ในโอกาสที่กระทรวงวัฒนธรรม ปรับสายงานการบริหารภายในอีกครั้งหนึ่ง (คงไม่ได้เปลี่ยนแต่ชื่อเรียกหน่วยงานและชื่อตำแหน่งผู้บริหาเฉยๆ หรอกนะ) เช่น จาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.)" เป็น กรมส่งเสริมงานวัฒนธรรม (สวธ.) ชื่อผู้บริหารหน่วยงานจาก เลขาธิการคณะกรรมการ ฯ เป็น อธิบดีกรม ฯ หรือจาก สำนักวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็น...นอกจากนั้น การที่กระทรวงนี้ได้รับหน้าที่ให้เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ (แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำหน้าที่มาในหลายปีตอนแรกๆ) สุดสงวน ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ที่สนใจเรื่องการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ขอเสนอและขอร้องให้กระทรวงนี้ ทำอะไรให้แก่คนไทย-ชาติ และภาษาไทยสัก 2-3 ประการ ดังนี้ ประการที่ 1 จัดพิมพ์บันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการของชมรมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายด้วย เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวนั้น มีพระราชดำรัสอภิปรายเกี่ยวกับภาษาไทย ด้วยเนื้อหาสาระอย่างดียิ่ง ที่คนไทยทั่วไปทุกส่วนในแผ่นดินน่าจะได้อ่าน ได้รับใส่เกล้า ฯ ไปดำเนินตามพระราชดำรัสและพระราชดำริครั้งนั้น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อวงการภาษาของชาติ ที่ปัจจุบันนี้มีคนบ่นว่าภาษาวิบัติมากขึ้นทุกที ผู้เขียนเคยเห็นและจำได้ว่า เมื่อครั้งไปเป็นพนักงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย ฯ ในปี 2512 นั้น บริษัท ฯ ได้รับอนุญาตจากชมรมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จัดพิมพ์รายงานการประชุมครั้งนั้น เป็นหนังสือขนาด 8 หน้ายก ปกสีชมพู เพื่อบริษัท ฯ ไว้แจกแก่โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ห้องสมุดและบุคคลทั่วไป ทั้งในวงการศึกษาและวงการอื่นๆ และในการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ครั้งแรกๆนั้น มีหนังสือเล่มเล็กๆ ขนาด 16 หน้ายก (เรียกแบบเก่า ตามประสานักทำหนังสือรุ่นเก่า) ปกสีเทา พิมพ์รายงานการประชุมครั้งนั้น ออกแจกจ่ายแก่ผู้ไปร่วมงาน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่ง ทุกวันนี้ ไม่ทราบจะหาหนังสือที่มีบันทึกสำคัญนั้นได้จากที่ใด ผู้เขียนจึงเห็นว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยเฉพาะกรมส่งเสริมงานวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ สมควรอย่างยิ่ง ที่จะเป็นผู้จัดพิมพ์เผยแพร่อยู่เสมอ เพราะบทอภิปรายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งนั้นมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะแต่วงการศึกษาหรือวงการภาษาเท่านั้น แต่มีคุณค่าที่คนไทยทุกคนควรจะได้อ่าน และมีไว้เป็นคู่มือในยามที่จะนึกถึงความสำคัญ หรือความจำเป็นที่คนไทยต้องรู้จักอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องมากที่สุด ประการที่ 2 เคยทราบว่า สวช. เคยมีหน่วยงานที่ชื่อว่า กลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม