รถ จีพ เข้ามาขับโต๋เต๋อยู่ในเมืองไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และน่าจะรวมสงครามเวียดนามด้วยโดยกองทัพสหรัฐอเมริกา และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ได้ทิ้งรถไว้ในแบบเกือบจะเป็นเศษเหล็ก หรือสภาพดีบ้าง จนพ่อค้าหัวใส นำมาซ่อมแซม แล้วก็ขายต่อ มีคนซื้อไปใช้งานตามอัธยาศัย ขับเอามัน เที่ยวเล่นชมวิวบุกป่าฝ่าดงผจญภัย หรือบรรทุกของกันบ้าง เป็นรถที่ใช้ได้แบบสมบุกสมบัน เหมาะกับบุคลิกชายชาตรี ไม่ต้องกลัวรอยขีดข่วน หรือบุบสลาย บิดาของผู้เขียนเป็นหนึ่งในพ่อค้ารถเก่า ผู้เขียนจึงมีรถ จีพ เป็นพาหนะไปมหาวิทยาลัย และมีบิดาเป็นสารถี จำได้ว่าอายเหมือนกัน ที่ต้องนั่งหน้าเหยให้คนสองข้างถนนเห็นโฉมอยู่บนรถ จีพ ที่ไม่มีอะไรปิดกั้นโล่งโถง แถมตอนกระโดดลง ก็ต้องจับกระโปรงไว้มั่น ไม่ให้กลายเป็นกุลสตรีที่ไม่เรียบร้อย บัดนี้ที่บ้านก็ไม่เหลือรถ จีพ ไว้ดูเล่นเลยสักคัน น่าเสียดายอีกวาระหนึ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับรถ จีพ ก็คือตอนเรียนขับรถ ตอนนั้นบิดาก็ไม่อยู่แล้ว มีการไปเรียนขับรถกันที่โรงเรียนสอนขับรถ มีครูหนุ่มเป็นผู้สอน ตระเวนกันไปตามหมู่บ้าน หรือซอกซอยที่ไกลหูไกลตา และไกลสิ่งกีดขวาง เพราะก็อย่างว่า มือใหม่ก็ต้องแถไปปาดโน่นปาดนี่กันบ้าง ครูก็ประสาทแข็งน่าดูนะคะ ไม่รู้ลูกศิษย์จะเหยียบคันเร่งปรู๊ดไปชนกับอะไรที่ขวางหน้าบ้าง จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็หลายสิบปีเอาการอยู่ มาเห็นรถ จีพ ยุคใหม่เข้า ใครจะไปจำได้ เพราะว่าที่เคยนั่งหน้าต้านลม และต้องกระโดดลงมาอย่างกระฉับกระเฉงก็ไม่มีอีกแล้ว คิดถึงจัง รถ จีพ ซึ่งอยู่ในค่าย ไครสเลอร์ ปัจจุบันชื่อเต็มว่า จีพ เชอโรคี กลายเป็นรถในอ้อมอกของค่าย เฟียต แห่งอิตาลีไปเสียแล้ว เฟียต ซื้อ ไครสเลอร์ ไปเพราะอยากสยายปีกเข้าตลาดอเมริกาเหนือได้ถนัดถนี่หน่อย อีกอย่าง ไครสเลอร์ อาการทางด้านการเงินไม่ค่อยดีนัก เฟียต เข้ามาก็ต้องมาบริหารจัดการกันเหนื่อยหน่อย ดูท่าว่าจะเหนื่อยไม่เบาเสียด้วยรถ จีพ นั้นก้าวผ่านประวัติศาสตร์อันยาวนานของการเปลี่ยนเจ้าของ มาตั้งแต่เริ่มลืมตาขึ้นมาดูโลก เมื่อปี 2484 ที่ผู้เขียนก็ยังไม่เกิด เมื่อ จีพ ถือกำเนิดขึ้นมา มันคือรถยนต์สารพัดประโยชน์ สำหรับกองทัพสหรัฐอเมริกา ผู้สร้างมัน คือ วิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ มอเตอร์ส ซึ่งเป็นผู้นำมันมาดัดแปลงให้พลเรือนได้ใช้ มาจนถึง ไคเซอร์ จีพ แล้วก็ อเมริกัน มอเตอร์ส เปลี่ยนมาเป็น เรอโนลต์ มาถึงยุค ไครสเลอร์ จนถึง เดมเลอร์ ไครสเลอร์ และล่าสุด เซอร์เบอรัส แคพิทอล เมเนจเมนท์ ซึ่งผลัดกันเชยชม จีพ พยายามผลักดันให้ จีพ เป็นรถของพลเรือน โดยไม่หลุดกลิ่นความเป็นรถโฟร์วีลสำหรับนักผจญภัย