มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์เจนีวา
ในรอบปีปฏิทิน 2011 มีงานแสดงรถยนต์ซึ่งได้รับการรับรองจาก องค์การระหว่างประเทศของผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งเรียกกันโดยย่อว่า OICA (ORGANISATION INTERNATIONALE DES CONSTRUCTEURS D'AUTOMOBILES ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งตรงกับ THE INTERNATIONAL ORGANIZATION OF MOTOR VEHICLE MANUFACTURERS ในภาษาอังกฤษ) รวมอยู่ 24 งาน เริ่มต้นด้วยงาน มหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ ซึ่งมีขึ้นในสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 15-23 มกราคม 2011 และปิดท้ายด้วย มหกรรมยานยนต์โตเกียว ซึ่งมีขึ้นในประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 3-11 ธันวาคม 2011
ในบรรดางานแสดงรถยนต์รวม 24 งานดังกล่าวข้างต้น มีอยู่เพียง 4 งานเท่านั้น ที่ OICA ติดเครื่องหมายดอกจันเพื่อระบุว่าเป็น MOST IMPORTANT INTERNATIONAL MOTOR SHOW หรือ "งานแสดงรถยนต์ระหว่างประเทศที่ทรงความสำคัญที่สุด" คือ มหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ ของสหรัฐอเมริกา มหกรรมยานยนต์เจนีวา ของสวิทเซอร์แลนด์ มหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ท ของเยอรมนี และ มหกรรมยานยนต์โตเกียว ของญี่ปุ่น ทั้ง 4 งานนี้ ผู้อ่าน "ฟอร์มูลา" คงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะทีมงานของเราเดินทางไปทำข่าว และนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังในหน้ากระดาษของนิตยสารรถยนต์ "สาระสะใจคนรักรถ" อย่างต่อเนื่องและยาวนาน
คำถามที่มักได้พบอยู่บ่อยๆ ก็คือ "ในบรรดางานแสดงรถยนต์ระดับอินเตอร์เหล่านี้ งานไหนน่าเดินทางไปชมมากที่สุด ?" เป็นคำถามที่ตอบได้หลายแบบ หากตัดสินด้วยความยิ่งใหญ่อลังการของสถานที่จัดงานและจำนวนรถที่แสดงในงาน คำตอบก็คือ มหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ท ซึ่งจัดกันเป็นประจำทุกๆ 2 ปี คือ ในเดือนกันยายนของปีคริสต์ศักราชที่ลงท้ายด้วยเลขคี่ แต่หากตัดสินกันด้วยความหลากหลายของรถที่แสดงในงาน และความสะดวกสบายของการชมงาน คำตอบ ก็คือ มหกรรมยานยนต์เจนีวา ซึ่งจัดกันเป็นประจำตอนต้นเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี ไม่มีเว้น
ทีมงานของ "ฟอร์มูลา" เดินทางไปเยือน มหกรรมยานยนต์เจนีวา เป็นครั้งแรกเมื่อ 19 ปีก่อน คือ เมื่อเดือนมีนาคม 1992 และจากนั้นจนวันนี้ ไม่มีปีใดเลยที่เราไม่บรรจุงานแสดงรถยนต์อันยิ่งใหญ่รายการนี้ไว้ในปฏิทินการทำงานประจำปี ปีนี้เราเดินทางไปเยือนเจนีวาเป็นครั้งที่ 20 หัวเรือใหญ่ของทีมงาน คือ ท่านประธานและผู้อำนวยการ ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ที่พิเศษกว่าทุกครั้งก็คือ ทีมงานลุยเมืองสวิสส์ครั้งล่าสุดนี้ มี สิริ เสนาจักร ผู้บริหารของธนาคารเกียรตินาคิน (คนขวามือในภาพเล็กหน้าแรก) ร่วมขบวนไปด้วย
เช่นเดียวกับที่เป็นมาตั้งแต่ปี 1982 สถานที่จัดงานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งนี้ คือ ศูนย์นิทรรศการขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับสนามบินนานาชาติของนครเจนีวา มีชื่อเรียกกันโดยย่อว่า PALEXPO (ย่อมาจาก PALAIS DES EXPOSITIONS ET DES CONGRES DE GENEVE ในภาษาฝรั่งเศส) ศูนย์นิทรรศการแห่งนี้มีเพียง 2 อาคาร อาคารหลังใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางเกือบ 100,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 6 ฮอลล์ โดยไม่มีผนังกั้นระหว่างฮอลล์ การเดินชมรถสารพัดชนิดสารพัดแบบที่แสดงในฮอลล์เหล่านี้ จึงทำได้โดยสะดวก เพราะทุกฮอลล์อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน ส่วนอาคารหลังเล็กซึ่งเรียกกันว่า ฮอลล์ 7 เป็นพื้นที่แสดงสินค้าเกี่ยวกับรถยนต์ ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า ACCESSORIES
เอกสารเป็นทางการของผู้จัดงานระบุว่ามหกรรมยานยนต์เจนีวา ครั้งที่ 81 นี้ มีรถยนต์ และผลงานที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์มากกว่า 160 รายการ ที่อวดตัวในลักษณะ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" EUROPEAN PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในยุโรป" และ SWISS PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในเมืองสวิสส์" รวมทั้งบอกด้วยว่า ทุกๆ บูธของผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญๆ จะมีรถไฮบริด หรือรถไฟฟ้าแสดงอยู่ด้วย นับว่าเป็นจริงดังที่ว่าหรือไม่ ? แต่เชื่อว่าจริง เพราะแค่รถแนวคิดที่อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ก็นับได้แล้วมากกว่า 20 คัน มีรถอะไรกันบ้าง พลิกไปดูได้เลยครับ ความยิ่งใหญ่ของมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวทีเปิดตัวของรถใหม่จำนวนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน รถไฮบริด หรือรถไฟฟ้า ทำให้เราต้องใช้พื้นที่รายงานยาวเหยียดเป็นประวัติการณ์ถึง 22 หน้านั่นเทียว
โอเพล อัมเพรา
เคยเห็นกันมาก่อนแล้วหลายครั้งแต่นี่เป็นครั้งแรกที่รถไฟฟ้า โอเพล อัมเพรา (OPEL AMPERA) ปรากฏตัวในรูปแบบของรถตลาดที่พร้อมแล้วจะออกจำหน่าย เป็นรถไฟฟ้าสไตล์เดียวกับรถร่วมเครือ เชฟโรเลต์ โวลท์ (CHEVROLET VOLT) ที่ออกขายแล้วในตลาดอเมริกาเหนือ คือ ใช้ระบบขับล้อหน้าด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 111 กิโลวัตต์/150 แรงม้า ซึ่งรับพลังไฟจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 16 กิโลวัตต์ชั่วโมง ประจุไฟแต่ละครั้งด้วยไฟบ้าน 230 โวลท์ โดยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง รถจะวิ่งได้ไกล 40-80 กม. โดยมีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 9 วินาที และความเร็วสูงสุด 161 กม./ชม. เมื่อไฟหมดและต้องการเดินทางต่อ ก็มีเครื่องยนต์เบนซินขนาดเล็กทำหน้าที่เป็น RANGE-EXTENDER หรือ "ตัวยืดระยะทาง" ทำหน้าที่ปั่นไฟเข้าแบทเตอรี ทำให้รถวิ่งได้ไกลกว่า 500 กม. เมื่อเติมเชื้อเพลิงเต็มถัง รายละเอียดมากกว่านี้โปรดติดตามอ่านใน "ระเบียงรถใหม่"
โอเพล ซาฟีรา ทัวเรอร์ คอนเซพท์
รถใหม่อีกแบบหนึ่งที่ค่ายสายฟ้านำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้คือ โอเพล ซาฟีรา ทัวเรอร์ คอนเซพท์ (OPEL ZAFIRA TOURER CONCEPT) เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถ โอเพล ซาฟีรา (OPEL ZAFIRA) รุ่นใหม่ ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดในยุโรปฤดูใบไม้ร่วงปี 2011 เป็นรถอเนกประสงค์ขนาด 7 ที่นั่ง ซึ่งออกแบบห้องโดยสารให้มีลักษณะเหมือนเป็น AN AUTOMOBILE OASIS หรือ "โอเอซิสในรถยนต์" ห้องโดยสารที่นั่งยืดแข้งยืดขาได้สบายนี้ ติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว แถวสุดท้ายสามารถพับราบลงกับพื้นเมื่อต้องการเพิ่มพื้นที่บรรทุก ส่วนแถว 2 ซึ่งมี 3 ที่นั่ง ก็สามารถกดปุ่มให้เก้าอี้ตัวกลางพับราบลงกับพื้นได้เช่นกัน ค่ายสายฟ้าเรียกระบบการติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งลักษณะนี้ว่า FLEX 7 SEATING SYSTEM