แม้ว่าคนที่เป็นตัวออกแสดงบทบาทเสมอๆ คือ ลัดดา ตั้งสุภาชัย ซึ่งช่วยให้เกิดการตื่นเต้นเป็นพักๆ แต่ไม่ทราบว่าหน่วยงานนั้นยังอยู่ดีหรือไฉน หรือผู้ทำหน้าที่นั้นพ้นหน้าที่ไปแล้ว หรือเพราะผู้บังคับบัญชาไม่สนับสนุน เลิกหน่วยงาน คนทำหมดแรง หรือกลุ่มคนทำงานล้ำหน้าใครจนเป็นที่เขม่น แล้วเลยหมดกำลังใจ และเงียบเสียงไปในที่สุด ผู้เขียนคิดว่า ด้านการใช้ภาษาไทยนั้น น่าจะมีหน่วยงานใดทำหน้าที่อนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่การใช้ภาษาให้ถูกต้องเป็นพิเศษโดยเฉพาะ ลำพังราชบัณฑิตยสถาน ที่ทำงานแบบราชการ ช้าจนตามความเป็นไปในภาษาไม่ทัน หรือคิดว่าไม่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่โดยตรง จึงมีเพียงหน่วยงานไว้ตอบคำถามเมื่อมีคนเขียนจดหมาย หรือโทรศัพท์ไปถาม (ตามที่เคยแจ้งแก่สื่อมวลชนไว้บ้าง ว่าให้ปรึกษาหารือไปที่เลขหมายโทรศัพท์ใด ผู้เขียนเคยตัดติดไว้หน้าคอมพิวเตอร์แล้วหายไปนานแล้ว เมื่อไม่มีคนที่เคยรู้จักกันมาก่อนอยู่แล้ว เลยไม่ทราบจะทำอย่างไร ได้แต่เปิดพจนานุกรม กับเปิดอนุสาร อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร ซึ่งก็ไม่สามารถหาคำตอบได้ทุกข้อ เคยเห็นกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งหน่วยงานชื่อ สถาบันภาษาไทย สังกัดกรมสามัญศึกษา ผู้เขียนดีใจว่า น่าจะทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ดูเหมือนว่าหน่วยงานนั้นก็ยังอยู่ แต่ผลงานนอกจากตั้งสมาคมครูภาษาไทย และออกวารสาร (ทำท่าว่าจะเป็นนิตยสารในตอนแรก) ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่ายังอยูดีหรือไฉน เคยทราบว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. กาญจนา นาคสกุล ซึ่งไม่ใช่คนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง รับหน้าที่เป็นนายกสมาคม ฯ อยู่ช่วงหนึ่ง ไม่ทราบว่าท่านหมดแรงหมดกำลังใจหรือยัง เพราะท่านก็อยู่ในวัยเกษียณมานานแล้วด้วย หน้าที่การงานทางราชบัณฑิตยสถานก็มาก จะให้ทำหน้าที่เหมือนพระนารายณ์นั้น น่าห่วงทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างท่านเป็นอย่างยิ่ง และการแต่งตั้งบุคคลที่เป็นข้าราชการมาทำหน้าที่นั้น บางคนก็ไม่ถนัดโดยตรง ที่แย่ที่สุดคือ พอได้รับตำแหน่งอื่น ก็จำเป็นต้องไปสู่ตำแหน่งหรืองานที่ใหญ่ขึ้น คนมาใหม่อยู่เรื่อยๆ ยังไม่ทันลงตัวก็ย้ายเสียแล้ว น่าสงสารประเทศไทยและภาษาไทยเสียจริงๆ ผู้เขียนคำนึงถึงประการที่ 2 นี้มาก เพราะคิดว่าเมื่อประชาชน โดยเฉพาะพวกที่ทำหน้าที่สื่อมวลชน ใช้ภาษาผิดๆ บ้าง ไม่เหมาะสมบ้าง ควรมีบุคคลที่เป็นผู้รู้หรือหน่วยงานที่จะช่วยออกมาแถลง-ชี้แจง อธิบายและเผยแพร่คำ หรือข้อความที่ถูกต้องนั้นโดยเร็วและบ่อยๆ ยกตัวอย่างคำที่สื่อมวลชนทั้งพูดและเขียน ใช้กันโดยไม่สำเหนียกว่า คำหรือข้อความนั้นถูกต้อง-เหมาะสมหรือไม่ เช่น ที่พูดกันปาวๆ ว่า พ่อหลวง บ้าง พ่อของเรา บ้าง ทั้งๆ ที่เรามีคำสามัญที่ใช้ไม่เป็นทางการ แต่ก็เป็นที่นิยมว่างาม คือคำว่า ในหลวง ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการอาจเอื้อมหรือไม่สุภาพแต่อย่างใด