นอกจากเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่คุ้นหูและร้องได้ก่อนเข้าโรงเรียนแล้ว เด็กชายลูกชาวนาโรงเรียนประชาบาลแห่งบ้านทุ่งในตำบลไกลปืนเที่ยงจะจำเพลงจากที่พี่ๆ กลับมาจากโรงเรียนร้องได้ขึ้นใจก็มี
แหลมทอง ไทยเข้าครองเป็นแดนไทย รักกันไว้เราชาติไทยในแดนทอง... หรือ รักเมืองไทย ชูชาติไทยทะนุบำรุงให้รุ่งเรืองสมเป็นเมืองของไทย เราชาวไทยเกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย หรือ เดิน-เดิน-เดิน อย่ายอมแพ้ใครชาติต้องเดิน เดิน-เดิน-เดินถ้าหวังก้าวหน้าเราต้องพากันเดิน เดิน-เดิน-เดินอย่าท้อทางไกลขอให้ไทยเจริญ...
จนกระทั่งโตขึ้นมาอีกหน่อยเราจึงรู้ว่าเพลงเหล่านั้นเรียกว่าเพลงปลุกใจ และคนที่แต่ง คือ นักประพันธ์ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่จารึกนามไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยนาม หลวงวิจิตรวาทการ
โตขึ้นมาได้เข้าโรงเรียนมัธยมที่อำเภอ ไปดูหนังกลางแปลงของบริษัทขายยา ก็จดจำเพลงที่มีบรรยากาศใกล้เคียงชีวิตพื้นบ้าน เช่นเสียงร้องของคำรณ สัมปุณณานนท์ว่า
เวลาเย็น เย็นจะค่ำอยู่แล้วหนา หนาวอุราด้วยน้ำค้างที่กลางหาว ยิ่งเย็นยิ่งค่ำน้ำค้างพราว อกใครจะหนาวเหมือนอกเรียม...
ตามมาด้วยเสียงโห่ดีเรๆๆๆๆ โอ้ช่างเป็นลำนำที่ซาบซึ้งกินใจนี่กระไร ต่อๆ มาเพลงของคำรณยังตรึงใจยิ่ง เช่น
คำคนประณามชายสามโบสถ์ทรามชั่วช้าสามานย์ ประณามหญิงสามผัวผ่าน เป็นคนจัณฑาลไม่หวังคบพา โอ้เอ๋ยอนิจจา โกนหัวฝากตัวในศาสนา แต่คนเขาว่าเจ็บใจให้คิดทุกที...
โอ้...ช่างบาดลึกกินใจลงไปถึงกระดูก จนอายุมากๆ ขึ้นจึงได้รู้ว่าเพลงอย่างนี้เขาเรียกว่าเพลงลูกทุ่ง และมีนักวิเคราะห์เรียกว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิตอีกชื่อหนึ่ง
ครั้นเริ่มวัยรุ่น ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนในจังหวัด เวลาที่ฝ่ายโฆษณาธนาคารออมสินออกไปฉายภาพยนตร์ เพื่อเรียกคนดูมาฟังโฆษณา ผู้เขียนก็ติดใจเสียงทุ้มนุ่มๆ เช่นเพลงที่ว่า
"เราเป็นคนแสนยากจนทนเศร้า อาภัพจริงเราคิดยิ่งเศร้าเหลือทน มิตรที่ดีหลบหนีหน้าทุกคน เพราะเรามันจนแสนจน ผู้คนเขาเมินหน้า ก่ายหน้าผากหักใจหวังได้หลับนอน แว่วได้ยินเสียงคนปากบอนย้อนเอ่ยเย้ยมา..."
