเยอรมนีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยอดผู้ผลิตรถระดับพรีเมียมบแรนด์ของเมืองเบียร์ ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว บีเอมดับเบิลยู เอม 3 กาบริโอเลต์ (BMW M3 CABRIOLET) รถเปิดประทุนซึ่งหาคู่ประกบยาก นับเป็นรถรุ่นที่ 3 และเป็นรถติดตั้งเครื่องยนต์ที่ออกแบบและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ในรถแข่ง ฟอร์มูลา1 ชิงแชมพ์โลกของทีม เซาเบร์ เอฟ 1 (SAUBER F1) เป็นเครื่องยนต์ DOHC วี 8 สูบ 3,999 ซีซี ที่ให้กำลังสูงถึง 420 แรงม้า ส่วนประทุนหลังคาที่ใช้ เป็นประทุนหลังคาแบบแข็ง ออกแบบเป็น 3 ชิ้น บังคับควบคุมโดยการกดปุ่ม โดยใช้เวลาเปิดปิดแต่ละครั้งแค่ 22 วินาที
โวลโว เอกซ์ซี 60
โวลโว เอกซ์ซี 60 (VOLVO XC60) รถตลาดอนุกรมใหม่ล่าสุดของผู้ผลิตรถยนต์หมายเลขหนึ่งเมืองฟรีเซกซ์ เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งประเภท CROSSOVER SUV คือ พัฒนาจากรถยนต์นั่ง และมีโครงสร้างตัวถังแบบรับแรงเหมือนรถยนต์นั่ง นับเป็นรถแบบแรกของค่ายนี้ที่ติดตั้งระบบ CITY SAFETY อันเป็นระบบความปลอดภัยที่ช่วยหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุขณะใช้ความเร็วต่ำ ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อขับที่ในเขตเมือง
เมร์เซเดส-เบนซ์ ซีแอลซี-คลาสส์
นอกจากเทคโนโลยีใหม่หลายชิ้นที่เกี่ยวเนื่องกับการประหยัดเชื้อเพลิงและลดปริมาณไอเสียแล้ว ผลงานใหม่ชิ้นหนึ่งของยักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในงานนี้ คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซีแอลซี-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ CLC-CLASS) รถคูเปขนาดเล็กกะทัดรัด ที่ค่ายนี้เพิ่งบรรจุเข้าสู่สายการผลิตแทนที่รถคูเปแบบเดิมซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ สปอร์ทคูเป(MERCEDES-BENZ C-CLASS SPORTCOUPE) จะเริ่มจำหน่ายในเดือนมิถุนายนนี้
รินสปีด สกูบา
รินสปีด สกูบา (RINSPEED SQUBA) ผลงานชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งของผู้ผลิตรถยนต์รายย่อยเมืองสวิส ซึ่งมีผลงานใหม่ออกแสดงเป็นประจำทุกๆ ปีในมหกรรมรถยนต์รายการนี้ ในอดีตรถที่วิ่งได้ในน้ำอาจมีได้แค่ในความฝันหรือในภาพยนตร์ แต่เดี๋ยวนี้ความฝันกลายเป็นความจริงไปเรียบร้อยแล้วด้วยรถคันนี้ เป็น AMPHIBIOUS VEHICLE หรือ รถครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 10 เมตร เมื่ออยู่ในน้ำจะวิ่งด้วยระบบไฟฟ้า โดยใช้ใบพัด 2 ใบ ที่ติดตั้งอยู่ตรงส่วนหน้ารถ และไฮโดรเจทอีก 2 ชุด ซึ่งติดตั้งอยู่ตรงส่วนท้าย เมื่อวิ่งอยู่บนบกก็ใช้ระบบไฟฟ้าเช่นกัน โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าอีกชุดหนึ่ง มอเตอร์ที่ว่านี้รับพลังไฟฟ้าจากแบทเตอรี ลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) จึงไร้ไอพิษใดๆ
เปอโฌต์ 308 เอสดับเบิลยู