ฟอร์ด บี-แมกซ์
อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ ฟอร์ด บี-แมกซ์ (FORD B-MAX) ผลงานชิ้นใหม่ล่าสุดของ ฟอร์ด ยุโรป หน้าตาเหมือนรถที่พร้อมจะออกตลาด แต่ยังติดป้ายว่าเป็น CONCEPT CAR หรือ "รถแนวคิด" เป็นรถอเนกประสงค์ขนาดเล็กจิ๋ว อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า BABY MPV ตัวถังซึ่งยาวแค่ 4 เมตร มีลักษณะเด่นที่ต่างไปจากรถอเนกประสงค์ทั่วๆ ไป คือ ประตูข้างบานหน้าซึ่งเป็นประตูติดบานพับเหมือนประตูรถทั่วไป กับบานหลังซึ่งเป็นประตูเลื่อน เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง ค่าย "วงรีสีฟ้า" บอกว่า การออกแบบประตูในลักษณะนี้ทำให้มีช่องเปิดเข้าสู่รถที่กว้างถึง 1 เมตรครึ่ง คือ กว้างเป็น 2 เท่าของรถประเภทเดียวกันแบบอิ่นๆ คาดว่าจะเปลี่ยนสภาพจากรถแนวคิดเป็นรถตลาดแน่นอน ไม่ปลายปีนี้ก็ต้นปีหน้า
เอาดี เอ 3 คอนเซพท์
จุดโฟคัสสายตาในบูธของค่าย "สี่ห่วง" คือ เอาดี เอ 3 คอนเซพท์ (AUDI A3 CONCEPT) รถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถ เอาดี เอ 3 รุ่นใหม่ ในตัวถัง 4 ประตูซีดาน 4 ที่นั่ง ที่ค่ายนี้จะบรรจุเข้าสู่สายการผลิตในปี 2013 โดยมีสหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตลาดเป้าหมาย ตัวถังขนาด 4.440x1.840x1.390 ม. ซึ่งฝากระโปรงหน้าประตูท้าย และประตูข้างทุกบาน ทำจากอลูมิเนียม ใช้ระบบขับทุกล้อด้วยพลังจากเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 5 สูบเรียง 2.5 ลิตร 408 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ นับเป็นรถขนาดเล็กที่แรง และเร็วจัด ทั้งตีนต้นและตีนปลาย อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลาแค่ 4.1 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 250 กม./ชม.
เอาดี อาร์เอส 3 สปอร์ทแบค
เอาดี อาร์เอส 3 สปอร์ทแบค (AUDI RS3 SPORTBACK) หนึ่งในบรรดารถตลาดรวม 3 แบบที่ค่าย "สี่ห่วง" นำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแฮทช์แบคขนาดเล็ก ซึ่งพัฒนาจากรถ เอาดี เอ 3 สปอร์ทแบค (AUDI A3 SPORTBACK) ที่อยู่ในสายการผลิตมาแล้วครึ่งทศวรรษ โดยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดมากมาย แต่จุดสำคัญที่สุด คือ การติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 5 สูบเรียง 2.5 ลิตร ซึ่งให้กำลังสูงถึง 340 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าและคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ ทำให้รถรุ่นนี้สามารถทะยานไปข้างหน้าด้วยอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. โดยใช้เวลาแค่ 4.6 วินาที สนนราคาค่าตัวในเยอรมนี เริ่มต้นที่ระดับ 49,900 ยูโร หรือประมาณ 2.1 ล้านบาทไทย
บีเอมดับเบิลยู วิชัน คอนเนคเทด ดไรฟ คอนเซพท์
หนึ่งในบรรดารถแนวคิดที่เรียกความสนใจได้มากที่สุดในมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งนี้ คือ รถชื่อยาวสามวา บีเอมดับเบิลยู วิชัน คอนเนคเทด ดไรฟ คอนเซพท์ (BMW VISION CONNECTED DRIVE CONCEPT) รถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเปิดประทุนโรดสเตอร์ 2 ที่นั่ง ที่ทีมงานออกแบบของค่าย "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว" รังสรรค์ขึ้น เพื่ออวดแนวทางการออกแบบตัวถังของรถที่จะออกจำหน่ายในอนาคต และแนวคิดที่ว่ารถยนต์ คือ ส่วนหนึ่งที่ขาดเสียมิได้ในโลกของเครือข่ายการสื่อสาร ตัวถังที่ออกแบบอย่างวิลิศมาหรา มีรายละเอียดในหลายๆ จุดที่เรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็น "ของใหม่" ตัวอย่าง คือ การแทนที่กระจกมองข้างด้วยกล้องถ่ายภาพและเสาอากาศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อรับอินเตอร์เนทความเร็วสูงไปด้วยในตัว ประตูข้างขนาดเล็ก ซึ่งเปิดโดยการเลื่อนไปซ่อนเก็บในตัวถัง ไม่ใช่นอกตัวถังเหมือนประตูเลื่อนทั่วๆ ไป ฯลฯ รายละเอียดมากกว่านี้ โปรดติดตามอ่านใน "ระเบียงรถใหม่" เช่นกัน
บีเอมดับเบิลยู แอคทีฟ อี
ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งของค่าย "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว" ซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้เช่นกันคือ บีเอมดับเบิลยู แอคทีฟ อี (BMW ACTIVE E) รถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถไฟฟ้าที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดในปี 2013 โดยติดยี่ห้อใหม่ คือ บีเอมดับเบิลยู ไอ (BMW I) พัฒนาจากรถตลาดรุ่นสามัญและเป็นรถขนาดเล็กที่สุดในสายการผลิต คือ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-1 คูเป (BMW 1-SERIES COUPE) โดยเปลี่ยนพลังขับเคลื่อนจากขับด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 125 กิโลวัตต์/170 แรงม้า ซึ่งรับพลังไฟจากแบทเตอรี ลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ประจุไฟเต็มหม้อแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลประมาณ 160 กม. โดยมีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 9 วินาที ส่วนหน้าตา และรูปทรงองค์เอวแทบไม่มีอะไรเปลี่ยน
มีนี รอกเคทแมน คอนเซพท์
ยอดผู้ผลิตรถจิ๋วเมืองผู้ดี ซึ่งมีเจ้าของนั่งอยู่ในเมืองเบียร์ ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว มีนี รอคเคทแมน คอนเซพท์ (MINI ROCKETMAN CONCEPT) รถแนวคิดซึ่งมีโอกาสเป็นอย่างมากที่จะกลายสภาพเป็นรถตลาด เป็นรถแฮทช์แบค 3 ประตู 3+1 ที่นั่ง สไตล์เดียวกับรถจิ๋วของยักษ์ใหญ่เมืองยุ่น คือ โตโยตา ไอคิว (TOYOTA IQ) ตัวถังขนาด 3.419x1.907x1.398 ม. ติดประตูแบบพิสดาร กล่าวคือ ประตูข้างทั้ง 2 ด้านติดบานพับแบบ 2 จังหวะ ซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า DOUBLE-HINGED JOINT ทำให้เปิดประตูได้กว้างและขึ้น/ลงรถได้สะดวกกว่าปกติ แถมยังติดธรณีประตูไว้กับบานประตู ไม่ใช่กับตัวถังเหมือนรถทั่วไป ส่วนประตูบานท้ายซึ่งแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนเป็นประตูติดบานพับ ซึ่งสามารถเปิดได้ถึงกลางหลังคา แต่ส่วนล่างกลับมีลักษณะเหมือนเปิด/ปิดลิ้นชัก
เมร์เซเดส-เบนซ์ เอสแอลเค-คลาสส์
ค่าย "ดาวสามแฉก" ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถสปอร์ทเปิดประทุน เมร์เซเดส-เบนซ์ เอสแอลเค-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ SLK-CLASS) ให้คนรักรถในเมืองสวิสส์ได้สัมผัสเป็นครั้งแรก เป็นรถรุ่นที่ 3 และเป็นรถที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดหาง ตัวถังขนาด 4.134x1.810x1.301 ม. มีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศอยู่ระหว่าง 0.30-0.33 และมีประทุนหลังคาให้เลือกใช้ถึง 3 แบบ คือ ประทุนแข็งเคลือบสีเดียวกับตัวถัง ประทุนกระจกธรรมดา และประทุนกระจกที่สามารถเปลี่ยนขนาดความเข้มของกระจกโดยการกดปุ่ม เริ่มจำหน่ายแล้วในเมืองแม่ โดยมีรถให้เลือกใช้รวม 3 โมเดล คือ SLK 200 BLUEEFFICIENCY-SLK 250 BLUEEFFICIENCY-SLK 350 BLUEEFFICIENCY สนนราคาค่าตัวเริ่มต้นที่ระดับ 38,675 ยูโร
เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ คูเป
รถใหม่อีกแบบหนึ่งที่ค่าย "ดาวสามแฉก" นำออกอวดตัวในงานนี้ แถมเป็นการอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ซะด้วย คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ คูเป (MERCEDES-BENZ C-CLASS COUPE) ในภาพขวามือ เป็นรถคูเปขนาดเล็กที่ออกแบบและพัฒนาโดยมีผู้ใช้วัยรถวัย 35-45 ปีเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และมีรถ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-3 คูเป (BMW 3-SERIES COUPE) กับ เอาดี เอ 5 (AUDI A5) เป็นคู่แข่งโดยตรง มีกำหนดออกจำหน่ายในเมืองเบียร์เดือนมิถุนายนปีกระต่าย โดยมีรถให้เลือกใช้รวม 5 โมเดล คือ C 180 BLUEEFFICIENCY-C 250 BLUEEFFICIENCY-C 350 BLUEEFFICIENCY-C 220 CDI BLUEEFFICIENCY-C 250 CDI BLUEEFFICIENCY สนนราคาค่าตัว ขณะรายงานข่าวนี้ยังไม่ประกาศ
โพร์เช พานาเมรา เอส ไฮบริด
ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองเบียร์ใช้เวทีหมุนขนาดยักษ์ในฮอลล์ 1 เป็นที่เปิดตัวรถหรูประหยัดเชื้อเพลิง โพร์เช พานาเมรา เอส ไฮบริด (PORSCHE PANAMERA S HYBRID) ซึ่งกำลังจะออกขายในเมืองเบียร์โดยติดป้ายค่าตัว 106,185 ยูโร หรือประมาณ 4.6 ล้านบาทไทย ตัวถังขนาด 4.970x1.931x1.418 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.29 พัฒนาจากรถ โพร์เช พานาเมรา เอส (PORSCHE PANAMERA S) ซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปลายปี 2009 โดยเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในหลายๆ จุด และจุดสำคัญที่สุด คือ เปลี่ยนขุมพลังขับเคลื่อน จากขับล้อหลังด้วยเครื่องยนต์ฉีดตรง DOHC วี 8 สูบ 4,806 ซีซี 400 แรงม้า เป็นขับด้วยระบบไฮบริดแบบเดียวกับที่เคยเห็นกันมาแล้วในรถ เอสยูวี โพร์เช กาเยนน์ ไฮบริด (PORSCHE CAYENNE HYBRID) คือ ใช้เครื่องยนต์ซูเพอร์ชาร์จฉีดตรง DOHC วี 6 สูบ 2,995 ซีซี 333 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 34 กิโลวัตต์/47 แรงม้า
โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ กาบริโอ
หลังจากที่ปล่อยให้ลูกค้ารอคอยจนเกือบจะเลิกรอ ที่สุดยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์ก็เลือกใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถเปิดประทุน โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ กาบริโอเลต์ (VOLKSWAGEN GOLF CABRIOLET) รุ่นใหม่ เช่นเดียวกับรถรุ่นก่อนๆ ซึ่งขายทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 684,000 คัน รถเปิดประทุนรุ่นล่าสุดนี้ใช้ประทุนหลังคาแบบอ่อนทำจากผ้าใบแฟบริค เปิด/ปิดด้วยระบบอีเลคทรอ-ไฮดรอลิค (ELECTRO-HYDRAULIC) โดยใช้เวลาเพียง 9.5 วินาที และสามารถเปิดหรือปิดเมื่อยังใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. ผู้ผลิตอวดว่า เป็นระบบประทุนที่ออกแบบได้ดีเยี่ยม และป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดีกว่าประทุนหลังคาแบบแข็งที่ทำจากโลหะด้วยซ้ำ ค่าตัวในเมืองเบียร์ เริ่มต้นที่ระดับ 23,625 ยูโร หรือประมาณ 1.0 ล้านบาทไทย
โฟล์คสวาเกน บุลลี
รถใหม่อีกแบบหนึ่งที่ยักษ์ใหญ่เมืองเบียร์นำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ไม่ใช่รถตลาด แต่เป็นรถแนวคิดหน้าตาย้อนยุค ติดป้ายชื่อ โฟล์คสวาเกน บุลลี (VOLKSWAGEN BULLI) ซึ่งเห็นแล้วชวนให้นึกถึงรถตู้ยี่ห้อเดียวกันที่เคยนั่งสมัยยังเป็นเด็ก เป็นรถตู้อเนกประสงค์ขนาด 6 ที่นั่ง ปลอดไอพิษ อย่างที่เรียกกันในภาษาฝรั่งว่า ZERO EMISSION VEHICLE เพราะไม่ติดตั้งเครื่องยนต์แบบใดๆ แต่ใช้ระบบขับล้อด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 85 กิโลวัตต์/116 แรงม้า ซึ่งได้พลังไฟจากแบทเตอรี ลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง ประจุไฟในสถานที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะ โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง รถจะวิ่งได้ไกลถึง 300 กม. ด้วยความเร็วสูงสุด ซึ่งจำกัดไว้ที่ 140 กม./ชม. เพราะเร็วกว่านี้จะเปลืองไฟมาก
สโกดา วิชัน ดี คอนเซพท์
สโกดา วิชัน ดี คอนเซพท์ (SKODA VISION D CONCEPT) พระเอกในบูธของผู้ผลิตรถยนต์แห่งสาธารณรัฐเชค เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งท้ายลาดขนาด MID-SIZE ซึ่งผู้บริหารของค่ายนี้ยืนยันอย่างหนักแน่นกับผู้สื่อข่าวในงานว่า ไม่มีเจตนาที่จะผลิตขาย แต่รังสรรค์ขึ้นเพื่อบ่งบอกแนวทางการออกแบบที่ใช้กับรถที่จะออกจำหน่ายในอนาคต ในส่วนของตัวถังภายนอก จุดที่น่าสนใจ คือ การวางตำแหน่งไฟหน้าและไฟตัดหมอกรวม 4 ดวง ในลักษณาการเหมือน FOUR-LEAF CLOVER หรือดอกคโลเวอร์ 4 กลีบ กับไฟท้ายรูปตัวซีที่เห็นแล้วชวนให้นึกถึง BOHEMIAN CRYSTAL หรือ ผลึกคริสตัลอันโด่งดังของสาธารณรัฐเชค ที่น่าสนใจไม่แพ้ตัวรถดังที่เห็นในภาพ คือ "พริทที" ผิวสีนมผมสีทองหุ่นชวนสยิว ที่ค่ายนี้คัดเลือกมาแล้วเป็นอย่างดีนั่นเอง
เซอัต ไอบีเอกซ์
ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่รายเดียวของเมืองกระทิงดุใช้เวทีขนาดยักษ์ในฮอลล์ 2 เป็นที่เปิดตัวรถ เซอัต ไอบีเอกซ์ (SEAT IBX) ในภาพขวามือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้ง ขนาดเล็กกะทัดรัด ซึ่งทีมงานรังสรรค์ที่มี ลุค ดองค์เคอร์โวลเค (LUC DONCKERWOLKE) นักออกแบบชาวเบลเยียมวัย 46 ปี เป็นผู้นำ บอกว่ามีโอกาส 50-50 ที่จะกลายสภาพเป็นรถตลาด ตัวถังขนาด 4.260x1.800x1.620 ม. มีรายละเอียดในหลายๆ จุดที่เห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลจากรถแนวคิด เซอัต ไอบีอี (SEAT IBE) ซึ่งปรากฏตัวที่งานเดียวกันนี้เมื่อต้นปี 2010 (โปรดย้อนไปอ่าน "ฟอร์มูลา" ฉบับ พฤษภาคม 2553 หน้า 50) ตัวอย่างเช่น แผงกระจังหน้ารูปสี่เหลี่ยมคางหมู ดวงโคมไฟหน้ารูปสามเหลี่ยม และเส้นสะเอว (BELT-LINE) ที่ค่อนข้างสูง
สมาร์ท ฟอร์สปีด
ผู้ผลิตรถจิ๋วในเครือข่ายของค่าย"ดาวสามแฉก"ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถแนวคิด สมาร์ท ฟอร์สปีด (SMART FORSPEED) รถไฟฟ้าซึ่งไม่มีทั้งหลังคาและกระจกข้าง เป็นรถขับล้อหลังด้วยพลังของมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 30 กิโลวัตต์/41 แรงม้า ซึ่งสามารถเพิ่มพลังได้อีก 5 กิโลวัตต์/7 แรงม้า ในช่วงสั้นๆ เช่น ขณะต้องการแซงรถคันหน้า โดยการกดปุ่มบูสต์ที่ติดตั้งอยู่ในคอนโซลกลาง ส่วนขุมพลังไฟที่ใช้เป็นแบทเตอรี ลิเธียม-ไอออน ขนาด 16.5 กิโลวัตต์ ประจุไฟเต็มหม้อแต่ละครั้ง รถจะวิ่งได้ไกลประมาณ 135 กม. ด้วยอัตราเร่ง 0-60 กม./ชม. ใน 5.5 วินาที และความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม.
