วิถีตลาดรถยนต์
พิคอัพเปิดหัวตลาดรถยนต์ ปี 54
ผลจากการเทกระจาดขายกันอย่างสำราญบานใจในช่วงปลายปี 2553 จนต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ยานยนต์ไทย เป็นสถิติยอดจำหน่ายสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม 2553 ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศรวมทะลุหลัก 90,000 คัน ภายในเดือนเดียว ส่งผลบวกต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมกราคม ปี 2554 จากเดิมคาดหมายกันว่าเดือนมกราคมจะมีการชะลอการตัดสินใจซื้อ ทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายเดือนแรกของปี 2554 ไม่เป็นที่หวือหวามากมายนัก หรืออาจได้เห็นตัวเลขติดลบเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปี 2553 กันบ้างก็เป็นได้
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง นั่นคือ ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศยังคงเดินหน้าสร้างความอิ่มเอมให้กับผู้ค้าผู้ขายต่อไป ซึ่งเป็นตัวเลขใหม่ที่เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 และยังเป็นยอดจำหน่ายรถยนต์เฉพาะเดือนมกราคมที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี สะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจในประเทศ และทิศทางความเป็นไปของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เฉพาะในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่สนองความต้องการของผู้ใช้รถได้อย่างตรงจุดตรงประเด็นมาโดยตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา และจะยังเป็นหัวใจหลักของธุรกิจยานยนต์ในประเทศโดยเฉพาะในภาคส่วนของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ทั้งที่เปิดตัวแล้ว และที่กำลังจะเปิดตัวในปีนี้ และปีต่อๆ ไป
แต่ที่ชิงความได้เปรียบนำรถยนต์รุ่นใหม่ขึ้นสู่โชว์รูมก่อนใคร กลับกลายเป็นไพ่เด็ดจากค่าย มิตซูบิชิ ที่นำเครื่องยนต์ใหม่ ซึ่งมีแรงม้าเพิ่มขึ้น มาใส่ให้กับ ทไรทัน และปาเจโร สปอร์ท โดยมีพรีเซนเตอร์เป็นรอคเคอร์หนุ่ม ขวัญใจคนรุ่นใหม่ มาช่วยดันยอดจำหน่าย
สัญญาณเปิดศึกแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดของรถพิคอัพ 1 ตัน ที่คาดว่าจะร้อนแรงอย่างมากในปีนี้เพราะทุกค่ายจะมีการปรับเปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่ให้กับรถยนต์ของตัวเอง แถมยังเป็นการปรับเปลี่ยนแบบใหม่หมดหัวจรดท้าย แม้บางค่ายยังไม่ออกอาการ แต่กระแสข่าวรถใหม่ก็โชยไปทั่ว แฟนๆ ที่ฟันธงให้กับตัวเองแล้วว่าปีนี้ต้องใช้พิคอัพคันใหม่ แต่ไม่อยากได้รถตกรุ่น เชคข่าวคราวความเคลื่อนไหวกับคนข่าวที่รู้จัก หรือตามแหล่งข้อมูลต่างๆ กันให้จ้าละหวั่น บทสรุปออกมาเห็นทีต้องชะลอการตัดสินใจซื้อไปก่อนขอดูตัวจริงให้เห็นกับตาแล้วค่อยสืบเท้าเข้าโชว์รูม