เปอโฌต์ 308 เอสดับเบิลยู (PEUGEOT 308 SW) รถอนุกรม 308 ในตัวถังแบบที่สาม คือ ตัวถัง 5 ประตูตรวจการณ์ ขนาด 4.500x1.815x1.555 ม. ปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่งานนี้ จะเริ่มจำหน่ายในเมืองน้ำหอมฤดูร้อนปี 2008 นี้ โดยมีห้องโดยสารให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ แบบติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 2 แถว/5 ที่นั่ง และแบบเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว/7 ที่นั่ง เครื่องยนต์มีให้เลือกใช้อย่างจุใจถึง 8 ขนาด แยกเป็นเครื่องเบนซิน 5 ขนาด กับเครื่องดีเซล 3 ขนาด ระบบเกียร์ก็มีให้เลือกถึง 4 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 5 หรือ 6 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 4 หรือ 6 จังหวะ
เปอโฌต์ พาร์ทเนอร์ เทพี
รถตลาดอีกแบบหนึ่งที่ค่าย"สิงห์เผ่นนำออกอวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก"ที่งานนี้ คือ เปอโฌต์ พาร์ทเนอร์ เทพี (PEUGEOT PARTNER TEPEE) ในภาพซ้ายมือ เป็นรถรุ่นที่ 2 และเป็นรถอย่างที่เรียกกันในยุโรปว่า LEISURE ACTIVITY VEHICLE หรือบางทีก็เรียกว่าว่า MULTI PURPOSE VEHICLE หรือ MPV ค่าย "สิงห์เผ่น" นำรถประเภทนี้ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1996 และทำยอดผลิตยอดขายไปแล้วมากกว่า 570,000 คัน สำหรับรถรุ่นใหม่นี้ หน้าตารูปทรงองค์เอวและอุปกรณ์ตกแต่งดูทันสมัยและชวนให้ใช้กว่ารถรุ่นก่อนเป็นอย่างมาก ห้องโดยสารซึ่งกว้างขวางและมีพื้นที่เก็บของจุใจ ติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 2 แถว และเก้าอี้แถวหลังสามารถพับเก็บหรือถอดออกได้
ซีตรอง เซ แซง
ที่งานมหกรรมยานยนต์บรัสเซลส์ในเบลเยี่ยมเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ค่าย "จ่าโท" นำรถ ซีตรอง เซ แซง (CITROEN C5) รุ่นใหม่ ออกอวดตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก แต่มีเฉพาะตัวถัง 4 ประตู ซาลูน ที่งานนี้ ซีตรอง เซ แซง รุ่นใหม่ซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 2 ปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้มาพร้อมทั้งตัวถัง 4 ประตูซาลูน และตัวถัง 5 ประตูตรวจการณ์ ตัวถังทั้ง 2 แบบมีขนาดยาวกว่าและมีน้ำหนักตัวมากกว่ารถรุ่นเดิม เริ่มจำหน่ายแล้วในฝรั่งเศสเมื่อกลางเดือนมีนาคม โดยใช้โรงงานในฝรั่งเศสเป็นที่ผลิต คนของค่าย "จ่าโท" บอกกับผู้สื่อข่าวในงานว่า ตั้งเป้าขายรถรุ่นใหม่นี้ไว้ที่ระดับ 150,000 คัน คือมากกว่ารถรุ่นซึ่งเคยทำยอดขายสูงสุด 146,678 คัน เมื่อปี 2002
ซีตรอง แบร์แลงโก
รถตลาดอีกอนุกรมหนึ่งที่ค่าย "จ่าโท" นำออกอวดตัวเป็นครั้งแรกในงานนี้ คือ ซีตรอง แบร์แลงโก (CITROEN BERLINGO) ในภาพซ้ายมือ เช่นเดียวกับคู่ฝาคู่แฝด คือ เปอโฌต์ พาร์ทเนอร์ เทพี (PEUGEOT PARTNER TEPEE) ที่ผ่านตาไปแล้ว ผลงานชิ้นนี้ของค่าย "จ่าโท" เป็นรถอย่างที่เรียกกันในยุโรปว่า LEISURE ACTIVITY VEHICLE ซึ่งมีบริษัทรถยนต์เพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้นที่ผลิตจำหน่าย เป็นรถรุ่นที่ 2 ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่โดยขอหยิบขอยืมพแลทฟอร์มจากรถร่วมค่าย คือ ซีตรอง เซ กัตร์ ปิกัสโซ (CITROEN C4 PICASSO) กำลังจะออกจำหน่ายโดยมีตัวถังให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ แบบส่วนท้ายมีกระจกข้างอย่างคันที่เห็นในภาพ กับแบบส่วนท้ายเป็นผนังทึบไม่มีหน้าต่างกระจก
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