โวลโว วี 60 พลัก-อิน ไฮบริด
อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ โวลโว วี 60 พลัก-อิน ไฮบริด (VOLVO V60 PLUG-IN HYBRID) รถตลาดซึ่งมีกำหนดออกโชว์รูมในปี 2012 พัฒนาจากรถเก๋งตรวจการณ์ โวลโว วี 60 รุ่นสามัญ โดยเปลี่ยนระบบขับจากการขับด้วยเครื่องยนต์สันดาปเพียงอย่างเดียว เป็นขับแบบไฮบริด โดยใช้เครื่องเทอร์โบดีเซล 5 สูบเรียง 2.4 ลิตร 215 แรงม้า ขับล้อคู่หน้า และใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 51 กิโลวัตต์/70 แรงม้า ซึ่งได้พลังไฟจากแบทเตอรี ลิเธียม-ไอออน ขนาด 12 กิโลวัตต์ชั่วโมง ขับล้อคู่หลัง ผู้ขับมีปุ่มบังคับให้เลือกลักษณะการทำงานของระบบขับได้ 3 แบบ คือ PURE HYBRID และ POWER เมื่อเลือกแบบแรก คือ ขับด้วยพลังไฟฟ้าอย่างเดียว รถจะวิ่งได้ไกลประมาณ 50 กม. โดยปลอดไอพิษใดๆ และเมื่อเลือกแบบที่ 2 ซึ่งเครื่องยนต์และมอเตอร์ทำงานร่วมกัน จะมีค่าคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยเพียง 49 กรัม/กม.
ซาบ 9-5 สปอร์ท คมบี
ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลข 2 ของเมืองฟรีเซกซ์ซึ่งมีเจ้าของนั่งอยู่ในเมืองกังหันลม ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว ซาบ 9-5 สปอร์ท คมบี (SAAB 9-5 SPORTCOMBI) รถตรวจการณ์ระดับพรีเมียมซึ่งเปิดให้สั่งจองแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ต้องรอจนถึงเดือนกันยายนนั่นแหละ รถคันแรกจึงจะถึงมือผู้สั่งจอง ตัวถังซึ่งติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 2 แถว มีห้องเก็บของท้ายรถ ซึ่งจุแค่ 527 ลิตร เมื่ออยู่ในสภาพปกติ แต่เมื่อพับเบาะหลังซึ่งแยกส่วนในลักษณะ 60:40 ปริมาณความจุจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว คือ เป็น 1,600 ลิตร ประตูบานท้ายที่ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า สามารถบังคับเปิด/ปิดทั้งด้วยมือ โดยการสัมผัสแป้น TOUCH PAD ซึ่งติดตั้งอยู่เหนือป้ายทะเบียนที่ท้ายรถ และด้วยระบบรีโมทคอนทโรล โดยกดปุ่มที่ติดตั้งอยู่ในกุญแจสตาร์ทหรือปุ่มซึ่งติดอยู่ในบานประตูด้านผู้ขับ
ซาบ ฟีนิกซ์
ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งที่ดึงดูดผู้สื่อข่าวให้หลั่งไหลเข้าสู่บูธของผู้ผลิตรถยนต์เมืองฟรีเซกซ์ คือ ซาบ ฟีนิกซ์ (SABB PHOENIX) รถแนวคิดซึ่งค่ายนี้ไม่มีเจตนาจะทำขาย แต่จะนำบางจุดไปใช้ในรถตลาด ซาบ 9-3 (SAAB 9-3) รุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ตัวถัง 2+2 ที่นั่ง มีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศแค่ 0.25 และมีรายละเอียดที่สะดุดตาสะดุดใจมากมาย รวมทั้งประตูข้างที่เปิด/ปิดแบบปีกผีเสื้อ เป็นรถขับทุกล้อแบบไฮบริด โดยใช้เครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ 1.6 ลิตร 200 แรงม้า ของ บีเอมดับเบิลยู ขับล้อคู่หน้า และใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 25 กิโลวัตต์/33 แรงม้า ขับล้อคู่หลัง
แอสตัน มาร์ทิน วิราจ
รถตลาดอีกแบบหนึ่งที่อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นผลงานใหม่เอี่ยมแกะกล่องของยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองผู้ดี ซึ่งติดป้ายชื่อ แอสตัน มาร์ทิน วิราจ (ASTON MARTIN VIRAGE) เป็นรถแบบใหม่ในชื่อเก่า ซึ่งเริ่มจำหน่ายในเมืองผู้ดีไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ด้วยค่าตัวเริ่มต้นที่ระดับ 150,000 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 7.5 ล้านบาทไทย เป็นรถขับล้อหลังด้วยพลังของเครื่องยนต์ DOHC วี 12 สูบ 5,935 ซีซี 497 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ TOUCHTRONIC 2 มีทั้งตัวถังคูเปและตัวถังเปิดประทุน ซึ่งมีขนาดยาวและกว้างเท่ากัน คือ 4.703x1.904 ม. แต่ความสูงต่างกันเล็กน้อย คือ 1.282/1.289 ม. ที่แปลกหน่อยก็คือ มีห้องโดยสารให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ แบบ 2 ที่นั่ง กับแบบ 2+2 ที่นั่ง
โรลล์ส-รอยศ์ 102 อีเอกซ์
โรลล์ส-รอยศ์ 102 อีเอกซ์ (ROLLS-ROYCE 102EX) ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรลล์ส-รอยศ์ แฟนทอม เอกซ์เพอริเมนท์ อีเลคทริค (ROLLS-ROYCE PHANTOM EXPERIMENT ELECTRIC) รถแนวคิดซึ่งอีกไม่นานเกินรอจะกลายสภาพเป็นรถตลาด พัฒนาจากรถ โรลล์ส-รอยศ์ แฟนทอม รุ่นสามัญ โดยเปลี่ยนระบบขับจากขับล้อหลังด้วยเครื่องยนต์ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 12 สูบ 6,749 ซีซี 460 แรงม้า เป็นขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 145 กิโลวัตต์/197 แรงม้า จำนวน 2 ชุด ทั้ง 2 ชุด ติดตั้งอยู่บนโครงย่อยตัวหลัง และรับพลังไฟจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ขนาด 71 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งมีน้ำหนักตัว 640 กก. ประจุไฟแต่ละครั้งด้วยไฟเฟสเดียวโดยใช้เวลา 20 ชั่วโมง หรือด้วยไฟ 3 เฟส โดยใช้เวลา 8 ชั่วโมง รถจะวิ่งได้ไกลประมาณ 200 กม.