เห็นชาวไทยภูเขาเรียก พ่อหลวง ก็เอามาใช้สบายปาก โดยไม่ได้ศึกษาให้รู้ถ่องแท้ว่า คำว่า พ่อหลวง นั้น ชาวเขา เขาใช้เรียกผู้ใหญ่บ้าน ว่ากันอย่างนั้น อีกคำหนึ่งที่น่ารำคาญที่สุดคือ มีคนปากพล่อยพวกหนึ่ง ใช้คำสามัญเรียกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่คนไทย ชาติไทยและประเทศไทย จนประชาชนถวายราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยมหาราช-พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่เป็นที่รักยิ่งของปวงชน แล้วคนที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ปากพล่อยเรียกพระปรมาภิไธยง่ายๆ ว่า เสด็จพ่อ ร.5 โดยไม่ศึกษาว่าเหมาะสมหรือไม่ที่ไปดึงพระราชฐานันดรศักดิ์ พระบาทสมเด็จ ลงมาเป็นเพียง เสด็จ เท่ากับพระฐานันดรศักดิ์ของพระราชโอรส พระราชธิดาของพระองค์ท่าน ที่ประสูติจากพระมารดาที่เป็นสามัญชน (เจ้าจอมมารดา) เพราะพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระองค์ ที่ประสูติจากพระมเหสี หรือพระบรมราชินี หรือพระบรมราชินีนาถ ก็จะทรงมีฐานันดรศักดิ์เป็น สมเด็จเจ้าฟ้า (ที่ภาษาเรียกอย่างสามัญว่า ทูลกระหม่อม) ร้ายยิ่งกว่านั้น ยังเป็น เสด็จพ่อ เหมือนเจ้าพ่อในศาลเพียงตา โดยไปเลียนแบบคนจีนที่เคารพในพระบุญญาภินิหารของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งคำสามัญที่เรียกพระองค์ท่าน ก็ถูกต้องที่เรียก เสด็จ แล้วชาวจีนที่เคารพพระองค์มากเสมือนพ่อ หรือยิ่งกว่าพ่อ จึงเรียกว่า เสด็จเตี่ย เคยมีคนที่ไม่ศึกษาหาความรู้ก็เถึยงข้างๆ คูๆ ว่า ทำไมเรียก เสด็จเตี่ย ยังได้ ทำไมจะเรียกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างนั้นบ้างไม่ได้ หรือครั้งหนึ่งมีคนเขียนถามปัญหาประจำวัน ในสยามรัฐรายวันว่า จะเรียกว่า เสด็จพ่อ ร.5 จะได้ไหม อาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านก็ตอบแบบให้ใช้สามัญสำนึกเอาเองว่า ทะลึ่ง คนที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงก็คงตีความว่าท่านพูดเล่นๆ แท้จริงนั้น คนโบราณท่านจะสอนลูกหลานว่า ใครที่บังอาจเช่นนั้นคือ ดึงฟ้าต่ำ ทำหินแตก แยกแผ่นดิน คนเช่นนั้นอาจถึงเรียกว่าเป็นขบถ อย่างน้อยๆ ท่านจึงใช้คำเตือนว่า ระวังเหาจะกินหัว หรือ นรกจะกินหัว แท้จริงนั้น คนไทยสมัยก่อนเรียกพระองค์ท่านด้วยความเคารพสั้นๆ ว่า พระพุทธเจ้าหลวง หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า พระปิยมหาราช เพราะว่าพระองค์ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่รักยิ่งของปวงชน (ปิยแปลว่า ที่รัก ใครๆ ก็ซาบซึ้งดี) แม้กระทั่งเสด็จสวรรคตมาครบ 100 ปี ในปีนี้ ชนชาติไทยก็ยังรำลึกพระมหากรุณาธิคุณอย่างไม่มีวันลดน้อยถอยลงเลย ดังนั้น จึงขอเชิญชวนทุกท่าน หากต้องการใช้คำสามัญ ไม่เป็นทางการ โปรดใช้คำเรียกสั้นๆ ว่า พระพุทธเจ้าหลวง หรือ พระปิยมหาราช ก็เป็นการใช้คำถูกต้อง และแสดงความเคารพที่งดงามได้ไม่น้อย ดีกว่าเรียก เสด็จพ่อ ด้วยประการทั้งปวง
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา/บริษัทผู้ผลิต chusak@autoinfo.co.th
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2558