ขณะที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ปีนี้เก๋งเล็กโดยเฉพาะอีโคคาร์ จะจรัสแสงเป็นอย่างมาก เพราะทางเลือกมีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 โมเดล จากค่าย ฮอนดา ที่โชว์ตัวอย่างให้เห็นตั้งแต่ปลายปี เคาะราคาเสร็จสรรพออกจำหน่ายจริงปลายเดือนมีนาคม ในงานมอเตอร์โชว์ ส่วนอีกรายหนึ่ง คือ อีโคคาร์ของค่าย มิตซูบิชิที่ใช้เวทีงานเดียวกันนำตัวก่อนขึ้นไลน์ผลิต สร้างกระแสรอที่จะออกจำหน่ายจริงปีหน้า หรืออาจเร็วกว่านั้น แค่นี้ตลาดก็แทบแตก ทำให้หลายกระแสคาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ในปีนี้จะเติบโตระหว่าง7.5-10.0 % นั้นอาจต้องปรับขยับใหม่เสียแล้ว ถ้าไม่มีปัจจัยลบที่ทำให้เกิดการผันผวนอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจในประเทศ
เปิดศักราชใหม่มาเดือนแรกของปี บทสรุปตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศสวยหรูเกินคาดด้วยยอดรวมทั้งสิ้น 68,398 คัน ต่างจากเดือนเดียวกันของปี 2553 ถึง 38.0 % โดยแบ่งเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 29,977 คัน เพิ่มขึ้นกว่าเดือนมกราคม ปี 2553 ถึง 51.7 % พิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ 28,194 คัน เพิ่มขึ้น 31.4 % พิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ 1,372 คัน เพิ่มขึ้น 17.4 % รถกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเอสยูวี 3,772 คัน เพิ่มขึ้น 13.3 % รถเอมพีวี 1,025 คัน เพิ่มขึ้น 6.8 % และรถยนต์ประเภทอื่นๆ 4,058 คัน เพิ่มขึ้น 41.0 % เรียงแถวขายดีเพิ่มขึ้นยกกระดานกันเลยทีเดียว
ในบรรดารถยนต์รุ่นต่างๆ โมเดลต่างๆ ที่จำหน่ายออกไปในเดือนมกราคม บแรนด์ที่มีผู้นิยมมากที่สุด 5 อันดับแรก ยังคงเป็นเหมือนเช่นทุกๆ ปีและเกือบจะทุกๆ เดือนที่ผ่านมา แต่ตัวเลขที่ออกมาสื่อให้เห็นว่า ปีนี้การแข่งขันทางการตลาดจะเข้มข้นรุนแรง โดยเฉพาะการชิงส่วนแบ่งการตลาดของคู่แข่งขันอันดับที่ 4 และ 5 ระหว่าง นิสสัน กับมิตซูบิชิ เพราะตัวเลขเดือนมกราคม นิสสัน เหนือกว่า มิตซูบิชิไม่ถึง 40 คัน ยิ่ง มิตซูบิชิ เปิดเกมรุกในตลาดรถพิคอัพ และรถยนต์ประเภทพีพีวี หรือพิคอัพดัดแปลงไป น่าจะทำให้อันดับของ มิตซูบิชิ เฉือนแซง นิสสัน ขึ้นไปได้ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่จะยืดระยะได้นานหรือไม่ เป็นเรื่องหนึ่งซึ่ง นิสสัน ยังได้เปรียบอยู่ในด้านของตลาดรถยนต์นั่ง ที่มีตัวเลือกบนโชว์รูมมากกว่า และยังอินทเรนด์ไม่ตกกระแสเสียด้วย นอกนั้นผู้นำในอันดับ 1-3 ยังคงเป็นไปตามปกติ