แฟร์รารี เอฟเอฟ
อีกหนึ่งรถตลาดที่ผู้คนสนอกสนใจกันมากที่สุดในงานนี้ คือ แฟร์รารี เอฟเอฟ (FERRARI FF) รถสปอร์ท "ม้าลำพอง" แบบแรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นรถขับเคลื่อนทุกล้อ ด้วยระบบขับทุกล้อที่ค่ายนี้จดทะเบียนสิทธิบัตรไว้แล้วโดยติดป้ายชื่อ 4RM (ย่อมาจาก RUOTE MOTRICI ในภาษาอิตาลี) เป็นระบบที่ทำงานอย่างง่ายๆ มีชิ้นส่วนน้อยชิ้นและน้ำหนักเบา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้าสู่บูธของค่าย "ม้าลำพอง" อย่างแน่นขนัด ไม่น่าจะใช้ระบบขับทุกล้อที่ว่า แต่คงจะเป็นรูปทรงองค์เอวของตัวถังขนาด 4.907x1.953x1.379 ม. ซึ่งเป็นผลงานรังสรรค์ชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งของสำนักปินินฟารีนา (PININFARINA) เจ้าเก่าซะมากกว่า ส่วนหน้าของตัวถังที่ว่านี้ ไม่มีอะไรพิสดาร ที่ไม่คุ้นตาเอาเสียเลย และคงไม่มีใครคาดคิดกันมาก่อนว่าจะได้พบได้เห็นในรถ "ม้าลำพอง" ก็คือ ส่วนท้ายที่เห็นได้อย่างถนัดชัดตาในภาพประกอบภาพใหญ่ ข้อมูลมากกว่านี้โปรดย้อนไปอ่าน "ข่าวรอบโลก" ฉบับเดือนมีนาคม 2554
เฟียต ฟรีมอนท์
ในบูธของยักษ์ใหญ่เมืองมะกะโรนี มีจุดโฟคัสสายตาอยู่หลายจุด จุดหนึ่ง คือ เฟียต ฟรีมอนท์ (FIAT FREEMANT) รถใหม่แบบแรกซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการที่ยักษ์ใหญ่รายนี้ก้าวเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์เมืองมะกัน คือ ไครสเลอร์ กรุพ แอลแอลซี (CHRYSLER GROUP LLC) ผลิตที่โรงงานในเมกซิโกตามแบบของรถสัญชาติอเมริกัน คือ ดอดจ์ เจอร์นีย์ (DODGE JOURNEY) แต่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดปลีกย่อยในบางจุด เพื่อให้มีกลิ่นอายเป็นรถมะกะโรนี แล้วจึงลงเรือไปขายในตลาดยุโรป และกำหนดออกโชว์รูม คือ ไตรมาสที่ 2 ของปีกระต่ายนี้ เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดกลาง อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษสไตล์อเมริกันว่า MID-SIZE CROSSOVER SUV ห้องโดยสารติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว นั่งได้รวม 7 คน
เฟียต 500 คูเป ซากาโต
อีกหนึ่งจุดโฟคัสสายตาในบูธของยักษ์ใหญ่เมืองมะกะโรนีที่ไม่ใช่รถตลาด แต่เป็นรถแนวคิดติดป้ายชื่อ เฟียต 500 คูเป ซากาโต (FIAT 500 COUPE ZAGATO) เป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่างทีมออกแบบของค่าย เฟียต กับสำนักออกแบบ ซากาโต (ZAGATO) ของอิตาลี ตัวถัง 3 ประตู 2+2 ที่นั่ง ขนาด 3.550x1.630x1.490 ม. ดัดแปลงจากรถ เฟียต 500 รุ่นสามัญ โดยปรับเปลี่ยนส่วนท้าย และทำหลังคาเป็นสองตะโหงกอันเป็นเครื่องหมายการค้าของสำนักออกแบบแห่งนี้ ส่วนเครื่องยนต์ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ฝากระโปรงหน้า เป็นเครื่องทวินแอร์ 2 สูบเรียง 0.9 ลิตร ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ และให้กำลังสูงถึง 105 แรงม้า แต่ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าเครื่องเดิม คือ แค่ 95 กรัม/กม.
ลันชา อิพซีลอน
ผู้ผลิตรถยนต์เมืองมะกะโรนีซึ่งทำแต่รถพวงมาลัยซ้าย ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว ลันชา อิพซีลอน (LANCIA YPSILON) รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 4 แต่เป็นรุ่นแรกที่อยู่ในตัวถัง 5 ประตู มีกำหนดออกตลาดในเดือนมิถุนายนเคียงคู่กับรถรุ่นเดิม ซึ่งอยู่ในสายการผลิตมายาวนานเกือบ 1 ทศวรรษ โดยตั้งเป้าหมายการขายในทุกตลาดไว้ที่ระดับ 130,000 คัน/ปี ทั้งๆ ที่รถรุ่นเดิมเคยขายได้มากที่สุดก็แค่ 85,000 คันในปี 2004 นอกจากนั้น ผลลัพธ์จากการที่กลุ่ม เฟียต ซึ่งเป็นต้นสังกัดของ ลันชา กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญของกลุ่มไครสเลอร์มาตั้งแต่ปี 2010 ในบางตลาด เช่น ในอังกฤษ และไอร์แลนด์ รถแบบนี้จะจำหน่ายโดยติดป้ายยี่ห้อ ไครสเลอร์ (CHRYSLER) เป็นรถ 5 ประตู ที่ดูเผินๆ เหมือนเป็น 3 ประตู เพราะมองไม่เห็นที่จับเปิดประตูข้างบานหลัง ซึ่งซ่อนอยู่ในตัวถัง
อัลฟา โรเมโอ 4 ซี คอนเซพท์
นอกจากรถขับทุกล้อของค่าย "ม้าลำพอง" ที่เห็นในภาพใหญ่ ผลงานใหม่ของผู้ผลิตรถยนต์เมืองมะกะโรนีที่เรียกร้องความสนใจได้มากที่สุด ผู้คนแย่งกันถ่ายภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวกันมากที่สุดทั้งๆ ที่ถ่ายแสนยากแสนเย็นเพราะพื้นที่ค่อนข้างจำกัด และผู้คนยืนมุงดูรถกันแน่นไปหมด คือ อัลฟา โรเมโอ 4 ซี คอนเซพท์ (ALFA ROMEO 4C CONCEPT) ในภาพซ้ายมือ เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถสปอร์ทคูเป 2 ที่นั่ง วางเครื่องกลางลำ/ขับเคลื่อนล้อหลัง ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดในปี 2012 โดยติดป้ายค่าตัวระดับ 40,000 ยูโร หรือประมาณ 1.7 ล้านบาทไทย เป็นรถตัวถังอลูมิเนียม/คาร์บอนไฟเบอร์ น้ำหนักเบา ยาวประมาณ 4 เมตร ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบฉีดเชื้อเพลิงโดยตรงความจุ 1,750 ซีซี ซึ่งให้กำลังสูงกว่า 200 แรงม้า
ลัมโบร์กินี อเวนตาดอร์ แอลพี 700-4
ในฮอลล์ 1 ของงานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 81 นี้ รถที่สามารถเรียกแขกเข้าบูธได้ล้นหลามที่สุดเมื่อเทียบกันตารางเมตร/ตารางเมตร ต้องยกนิ้วให้แก่ ลัมโบร์กินี อเวนตาดอร์ แอลพี 700-4 (LAMBORGHINI AVENTADOR LP 700-4) ของค่ายกระทิงดุ เป็นรถสปอร์ทระดับ "ซูเพอร์คาร์" ที่ค่ายนี้กำลังจะบรรจุเข้าสู่สายการผลิตแทนที่รถรุ่นเดิมที่อยู่ในตลาดมายาวนานเกือบ 1 ทศวรรษ คือ ลัมโบร์กินี มูร์ซีเอลาโก (LAMBORGHINI MURCIELAGO) เป็นรถขับทุกล้อที่สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. โดยใช้เวลาแค่ 2.9 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 350 กม./ชม. เพราะติดตั้งเครื่องยนต์ DOHC วี 12 สูบ 6,498 ซีซี ที่ให้กำลังสูงถึง 700 แรงม้า รับสั่งจองแล้วด้วยค่าตัวที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เฉพาะในตลาดยุโรปค่าตัวรวมภาษีที่กำหนดไว้ คือ 255,000 ยูโร หรือประมาณ 11.0 ล้านบาทไทย ข้อมูลมากกว่านี้รวมทั้งที่มาของชื่อรุ่น โปรดติดตามอ่าน "ระเบียงรถใหม่"
อีตัลดีไซจ์น จูจาโร โก
อีตัลดีไซจ์น จูจาโร สำนักออกแบบเมืองมะกะโรนี ซึ่งขณะนี้กลายเป็นสมบัติของกลุ่ม โฟล์คสวาเกน แห่งเมืองเบียร์ไปแล้ว มีรถแนวคิดที่ทำให้แก่ต้นสังกัดอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ถึง 2 คัน คันแรกในภาพซ้ายมือ คือ อีตัลดีไซจ์น จูจาโร โก (ITALDESIGN GIUGIARO GO) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถอเนกประสงค์ขนาดจิ๋ว ตัวถังขนาด 3.990x1.555x1.745 ม. มีรูปลักษณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากในหลายๆ จุด โดยเฉพาะห้องโดยสารที่เต็มไปด้วยพื้นที่กระจก และที่น่าสนใจไม่แพ้ตัวถัง คือ ระบบขับล้อหน้าด้วยพลังไฟฟ้า โดยใช้มอเตอร์ขนาด 85 กิโลวัตต์/116 แรงม้า และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 33 กิโลวัตต์ชั่วโมง ประจุไฟแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลประมาณ 240 กม. ด้วยความเร็วสูงสุด 130 กม./ชม.
