ชีวิตคือความรื่นรมย์
คึกฤทธิ์ ว่า...
เนื่องจากปีนี้ เป็นปีครบ 100 ปีชาตกาลของ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์คนแรกปี 2528 และองค์การยูเนสโกประกาศยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก มีการเฉลิมฉลองในปี 2554 นี้ ในฐานะนักปราชญ์คนสำคัญแห่งสยาม และคนสำคัญของโลก แม้มีใครอื่นกล่าวถึงผลงานต่างๆ ของท่านมากมายหลากหลายเรื่องแล้วก็ตาม แต่ข้าพเจ้ายังติดใจในเรื่องปฏิภาณการกวีของท่านอย่างฝังใจ โดยเฉพาะท่านเป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่สืบสานการแสดงสักวาของชาติไว้ (เช่นเดียวกับการฟื้นฟูการแสดงโขน โดยตั้งโขนธรรมศาสตร์ ที่ท่านลงทุน ลงแรง และลงมือฝึกและแสดงเองด้วย) ดังสักวาบทหนึ่งใน "สยามรัฐ" ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน 2493 ซึ่งเป็นฉบับเริ่มลืมตามาดูโลก "สักวาคึกฤทธิ์ทิดสึกใหม่ ปากตะไกรแขนคอกออกหนังสือสยามรัฐรายวันสนั่นลือ ใครใคร่ซื้อทั่วหน้าไม่อาวรณ์...
อาจารย์คึกฤทธิ์เป็นคนที่เขียนหนังสือมีเสน่ห์ คือ ใช้ภาษาทันสมัย แม้เรื่องยากก็ทำให้เข้าใจได้ง่ายบางคนบอกว่า เหมือนท่านมานั่งคุยอยู่ข้าง (โดยเฉพาะรายการ เพื่อนนอน) ซึ่งก็ไม่ผิดความจริง เพราะชาวสยามรัฐเล่าว่า ตอนหลังท่านไม่ค่อยมีเวลามาประดิดประดอย ท่านก็พูดใส่เทป แล้วให้เลขา ฯ ของท่าน (ก๊วยเจ๋ง หรืออารย์ทวี สุรฤทธิกุล แห่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) เป็นผู้ถอดเทปพิมพ์ เมื่อพิมพ์ออกมาแล้วอาจารย์คึกฤทธิ์ก็มาอ่านทวนแก้ไข ตรวจดูว่าทำย่อหน้า เว้นวรรค ทำเครื่องหมายอย่างที่ท่านบอกไว้หรือไม่ อาจารย์ทวีถือได้ว่าสัมผัสถ้อยคำภาษา ได้อ่านงานก่อนคนอื่นๆ เห็นความเฉลียวฉลาดในการเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เห็นวิธีเขียนที่มีการย่อหน้าบ่อยๆให้ชวนอ่าน เป็นต้น
อาจารย์คึกฤทธิ์นอกจากมีไหวพริบปฏิภาณ มีอารมณ์ขันในการโต้ตอบเป็นเยี่ยมแล้ว ท่านยังเป็นคนขยันด้วย มีอะไรท่านก็จับมาเขียนเสมือนรายงานความเป็นไปในบ้านเมือง นอกจากได้ข้อคิดที่เฉียบคมจากมันสมองเฉียบแหลมชั้นยอดแล้ว ความเป็นพหูสูตทำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกว่าท่านสอนความรู้โดยไม่รู้ตัว ตรงข้ามกลับรู้สึกเพลิดเพลินตาม และเสน่ห์อีกอย่าง คือ การเสียดสีด้วยอารมณ์ขัน ใช้ภาษาเป็นกันเอง แม้ผู้ถูกท่านเหน็บแนม ก็อาจรู้สึกแสบๆ คันๆ ไม่ถึงกับโมโหโกรธา เว้นแต่ที่ท่านตั้งใจเอาจริงเอาจัง ท่านก็เล่นแรงๆตรงๆ เช่น ลงท้ายบทความตอนนั้นว่า กูไม่กลัวมึง ซึ่งเป็นประโยคที่มีไมกี่คนในเมืองไทยที่กล้าท้านายทหารใหญ่ซึ่งมีอำนาจคับเมืองได้ ยกเว้นเพียงคนๆ เดียว คือ คนที่ชื่อ คึกฤทธิ์ ปราโมช เท่านั้น