โตโยตา ผู้นำตลาดรถยนต์รวมทุกประเภท เปิดหัวปี 2554 ยังไม่มีอะไรใหม่ แถมมีกระแสรถรุ่นใหม่ ทำให้ลูกค้าต้องหยุดคิด แต่ก็กวาดยอดจำหน่ายไปได้ถึง 26,777 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 39.1 % อีซูซุ ตามมาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยยอดจำหน่ายเดือนแรกของปี 11,612 คัน คิดเป็น 17.0 % ของตลาดรวม อันดับที่ 3 เป็นของ ฮอนดา ด้วยตัวเลขยอดจำหน่ายรวม 9,772 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 14.3 % และนิสสัน ตามมาเป็นอันดับที่ 4 มียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 4,528 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 6.6 % เท่ากับส่วนแบ่งการตลาดของ มิตซูบิชิ ที่อยู่อันดับที่ 5 จากยอดจำหน่ายทั้งสิ้น 4,493 คัน
ในส่วนของตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เปิดฤดูกาลปี 2554 มา 1 เดือน บรรดาค่ายรถยนต์ทั้งหลายยังอยู่ในช่วงของการเคลียร์ยอดจองที่ล้นทะลักมาจากปลายปีที่แล้ว จึงไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก และที่ออกสู่ตลาดในเดือนกุมภาพันธ์ก็มี ฮอนดา แจซซ์ เวอร์ชันใหม่ ซึ่งได้รับการปรับหน้าตาให้เฉียบสไตล์สปอร์ท และทางเลือกของงานสีภายนอกที่สะดุดตามากขึ้น ทั้งยังมี เลกซัส บแรนด์หรูในสังกัดของ โตโยตาที่ส่งรถไฮบริด มาให้เลือกใช้อีก 1 โมเดล เฉพาะในเดือนมกราคม ตลาดรถยนต์หลักประเภทนี้มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 29,977 คัน ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นยอดจำหน่ายที่เกิดจากรถยนต์รุ่นใหม่ที่เปิดตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา อาทิ ซีรีส์ 6 ของ บีเอมดับเบิลยู, เอ 1 ของ เชอรี บแรนด์ดังจากเมืองจีน,เชฟโรเลต์ ครูซ, ซีตรอง เดแอส ตรัวส์, ฟอร์ด ฟิเอสตา, มาซดา 2 ซีดาน, ปโรตอน ซากา และโตโยตา ปรีอุส เป็นต้น และส่วนหนึ่งเป็นรถยนต์ที่เปิดตัวมาก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในความนิยม เรียกว่าเป็นโมเดลหลักของแต่ละค่าย แต่ได้ปรับเสริมเติมแต่ง รวมไปถึงการหยิบยื่นข้อเสนอพิเศษให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นเป็นตัวช่วย บแรนด์ที่จำหน่ายมากที่สุดในเดือนมกราคมนี้ ยังคงอันดับเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจากหัวแถว โตโยตา ออกสตาร์ทด้วยยอดจำหน่าย 11,975 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 39.9 % ฮอนดา เปิดด้วยยอด 8,891 คัน ส่วนแบ่งตลาด 29.7 % นิสสัน 2,456 คัน ส่วนแบ่งตลาด 8.2 % มาซดา 2,167 คัน ส่วนแบ่งตลาด 7.2 % และฟอร์ด 1,353 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 4.5 %
สำหรับพิคอัพ 1 ตัน นอกจากรถรุ่นใหม่ที่พร้อมทยอยออกสู่ตลาดในปีนี้ ยังมีรถจำนวนหนึ่งที่ถูกพัฒนาดัดแปลงเป็นพิคอัพดัดแปลง ซึ่งจัดหมวดหมู่อยู่ในประเภทของรถกิจกรรมกลางแจ้ง กำลังจะกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากผู้คนของภาครัฐเห็นว่าน่าจะมีการปรับภาษีเพิ่ม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการใช้งานเหมือนกับรถอเนกประสงค์พันธุ์แท้ แต่เหลื่อมล้ำทางด้านของภาษี