อีตัลดีไซจ์น จูจาโร เทกซ์
รถแนวคิดอีกคันหนึ่งในบูธของยอดสำนักออกแบบเมืองมะกะโรนี คือ อีตัลดีไซจ์น จูจาโร เทกซ์ (ITALDESIGN GIUGIARO TEX) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดจิ๋วขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยระบบไฮบริดแบบพลัก-อิน โดยใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซิน DOHC 4 สูบเรียง 1.4 ลิตร 150 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 85 กิโลวัตต์/116 แรงม้า ซึ่งรับพลังไฟจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 8.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่สามารถประจุไฟด้วยไฟบ้าน ให้กำลังรวมสูงสุด 241 แรงม้า เมื่อวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวจะวิ่งได้ไกลประมาณ 35 กม. และเมื่อใช้ระบบไฮบริดจะสามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 6 วินาที และความเร็วสูงสุด 220 กม./ชม.
แบร์โตเน แจกวาร์ บี 99
แบร์โตเน สำนักออกแบบชื่อดังอีกเจ้าหนึ่งของอิตาลี ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว แบร์โตเน แจกวาร์ บี 99 (BERTONE JAGUAR B99) รถแนวคิดที่ทำขึ้นในวาระก่อตั้งกิจการครบ 99 ปี และเสนอต่อผู้ผลิตรถหรูเมืองผู้ดี เพื่อชี้แนวทางออกแบบรถซาลูนขนาดเล็ก ที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดในปี 2013 หรือ 2014 ตัวถังซึ่งยาวประมาณ 4.50 ม. และกว้าง 1.95 ม. มีชิ้นส่วนตัวถังเพียงชิ้นเดียวที่มีรูปลักษณ์เหมือนกับรถแมวป่าที่มีขายในปัจจุบัน คือ แผงกระจังหน้า รูปทรงองค์เอวโดยรวมเรียกเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการออกแบบที่ดูย้อนยุคย้อนสมัย ในขณะที่ทีมงานผู้รังสรรค์แก้ว่า ไม่ใช่การออกแบบในลักษณะ OLD CLASSIC DESIGN แต่เป็น NEW CLASSIC มีรถแสดงในงานรวม 2 คัน คันที่เห็นในภาพตกแต่งในลักษณาการของรถแข่ง GT
เด โตมาโซ โดวิลล์
เด โตมาโซ (DE TOMASO) ผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งก่อตั้งกิจการขึ้นที่เมืองโมเดนา (MODENA) ในอิตาลีเมื่อปี 1959 โดยนักแข่งรถชาวอาร์เจนตินาเจ้าของนาม อเลฮานดโร เด โตมาโซ (ALEJANDRO DE TOMASO) และประสบภาวะล้มละลายเมื่อปี 2004 กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งในงานนี้ พร้อมๆ กับการปรากฏตัวของ เด โตมาโซ โดวิลล์ (DE TOMASO DEAUVILLE) รถเก๋งซีดานขนาดใหญ่ ในตัวถังขนาด 5.080x1.950x1.630 ม. ที่รังสรรค์ขึ้นโดยสำนักออกแบบปินินฟารีนา (PININFRINA) เป็นรถที่บริษัทเกิดใหม่ด้วยเงินทุนของ จาน มารีโอ โรสซินโญโล (GIAN MARIO ROSSIGNOLO) นักธุรกิจชาวอิตาลี ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดในปี 2012 โดยตั้งเป้าหมายการผลิตไว้ที่ระดับ 3,000 คัน และใช้โรงงานของ ปินินฟารีนา ในอิตาลีเป็นที่ผลิต
ซีตรอง เมทโรโพลิส
ซีตรอง เมทโรโพลิส (CITROEN METROPOLIS) ผลงานของค่าย "จ่าโท" ซึ่งอวดตัวเป็นครั้งแรกในงานเวิร์ลด์เอกซ์โป ที่นครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2010 ปรากฏตัวให้คนรักรถในทวีปยุโรปได้สัมผัสเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งซีดานขนาดใหญ่ ขับเคลื่อนด้วยระบบ PLUG-IN HYBRID โดยใช้เครื่องยนต์เบนซิน วี 6 สูบ 2.0 ลิตร 272 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 70 กิโลวัตต์/95 แรงม้า มีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 2.6 ลิตร/100 กม.และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แค่ 70 กรัม/กม.
ซีตรอง เดแอส กัตร์
รถตลาดติดตรา "จ่าโท" เพียงแบบเดียวที่อวดตัวต่อสายตาสาธารณชนแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ ซีตรอง เดแอส กัตร์ (CITROEN DS4) รถแบบที่ 2 ของค่ายนี้ในยุคปัจจุบัน ที่ใช้อักษรย่อ DS เป็นรหัสชื่อรุ่น (ย่อมาจาก DEESSE ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งแปลว่า GODDESS ในภาษาอังกฤษ หรือ "เทพธิดา" ในภาษาไทย) ตัวถังขนาด 4.270x1.810x1.530 ม. พัฒนาจากตัวถังแฮทช์แบคของรถ ซีตรอง เซ กัตร์ (CITROEN C4) โดยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในหลายๆ จุด จนตัวถังสั้นลงแต่กว้างขึ้นเล็กน้อย มีกำหนดออกตลาดในเดือนพฤษภาคม โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้รวม 5 ขนาด ทั้งเครื่องเบนซินและดีเซล เป็นรถที่วิจารณ์กันหนาหูว่า ตัวถังภายนอกออกแบบได้ดี๊ดี แต่ภายในกลับธรรมด๊าธรรมดาจนน่าประหลาดใจ
เปอโฌต์ 308
ยักษ์รองของเมืองน้ำหอมใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถ เปอโฌต์ 308 (PEUGEOT 308) รุ่น FACELIFT หรือ "ยกหน้า" ซึ่งมีกำหนดออกจำหน่ายในตลาดยุโรปเดือนเมษายนปีกระต่าย หลังจากรถรุ่นเดิม ซึ่งออกตลาดเมื่อเดือนกันยายน 2007 ขายในตลาดทั่วโลกไปแล้วเกือบ 900,000 คัน นอกจากการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งในส่วนของตัวถังและเครื่องยนต์กลไก จุดที่น่าสนใจในรถรุ่นใหม่นี้ คือ การนำเทคโนโลยีซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า MICRO-HYBRID TECHNOLOGY และระบบดับเครื่องยนต์โดยอัตโนมัติเมื่อรถหยุดที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า STOP & START มาใช้ในรถบางโมเดล ระบบที่ว่านี้ ทำให้รถรุ่นที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบฉีดตรง 1.6 ลิตร 112 แรงม้า มีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต่ำเพียง 98 กรัม/กม. เท่านั้นเอง
เรอโนลต์ แอร์-สปาศ
ในบูธของยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมซึ่งตั้งอยู่ในฮอลล์ 4 มีรถแนวคิดอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" อยู่ 2 คัน คันที่เห็นในภาพใหญ่และภาพเล็กซ้ายมือ คือ เรอโนลต์ แอร์-สปาศ (RENAULT R-SPACE) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถอเนกประสงค์ขนาดเล็กกะทัดรัดนั่ง 4 คน ตัวถังขนาด 4.250x1.850x1.547 ม. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.28 มีห้องโดยสารซึ่งเต็มไปด้วยพื้นกระจก และมีประตูข้างที่เปิดแยกออกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง เป็นรถขับล้อหน้าด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบฉีดตรง 900 ซีซี 110 แรงม้า ที่มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยแค่ 95 กรัม/กม.