ในตลาดอเมริกาเหนือ ยอดขาย จีพ พุ่งขึ้นสุดๆ ที่ 554,466 คันเมื่อปี 2542 แล้วเมื่อปี 2552 ตกไปอยู่ที่ 231,710 คัน ตอนที่ ไครสเลอร์ เจอวิกฤตเศรษฐกิจพร้อมๆ กับ จีเอม และต้องผ่านขบวนการล้มละลาย โดยมีรัฐบาลเข้ามาอุ้ม หลังจากนั้นก็ถึงคราว เฟียต เข้าไปซื้อกิจการหลังที่ เดมเลอร์ ไครสเลอร์ ฟื้นตัวจากการล้มละลาย เฟียตตั้งความหวังไว้กับรถ จีพ กแรนด์ เชอโรคี ที่ปรับโฉมใหม่ขนาดใหญ่ ว่าจะทำให้ เดมเลอร์ ไครสเลอร์ กลับมามีกำไร เฟียต ใส่ความหรูหราเข้าไปใน กแรนด์ เชอโรคี ใหม่เต็มเหยียด เบาะหนัง ภายในบุไม้ พวงมาลัยติดตั้งที่ทำความร้อน และใส่ออพชันอย่างโทรทัศน์ดาวเทียม และเทคโนโลยีสื่อสารที่ต่อไวไฟได้ นอกจากนี้ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ คือ ระบบช่วงล่างที่ปรับได้ ทำให้สามารถปรับความสูงของช่วงล่างขึ้นมาจากพื้น 10.7 นิ้ว ทำให้สิงห์โฟร์วีลได้สะใจกับความรู้สึกเดิมของรถ จีพ ราคาเริ่มที่ 30,995 เหรียญสหรัฐ ฯ รุ่นแพงสุดอยู่ที่ 42,995 เหรียญสหรัฐ ฯ จีพ เชอโรคี รุ่นนี้นับเป็นรุ่นแรกหลังจากที่ เฟียตเข้ามากุมบังเหียน นับเป็นรุ่นที่ชี้เป็นชี้ตายสำหรับอนาคตของ ไครสเลอร์ เนื่องจากว่า จีพ มีภาพความจำที่ชัดเจนในใจผู้คน เรียกง่ายๆ ว่าเป็นรถที่มีคาแรคเตอร์ชัด และถูกใจคนทั่วโลก โดยเฉพาะรุ่น กแรนด์ เชอโรคี เป็นรุ่นที่ปั๊มเงินให้บริษัทได้ดีที่สุด พวกนักวิเคราะห์บอกว่า บริษัทเพิ่งก้าวพ้นจากการผ่าตัดใหญ่ขนาดนี้ ต้องฟอร์มดี แข็งแกร่ง ถึงจะไปรอด เฟียต ตั้งเป้าว่าจะขาย จีพ เชอโรคี ให้ได้ถึงปีละ 800,000 คัน ภายในปี 2557 ซึ่งเท่ากับ 60 กว่าเปอร์เซนต์ของปี 2551 อย่างไรก็ตามมีอุปสรรคหลายอย่างที่ จีพ ต้องก้าวข้ามให้ได้ เช่นว่าก่อนหน้านี้คนที่นิยมรถ เอสยูวี ทำไมจึงเปลี่ยนจาก จีพ ไปชื่นชม ฮอนดา เอสยูวี แทน หรือแม้แต่ รถ ฟอร์ด เอสเคพ ซึ่งคนที่เคยกุมบังเหนียน จีพ มาก่อนก็ไม่ได้เล่าแจ้งแถลงไขไว้ นอกจากนี้ จีพ ก็ยังมีปัญหาคุณภาพ เจดี เพาเวอร์ จัดอันดับ จีพ ไว้ที่ 27 จาก 33 บแรนด์ หนึ่งในพโรไฟล์ด้านคุณภาพที่ไม่ค่อยเป็นบวก คือ มันค่อนข้างไม่ประหยัดพลังงาน และการบังคับขับขี่ ซึ่ง จีพ เองก็รู้ปัญหานี้ ดังนั้น จีพ เชอโรคี รุ่นใหม่ จึงมีการปรับช่วงล่าง และการบังคับขับขี่ เครื่องใหม่รุ่น วี 6 ก็จะได้ระยะทางอีกร้อยละ 11 เป็นที่แน่ชัดว่า ไครสเลอร์ กำลังพยายามทุกวิถีทางที่จะผลัก จีพ เชอโรคี ขึ้นมาแทนรถ เอสยูวี อันดับ 1 อีกครั้ง เลิกกันทีกับการเป็นรถที่ใช้เฉพาะกลุ่มสำหรับนักผจญภัย เฟียต ตั้งใจจะดัน จีพ เต็มที่ขนาดไหน ดูได้จากที่ว่า ปกตินั้นรถในค่าย ไครสเลอร์ จะขายที่อเมริกาเหนือเสียร้อยละ 90 แต่สำหรับ จีพ เชอโรคี แล้ว เฟียต ลงมือทำตลาดทั่วโลก เพื่อให้ จีพ เชอโรคี เป็นบแรนด์ของโลกอย่างแท้จริง