ไม่เคยรู้หรอกว่าเพลงที่มีเสียงดนตรี แนวร้องและทำนองอย่างนี้ เขามาเรียกกันเมื่อกว่ากึ่งศตวรรษมานี้ว่าเพลงลูกกรุง และก็ติดใจเพลงแนวนี้มานานโดยไม่รู้ว่า กลุ่มที่ร้องเพลงเหล่านี้ เป็นใครบ้าง จนได้พบกับพี่คนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเครื่องโสตทัศนูปกรณ์ของฝ่ายศึกษาธิการของจังหวัดนครพนม พี่คนนั้น (เราเรียกแต่ว่าพี่เรือง) บอกให้เอาบุญว่า เพลงพวกนี้เป็นของคณะสุนทราภรณ์ (เดิมส่วนมากทำงานอยู่กรมโฆษณาการ แต่สมัยใหม่เขาเปลี่ยนเป็นกรมประชาสัมพันธ์...พี่เขาบอก) มันเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ทำให้ชอบและติดใจเพลงประเภทนี้อย่างฝังจิตฝังใจ และชอบเพลงนักร้องในดวงใจที่ชื่อ วินัย จุลบุษปะ และตามมาด้วย มัณฑนา โมรากุล และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ตราบจนวันนี้ แม้สองท่านเหล่านี้จะทิ้งไว้แต่เสน่ห์แห่งสำเนียงอันอมตะ
จนกระทั่งเริ่มหนุ่ม ได้ยินเพลงรักคุณเข้าแล้วเป็นไร รักจนคลั่งไคล้จริงจัง คุณรักใครหรือยัง ฉันใด
เออ รู้สึกว่าทันสมัยดีจริงๆ คือ พูดกันตรงไปตรงมา (ซึ่งตอนหลังจึงรู้ว่าคนที่ร้องชื่อ สุเทพ วงศ์กำแหง) หรือเพลง กากีเหมือนดอกไม้ และ คนธรรพ์รำพึง เด็กหนุ่มสาวปี 2475 เริ่มซาบซึ้งในทำนองเพลงไทยเก่าที่ ครูไสล ไกรเลิศ ประพันธ์ให้หนุ่มเสียงใสชื่อ ชรินทร์ งามเมือง ขับร้องกินใจยิ่งนัก โดยเฉพาะบางตอนที่ว่า
โอ้มาลีนี้ใครชมเล่น กลีบเจ้าเป็นรอยช้ำ ใครทำให้เจ้าเฉา หรือภุมราแกล้งมาภิรมย์ชมเจ้า มองแล้วพายิ่งเศร้า เจ้าเคยพริ้มเพรา กลับมาอับเฉาเพราะมือคนชม หรือ ...ชื่นใดหาใครจะสู้ ชื่นยอดชู้กากี กลิ่นเจ้านี่ยังอาวรณ์ ดวงใจจากพี่ไป หัวใจพี่แทบขาดรอน อาวรณ์เจ้าไม่วาย เพิ่มขึ้นอีก
ซึ่งเนื้อร้องไม่อ้อมค้อมเหมือนเพลงที่เรียกว่า น้องเอย เจ้าก็ไม่เคยเห็น อย่างในเพลงพระนิพนธ์เขมรไทรโยค ของ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือเพลงที่ใหม่ขึ้นมาอีก อย่างวรรคทองของกวีแก้ว-ครูแก้ว อัจฉริยยะกุล ใส่เนื้อให้ทำนองเพลงไทยที่ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ตัดตอนมาจาก ลาวคำหอม มาเป็น คำหอม ที่ว่า เจ้าเอย เจ้าคำหอม เจ้าเนื้อหอมหอมชวนใคร่ ต้องจิตเตือนใจ ยิ่งคิดไปชวนให้ตระกอง.. ทำไรรสนิยมที่เคยหลงใหลได้ปลื้มเสียงเสน่ห์ติดตรึงใจของ สมยศ ทัศนพันธ์ หลายๆ เพลงทั้ง มนต์เมืองเหนือ-น้องนางบ้านนา-กลิ่นโคลนสาปควาย-เซียมซีเสี่ยงรัก ฯลฯ" แม้ยังรักหลงใหลอยู่ กลับเพิ่มแนวเพลงหลากหลายมากขึ้น
พอเป็นหนุ่มเต็มที่ตอนอยู่มหาวิทยาลัยจึงทุ่มเทใจไปที่ โอ้เจ้าสุดสงวนน้องรัญจวนใจพี่ รักจักปองแสนสุดปองขวัญชีวี รักเจ้าแต่พี่สุดชม รักนวลสงวนต้องกลัวน้องจักตรม พี่หักอารมณ์ พี่ต้องสงวนนวลชมหักความรักข่มดวงใจ เพราะพี่รักจริงเจ้า กลัวน้องจะเศร้าเจ้าอย่าอาลัย พี่สงวนนวลเจ้าเจ้าเห็นใจ สงวนใจไว้ให้พี่นะแก้วตา สงวนตัวจนกว่าพี่มาชม
(เพลงชื่อสุดสงวนทั้งทำนองไทยเดิม และที่ครูแก้ว-ครูเอื้อ เอามาทำเป็นเพลงไทยสากลใหม่)