เรอโนลต์ กัปเตอร์
รถแนวคิดอีกคันหนึ่งที่ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมนำออกแสดง "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้คือ เรอโนลต์ กัปเตอร์ (RENAULT CAPTUR) ในภาพล่างซ้ายมือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า CROSSOVER SUV ตัวถังขนาดเล็กกะทัดรัดซึ่งออกแบบให้นั่งได้แค่ 2 คน มีจุดเด่นสะดุดตามากมาย รวมทั้งหลังคาแข็งที่เปิดก็ได้ปิดก็ได้ ประตูข้างที่เปิด/ปิดแบบปีกผีเสื้อ และกระทะล้อขนาดโตถึง 22 นิ้ว ส่วนขุมพลังขับเคลื่อนซึ่งซ่อนตัวอยู่ภายใต้ฝากระโปรงหน้า เป็นเครื่องยนต์ทวินเทอร์โบดีเซลฉีดตรง 1.6 ลิตร ที่ให้กำลังสูงถึง 160 แรงม้า และให้ค่าแรงบิดสูงสุด 380 นิวตัน-เมตร หรือ 38.8 กก.-ม. ที่รอบต่ำแค่ 1,750 รตน. แต่ประหยัดเชื้อเพลิง และมีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ
รินสปีด บัมบู
รินสปีด บัมบู (RINSPEED BAMBOO) ผลงานชิ้นล่าสุดของผู้ผลิตรถยนต์รายย่อยเมืองสวิสส์ ซึ่งนำผลงานใหม่ออกแสดงในงานนี้เป็นประจำทุกปีไม่เคยขาดเคยเว้น เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถลุยหาดอย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า SUN & FUN CAR ตัวถังขนาด 3.889x1.620x1.609 ม. ซึ่งหนักแค่ 1,090 กก. และนั่งได้รวม 4 คน มีหลังคาที่สามารถเป่าให้พองลมเหมือนแพชูชีพเล่นน้ำทะเล และไม่มีกระจกหน้าต่างใดๆ เป็นรถไฟฟ้าขับล้อหน้าด้วยมอเตอร์ 54 กิโลวัตต์/73 แรงม้า และพลังไฟของแบทเตอรีลิเธียม-เฟอร์รัส (LITHIUM-FERROUS) ขนาด 16 กิโลวัตต์ชั่วโมง ประจุไฟแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลประมาณ 105 กม. โดยมีอัตราเร่ง 0-50 กม./ชม. ใน 4.7 วินาที และความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม.
มิตซูบิชิ คอนเซพท์-โกลบอล สมอลล์
ผลงานของค่าย "สามเพชร" ซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ และเป็นรถที่ผู้ใช้รถเบี้ยน้อยหอยน้อยโอกาสน้อยในบ้านเราน่าจะสนอกสนใจกันมาก คือ มิตซูบิชิ คอนเซพท์-โกลบอล สมอลล์ (MITSUBISHI CONCEPT-GLOBAL SMALL) ที่เห็นในภาพใหญ่ และภาพเล็กข้างบน เป็นต้นแบบของรถ "อีโคคาร์" ที่ยักษ์เล็กเมืองยุ่นประกาศยืนยันแล้วว่า ต้นปี 2012 นี้ จะเริ่มการผลิตที่โรงงานซึ่งกำลังสร้างขึ้นใหม่ในประเทศไทย และร้อยละ 20 ของผลผลิตจากโรงงานที่ว่านี้จะจำหน่ายในประเทศ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 80 จะส่งออก เป็นรถประหยัดขนาดเล็กที่ออกแบบและพัฒนาในญี่ปุ่นโดยใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี ตัวถังขนาด 3.740x1.680x1.490 ม. รูปทรงองค์เอวดูเรียบๆ ไม่มีจุดสะดุดตาอะไรที่น่ากล่าวถึงเป็นพิเศษ ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ เป็นเครื่อง 3 สูบเรียง 1.0 ลิตร ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ที่น่าสนใจ คือ มีระบบ AUTO STOP & GO ซึ่งช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้ดี
นิสสัน เอสฟโลว์
จุดโฟคัสสายตาในบูธของยักษ์รองเมืองยุ่นซึ่งอยู่ในฮอลล์ 4 คือ นิสสัน เอสฟโลว์ (NISSAN ESFLOW) ในภาพเล็กซ้ายมือ เป็นรถแนวคิดที่ทีมงานออกแบบของค่ายนี้รังสรรค์ขึ้น เพื่ออวดวิสัยทัศน์ว่ารถสปอร์ทในอนาคตควรจะมีรูปลักษณ์อย่างไร เป็นรถ 2 ที่นั่ง ซึ่งมีขนาดไม่ต่างกันนักจากรถสปอร์ทที่ผลิตขายในปัจจุบัน คือ นิสสัน แฟร์เลดี เซด (NISSAN FAIRLADY Z) หรือ นิสสัน 370 เซด (NISSAN 370Z) ที่ต่างกันอย่างหน้ามือเป็นหลังเท้า คือ แทนที่จะใช้ระบบขับล้อหลังด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน กลับใช้ระบบขับด้วยพลังไฟฟ้า โดยใช้มอเตอร์ 2 ชุด แต่ละชุดขับล้อหลังแต่ละข้าง และใช้แบทเตอรีลิเธียม-ไอออนแบบเดียวกับที่ใช้อยู่แล้วในรถไฟฟ้า นิสสัน ลีฟ (NISSAN LEAF) ประจุไฟแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกลกว่า 240 กม.
อินฟินิที เอเธอรีอา
อินฟินิที พรีเมียมบแรนด์ของยักษ์รอง นิสสัน ใช้เวทีหมุนขนาดยักษ์ในฮอลล์ 1 เป็นที่เปิดตัว อินฟินิที เอเธอริอา (INFINITI ETHEREA) ที่เห็นในภาพขวามือ เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถระดับหรูขนาดเล็กกะทัดรัด ที่ค่ายนี้มีโครงการจะทำออกขาย โดยใช้โรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองซันเดอร์แลนด์ในเกาะอังกฤษเป็นที่ผลิต โดยมีผู้ใช้รถวัยหนุ่มวัยสาวผู้ต้องการรถที่ DEFINES WHO THEY ARE, NOT WHO THEIR THEIR WERE หรือ "บ่งบอกว่าเขาเป็นใคร ไม่ใช่พ่อแม่ของเขาเป็นใคร" เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่นเดียวกับรถที่กำลังอยู่ในสมัยนิยม รถแนวคิดตัวถังยาวเกือบ 4 เมตรครึ่งคันนี้ ใช้ระบบขับแบบไฮบริด โดยใช้เครื่องยนต์ซูเพอร์ชาร์จ 4 สูบเรียง 2.5 ลิตร 245 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า
โตโยตา ยารีส เอชเอสดี
ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นซึ่งมีบูธอยู่ในฮอลล์ 4 มีผลงานซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" รวม 2 ชิ้น ชิ้นแรกที่เห็นในภาพซ้ายมือ คือ โตโยตา ยารีส เอชเอสดี (TOYOTA YARIS HSD) ซึ่งยังติดป้ายว่าเป็นรถแนวคิด แต่เห็นหน้าตาและอ่านรายละเอียดแล้ว เชื่อว่าอีกไม่นานคงจะกลายสภาพเป็นรถตลาดแน่นอน พัฒนาจากรถ โตโยตา ยารีส รุ่นใหม่ ที่ออกขายแล้วในญี่ปุ่นแต่ยังไม่มีในบ้านเรา โดยเปลี่ยนระบบขับ จากขับด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในเพียงอย่างเดียว เป็นขับแบบไฮบริดที่ค่ายนี้ เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า HYBROD SYNERGY DRIVE หรือ HSD เป็นระบบที่ไม่ทำให้รถสูญเสียสมรรถนะการขับขี่ใดๆ แต่ช่วยลดอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง และลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากท่อไอเสียอีกต่างหาก
โตโยตา เอฟที-86 ทู คอนเซพท์