นอกจากท่านจะเขียนสารคดีและนวนิยาย หรือเรื่องสั้น จนคนติดงอมแงมแล้ว ท่านยังมีบทความประจำวันอันคนติดตามอ่าน (วันไหนไม่มี คนอ่านก็จะรู้สึกโหยหิวอย่างแรง) คนจึงติดตามอ่านข้อเขียนประจำ หน้า 5 ของสยามรัฐเหมือนติดยา บทความ หน้า 5" นั้น ตอนแรกๆ ก็ไม่มีชื่อคอลัมน์ประจำ พอนานๆ เข้าก็จึงใช้ชื่อว่า เก็บเล็กผสมน้อย ต่อมาใช้หัวว่า คึกฤทธิ์-ข้าวนอกนา (ล้อชื่อนวนิยายของ สีฟ้า หรือหม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ เกี่ยวกับชีวิตลูกเมียเช่าที่เกิดจากพ่อนิโกร เหมือนที่ไม่ได้เกิดในนาเหมือนทั่วๆ ไป) ต่อมาก็เปลี่ยนเป็น ข้าวไกลนา(เสมือนท่านที่อยู่ไกลจากรัฐสภาหรือวงในการปกครองประเทศ) ข้างสังเวียน และสุดท้ายเป็น ซอยสวนพลู (ชื่อซอยบ้านของท่าน) ข้อเขียนของผู้เขียนก็เคยได้รับเกียรติจากอาจารย์ โดยท่านได้ยกเอาข้อเขียนที่ผู้เขียน เขียนถึงการใช้ภาษาไทยผิดๆ เช่น การเรียกหม่อมราชวงศ์ว่าหม่อม ท่านได้เขียนถึงและเพิ่มเติมด้วยท่าทีเอ็นดู ในฉบับวันที่ 15 มกราคม 2534)
ข้อเขียนต่างๆ ของท่าน ต่างได้รับการรวบรวมพิมพ์เป็นเล่ม และพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก นอกจากจะอ่านได้ไม่ล้าสมัยแล้ว ยังได้รับรสภาษาในช่วงนั้นๆ รวมทั้งได้รับรู้ปรากฏการณ์ต่างๆ ในบ้านเมือง ได้รับรสถ้อยคำสำนวน ภาษาพูด (สแลงหรือภาษาที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในช่วงนั้นๆ) ดังผู้เขียนขอนำสำนวนจากปฏิภาณกวีของท่านมาให้เห็น
จากสักวากลอนสดเรื่องสังข์ทองที่สังคีตศาลา (17 พฤษภาคม 2502) ท่านไหว้ครูไม่เหมือนใคร ดังนี้ สักวาประนมนิ้วขึ้นเหนือเศียร ต่างธูปเทียนดอกไม้ทองของถวาย ไหว้พระแก้วทั้งสามอร่ามราย ที่ส่องฉายทางเลิศเกิดปัญญา ไม่ไหว้ครูอื่นใดในพิภพ ที่แจ้งจบเกินพระพุทธสุดจักหา ไม่มีศาสตร์ใดล้ำพระธรรมา พระสงฆ์สาวกวิมุติสุดเปรียบเอย
ครั้นถึงบทเจ้าเงาะที่ท่านรับบท สักวามาจะกล่าวถึงเจ้าเงาะ มาได้เมียงามเหมาะเป็นฝั่งฝา ทำสวนครัวตัวอย่างอยู่กลางนา แม่ยายมายุ่งถึงบ้านรำคาญใจ ทำรีบรุดทรุดนั่งลงบังคม แล้วเปิดน้ำอัดลมมาตั้งให้ (ผู้เขียนจำได้คนฮาและปรบมือดัง) ฝรั่งดองสองกระทงวางลงไป (เสียงฮาและปรบมือดังกว่าเก่า) หมดสมัยหมากพึงรู้เอย สมัยนั้น ยังเข็ดเขี้ยวจากการที่นายก ฯ ให้เลิกกินหมาก มีการตัดต้นพลูทิ้ง อาจารย์ยังย้อนเอามาเสียดสีเรียกเสียงฮามิใช่น้อย ยิ่งท่านใส่เพลงเขมรไล่ควายจังหวะเร็วๆ ด้วย เลยสนุกกันใหญ่