ซึ่งมีแรงค้านอย่างเต็มกำลังจากค่ายรถยนต์ที่มีรถประเภทนี้จำหน่ายอยู่ ต้องลุ้นต่อไปว่าบทสรุปเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ในส่วนของพิคอัพพันธุ์แท้เรื่องนี้ไม่มีปัญหา ความต้องการซื้อยังมีอยู่เพียบ เพียงแต่รถใครจะโดนใจผู้ใช้มากกว่ากัน ซึ่งแน่นอนว่า 2 ค่ายใหญ่ คือ โตโยตา และอีซูซุ ไม่มีการยอมแพ้ง่ายๆ และเป็นโตโยตา ที่มีผลงานดีกว่า ได้ตำแหน่งแชมพ์ประจำเดือนแรกไปด้วยยอดจำหน่ายพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ 10,766 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาดไป 38.2 % อีซูซุ อยู่ในอันดับ 2 ด้วยยอดจำหน่าย9,893 คัน ส่วนแบ่งตลาด 35.1 % มิตซูบิชิ 2,630 คัน ส่วนแบ่งตลาด 9.3 % นิสสัน 1,925 คัน ส่วนแบ่งตลาด 6.8 % และมาซดา ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยยอด 837 คัน ส่วนแบ่ง 3.0 % ส่วนพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ ในเดือนมกราคม ประกอบด้วย โตโยตา 938 คัน ส่วนแบ่ง 68.4 % อีซูซุ 254 คัน ส่วนแบ่ง 18.5 % นิสสัน 91 คัน ส่วนแบ่ง 6.6 % มิตซูบิชิ 60 คัน ส่วนแบ่ง 4.4 % ฟอร์ด 18 คัน ส่วนแบ่ง 1.3 % เชฟโรเลต์ 8 คัน ส่วนแบ่ง 0.6 % และมาซดา 3 คัน ส่วนแบ่ง 0.2 %
ตลาดรถเอสยูวี พระเอกของเดือนมกราคมต้องยกให้ ปาเจโร สปอร์ท ของ มิตซูบิชิ จะว่าเครื่องยนต์ใหม่และการปรับหน้าตาเป็นทางที่ถูกอย่างแรง ส่งผลให้ มิตซูบิชิ ขยับขึ้นมาคว้าตำแหน่งหัวแถวไปแล้ว เดือนมกราคมจำหน่ายไปได้ถึง 1,154 คัน รับส่วนแบ่งตลาดไป 30.6 % ทำเอาเจ้าตลาดรายเดิมขัดเคืองกันไปไม่ใช่น้อย ฮอนดา ซีอาร์-วี มาเป็นอันดับ 2 ด้วยยอด 800 คัน ส่วนแบ่ง 21.2 % ขณะที่ค่าย โตโยตา ทำได้เพียงอันดับ 3 จากตัวเลขรวม 734 คัน ส่วนแบ่งตลาด 19.5 % อันดับ 4 เป็นของ อีซูซุ 502 คัน ส่วนแบ่ง 13.3 % ส่วนอันดับ 5 เป็นของ เชฟโรเลต์ 310 คัน ส่วนแบ่งตลาด 8.2 %
ส่วนรถเอมพีวี ที่น่าสนใจเป็นรถยนต์จากเมืองจีน เชอรี ที่เข้ามาอยู่ในอันดับที่ 5 ของเอมพีวีขายดี ทำให้เอมพีวีจากเมืองโสม หล่นหายไปจาก 5 อันดับเอมพีวีขายดีเลยทีเดียว เช่นเดียวกับเอมพีวีจากมาเลเซียที่ผงาดอยู่ในอันดับที่ 2 อันดับ 1 แน่นอนเป็นของ โตโยตา ด้วยยอด 646 คัน รับส่วนแบ่งไป 63.0 % ปโรตอน 139 คัน ส่วนแบ่ง 13.6 % มิตซูบิชิ 94 คัน ส่วนแบ่ง 9.2 % ฮอนดา 81 คัน ส่วนแบ่ง 7.9 % เชอรี 16 คัน ส่วนแบ่ง 1.6 %
นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนมีนาคม มีคิวเปิดตัวของรถยนต์นั่งรุ่นใหม่หลายรุ่น ก่อนที่ทั้งหมดจะไปรวมตัวกันอยู่ในงานมอเตอร์โชว์ ที่ถือเป็นไฮซีซันของตลาดค้าขายรถยนต์ใหม่ ในช่วงครึ่งปีแรก ปีนี้สถานที่ใหม่ บรรยากาศใหม่ จะทำให้ตลาดคึกคักได้มากน้อยเพียงไร เมื่อเทียบกับสถานที่เดิม ไม่ช้าไม่นานมีบทสรุป
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2554
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์