แล้วก็มารู้ว่าเพลงที่เอาทำนองไทยเดิมมาตัดเอาเฉพาะสองชั้น แล้วใส่เนื้อเต็มร้องอย่างนี้ ครูเพลงเอาวงดนตรีไทยเดิมของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งหนึ่งในคนเหล่านั้น คือ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติสาขาสังคีตศีตศิลป์ 2536 ก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วยไม่น้อย มาผสมกับดนตรีสากลของกรมประชาสัมพันธ์ (และส่วนหนึ่งก็คือ สุนทราภรณ์) มาบรรเลงร่วมกัน มีการแบ่งช่วงกันบรรเลง มีการล้อ การขัด การแบ่งเดี่ยว (โซโล) การบรรเลงร่วมกัน ในที่สุดคำที่เคยเรียกว่า สังคีตประยุกต์ ครั้งแรกๆ ก็มาลงตัวที่คำว่า สังคีตสัมพันธ์ ดูเหมาะเจาะยิ่งนัก
ทำให้เด็กบ้านทุ่งซึ่งหูไม่กระดิกเรื่องเพลงไทย นอกจากแอบได้ยินเสียงเพลงแว่วมาจากซอด้วงของครูบ้านนอกแห่งหมู่บ้านแล้วรู้สึกชอบอยากได้ยินไม่รู้แล้ว และเด็กคนนั้นซึ่งกลายเป็นหนุ่มยุคกลางเก่ากลางใหม่ (ผู้เขียน หมายถึง คนที่เริ่มวัยหนุ่มสาวประมาณ พุทธศตวรรษที่ 25 หรือ 2500 บวกลบ 10 ปี) ที่กำลังถูกลมอารยธรรมตะวันตกดึงไขว้เขวไป หันกลับมาพบว่าเพลงไทย (ที่เคยถูกบางคนเรียกทำนองเหยียดๆ ว่า เพลงไทยเดิม) นั้น เป็นสมบัติวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่นักปราชญ์ทางดนตรีของไทยสร้างสรรค์ไว้ให้เป็นสมบัติของชาติไทยสืบไป ไม่ถูกกลืนหายไปตามกระแสลมตะวันตกอันฉาบฉวยไปหมด
เราจึงได้มีเพลง ลาวดวงเดือน ที่มีท่วงทำนอง-ลีลา-จังหวะ และการประยุกต์เรียบเรียงเสียงประสานแสนสนุกทันอกทันใจแบบใหม่ ในนาม ดวงเดือน ที่มีหลากหลายท่วงทำนองหรือลีลา (ภาษาต่างด้าวที่คนไทยยังหาคำแทนไม่ถูกว่า เวอร์ชัน) ทันอกทันใจครึกครื้นดูทันสมัย ทั้งเพลงแปลงและตัดต่อให้ร้องคู่ได้งดงาม มีเพลง คำหอม ที่ปรับมาจาก ลาวคำหอม อันแสนสุดวิเศษทั้งจากท่านผู้ใช้นามว่า จ่าเผ่นผยองยิ่ง (นามจริง...) รังสรรค์ไว้ด้วยภาษาและท่วงทำนอง มีเพลง พรพรหม อันเร้าอกเร้าใจทั้งล้อทั้งรับสำนวนยอกย้อนอ่อนหวานซาบซึ้งจาก แขกมอญบางขุนพรหม พระนิพนธ์อันวิเศษจากพระอัจฉริยภาพอันเป็นเลิศของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต มีเพลง ดำเนินทราย กลายเป็นไทยสากลทันสมัย หญิงชายร้องคู่โต้ตอบกันสนุกสนานยิ่งนัก มาจาก ลาวดำเนินทราย ของเก่าที่แสนจะคลาสสิค มาในลีลาและจังหวะแทงโก อันใช้ประกอบการเต้นรำที่ทันสมัย มีเพลง ลออองค์ (อ่านว่า ละ-ออ-อง) อันหวานแจ้วสนุกสนานจากเพลง เขมรลออองค์ ของปรมาจารย์เพลงไทย ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นหลวงประดิษฐ์ไพเราะเป็นบรมครูผู้รังสรรค์ไว้ (ถ้าจำผิดก็โปรดอภัย และขอความกรุณาท่านผู้รู้ได้โปรดบอกเอาบุญ เพื่อจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง)
ในวาระที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศยกย่อง ครูเอื้อ สุนทรสนาน (สุนทราภรณ์) เป็นบุคคลสำคัญของโลก และคนไทยภาคภูมิใจที่จัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบ 100 ปีเกิดของท่านตลอดปี 2554 นี้ "ฟอร์มูลา" ซึ่งมีสมาชิกนับล้านๆ เป็นนักนิยมเพลงสุนทราภรณ์ ตั้งแต่ผู้อาวุโสร่วมศตวรรษ จนถึงนักเพลงรุ่นเยาว์ยุคใหม่ จึงขอบันทึกไว้ด้วยความภาคภูมิใจยิ่งว่านี่คือ หนึ่งในบุคคลไทยที่โลกได้ประกาศยกย่องในความเป็นอัจฉริยะมานับหลายพระองค์ และนับสิบๆ ท่านแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา/บริษัทผู้ผลิต formula@autoinfo.co.th
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2555