เมื่อถูกกระแทกเบาๆ เช่นนั้น นางมณฑา (อาจารย์สมโรจน์หรือคุณหญิงและท่านผู้หญิงในกาลต่อมา) ก็ออดอ้อนว่าขอให้ไปช่วยกู้บ้านเมืองเพราะถูกข้าศึกมาล้อมไว้ ส่งหกเขยไปสู้ก็แพ้มา ขอให้รจนาช่วยอ้อนวอนที เมื่อรจนา (ชยศรี สุนทรพิพิธ) อ้อนต่อ แถมพ้อว่าถ้าไม่ช่วยน้องจะขออย่าไปเลยดีกว่าอยู่ขายหน้าประชาชน น้องไม่อยู่ดูหน้าประชากร เชิญเที่ยวจรเป็นพ่อหม้ายฉุยฉายเอย ถูกแหย่เรื่องเป็นหม้ายและเล่นโขน รำฉุยฉาย (ดูเหมือนจะเป็นฉุยฉายทศกัณฐ์) ด้วย อาจารย์ก็เลยย้อนให้ว่า สักวาพระสังข์ฟังเมียว่า นึกเอ็นดูรจนายอดยาจิต จะพูดจาว่าวอนหล่อนช่างคิดฟังเหมือนเพลงทอพฮิทสมัยนี้ (ฮา ตอนนั้นคำว่า ทอพฮิท ยังเพิ่งเป็นคำยอดนิยม) ครั้นจะรับไปพลันขันอาสา คนจะว่ากลัวเมียเสียศักดิ์ศรี (ฮา) เชิงนักเลงก็ต้องเบ่งเอาไว้ที จะได้มีเรื่องง้อต่อไปเอย แล้วก็ว่าบทต่อไปว่า
สักวาเจ้าเงาะหัวเราะร่า แล้วบอกนางมณฑาอย่าฉุนฉิว ลูกเป็นเงาะตัวดำคล้ำขี้ริ้ว พระบิดาถือผิวจะโทษใคร ลูกเขยท้าวหกคนสุมนชาติ (ฮาดัง อาจารย์มรว. สุมนชาติเป็นสามีของอาจารย์สมโรจน์-นางมณฑา) ล้วนอ้วนพีสีสะอาดงามสดใส ท่านอาจารย์สุมนชาติ ร่างอ้วนท้วน ผิวขาวแบบ
ผู้ดี) ไปตีคลียังแพ้แก่เขาไป จะเอาอะไรกับออร์เหลนเช่นลูกเอย (ฮา ปรบมือดังมาก ) คำว่า ออร์เหลน เป็นสแลงใหม่เอี่ยมตอนนั้น มีความหมายเหมือนจิ๊กโก๋สมัยนี้ และตอนนั้นสหรัฐอเมริกาก็มีเรื่องถือผิวโด่งดังอยู่ด้วย แสดงความทันสมัยและรู้จักโยงเอาเหตุการณ์บ้านเมืองและของโลกมาสอดใส่ในสักวา คนจึงชอบในคารมคมคายของท่านมาก แม้พวกผู้เขียนไปเล่นสักวาในสมัยต่อๆมาก็ตามรอยท่านเป็นแบบอย่าง
ทีเด็ดอีกบทของอาจารย์ สักวาพระสังข์นั่งก้มหน้า แล้วกราบไหว้พ่อตาแจ้งนุสนธิ์ ข้าคือโอรสยศ วิมล เป็นกษัตริย์ขัดสนเป็นพ้นไป ชื่อพระสังข์หนังเนื้อเจือทองคำ ยากจนก็จำนำกินไม่ได้ (ฮาระเบิด) เที่ยวหาเมียเศรษฐีมีปัจจัย พอจะไถได้ถนัดแก้ขัดเอย (ฮา...) คำว่า ไถ ก็เป็นสแลงรุ่นใหม่ในตอนนั้น
การกระเซ้าเย้าแหย่ของผู้อาวุโสก็น่ารัก อย่างวรรคทองวรรคหนึ่งของคุณหญิงสิน สุพรรณสมบัติว่ากระทบอาจารย์ในฐานะพระไวยวรนาถ (สักวาหน้าพระที่นั่ง แสดงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแต่งงาน) อาจารย์เป็นพระไวย แสดงบทเกกมะเหรกชกขุนช้าง คุณหญิงสินรับบทวันทอง จึงต่อว่าพระไวยว่า สักวาวันทองมองเห็นเหตุ นึกสมเพชขุนช้างที่ครางลั่น จะโต้ตอบชอบผิดคิดไม่ทัน นางตัวสั่นชี้หน้าว่าพระไวย เจ้าก่อกรรมทำเข็ญเป็นอันธพาล มาระรานหน้าที่นั่งฟังไม่ได้ พรุ่งนี้เช้าข่าวจะแซ่แม่จะไปประกาศในสยามรัฐให้ชัดเอย (ฮา ปรบมือดัง สยามรัฐของอาจารย์ก็ถูกนำมาล้อด้วย) ผู้เขียนและพรรคพวกที่ไปฟังสักวาคราวนั้น (12 มกราคม 2503) ยังจดจำมาได้จนวันนี้ @
ABOUT THE AUTHOR
ป
ประยอม ซองทอง
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2554
คอลัมน์ Online : ชีวิตคือความรื่นรมย์