งานใหม่อีกชิ้นหนึ่งของยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นที่อวดตัว "ครั้งแรกในโลก" ก็เป็นรถแนวคิดเช่นกัน คือ โตโยตา เอฟที-86 ทู คอนเซพท์ (TOYOTA FT-86 II CONCEPT) ในภาพขวามือ เป็นรถที่ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นร่วมมือกับยักษ์เล็ก ซูบารุ รังสรรค์ขึ้น เพื่อศึกษาและบ่งบอกทิศทางการออกแบบรถสปอร์ทที่จะร่วมกันทำขายในอนาคต พัฒนาจากรถแนวคิดชื่อเดียวกันซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งที่ 41 เมื่อปลายปี 2009 โดยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในหลายๆ จุด โดยเฉพาะในส่วนของตัวถังซึ่งมีขนาด 4.235x1.795x1.270 ม. ที่น่าสนใจ คือ ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นประกาศแล้วว่า ปี 2012 ตัวจริงของรถสปอร์ทที่ว่าจะเริ่มจำหน่ายในตลาดยุโรป และเครื่องยนต์ที่ใช้จะเป็นเครื่องสูบนอนยันที่นิยมเรียกกันว่าเครื่องบอกเซอร์
มาซดา มินากิ
ค่าย "ซูม-ซูม" นำรถแนวคิดไปอวดตัวที่งานนี้ 2 คัน แต่มีเพียงคันเดียวที่เป็นการอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" คือ มาซดา มินากิ (MAZDA MINAGI) ในภาพใหญ่และภาพเล็กขวามือ เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถกิจรรมกลางแจ้งขนาดเล็กกะทัดรัด ที่ค่ายนี้จะทำออกขายโดยติดป้ายชื่อ มาซดา ซีเอกซ์-5 (MAZDA CX-5) เคียงคู่กับรถประเภทเดียวกันแต่ขนาดโตกว่าที่มีขายอยู่แล้วในขณะนี้โดย คือ มาซดา ซีเอกซ์-7 (MAZDA CX-7) และ มาซดา ซีเอกซ์-9 (MAZDA CX-9) คาดหมายกันว่า รถตลาดตัวจริงซึ่งมีขนาดเล็กกว่ารถแนวคิดคันนี้เล็กน้อย จะได้เห็นกันตอนปลายปี
เชฟโรเลต์ ครูซ แฮทช์แบค
ยักษ์เล็กของเมืองโสม ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ในเมืองมะกัน ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว เชฟโรเลต์ ครูซ แฮทช์แบค (CHEVROLET CRUZE HATCHBACK) รถเกาหลีติดป้ายยี่ห้อฝรั่ง ซึ่งฤดูใบไม้ผลิปีนี้จะเริ่มการผลิต และพอถึงตอนกลางปีก็จะเริ่มการจำหน่ายทั่วยุโรป ตัวถัง 5 ประตู ซึ่งพัฒนาจากตัวถังซีดาน 4 ประตู ที่เป็นรถขายดีที่สุดของค่ายนี้เมื่อปีกลายและเพิ่งออกขายในบ้านเราตอนปลายปี แทบไม่มีการแตะต้องอะไรในส่วนครึ่งหน้า ที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือ ส่วนครึ่งหลัง ซึ่งออกแบบให้มีลักษณะเหมือนเป็นรถคูเปไม่ใช่รถแฮทช์แบคอย่างที่เป็นและมีช่วงยื่นหลังที่ค่อนข้างสั้น ภายในห้องโดยสารซึ่งติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 2 แถว นั่งได้รวม 5 คน มีเก้าอี้แถวหลังซึ่งแยกส่วนในลักษณะ 60:40 และมีห้องเก็บของท้ายรถซึ่งจุ 400 ลิตร
ฮันเด ไอ 40
ยักษ์ใหญ่ของเมืองโสมซึ่งยอดขายกำลังวิ่งฉิวจนน่าอิจฉาใช้เวทีหมุนขนาดยักษ์ในฮอลล์ 1 เป็นที่เปิดตัวรถอนุกรมใหม่ล่าสุด คือ ฮันเด ไอ 40 (HYUNDAI I40) ที่เห็นในภาพเล็กขวามือ เป็นรถตลาดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งตรวจการณ์ขนาด MID-SIZE ซึ่งออกแบบและพัฒนาโดยมีทวีปยุโรปเป็นตลาดเป้าหมาย ตัวถังขนาด 4.770x1.815x1.470 ม. ซึ่งมีหน้าตาและรูปทรงเหมือนเป็นรถยุโรปมากกว่ารถพันธุ์โสม เป็นผลงานรังสรรค์ของศูนย์ออกแบบซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองรุสเซลส์ไฮม์ (RUSSELSHEIM) ในเยอรมนี กำลังจะออกจำหน่ายในหลายประเทศของยุโรป โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้อย่างถึง 4 ขนาด ตั้งแต่ 115 จนถึง 177 แรงม้า มีทั้งเครื่องเบนซินและดีเซล ที่จะตามมาตอนต้นปีหน้า คือ รถแบบเดียวกันนี้ในตัวถังซีดาน
ทาทา พิกเซล
ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเมืองภารตะใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว ทาทา พิกเซล (TATA PIXEL) รถแนวคิดซึ่งพัฒนาจากรถตลาดราคาย่อมเยาที่สุดในโลก คือ ทาทา นาโน (TATA NANO) และเป็นการพัฒนาที่เห็นแล้วแทบจะบอกไม่ได้เลยว่าที่มาคือรถอะไร ? ตัวถังซึ่งยาวแค่ 3.10 ม. และกว้างแค่ 1.60 ม. มีจุดสะดุดตาสะดุดใจอยู่มากมาย ที่มองเห็นได้เมื่อรถจอด คือ ประตูข้างที่เปิด/ปิดแบบง้างกรรไกร ที่มองไม่เห็นเมื่อรถจอดต้องจ้องดูตอนรถวิ่งเลี้ยวโค้ง คือ กลไกที่ทำให้ล้อหลังด้านนอกวิ่งไปข้างหน้าในขณะที่ล้อในหมุนไปข้างหลัง เป็นกลไกที่ทำให้รถแนวคิดคันมีมีวงเลี้ยวที่แคบแค่ 5.20 ม.
เกีย รีโอ
ยักษ์รองเมืองโสมขาวใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถเล็กรุ่นใหม่ 2 รุ่น เกีย รีโอ (KIA RIO) ในภาพซ้ายมือ เป็นรถรุ่นที่ 4 ซึ่งกำลังจะออกจำหน่ายในตลาดยุโรปโดยมีตัวถังให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ ตัวถัง 5 และ 3 ประตูแฮทช์แบค ซึ่งมีขนาดตัวถังเท่ากันในทุกมิติ คือ 4.405x1.720x1.455 ม. โดยที่ตัวหลังแบบแรกจะออกโชว์รูมในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่แบบหลังต้องรอไตรมาสแรกของปี 2010 ทั้ง 2 ตัวถังจะมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้รวม 4 ขนาด คือ เครื่องเบนซิน 1,248 ซีซี 85 แรงม้า เครื่องเบนซิน 1,396 ซีซี 109 แรงม้า เครื่องดีเซล 1,120 ซีซี 70 แรงม้า และเครื่องดีเซล 1,396 ซีซี 90 แรงม้า ระบบเกียร์ก็มีให้เลือกถึง 3 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 5 หรือ 6 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
เกีย ปิกันโต
รถใหม่อีกแบบหนึ่งที่ยักษ์รองเมืองโสมนำไปอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่เมืองนาฬิกา คือ เกีย ปิกันโต (KIA PICANTO) รถขนาดเล็กที่สุดในสายการผลิตของค่ายนี้ เป็นรถรุ่นที่ 2 แต่เป็นรุ่นแรกที่มีให้เลือกทั้งตัวถัง 3 ประตู และ 5 ประตู ทั้ง 2 ตัวถังมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.31 และมีขนาดโตเท่ากันในทุกมิติ คือ 3.595x1.595x1.480 ม. กำลังจะออกจำหน่ายในตลาดยุโรปแทนที่รถรุ่นเดิมซึ่งขายทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 1.1 ล้านคัน โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้รวม 3 ขนาด คือ เครื่อง 3 สูบเรียง 998 ซีซี 69 แรงม้า เครื่อง 3 สูบเรียง 998 ซีซี 82 แรงม้า และเครื่อง 4 สูบเรียง 1,248 ซีซี 85 แรงม้า ส่วนระบบเกียร์มีเพียง 2 แบบ คือเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา/ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์/บริษัทผู้ผลิต
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2554
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